Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555

โลกกะลาของประชาธิปัตย์ : รู้ตัวไหม 2 ล้านคะแนนหายไปไหน?

โดยทีมข่าว Sunai Fanclub รายงาน

“ย้อนรอย” เลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2554 ประชาธิปัตย์เสื่อมถอยจาก 12.1 ล้านเสียง ปี 2550 เหลือเพียง 10.1 ล้านเสียง ในปี 2554 ในขณะที่เพื่อไทยเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ได้ 12.3 ล้านเสียง มาเป็น 13.8 ล้านเสียงในปี 2554 โดยเพื่อไทยได้ ส.ส. 265 ที่นั่ง ประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 159 ที่นั่ง
 
ภาพรวมคือประชาธิปัตย์คะแนนหายไป 2 ล้านคะแนน มีจำนวน ส.ส.ลดลงไป 6 ที่นั่ง ในขณะที่เพื่อไทยคะแนนเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคะแนน มี ส.ส.เพิ่มขึ้น 32 ที่นั่ง

จากข้อมูลผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 2554 มีกี่คน คิดเป็นกี่เปอร์เซ็น

การเลือกตั้งใหญ่ สส ประจำปี 2554 มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 46,921,682 คน

การลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,203,107 คน
คิดเป็นร้อยละ 75.03 %
บัตรเสีย 1,726,051 ใบ คิดเป็นร้อยละ 4.9
ผู้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน (vote no) 958,052 ใบ คิดเป็นร้อยละ 2.72

การลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,119,885 คน
คิดเป็นร้อยละ 74.85 %
บัตรเสีย 2,039,694 ใบ คิดเป็นร้อยละ 5.79
ผู้กาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน (vote no) 1,419,088 ใบ คิดเป็นร้อยละ 4.03
มีหลายคนสงสัยว่าจากเดิมคะแนน ส.ส.ในระบบสัดส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยเคยใกล้เคียงกันในปี 2550 ประมาณ 12 ล้านเสียง ทำไมวันนี้กลับกลายเป็นว่าพรรคเพื่อไทยถึงได้มีคะแนนเสียงห่างจากประชาธิปัตย์ถึง 3.7 ล้านคะแนนในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปีกว่า

แม้จะดูเป็นเรื่องที่ยากว่าเสียงที่หายไป 2 ล้านคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์หายไปไหนและ พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านจากใคร?
เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะถึงแม้ว่าจะอ้างอิงยากจากโพลต่างๆซึ่งในยุคนี้มีความคลาดเคลื่อนในทุกสำนัก แต่เอ็กซิทโพลล์ของ มหาวิทยาลัยศรีปทุมดูจะผิดพลาดน้อยกว่าสำนักอื่นๆ (แต่ก็ยังผิดพลาดมากอยู่ดี) มีการวิเคราะห์ฐานคะแนนของพรรคการเมืองที่เปลี่ยนไปของมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่น่าสนใจ เพื่อพอเป็นตุ๊กตาให้เห็นภาพได้ดังต่อไปนี้

1. ประชาธิปัตย์สูญเสียคะแนนให้เพื่อไทยมากที่สุด กล่าวคือ คนเคยเลือกประชาธิปัตย์ในปี 2550 แล้วเปลี่ยนใจหันไปเลือกเพื่อไทยทั้งประเทศปีนี้ประมาณ 18.34 % ส่วนคนเคยเลือกพรรคพลังประชาชนปี 2550 แล้วเปลี่ยนใจหันไปเลือกประชาธิปัตย์ประมาณ 10.46% หรือประมาณการคร่าวๆก็คือ 2 ล้านคะแนนของคนเคยเลือกประชาธิปัตย์เสียคะแนนสุทธิให้กับพรรคเพื่อไทยไปประมาณ 4.7 แสนคะแนน
โดยทั้งนี้เมื่อคิดเป็นรายภูมิภาคจะพบว่า คนเคยเลือกประชาธิปัตย์แล้วหันกลับไปเลือกพรรคเพื่อไทยมากที่สุดตามลำดับคือ ภาคอีสาน 31.43% ภาคเหนือ 27.25% ภาคกลาง 22.57% กรุงเทพ 14.34% และภาคใต้ 5.31% ในขณะที่คนเคยเลือกพรรคพลังประชาชนแล้วหันกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์น้อยกว่ายกเว้นภาคใต้ ดังนี้ ภาคใต้ 29.65% ภาคกลาง 15.78% ภาคเหนือ 12.42% กรุงเทพ 7.36% และอีสาน 6.28%

2. พรรคภูมิใจไทยตัดคะแนนทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ในระดับใกล้เคียงกัน โดยพรรคภูมิใจไทยได้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 1.1 ล้านคะแนน โดยเป็นการตัดฐานคะแนนประชาธิปัตย์ปี 2550 ไปประมาณ 3.62% และเป็นการตัดฐานคะแนนพรรคพลังประชาชนปี 2550 ได้ไม่เป็นตามเป้าหมายคือตัดได้ใกล้เคียงกับประชาธิปัตย์คือ 3.87% โดยประมาณแล้วหมายความว่าคะแนนที่พรรคภูมิใจไทย 1.1 ล้านคะแนนได้นั้นมาจากฐานเสียงของประชาธิปัตย์และเพื่อไทยในระดับพอๆกัน
ที่น่าสนใจก็คือเสียงที่ให้กับประชาธิปัตย์ในภาคอีสานปี 2550 มาเทให้พรรคภูมิใจไทย 7.72% ในขณะที่เสียงที่เคยสนับสนุนพรรคพลังประชาชนในภาคอีสานปี 2550 มาเปลี่ยนเลือกพรรคภูมิใจไทย 4.85%

3. โหวตโนตัดคะแนนประชาธิปัตย์และเพื่อไทยทั้งคู่ โดยมีผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนนในระบบเขตประมาณ 1.4 ล้านคน และในระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 9.5 แสนคน โดย ในช่วงหลัง การรณรงค์โหวตโนเน้นหนักในเรื่องระบบเขตมากกว่าระบบบัญชีรายชื่อ โดยโพลล์ของมหาวิทยาลัยศรีปทุมวิเคราะห์ฐานเสียงนี้จากเอ็กซิทโพลล์ว่า เป็นฐานเสียงของคนเคยเลือกประชาธิปัตย์ในปี 2550 ที่เปลี่ยนใจมาโหวตโนประมาณ 2.84% และเป็นฐานเสียงของคนเคยเลือกพรรคพลังประชาชนที่เปลี่ยนใจประมาณ 1.66%
โดยคะแนนโหวตโนในกรุงเทพมหานครมาจากฐานเสียงประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชาชนมากที่สุดคือเป็นฐานเสียงจากประชาธิปัตย์เดิม 5.70% และมาจากฐานเสียงจากพรรคพลังประชาชนอีก 3.63% รองลงมาคือคะแนนโหวตโนมาจากฐานเสียงประชาธิปัตย์ในภาคอีสานประมาณ 3.31% ภาคกลางอีก 2.72% ภาคเหนือ 2.31% ภาคใต้ 2.04% ในขณะที่คะแนนโหวตโนมาจากฐานเสียงของพรรคพลังประชาชนภาคกลาง 1.95% ภาคใต้ 1.74% ภาคเหนือ 1.35% และภาคอีสาน 1.30%

4. ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ตัดคะแนนประชาธิปัตย์มากกว่าเพื่อไทย โดยพรรครักประเทศไทยได้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 8.5 แสนคน มหาวิทยาลัยศรีปทุมวิเคราะห์จากเอ็กซิทโพลล์ว่า มาจากฐานเสียงคนเคยเลือกประชาธิปัตย์ 2.49% และมาจากฐานเสียงคนเคยเลือกพรรคพลังประชาชน 1.44% โดยเป็นการตัดเสียงประชาธิปัตย์มากที่สุดในกรุงเทพมหานครประมาณ 6.95% และเป็นการตัดเสียงพรรคเพื่อไทยมากที่สุดในกรุงเทพมหานครอีกเช่นกันประมาณ 3.84% นอกนั้นเป็นฐานเสียงจากประชาธิปัตย์ในภาคกลาง 3.05%, ภาคอีสาน 1.77%, ภาคเหนือ 1.56%, ภาคใต้ 1.48% และมาจากฐานเสียงของพรรคพลังประชาชนในภาคกลาง 2.38%, ภาคใต้ 2.36%, ภาคเหนือ 1.04%, ภาคอีสาน 1.04%
5. ประชาธิปัตย์เสียฐานเสียงให้พรรคเกิดใหม่และพรรคอื่นๆมากกว่าพรรคเพื่อไทย โดยพรรคประชาธิปัตย์เสียฐานเสียงให้กับพรรคมาตุภูมิ 0.73%, พรรครักษ์สันติ 0.51%, พรรคอื่นๆรวมกันอีก 4.28% ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเสียฐานเสียงให้กับพรรคมาตุภูมิ 0.36%, พรรครักษ์สันติ 0.21% และพรรคอื่นๆ 3.64%

6. นอกเหนือจากงานวิเคราะห์การย้ายฐานเสียงจากเอ็กซิทโพลโดยมหาวิทยาลัยศรีปทุมแล้ว ก็น่าจะพิจารณาบัตรเสียระบบเขตที่มีมากผิดปกติ โดยบัตรเสียในระบบเขตนั้นน่าสนใจว่ามีการเพิ่มขึ้นโดยในปี 2550 มีบัตรเสียในระบบเขตอยู่ที่ 2.56% มาเป็น 5.79% ซึ่งสูงถึง 2,039,694 บัตร ซึ่งแน่นอนว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะมีปัญหาทั้งๆที่ไม่ควรเกิน 1 ล้านบัตร น่าจะมีสาเหตุดังนี้
ประการแรก น่าเชื่อได้ว่าบัตรเสียจำนวนหนึ่งเป็นบัตรคนที่กากบาทให้เบอร์ 5 โดยหลงเข้าใจว่ามีผู้สมัครพรรครักประเทศไทยในระบบเขตด้วย

ประการที่สอง น่าเชื่อได้ว่ามีการขานคะแนนไม่สงค์ลงคะแนนให้กลายเป็นบัตรเสียในหลายพื้นที่
ประการที่สาม มีคนอยากโหวตโนเพราะเบื่อการเมือง แต่ไม่ต้องการเป็นพวกเดียวกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงส่งกระดาษเปล่าแทน

ประการที่สี่ ส่วนที่ผิดปกตินี้ไม่น่าจะเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยมีปัญหาเฉพาะบัตรเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น ส่วนประชาธิปัตย์ก็ไม่ประสบปัญหาใดๆเกี่ยวกับบัตรเลือกตั้งเช่นกัน
อย่างไรก็ตามคะแนนโหวตโน + พรรคทางเลือกใหม่ (รักประเทศไทย +รักษ์สันติ + มาตุภูมิ +พลังชล) + ส่วนบัตรเสียเฉพาะส่วนที่เพิ่มมาผิดปกตินั้น ก็น่าจะอนุมานได้ว่าเป็นประชาชนที่เบื่อการเมืองในระบบเดิมน่าจะมีจำนวนรวมกันประมาณ 3.5 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ผิดหวังจากการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์

ยังไม่นับคนที่ไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีกจำนวนไม่น้อยที่ไปเลือกทั้งๆที่ไม่ได้พอใจในผลงานหรือชอบพรรคประชาธิปัตย์ แต่เพราะกลัวพรรคเพื่อไทยจะมาตามคำขู่ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ประชาธิปัตย์ไม่เคยและไม่สามารถชนะพรรคเพื่อไทยได้ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ในขณะนี้

***สรุปว่าการที่ประชาธิปัตย์พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ควรมาใส่ร้ายป้ายสีโหวตโน (ซึ่งต่อให้คะแนนโหวตโนเทให้ประชาธิปัตย์ก็ยังแพ้เพื่อไทยอยู่ดี) แต่ข้อเท็จจริงก็คือประชาธิปัตย์แพ้เพราะความเสื่อมของพรรคประชาธิปัตย์โดยตรง และควรจะสำรวจตัวเองเพื่อแก้ไขปรับปรุงและทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านให้ดีมากกว่าจะไปตีโพยตีพายกล่าวหาให้ร้ายป้ายสีประชาชนที่กากบาทไม่เลือกตัวเอง

ท่านเคยได้ยินคำที่ชาวบ้านทุกวันนี้พูดกันจนติดปากว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า
"ไปรับเงินหมา มากาเบอร์ 1 "

ที่มาของข้อมูล :


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น