Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

ตรวจแถว-ขานชื่อ วัดพลัง"ขั้ว"การเมือง เข้าสู่เทศกาลรธน.

ที่มา:มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 6 มีนาคม 2555
ขบวนต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดตัวขานชื่อออกมาอย่างชัดเจน

พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่เห็นด้วย ทั้งด้วยการอภิปรายในสภา และท่าทีผ่านคะแนนโหวตในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

ปฏิญญาหาดใหญ่ 8 ข้อ อันเป็นมติของที่ประชุมสัมมนาสาขาพรรค 14 จังหวัดภาคใต้

ก็มีนัยยะเกี่ยวข้องกับการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การชุมนุมของกลุ่มสยามสามัคคี ที่นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และนายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต ส.ว.แต่งตั้ง และกลุ่มสยามภิวัฒน์ นำโดยนายบรรเจิด สิงคะเนติ ในวันที่ 2 มี.ค.

เป็นการชุมนุม ที่นายประสารคาดว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน

พร้อมกับวิเคราะห์ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะเป็นการเรียกแขกที่เคยกระจัดกระจายให้กลับมารวมตัวกัน

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มพลังประชาธิปไตยต่างๆ จะยกระดับการต่อสู้ ผนึกกำลังเป็นแนวร่วมใหญ่ ต้านยันระบบเผด็จการเสียงข้างมากของ "ทุนนิยมสามานย์" การชุมนุมที่สวนลุมพินี เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ผ่านไป โดยมีผู้เข้าร่วมงานจำนวนหนึ่ง

ก่อนเสวนา พิธีกรได้กล่าวขอบคุณ ฝาแฝดเมืองปทุมธานี นายสุพจน์ และนายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ ที่รุมชกทำร้ายนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการคณะนิติราษฎร์

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่มสยามสามัคคี คอมเมนต์ถึงการชุมนุมที่สวนลุมพินีว่า มีผู้มาร่วมชุมนุมราว 3-5 พันคน เสียงตอบรับค่อนข้างดี

นั่นคือท่าทีจากแกนนำกลุ่มสยามสามัคคี

การชุมนุมแสดงท่าทีต่อรัฐธรรมนูญอีกครั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 10 มี.ค.

ครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวในนาม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"

โฆษกของกลุ่ม กล่าวว่า พันธมิตรฯจะยังไม่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มใดจนกว่าจะมีมติจากการประชุมดังกล่าว

พร้อมกับระบุว่า ผลการสำรวจของโพล ประชาชนกว่า 58% ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้

ขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่ กำลังรอดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข ว่าจะเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน

ทำให้ยังไม่เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านที่ชัดเจน

ส่วนการจะกำหนดการเคลื่อนไหว จะต้องรอเวลาและเนื้อสาระของรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขอย่างไร

นับเป็นท่าทีที่มีความระมัดระวังสูง

และทำให้การชุมนุมในวันที่ 10 มี.ค.มีความน่าสนใจมากขึ้น

ย้อนกลับไปที่ตัวเลข 399-199 ที่ ส.ส.และ ส.ว.ลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 291

ส่อให้เห็นถึงแนวโน้มบางอย่างในสภา

ในสภาผู้แทนฯ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยบางส่วน ร่วมโหวตรับหลักการ อันเป็นการลงมติเข้าข้างรัฐบาล

เป็นสภาพที่ส่อเค้าว่า ตัวเลขของ "ฝ่ายค้าน" เริ่มมีแนวโน้มลดลงและไม่แน่นอน

ความไม่เสถียรของฝั่งฝ่ายค้าน ย่อมหมายถึงความได้เปรียบในอีกฝั่งหนึ่ง

สภา แม้จะเป็นเวทีอันเหมาะสมสำหรับวาทะโวหารอันแหลมคม

แต่ถ้าต้องการชัยชนะ ยังต้องการ "มือ" สำหรับเสียบบัตรลงคะแนนด้วย

ทำนองเดียวกัน การเดินเกมการเมือง "นอกสภา" ซึ่งเป็นเวทีที่สามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ ไม่ต้องผูกพันด้วยกรอบระเบียบพรรค ข้อบังคับพรรค หรือข้อกำหนดอื่นๆ

แต่ถ้าจะให้การเคลื่อนไหว และข้อเสนอมีน้ำหนัก

จำนวนหรือ "ปริมาณ" ของเสียงสนับสนุน ก็มีความสำคัญเช่นกัน

มีการกล่าวอ้างถึง "ประชาชน" ว่าเป็นห่วงใย และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้

ผลการสำรวจของโพลต่างๆ ระบุว่า ประชาชนมีความวิตกกังวลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง

เป็น "อารมณ์ความรู้สึก" ของประชาชนที่เบื่อความขัดแย้ง

แต่ก็กลายเป็น "ประเด็น" นำไปเป็นเงื่อนไขสร้างกลุ่มผู้ไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นได้ทันทีเหมือนกัน

ขณะที่ฝั่งตรงข้าม ยังมีประชาชนอีกกลุ่มใหญ่ที่ท้าทายการเปรียบเทียบเชิงปริมาณและคุณภาพ

นั่นคือ กลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ "นปช." ซึ่งได้จัดชุมนุม "คัดค้านรัฐประหาร สนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ที่เขาใหญ่ไปเมื่อวันที่ 25 ก.พ.

ด้วยจำนวนผู้เข้าชุมนุม เกินกว่า 5 หมื่น

เป็นการแสดงพลังครั้งใหญ่ที่สุดของประชาชนคนเสื้อแดง ภายหลังการเลือกตั้ง 3 ก.ค. 2554

การต่อสู้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีประเด็นพิจารณาหลายมิติ

เสียงข้างมากมีน้ำหนักและความชอบธรรม

ขณะที่เสียงข้างน้อยก็มองข้ามไม่ได้

เพราะต่างก็เป็นความคิดความเห็นของประชาชน

ปัญหาสำคัญก็คือ ใครจะยอมรับว่าตนเองเป็นเสียงข้างน้อย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น