Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555

คนไทยกับสำนึกทางประวัติศาสตร์?

ที่มา: นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับที่ 350 วันที่ 10 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 หน้า 9 คอลัมน์ ทรรศนะแสงสว่าง
โดย จรัล ดิษฐาอภิชัย


ผมเชื่อว่าผู้อ่านคงได้ยินคำพูดทำนองว่า คนไทยลืมง่ายมาบ้างไม่มากก็น้อย เช่น ลืมการปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กระทั่งเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้วคือ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549
 
ลืมการกระทำทั้งความดีและความเลวร้ายของบุคคลและกลุ่ม ฯลฯ ลักษณะลืมง่ายนี้ นอกจากทำให้คนไทยอยู่กับความมืด ตาไม่สว่างมาตลอดแล้ว ยังทำให้คนไทยมีความสำนึกทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับคนชาติอื่นๆ

ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร บางคนบอกว่ามาจากความคิดจิตใจที่ดีของคนไทย ให้อภัย คิดว่าเรื่องแล้วก็ให้แล้วกันไป ไม่ต่อความยาวสาวความยืด ไม่อยากทำให้คนอื่นเสียใจ อยากลืม ไม่อยากจำ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ยังมีสาเหตุที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การบิดเบือนประวัติศาสตร์และเจตนาของผู้ปกครอง มิให้คนไทยจำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์

คนไทยส่วนใหญ่จึงไม่มีความรู้ประวัติความเป็นมาของชาติ บุคคลสำคัญๆ และเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอย่างแท้จริง ด้วยประวัติศาสตร์ไทยทั้งในรูปการบอกเล่า พงศาวดาร และประวัติศาสตร์ทางการเมืองสมัยปัจจุบัน ส่วนใหญ่มิได้บันทึกเหตุการณ์ความเป็นจริง แต่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง

คงไม่ต้องย้อนหลังไปไกลถึงสมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา เอาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีประวัติศาสตร์ไทยก็บิดเบือนไม่น้อย โดยเฉพาะเหตุการณ์ปลายรัชกาลกรุงธนบุรีคือ การจับและประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประวัติศาสตร์ราชการเขียนถึงเหตุการณ์นี้ว่า เป็นการปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเพราะพระเจ้าตากสินสติวิปลาส (เป็นบ้า) ปกครองประเทศไม่ได้ แต่ความจริงเป็นการแย่งราชบัลลังก์ เนื่องจากพระเจ้าตากสินเป็นผู้กอบกู้ชาติจากการยึดครองของพม่า ที่มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ มีการเรียนการสอนตั้งแต่โรงเรียนประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา มีผู้สนใจศึกษาค้นคว้านำมาเล่าเป็นตำนานและเขียนเป็นหนังสือมากมาย

ที่สำคัญรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมเหล่าพสกนิกรชาวไทยได้พร้อมใจกันสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี คณบดีคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบ ทางราชการจัดพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 ต่อมาทางราชการกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ วันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยได้เรียนรู้และมีความสำนึกทางประวัติศาสตร์ว่า พระองค์เป็นสามัญชนเชื้อชาติจีนที่เป็นกษัตริย์ผู้ทรงกอบกู้เอกราช สร้างรัฐไทยขึ้นมาใหม่จากซากปรักหักพัง พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ยิ่งใหญ่ และสร้างความสำนึกทางชาติแก่คนไทยไม่น้อย คนเสื้อแดงก็อ้างถึงพระองค์อยู่เสมอ

มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ การบิดเบือนประวัติศาสตร์มีมากกว่าทุกยุค โดยกรมพระยาดำรงราชานุภาพมีส่วนอย่างมากกับประวัติศาสตร์ยุคนี้ คงไม่ต้องสงสัยว่าการเสียดินแดนในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเรื่องพระปรีชาสามารถตามคติ เสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตการ เลิกทาสสำคัญกว่าการ เลิกไพร่การตั้งดุสิตธานีของรัชกาลที่ 6 เป็นการวางรากฐานประชาธิปไตยของประเทศไทย การปฏิวัติประชาธิปไตย 2475 เป็นการ ชิงสุกก่อนห่าม” “ล้มเจ้าและ รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทยมาจากการพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หนังสือแบบเรียนไม่ว่าระดับใดไม่เคยถือว่าเหตุการณ์ 2475 มีความสำคัญคือการ ปฏิวัติแต่จะเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองและเรียกคณะผู้นำการปฏิวัติว่า คณะราษฎร์มิใช่ คณะราษฎรโดยเฉพาะนายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษ ผู้นำคณะราษฎรคนสำคัญ ถูกโจมตีว่านิยมคอมมิวนิสต์บอลเชวิค ต่อมายังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 กระแสการโจมตีและบิดเบือนประวัติศาสตร์การปฏิวัติมิถุนายน 2475 มีมาตลอดจนถึงทุกวันนี้

ผมเองก็ได้รับอิทธิพลความคิดเช่นนั้น เรียกเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และเรียกคณะปฏิวัติว่า คณะราษฎร์มาตั้งแต่เรียนมัธยมฯ จนเมื่อมาเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างปี พ.ศ. 2510-2514 จึงพบว่าบรรดาอาจารย์รัฐศาสตร์ดังๆสมัยนั้น เช่น นายกมล สมวิเชียร นายกระมล ทองธรรมชาติ นายพงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย นายเสน่ห์ จามริก นายนิพนธ์  ศศิธร นายเกษม ศิริสัมพันธ์ นายอนันต์ สมุทวนิช ฯลฯ ล้วนแต่คิดว่า 24 มิถุนายน 2475 เป็นการทำ รัฐประหาร” (coup d’etat) ของคณะราษฎร์ ไม่ใช่เป็นการ ปฏิวัติ” (revolution) จนกระทั่งหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 ผมจึงถือว่าเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองดังกล่าวเป็น การปฏิวัติประชาธิปไตย

การบิดเบือนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะตั้งแต่รัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ 16 กันยายน 2500 ที่บิดเบือนว่าเป็นการ ปฏิวัติและเรียกคณะของตนเองเป็นคณะปฏิวัติ และรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมเผด็จการคนนี้เมื่อ 20 ตุลาคม 2501 ก็เรียกว่าการ ปฏิวัติ

รัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 ที่ตั้งตนเองเป็นคณะปฏิวัติ รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 นำโดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็บอกว่าเป็นการปฏิวัติ ฯลฯ แม้แต่การทำรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 จะใช้ชื่อใหม่ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน  รัฐประหารของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 จนถึงรัฐประหารครั้งสุดท้ายของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)นั้น คนส่วนใหญ่ยังถือเป็นการปฏิวัติรัฐประหาร เพื่อบิดเบือนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ทำให้คนไทยสับสน จำแนกไม่ออกว่าอะไรเป็นรัฐประหาร อะไรเป็นการปฏิวัติ พากันเรียกอย่างติดปากว่า ปฏิวัติรัฐประหารอันเป็นการหลอกลวงทางการเมือง และทำให้ การปฏิวัติสามานย์เปลี่ยนไป

อีกด้านหนึ่งประวัติศาสตร์ราชการมักใส่ร้ายป้ายสีการต่อสู้ของไพร่ ของประชาชนมาตลอด ดังในรัชกาลที่ 5 “ขบถผู้มีบุญในภาคอีสานก็เรียกเป็น ขบถผีบุญสมัยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) การเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของกลุ่มต่างๆจึงมักถูกกล่าวหาว่ามีคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลัง และช่วงหนึ่งโยนให้เป็นมือที่ 3 ในกรณี 14 ตุลาคมอันยิ่งใหญ่ว่า พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา เป็นผู้สร้างสถานการณ์ หรือเป็นฝีมือของผู้ต้องการล้มขุนศึกกลุ่ม ถนอม-ประภาส

กรณีนองเลือด 6 ตุลาคม 2519 กล่าวหาว่ามีคนจีน-ญวนเข้าร่วม กรณีพฤษภาคม 2535 ที่เรียก พฤษภาทมิฬพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็ถูกกล่าวหาว่าพาคนไปตาย การต่อสู้ของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) หรือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ของคนเสื้อแดง ก็ถูกกล่าวหาว่าอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหลัง กระทั่งกรณี 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ก็กล่าวหามีคนเสื้อดำและกลุ่มผู้ก่อการร้าย เป็นต้น

การบันทึก การศึกษา การเรียนรู้ และการตีความประวัติศาสตร์ดังที่ยกตัวอย่างมา จึงไม่อาจสร้างความสำนึกทางประวัติศาสตร์ได้มากนัก ทำให้ความสำนึกทางประวัติศาสตร์ของคนไทยค่อนข้างต่ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น