วันที่ 20 มี.ค. เว็บไซต์ข่าวประชาไท รายงานว่า รายงานข่าวแจ้งว่า ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ที่คดีเด็ดขาดแล้วรวม 8 คน ร่วมกันเขียนจดหมายจากเรือนจำถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษแก่พวกเขา โดยระบุว่า "บัดนี้พวกข้าพเจ้าทั้งหมดรู้สึกสำนึกผิดด้วยความเสียใจยิ่ง ต่อการกระทำที่ผิดพลาด จึงไม่ขอต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพให้ศาลตัดสินใจลงโทษจนคดีถึงที่สุด และใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษ จึงร้องทุกข์ต่อท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือพวกข้าพเจ้าให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานด้วยเถิด”
จดหมายมีใจความดังนี้
เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ
วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2555
เรื่อง ร้องทุกข์ ขอให้รัฐบาล ดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษให้
เรียน นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
พวกข้าพเจ้าตามรายชื่อท้ายหนังสือร้องทุกข์ฉบับนี้ เป็นผู้ต้องโทษในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว จึงพ้นขั้นตอนการพิจารณาของศาลอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของฝ่ายบริหารที่มีท่านนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสูงสุด
ตามขั้นตอนของกฎหมาย เมื่อจำเลยถูกพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ก็มีสิทธิที่จะยื่นทูลเกล้าถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เฉพาะตัวบุคคลได้ตามมาตรา 259 ผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษอย่างใดๆ หรือผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะทูลเกล้าถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์ ขอรับพระราชทานอภัยโทษ จะยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมก็ได้
มาตรา 260 ผู้ถวายเรื่องราวซึ่งต้องจำคุกอยู่ในเรือนจำจะยื่นเรื่องราวต่อพัศดี หรือผู้บัญชาการเรือนจำก็ได้ เมื่อรับเรื่องราวนั้นแล้วให้พัศดีหรือผู้บัญชาการเรือนจำออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นเรื่องราว แล้วให้รีบส่งเรื่องราวนั้นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
มาตรา 261 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ถวายเรื่องราวต่อพระมหากษัตริย์พร้อมทั้งถวายความเห็นว่า ควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่
ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดถวายเรื่องราว ถ้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเห็นเป็นการสมควรจะถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ ขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นก็ได้
ดังนั้นพวกข้าพเจ้าซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีเดียวกัน อันเป็นความผิดจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ของบ้านเมือง หรือบางคนใช้ความรู้สึกคึกคะนองอย่างรู้เท่าไม่ถึงกาล เป็นการใช้เสรีภาพอย่างผิดพลาด มิได้เป็นอาชญากรชั่วร้ายแต่อย่างใด
บัดนี้พวกข้าพเจ้าทั้งหมดรู้สึกสำนึกผิดด้วยความเสียใจยิ่ง ต่อการกระทำที่ผิดพลาด จึงไม่ขอต่อสู้คดี ยอมรับสารภาพให้ศาลตัดสินใจลงโทษจนคดีถึงที่สุด และใช้สิทธิ์ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษ
จึงร้องทุกข์ต่อท่านนายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือพวกข้าพเจ้าให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานด้วยเถิด
ด้วยความเคารพอย่างสูง
1.นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์
2.นายวราวุธ ฐานังกรณ์
3.นายเลอพงศ์ วิไชยคำมาตย์
4.นายสุริยันต์ กกเปือย
5.นายณัฐ สัตยาภรณ์พิสุทธิ์
6.นายเสถียร รัตนวงศ์
7.นายวันชัย แซ่ตัน
8.นางสาวดารณี ชาญเชิงศิลปกุล
ทั้งนี้ สุรชัยถูกตัดสินจำคุกใน 3 คดีรวม 15 ปีรับสารภาพลดเหลือ 7 ปี 6 เดือน และยังเหลือคดีที่ตัดสินในสู้คดีอีก 1 คดี, วราวุธ หรือสุชาติ นาคบางไทร ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี รับสารภาพเหลือ 3 ปี, นายเลอพงศ์ ถูกตัดสินจำคุก 5 ปี รับสารภาพเหลือ 2 ปี 6 เดือน, สุริยันต์ ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี 1 เดือน รับสารภาพเหลือ 3 ปี 15 วัน, ณัฐ ถูกตัดสินจำคุก9 ปี รับสารภาพเหลือ 3 ปี 18 เดือน, เสถียร ถูกตัดสินจำคุก 6 ปี รับสารภาพเหลือ 3 ปี, วันชัย ถูกตัดสินจำคุกรวม 15 ปี คดีแรก 10 ปีและคดีที่สอง 5 ปี, ดารณี ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น