Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

จลาจลข้ามยุคสมัยในอังกฤษ

บทคความจาก ประชาไท
ภฤศ ปฐมทัศน์: แปล
จาก: Londoners: Rioting through the ages, Ted Vallance, Aljazeera, 09-08-2011
http://english.aljazeera.net/indepth/opinion/2011/08/2011891626155535.html

(หมายเหตุ : ผู้แปลไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับบทความชิ้นนี้ เพียงแต่ต้องการนำเสนอความเห็นในอีกมุมมองหนึ่ง)




9 ส.ค. 2011 - ดร.เท็ด วาลานซ์ ผู้บรรยายจากสาขาวิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยโรแฮมตัน และผู้เขียนหนังสือเรื่อง "A Radical History of Britain" ได้แสดงความเห็นผ่านบทความ "ลอนดอนเนอร์ จลาจลข้ามยุคสมัย" ซึ่งเห็นว่า แม้ว่าอังกฤษจะมีเรื่องการลุกฮือของประชาชนอยู่ในประวัติศาสตร์เป็นเวลายาวนาน แต่การจลาจลที่เกิดขึ้นในอังกฤษช่วงที่ผ่านมายังขาดสำนึกทางการเมืองและทางจริยธรรมที่ชัดเจน โดยเนื้อหาของบทความมีดังนี้
0 0 0
ย้อนไปในช่วงฤดูร้อนของปี 2010 รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอังกฤษ จอร์จ ออสบอร์น ประกาศตัดค่าใช้จ่ายการบริหารของภาครัฐ ผู้สื่อข่าวจำนวนมากสงสัยว่าเหตุใดอังกฤษถึงต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาคยุโรปที่เฉื่อยชาต่อมาตรการตัดงบประมาณเช่นนี้ หรือนี้จะเป็นตัวอย่างของชาวอังกฤษผู้ "หน้าตาย" ผู้ไม่นิยมออกอาการ และไม่นิยมอารยะขัดขืน?
คำถามเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องตลกไปเลยในตอนนี้ ขณะที่การประท้วงอย่างสงบโดยสมาพันธ์สหภาพแรงงานในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมากลายเป็นเหตุรุนแรงเมื่อกลุ่มผู้ชุมนุมปะทะกับตำรวจที่จัตุรัสทราฟัลการ์
การฉกชิงและทำลายข้าวของเกิดขึ้นทั่วลอนดอน รวมถึงเมืองอื่นๆ ในอังกฤษ เป็นการประกาศให้เห็นถึงความไม่พอใจของประชาชนได้อย่างน่าสะพรึง แต่ในครั้งนี้ต่างจากการประท้วงโดยมวลชนกลุ่มใหญ่หรือการจลาจลในหมู่นักเรียนนักศึกษาซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ การก่อความวุ่นวายในช่วงสองสามวันที่ผ่านมามีแบบอย่างให้เห็นน้อยมากในอังกฤษ และในความจริงแล้ว เหตุจลาจลในครั้งนี้ก็ขาดบริบท (ทางสังคม, ประวัติศาสตร์ หรืออื่นๆ) ทำให้พวกเขายิ่งดูน่ากลัว
กบฏไร้ข้อเรียกร้อง?การลุกฮือก่อจลาจลโดยประชาชนนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกในอังกฤษ หลายพื้นที่ในอังกฤษมีการปล้นชิงทำลายข้าวของเช่น ในท็อกเท็ธของลิเวอร์พูล และบริซตันของเซาธ์ ลอนดอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์การก่อจลาจล เรื่องความตายของมาร์ค ดักแกน ที่เป็นชนวนให้เกิดการจลาจลในทอตเทนแฮมนั้น ดูเป็นไปในทางเดียวกับเหตุการณ์เมื่อปี 1985 ที่ความตายของซินเธีย จาร์เร็ท เป็นชนวนให้เกิดการจลาจลบอร์ดวอเตอร์ฟาร์มในเขตปกครองตนเองฮาร์ลิงจี
แต่ในกรณีของการจลาจลบอร์ดวอเตอร์ฟาร์มและเหตุที่เกิดขึ้นในบริซตันและทอซเทธเมื่อปี 1981 การจลาจลทั้งสองเหตุการณ์นี้เน้นย้ำให้เห็นถึงการใช้กำลังของตำรวจและการเหยียดสีผิวอย่างชัดเจน ข้อกล่าวหาในเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมีข้อมูลสนับสนุนจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่เช่น รายงานของสการ์แมนในปี 1981 ขณะที่รายงานของแม็กเฟอสันในปี 1999 ซึ่งเป็นการรายงานต่อสำนักงานตำรวจของอังกฤษในคดีฆาตกรรมสตีเฟน ลอว์เรนซ์ มีการตั้งข้อหาอย่างชัดเจนว่าเป็นการ "เหยียดเชื้อชาติโดยสถาบันของรัฐ" นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางด้านการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่อังกฤษ จากการถกเถียงหารือกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจกับชุมชนในช่วงการจลาจลที่ทอตเทนแฮม แฮกนีย์ และบริกซ์ตัน ส่วนใหญ่เห็นว่ามีพัฒนาการมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ไม่ว่าชาวอังกฤษบางคนจะมีมุมมองด้านลบต่อสำนักตำรวจขนาดไหนก็ตาม สิ่งที่โดดเด่นในเหตุการณ์คราวนี้คือความคิดเห็นของนักวิจารณ์ที่มองว่าความตายของ มาร์ก ดันแกน ถูกนำมาอ้างมากกว่าเป็นการแก้ตัวให้กับกลุ่มที่ออกมาทำลายข้าวของในช่วงสุดสัปดาห์นี้
แน่นอนว่าการทำลายข้าวของเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงอย่างรุนแรงของอังกฤษตั้งแต่ในอดีตมาแล้ว การประท้วงเพื่อสิทธิในการลงคะแนนของสตรี (Suffragettes) ก็รู้จักกันในแง่ที่มีการทำลายชุดแต่งกายของเหล่าสุภาพบุรุษเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ของการกดขี่แบบปิตาธิปไตย ในช่วงที่ผ่านมาเปล่าผู้ประท้วงต่อต้านทุนนิยมก็พุ่งเป้าหมายไปที่แบรนด์ดังๆ ของโลกอย่างแม็กโดนัล์และสตาร์บักส์
แต่การก่อเหตุวุ่นวายของเหล่าวัยรุ่นในช่วงเดือนสิงหาคมนี้มีทั้งการทำลายข้าวของทั้งร้านแฟรนไชล์และร้านที่เป็นธุรกิจอิสระโดยไม่แยกแยะ สิ่งที่พอจะจำแนกได้คือมูลค่าของสินค้าที่อยู่ในร้าน ซึ่งมักเป็นสินค้ายอดนิยมของวัยรุ่นในเมือง ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าผ้าใบใหม่แกะกล่อง สมาร์ทโฟน เสื้อผ้า ซึ่งทุกอย่างนี้ถูกปล้นออกมาหมด ถ้าหากพวกเขาจะมีอุดมการณ์ ก็คงเป็นแนวคิดในแบบเด็กอนุบาลที่เรียกได้ว่า "ฉันเป็นคนเจอ ฉะนั้นฉันถึงเป็นเจ้าของ" (Finders Keepers)
ถ้าหากนี่เป็นแค่การฉกชิงวิ่งราวทั่วไป ทั่วทั้งประเทศคงไม่รู้สึกระคนตื่นตระหนกกันเช่นนี้ แต่พวกกลุ่มนักฉกชิงก็ออกพล่านไปทั่วอังกฤษ มีนักวิเคราะห์พยายามชี้ให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันของการเคลื่อนไหวนี้ว่าเกือบจะเหมือนปรากฏการณ์ "ดอกไม้บานในอาหรับ" ที่มีการใช้โซเชียลมีเดียในการเชื่อมต่อสื่อสารกัน แต่แม้ว่ากลุ่มแก๊งค์เหล่านี้จะเคลื่อนไหวโดยส่งข้อความผ่านแบล็กเบอร์รี่แมซเซนเจอร์ (BBM) ซึ่งเป็นระบบการสื่อสารเครือข่ายทางสังคมที่ปิดมาก การเปรียบเทียบกรณีอังกฤษกับอาหรับนั้นดูเหมือนเป็นการลดทอนคุณค่าของการเคลื่อนไหวในอาหรับมากกว่าจะช่วยให้อะไรดีขึ้น ผู้คนเหล่านี้ไม่ใช่นักรณรงค์ผู้กล้าหาญ และสถานีรถรางรีฟส์คอร์เนอร์ในครอยเดนก็คงไม่ใช่จัตุรัสทาห์เรีย [1] สำหรับชาวอังกฤษแน่ พวกวัยรุ่นที่ฉวยเครื่องกีฬาจากร้านค้าทั่วอังกฤษไปจนเกลี้ยงก็เทียบไม่ได้สักนิดกับกบฏของอังกฤษในยุคก่อน พวกเขาไม่มีแถลงการณ์หรือประกาศเจตนารมณ์ใดๆ ผลลัพธ์ที่ได้คือพวกเขาไม่มีข้อเรียกร้องใดๆ ให้รัฐบาลอังกฤษได้บรรลุเพื่อทำให้เหตุการณ์สงบ แต่กระนั้นก็ตาม แม้กลุ่มวัยรุ่นเหล่านี้ดูไม่มีวาระทางการเมืองใดๆ แต่พวกเขาก็เป็นอันตรายต่อรัฐบาลอังกฤษ
ใครปกครอง?
ในช่วงสงครามกลางเมืองของอังกฤษในปี 1642-1646 ความรุนแรงของฝูงชนมีบทบาทสำคัญในการทำให้พระเจ้าชาร์ลที่ 1 หนีออกจากเมืองหลวง มีเหตุการณ์ในแบบเดียวกันเกิดขึ้นช่วง "การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์" (Glorious Revolution) ในปี 1688 เมื่อผู้ประท้วงทำให้พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ต้องหนีไป
จากประวัติศาสตร์ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าความวุ่นวายที่เกิดจากประชาชนจะเป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้อย่างมาก ในเดือนกุมภาพันธ์ 1974 เมื่อมีการประท้วงหยุดงานของสหภาพคนงานเหมืองแร่ของอังกฤษ นายกรัฐมนตรีเอ็ดเวิร์ด ฮีธ จากพรรคอนุรักษ์นิยมผู้ที่อ่อนแรงลงก็จัดให้มีการเลือกตั้งภายใต้สโลแกน "ใครกันที่ปกครองอังกฤษ?" ใครก็ตามที่ปกครองอังกฤษอยู่คนผู้นั้นมิใช่เอ็ดเวิร์ด ฮีธ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งช่วยกันก่อตั้งรัฐสภาอังกฤษมาตั้งแต่ปี 1929 และระบอบอุตสาหกรรมก็ลุกลามไปทั่วประเทศในอีกทศวรรษถัดมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นายกฯ จากพรรคแรงงาน เจมส์ คาลลากันพ่ายการเลือกตั้งไปในปี 1979
11 ปีต่อมา การลุกฮือของประชาชนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องสละเก้าอี้อีกครั้ง เมื่อมีเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านการคิดภาษีระบบใหม่ที่เรียกว่า "คอมมิวนิตี้ชาร์จ" ของรัฐบาลมาร์กาเร็ต แทชเชอร์ ในช่วงเดือน มี.ค. 1990 ซึ่งในตอนแรกเริ่มต้นจากการชุมนุมอย่างสงบแต่ต่อมาก็กลายเป็นการจลาจลในจัตุรัสทราฟัลการ์ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ้บนับร้อยและมีผู้ถูกจับกุม 339 ราย แม้ว่าความรุนแรงจะถูกประณามทั้งจากรัฐบาลและจากนักกิจกรรม แต่การต่อต้านระบบภาษีใหม่ก็มีส่วนสำคัญในการทำให้รัฐบาลของมาร์กาเร็ต แทชเชอร์อ่อนแรงและทำให้มีการยกเลิกระบบภาษีนี้ในที่สุด "หญิงเหล็ก" ของอังกฤษผู้ที่ไม่เคยยอมอ่อนข้อปรับเปลี่ยนนโยบายก็จำต้องยอม "ยูเทิร์น" อย่างเสียหน้า
นายกฯ คนปัจจุบัน เดวิด คาเมรอน ก็ต้องกลับประเทศเร็วกว่ากำหนดหลังไปพักร้อนช่วงวันหยุดที่เมืองทัสคานี เพื่อควบคุมสถานการณ์ที่เริ่มวิกฤติมากขึ้นเรื่อยๆ คาเมรอนเข้าใจดีว่าหากตอบโต้เหตุการณ์นี้ด้วยความอ่อนข้อเกินไปอาจทำให้เขาต้องออกถูกเด้งจากเก้าอี้เช่นเดียวกับนายกฯ รายอื่นๆ ในที่สุด ความยากอยู่ตรงที่ เหตุการณ์ในอดีตชี้ให้เห็นว่าการตอบโต้อย่างหนักหน่วงรุนแรงก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่เป็นหายนะเช่นกัน
จาก "โอบอุ้ม" เป็น "จับแขวน"
ประชาชนทั่วไปรู้สึกไม่พอใจกับการได้เห็นภาพการปล้นชิงทำลายข้าวของและการใช้ความรุนแรงในช่วงวันที่ 6-8 ที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ตำรวจของอังกฤษใช้ยุทธวิธีที่เข้มงวดกว่านี้ โดยการใช้ปืนน้ำและไม้กระบอง รวมถึงต้องการให้กองทัพเข้าแทรกแซงสถานการณ์
ก่อนหน้านี้ในปี 2006 คาเมรอนพยายามให้เหล่าผู้สนับสนุนของเขาทำตัวเป็นผู้ "โอบอุ้มชาวเสื้อคลุมหัว" [2] ซึ่งเป็นการปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพรรคอนุรักษ์นิยมให้ดูเป็น "นักอนุรักษ์นิยมผู้แสนดี" แต่ตอนนี้ภาพของวัยรุ่นในชุดคลุมที่ออกปล้นอย่างดุร้ายในจอโทรทัศน์ ทำให้สิ่งที่คาเมรอนเคยพูดไว้ดูไม่จืด อย่างไรก็ตามจนบัดนี้คาเมรอนก็ยังไม่ยอมใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด แต่ใช้วิธีการเทกำลังเจ้าหน้าที่ลงตามท้องถนนของลอนดอนเพื่อยับยั้งเหตุจลาจล
ประวัติศาสตร์สอนว่านี้เป็นการตอบโต้ที่ดูมีเหตุผล เว้นแต่ว่ากองกำลังเจ้าหน้าที่ของอังกฤษจะทำเกินเลยไปจนถึงจุดที่เกินกว่าฉันทามติของนานาชาติจะยอมรับได้ และทำให้เกิดผลกระทบต่อนโยบายตัดงบของรัฐบาล และประวัติศาสตร์ของการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงเพื่อปราบปรามการก่อจลาจลของประชาชนนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าพิสมัยเลย
ก่อนหน้าศตวรรษที่ 19 ที่มีการจัดตั้งหน่วยงานตำรวจแห่งชาติและตำรวจในท้องที่ กองทัพเป็นอาวุธอย่างเดียวที่รัฐบาลอังกฤษใช้ในการปราบปรามผู้ต่อต้าน ครั้งสุดท้ายที่อังกฤษเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบข้ามวันข้ามตืนจนเทียบได้กับเหตุการณ์ครั้งนี้ คือกลุ่มกบฏกอร์ดอนเมื่อวันที่ 2-9 มิ.ย. 1780 พระเจ้าจอร์จที่ 3 ตัดสินใจใช้กองทัพที่แม้จะปราบปรามเหตุไม่สงบได้ แต่ก็ทำให้ประชาชนต้องล้มตายไปมากกว่า 200 ราย
การใช้กองทัพปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเซนส์ปีเตอร์สฟิลด์ แมนเชสเตอร์เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 1819 ก็นำมาซึ่ง "เหตุปะทะปีเตอร์ลู" ที่มีประชาชน 15 รายเสียชีวิตและอีกหลายร้อยรายได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์ที่ใกล้เข้ามาหน่อยแต่ก็น่าขมขื่นไม่แพ้กัน คือการส่งกองทัพเข้าไปในไอร์แลนด์เหนือที่ยิ่งเป้นการย้ำเตือนว่า ยังไงทหารก็ไม่ใช่ตำรวจ และการมีอยู่ของทหารก็ยิ่งเป็นชนวนให้เกิดการปะทุมากกว่าเป็นการช่วยบรรเทาความตึงเครียด
การฟื้นคืนยุทธวิธีอย่างการใช้กฏหมายค้นตัวผู้ต้องสงสัย (sus laws) ที่ให้อำนาจการค้นแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็มีการลือกันว่าเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงในแฮกนีย์ และมีความเป็นไปได้ว่าการใช้ปืนน้ำและกระสุนยางก็อาจก่อให้เกิดเหตุแบบเดียวกันโดยเฉพาะจะทำให้มีคนได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ แต่หากว่าเราควรหักห้ามไม่ให้ใช้วิธีการปราบที่รุนแรงกับกลุ่มก่อจลาจลเช่นนี้แล้ว คำถามคือเราควรจะใช้วิธีการใดแทน ไม่ใช่คำตอบที่ง่ายดายเลย
นักวิจารณ์ฝ่ายเสรีนิยมมักจะเสนอว่า มาตรการลดงบประมาณของรัฐบาลเป็นเหตุทำให้เกิดความวุ่นวายในครั้งนี้ แต่ถ้าจะให้อธิบายจริงก็ถือว่าถูกแค่ส่วนเดียว ผู้คนเพิ่งได้รับรู้ถึงผลกระทบของนโยบายตัดงบเมื่อไม่นานมานี้เอง การตัดงบมากกว่านี้อาจจะยิ่งทำให้เกิดการจลาจลบานปลายขึ้นไปอีก แต่ความจริงที่ไม่น่าพิสมัยเท่าไหร่คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันมานี้เป็นผลผลิตมานานนับทศวรรษ ไม่ใช่เพียงแค่หลายเดือนที่ผ่านมา นั่นคือช่องว่างความไม่เท่าเทียมกันทางสังคมที่ถ่างกว้างขึ้น อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษในการกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมที่ว่านี้
อย่างไรก็ตามประเทศอังกฤษก็ต้องหาทางแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมในเมือง มิเช่นนั้นแล้วอังกฤษอาจต้องพบกับภัยทางสังคมที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ เพราะการจลาจลในครั้งนี้ ไม่เหมือนการก่อกบฏในอดีต พวกเขาไม่มีสำนึกทางการเมืองหรือสำนึกด้านจริยธรรม พวกเขามีแต่ความปรารถนาที่จะดื่มกินและทำลายล้าง

เชิงอรรถ
[1] จัตุรัสทาห์เรีย เป็นแหล่งชุมนุมสำคัญของชาวอิยิปต์ที่ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลเมื่อกลางปี 2011 นี้
[2] Hug a Hoodie - ในวัฒนธรรมอังกฤษคนที่ใส่เสื้อคลุมหัวหรือ Hood นั้นดูไม่น่าไว้วางใจและต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากร ขณะเดียวกันก็เป็นที่นิยมของเด็กวัยรุ่นชนชั้นล่าง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมฮิปฮอปของสหรัฐฯ โดยคาเมรอนกล่าวไว้ว่า "วัยรุ่นที่สวมเสื้อคลุมหัวนั้นเขาสวมในเชิงปกป้องตัวเองมากกว่าจะมีเจตนาทำร้ายคนอื่น" (อ้างจาก http://news.bbc.co.uk/2/hi/uk_news/politics/5166498.stm)
ที่มา
Londoners: Rioting through the ages, Ted Vallance, Aljazeera, 09-08-2011
http://english.aljazeera.net/indepth/opinion/2011/08/2011891626155535.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น