วิจัย ใจภักดี
ข่าวเจาะลึก จาก RED POWER เล่มที่ 17 วันที่ 1 สิงหาคม 2554
การพังทลายของโครงสร้างระบอบการปกครองในรอยต่อของระบอบศักดินาสู่ยุคประชาธิปไตยของทุกรัฐล้วนแล้วแต่มีปัจจัยสำคัญที่เหมือนกันคือ ผู้มีอำนาจมองไม่เห็นพลังแห่งพัฒนาการของสิ่งที่เรียกว่า “ความตื่นตัวของประชาชน”
แม้มีบทเรียนให้เห็นแล้ว ผู้มีอำนาจก็ยังมองไม่เห็น
ไม่เพียงแต่มองไม่เห็นแต่ยังไม่เชื่อด้วยว่าระบอบอำนาจที่พระเจ้าประทานให้แก่กษัตริย์จะพังทลายได้ด้วยฝีมือของพลังแห่งคนจนที่เขาดูถูกว่าเป็นคนโง่
การพังทลายของราชวงศ์บูร์บลองในฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารีอังตัวเนต มองไม่เห็นผลสะเทือนของสงครามกลางเมืองในอังกฤษที่อยู่ใกล้กันระหว่าง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กับสามัญชนครอมเวลล์ ที่ก่อตัวตั้งแต่ต้นทศวรรษ ค.ศ.1640
การต่อสู้ที่ยาวนานระหว่างแนวคิดกษัตริย์นิยมกับสาธารณรัฐนิยม เกือบหนึ่งศตวรรษที่เริ่มจากการปฏิวัติในฝรั่งเศสจาก ค.ศ. 1789 ขยายตัวไปทั้งภาคพื้นยุโรป แต่กลับมิได้ให้บทเรียนแก่ราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างราชวงศ์ชิงในจีนและราชวงศ์โรมานอฟในรัสเซียเลย จึงเกิดการพังทลายของทั้ง 2 ราชวงศ์ในปี ค.ศ.1912 และค.ศ.1917 ไล่ถัดกันมา
200 กว่าปีนับแต่การปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสได้เกิดการปรับตัวของระบอบ
กษัตริย์นิยมทั่วทั้งยุโรปแล้วนำรัฐทั้งหมดของภาคพื้นยุโรปและอเมริกาเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐนิยมและระบอบรัฐสภานิยมที่กษัตริย์กับประชาชนอยู่ร่วมกันได้
แม้จะย่างเข้าศตวรรษที่ 20 แล้วแต่ก็กลับมิได้ให้บทเรียนแก่ราชวงศ์อียิปต์,อิหร่าน,เอธิโอเปีย แล่ล่าสุดคือเนปาล เลยจึงได้เกิดการพังทลายของราชวงศ์ดังที่กล่าวมานี้อีก
เป็นที่น่าสังเกตว่านับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ก่อนก้าวขึ้นศตวรรษที่ 20 ชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้ให้กำเนินทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตได้ส่งผลสะเทือนต่อแนวคิดทางวิชาการทางการเมืองอย่างมาก เกิดวิชาการวิจัยที่ทำให้มนุษย์สามารถทำนายความต้องการของมนุษย์มหาชนได้อย่างแม่นยำที่รู้จักกันในนาม “การทำโพล” จึงเกิดการเรียนรู้ทฤษฎีวิวัฒนาการทางการเมืองอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่ทำไมในศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษแห่งความเจริญทางวิชาการแล้วจึงไม่สามารถเตือนภัยให้ระบอบกษัตริย์ในอียิปต์, อิหร่าน, เอธิโอเปีย และเนปาลให้เกิดการปรับตัวเพื่อจะดำรงรักษาฐานะแห่งระบอบอำนาจราชวงศ์ได้ต่อไปอีก
คำตอบที่สำคัญคือผลประโยชน์
ไม่ใช่เพียงแต่ผลประโยชน์ของราชวงศ์ที่เป็นอุปสรรคหากแต่เป็นผลประโยชน์ของเหล่าขุนนางที่อยู่รายล้อมพระองค์ที่ก่อตัวกันขึ้นกลายเป็นระบอบขุนนางที่เข้มแข็งห่างเหินประชาชนและพัฒนาสู่ความเน่าเฟะ โดยทำหน้าที่พิทักษ์อำนาจของตนด้วยการปิดกั้นข้อมูลความทุกข์ร้อนของประชาชนไม่ให้เข้าสู่พระเนตรพระกรรณของราชวงศ์
ความเป็นจริงแห่งวิวัฒนาการของโลกในหลายประเทศควรอย่างยิ่งที่จะได้นำมาเป็นบทเรียนของการจัดระเบียบในสังคมไทยเพื่อดำรงรักษาพระบารมีพระมหากษัตริย์เจ้าให้ยืนยาวตราบนานเท่านานด้วยคลังแห่งวิชาการที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย (หากนับจากจำนวนมหาวิทยาลัยที่มีมากที่สุดในอาเซียน)
แต่น่าเสียดายที่ไม่มีนักวิชาการที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมจากรั้วมหาวิทยาลัยที่จะออกมาติติงตักเตือนความมัวเมาในผลประโยชน์ของพวกเหล่าขุนนางที่ก่อกรรมทำเข็ญสร้างวิกฤติให้แก่ประเทศไทยมายาวนานกว่า 5 ปีแล้ว ด้วยการที่พวกเขาไม่ยอมรับและขัดขวางมติมหาชนตามแนวทางของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาด้วยเหตุผลง่ายๆว่าพวกส.ส.ขาดคุณธรรม
เหตุการณ์จากรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณขยายตัวสู่การยึดทำเนียบรัฐบาล และยึดสนามบิน เพื่อล้มรัฐบาล สมัคร – สมชาย เพื่อจะนำนายอภิสิทธิ์หุ่นเชิดขึ้นเป็นนายกฯกลับได้รับการปกป้องว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องจากระบอบขุนนาง โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้อธิบายความ แม้วันนี้ผลการเลือกตั้งเป็นคำตอบที่ดีที่สุดแล้วว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อการอธิบายความของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ระบอบขุนนางยังใช้ความพยายามทุกวิถีทางและใช้กลไกแห่งอำนาจทำลายเจตนาของประชาชน เพียงเพื่อตอบสนองความอาฆาตแค้น และอารมณ์ความเกลียดชังเป็นการเฉพาะของคนบางคนในหมู่ขุนนาง โดยมองไม่เห็นถึงผลกระทบต่อโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตยที่มีลักษณะพิเศษของสังคมไทย
ขบวนการแห่งอารมณ์แค้นที่ฝังรากลึกจากกรณีการเกลียดชัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของคนบางคนที่ไม่อาจปฏิเสธได้ที่แสดงออกตลอดระยะเวลา 5 ปี ของการแย่งชิงอำนาจด้วยกำลังอาวุธ โดยไม่ยอมรับกฎกติกาประชาธิปไตย จนถึงวันนี้แสดงออกให้เห็นชัดที่ใช้กลไกอำนาจของ กกต. ที่พยายามจะขัดขวางการเข้าสู่อำนาจตามทำนองคลองธรรมของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนกระทั่งการใช้อำนาจศาลเป็นเครื่องมือในการกักตัว นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไม่ให้ก้าวเข้าสู่สภา โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า ระบอบอำมาตย์กำลังจุดชนวนให้เกิดการปะทะกันในเชิงสัญลักษณ์และโคร้างสร้าง ระหว่างอำนาจของศาลที่เป็นตัวแทนของสถาบันกษัตริย์กับอำนาจรัฐสภาที่มาจากประชาชน
นายจตุพร พรหมพันธุ์ โดยส่วนตัวเป็นเพียงแค่เด็กคนหนึ่งที่มาจากจังหวัดสุราษฎ์ธานี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่จากการนำมวลชนขึ้นต่อสู้กับระบอบเผด็จการอำมาตย์ตลอดระยะเวลา 5 ปี ในนามแกนนำ นปช. ได้ทำให้ฐานะของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ถูกหลอมรวมเป็นแกนแห่งพลังของประชาชนไปแล้วโดยพฤตินัย และจากผลการเลือกตั้งที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้ยืนอยู่ในกลุ่มของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะบัญชีรายชื่ออย่างมีนัยยะสำคัญจนได้รับความเห็นชอบของประชาชน 15 ล้านเสียงเศษนี้ได้ทำให้ฐานะของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ กลายเป็นแกนพลังของมหาชนโดยนิตินัยไปแล้ว
ฐานะวันนี้ นายจตุพร พรหมพันธุ์ จึงเป็นตัวแทนของมหาชนโดยชอบทั้งทางการเมืองและทางกฎหมาย ซึ่งแตกต่างจากหัวหน้าม็อบอย่าง นายสนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำพันธมิตรฯทุกคน ที่มีเพียงฐานะทางการเมืองแต่ไม่มีฐานะทางกฎหมาย
คำถามของสังคมที่ อัยการ– ศาล ไม่อาจจะอธิบายได้ว่า แล้วทำไมหัวหน้าม็อบอย่างแกนนำพันธมิตรฯที่ก่อจลาจลยึดทำเนียบและยึดสนามบินยาวนานเกือบ 7 เดือนจึงได้รับความกรุณาปราณีจากกระบวนการยุติธรรมประกันตัวได้ไม่มีปัญหา แล้วทำไมแกนนำ นปช. ซึ่งเป็นหัวหน้าม็อบที่กระทำผิดในลักษณะเดียวกันอีกทั้งผ่านการเห็นชอบของประชาชนได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงเป็นเสียงข้างมาก จึงไม่ได้รับความกรุณาปราณีจากกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะจากศาลที่ไม่ยอมให้ นายจตุพร ออกไปลงคะแนนเสียงในฐานะผู้สมัคร ส.ส. ทั้งๆที่ นายจตุพร ยื่นขอประกันตัวเพื่อรักษาสิทธิทางการเมืองของตนออกไปลงคะแนนเพียง 3 ชั่วโมง ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยถือว่าศาลจะปฏิเสธสิทธินี้ไม่ได้ แล้วในที่สุดกลายเป็นเหตุอ้างของ กกต.ที่จะตัดสิทธิ์ของ นายจตุพร
การกระทำของ กกต. จึงปฏิเสธความเข้าใจของมหาชนไม่ได้ว่า กกต. รับลูกมาจากศาล
ศาลจะอ้างว่าเป็นอำนาจแห่งดุลยพินิจอิสระของศาลในฐานะอำนาจอธิปไตยที่เสมอกับอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร ที่มาจากประชาชน ย่อมอ้างได้ แต่ยิ่งอ้างก็ยิ่งอันตราย เพราะมีกรณีคู่ขนานเปรียบเทียบระหว่างแกนนำ นปช. ที่มีอำนาจโดยนิตินัยแห่งมหาชนยอมรับ กับแกนนำพันธมิตรที่ไม่มีอำนาจโดยนิตินัยแห่งมหาชนยอมรับใดๆเลย แล้วทำไมในอดีตศาลจึงยอมให้แกนนำพันธมิตรฯประกันตัวได้จากคดีที่ก่อความรุนแรงและความเสียหายยิ่งกว่า คือกรณียึดทำเนียบรัฐบาลและยึดสนามบิน ?
ยิ่งมองลึกเข้าไปในโครงสร้างอำนาจของศาลในระบอบประชาธิปไตยของไทยที่มีลักษณะพิเศษยิ่งอันตราย เพราะศาลเป็นอำนาจโดยตรงของสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมใดๆในการ “รับรอง”อำนาจของศาลเลย แต่ประชาชนมีฐานะเพียงเป็นผู้ “รองรับ” อำนาจของศาลเท่านั้น ปรากฏการณ์ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ จึงกลายเป็นชนวนระเบิดอันเป็นผลการจากเผชิญหน้าทางอำนาจระหว่าง อำนาจตุลาการ ตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ กับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ตัวแทนของประชาชน
นี้คือจุดอ่อนอันเป็นปัญหาของระบอบขุนนางที่ใช้ความอาฆาตแค้นและอารมณ์ของคนบางคนที่อวดอ้างคุณธรรมเหนือมติมหาชนเข้ามาแทรกแซงระบอบรัฐสภาไทย
ปรากฏการณ์ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เปรียบเทียบได้เสมือนหนึ่งระบอบขุนนางที่เสมือนหนึ่งเป็นนายสถานีรถไฟกำลังเมาอำนาจ สับรางให้รถไฟขบวนตุลาการกับรถไฟขบวนประชาชน ชนกันที่สถานี จตุพร
ถ้าถามว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ?
ผมอยากจะตอบว่า ต้องจัดหลักสูตรพาบรรดาขุนนางผู้มีอำนาจทั้งหลายเข้าอบรมวิชาทฤษฎีวิวัฒนาการทางการเมือง โดยเน้นการศึกษาประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย ในยุครอยต่อก่อนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบสาธารณรัฐครับ
แล้วมันจะได้รู้กันซะทีว่ารถไฟขบวนไหนมันจะเข็งแกร่งกว่ากัน..
ตอบลบระบอบประชาธิปไตยของไทยเปรียบเป็นต้นไม้เล็กๆที่งอกใต้ต้นไม้ใหญ่
ตอบลบสุดท้ายอำนาจเก่าก็จะเสื่อมไปตามอายุการใช้งาน....
ตอบลบขิงแก่ มีแต่เผ็ดมาก ไม่มีใครชอบ ขิงอ่อน มีแต่คน รับประทานครับ เหมือนกับเวลาเราทานโจ๊ก ถ้าคนขายเอาขิงแก่ๆ มาใส่เราก็เขี่ยทิ้ง แต่กลับกัน ถ้าใส่ขิงอ่อนมาในชาม เรากินเกลี้ยงครับ แล้วขิงแก่ๆ น่าจะรู้ตัวแล้วนะ ว่าควรหยุดอยู่เพียงแค่นี้ กรุณาอย่าดันทุรังอีกเลย นะจะบอกให้ (คำเตื่อน)
ตอบลบเห็นด้วยค่ะ เปรียบเทียบได้ดีมากๆ
ตอบลบ