Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เจาะ6ปม"ดีเอสไอ" สรรหา"กสทช."ไม่โปร่งใส ...ลงคะแนนตามอำเภอใจ-เลือกคนที่รู้จัก?

จาก matichon online วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หมายเหตุ- บทสรุปบางส่วนในผลสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีมีผู้ร้องเรียนกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ใน 6 ประเด็น โดยระบุว่าไม่โปร่งใสและขัดต่อกฎหมาย ผลสอบดังกล่าวดีเอสไอยื่นต่อนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสรรหา

ประเด็นการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา กสทช.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกพิจารณาได้ 6 กรณี คือ

1.การสรรหา กสทช. โดยวิธีการสรรหาที่ให้ผู้สมัครแสดงความประสงค์สมัครได้หลายด้าน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คณะทำงานสืบสวนดีเอสไอเห็นว่า ระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาฯ ระบุชัดเจนให้ผู้สมัครซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา 6 แนบเอกสารหลักฐานที่แสดงถึงผลงาน ความรู้ หรือความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ในด้านหนึ่งด้านใด ตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 6 ประกอบกับเจตนารมณ์ในการคัดสรรหา กสทช. ต้องการผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ เชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ ที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละด้านอย่างแท้จริง

แต่พบว่าคณะกรรมการสรรหาปล่อยให้มีผู้สมัครหลายด้าน เกิดความไม่เท่าเทียมกัน พบว่ากระบวนการสรรหาไม่ถูกต้องเป็นธรรม นับตั้งแต่การรับสมัครเจ้าหน้าที่เน้นย้ำให้สมัครได้ด้านเดียว เมื่อปิดการรับสมัครแล้วคณะกรรมการสรรหาฯได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 3 และมีมติ 7 เสียงต่อ 5 ให้ถอนชื่อ (ตัดสิทธิ) ผู้สมัครหลายด้าน 22 คน ออกจากบัญชีผู้สมัครเพื่อความเท่าเทียม

แต่ในการประชุมครั้งที่ 4 กลับมีมติยกเลิกมติดังกล่าว อ้างว่าไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดจำกัดสิทธิผู้สมัครที่จะสมัครได้หลายด้าน และได้มีมติให้กรรมการสรรหาฯ ลงมติเลือกผู้สมัครหลายด้านได้เพียง 1 เสียง และเห็นชอบร่วมกันให้ตรวจสอบบัตรลงคะแนนก่อนนับคะแนน และยังมีมติว่าไม่ต้องตรวจบัตรลงคะแนน เมื่อลงคะแนนเสร็จให้ทำลายบัตร ซึ่งการทำลายบัตรลงคะแนน ถือเป็นการทำลายพยานหลักฐาน

2.กรณีผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือกมีวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับสาขาอาชีพในด้านที่ได้รับคัดเลือก
คณะทำงานสืบสวนเห็นว่า พิจารณาจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 2553 แล้วเห็นว่า การพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ กสทช. ต้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละด้าน จึงต้องพิจารณาเอาความรู้ ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ด้านต่างๆ ตามแนวคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการคัดเลือกไว้ชัดเจนว่า ให้ผู้สมัครเข้ารับการเลือกต้องกรอกใบสมัครตามแบบให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามความเป็นจริง

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายยุทธ์ ชัยประวิตร ผู้สมัครเข้ารับการเลือก ยื่นใบสมัครโดยแสดงความประสงค์สมัครหลายสาขาวิชาชีพ แต่มีวุฒิการศึกษา ไม่ตรงกับสาขาอาชีพที่สมัคร ต่อมาขอยื่นเอกสารเพิ่มเติม โดยคณะกรรมการสรรหาพิจารณารับเอกสารไว้ ปรากฏว่านายยุทธ์ได้รับคัดเลือกด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งไม่ตรงกับคุณวุฒิการศึกษาที่จบวิศวกร จึงเป็นการสรรหาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

3.การยื่นเอกสารประกอบการสมัคร เป็นเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ เพิ่มเติมภายหลังปิดรับสมัครแล้ว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการสรรหาฯ ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2553 ระบุว่า นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ผู้สมัคร ขอส่งเอกสารแสดงวิสัยทัศน์เพิ่มเติมภายหลังจากการรับสมัครเสร็จสิ้น ที่ประชุมมีมติให้รับไว้ได้ ทำให้นายอรรถชัยไม่ถูกตัดสิทธิในการเข้ารับการคัดเลือก (ต่อมาได้เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ได้รับการคัดเลือก) ตามระเบียบสำนักงานเลขาธิการฯ ข้อ 7 (4) ระบุชัดว่า บุคคลผู้มีสิทธิสมัครต้องกรอกใบสมัคร พร้อมแนบเอกสารหลักฐานแสดงวิสัยทัศน์ 18 ชุด แต่เมื่อวันสมัครนายอรรถชัยมิได้จัดทำเอกสารแสดงวิสัยทัศน์แนบมาพร้อมใบสมัคร ทำให้การสมัครไม่ถูกต้องตามระเบียบ ต่อมานายอรรถชัยส่งเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ภายหลัง ซึ่งคณะกรรมการสรรหาฯมีมติรับเอกสาร โดยอ้างระเบียบข้อ 7 ที่ไม่ได้กำหนดไว้ว่า ผู้สมัครคนใดไม่ได้แนบเอกสารหลักฐานประกอบการสมัครแล้วผลจะเป็นประการใด ส่งผลให้นายอรรถชัยมีคุณสมบัติครบ

คณะทำงานสืบสวนเห็นว่าคณะกรรมการสรรหาฯปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพราะระเบียบข้อ 7 กำหนดชัดเจน เป็นเงื่อนไขว่า ให้ผู้สมัครต้องแนบเอกสารแสดงวิสัยทัศน์พร้อมใบสมัครในวันที่สมัคร เมื่อนายอรรถชัยไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แต่มายื่นเพิ่มเติมภายหลัง การกระทำของคณะกรรมการสรรหาฯเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยผิดกฎหมาย

4.กรณีคณะกรรมการสรรหา กสทช. มีมติคัดเลือกนายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท ขาดคุณสมบัติ และต่อมาให้เพิกถอน และมีมติให้ทำการคัดเลือกใหม่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ประธานกรรมการสรรหาฯ มีตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) อีกตำแหน่งหนึ่ง ได้เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 ซึ่งที่ประชุมเลือก นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท เป็นกรรมการของบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้นายอรรถชัย ซึ่งเป็นผู้สมัคร กสทช. มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 (12) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2553 ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ครั้งที่ 11 วันที่ 25 เมษายน 2554 นายจตุรงค์ในฐานะประธานที่ประชุม มิได้แจ้งหรือบอกต่อที่ประชุมให้ทราบว่านายอรรถชัยได้รับเลือกเป็นกรรมการบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) กลับดำเนินการประชุม โดยมีการลงคะแนนคัดเลือก ซึ่งนายอรรถชัยอยู่ด้วย ผลปรากฏว่านายอรรถชัย ได้รับเลือก มีคะแนนเป็นลำดับที่ 3 ด้านเศรษฐศาสตร์ กระทั่งมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือก 22 คน ซึ่งมีนายอรรถชัยด้วย ต่อมานายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก ร้องเรียนขอให้เพิกถอน คณะกรรมการสรรหาฯจึงได้มีมติให้เพิกถอนนายอรรถชัย

คณะทำงานสืบสวนเห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า วันลงคะแนนคัดเลือกผู้สมัคร นายจตุรงค์รู้อยู่แล้วว่าเป็นประธานกรรมการสรรหาฯมีความสัมพันธ์กับนายอรรถชัย ผู้สมัคร ในฐานะรองประธานกรรมการบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) กับกรรมการบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) ถือเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นเหตุที่มีสภาพร้ายแรงที่ทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง การกระทำของนายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นประธานกรรมการสรรหา ถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

มีประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า เมื่อมีมติเพิกถอนนายอรรถชัยแล้ว และมีมติให้สรรหาผู้สมัครใหม่แทนโดยไม่ใช้วิธีการเลื่อนผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดในลำดับถัดไปขึ้นมาแทน และอ้างว่ากรณีดังกล่าวระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ฯ โดยวิธีการสรรหา พ.ศ.2553 ไม่ได้กำหนดไว้ จึงอาศัยข้อกำหนดตามข้อ 13 ของระเบียบดังกล่าว ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อมีมติว่าขาดคุณสมบัติและให้เพิกถอน ต้องใช้วิธีการเลื่อนผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดในลำดับถัดไปขึ้นมาแทนตามที่เคยปฏิบัติ หากแต่คณะกรรมการสรรหาฯ กลับมีมติให้คัดเลือกใหม่ อันเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบ

เมื่อคณะกรรมการสรรหาฯ ลงคะแนนเลือกกันใหม่ ปรากฏว่าผู้ที่ได้รับเลือกในด้านเศรษฐศาสตร์ (แทนนายอรรถชัย) คือนายยุทธ์ ชัยประวิตร ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงอันมีพยานหลักฐานยืนยันว่า นายยุทธ์มิได้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ในด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษา (อุทธรณ์) คดีหมายเลขดำที่ อ.6/2549 ลงวันที่ 26 กันยายน 2549 หน้า 60

5.การที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. มีมติให้ทำลายบัตรลงคะแนนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
กรณีต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่า คณะกรรมการสรรหาฯ มีขอบเขตและอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการทำลายบัตรลงคะแนนลับหรือไม่
คณะทำงานสืบสวนเห็นว่า คณะกรรมการสรรหาฯจัดตั้งขึ้นตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ 2553 มีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช. โดยมีสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการสรรหาและเลือกกรรมการ ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการนั้น มาตรา 15 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ กำหนดให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นผู้กำหนดโดยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก ต่อมาเลขาธิการวุฒิสภาได้ออกระเบียบสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติด้วยวิธีการสรรหา พ.ศ.2553 เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งวิธีการคัดเลือกได้กำหนดไว้ในข้อ 11 (1)

กล่าวคือการคัดเลือกผู้สมัครให้ใช้วิธีการลงคะแนนลับ โดยใช้บัตรลงคะแนนที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดทำขึ้น คณะกรรมการสรรหาฯมีอำนาจจำกัดเฉพาะกำหนดในระเบียบคือเกี่ยวกับการประกาศรับสมัคร คุณสมบัติผู้สมัคร พิจารณาคัดเลือก และอำนาจวินิจฉัย ไม่รวมถึงเรื่องการเก็บรักษาและการทำลายบัตรลงคะแนนลับ จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย พิจารณาแล้วเห็นว่ามติของคณะกรรมการสรรหาในการให้ทำลายบัตรลงคะแนนลับมีมูลน่าเชื่อว่าเป็นการปฏิบัติที่นอกเหนืออำนาจหน้าที่

6.ความสัมพันธ์ของกรรมการสรรหา กสทช. กับผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็น กสทช. เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
จากการตรวจสอบพบว่า มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนแสดงให้เห็นว่า กรรมการสรรหา กสทช. กับผู้สมัครเข้ารับการเลือกเป็น กสทช. มีความสัมพันธ์ หรือมีความเกี่ยวข้องกัน เช่น

1)มีความสัมพันธ์ในสถานะการร่วมเป็นคณะทำงานด้วยกัน หลายคณะ ที่แต่งตั้งโดยคณะอนุกรรมการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ เช่น
-คณะทำงานด้านกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ (คำสั่งคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่ 3/2551 ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2551) ได้แก่ นางจำนรรค์ ศิริตัน คณะกรรมการสรรหาฯกับ นายพนา ทองมีอาคม และ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ผู้สมัครที่ได้รับคัดเลือก
-คณะกรรมการเตรียมการและยกร่างแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (คำสั่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ 52/2553 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2553) ได้แก่ นายบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี คณะกรรมการสรรหาฯกับ นายพนา ทองมีอาคม และนายรอม หิรัญพฤกษ์

2)มีความสัมพันธ์ในสถานะเคยเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชามาก่อน เช่น นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ประธานกรรมการสรรหาฯกับนายกฤษณพร เสริมพานิช ผู้สมัครลำดับที่ 28 โดยนายจตุรงค์เป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชานายกฤษณพร ที่เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

3)มีความสัมพันธ์ในสถานะเป็นประธานและรองประธาน ในองค์กรเอกชนที่กฎหมายกำหนดให้เป็นกรรมการสรรหาตามมาตรา 14 (13) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรฯ คือ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีข้อเท็จจริงว่า องค์กรดังกล่าวมี นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้สมัครลำดับ 4 เป็นประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุ โทรทัศน์ไทย โดยมี น.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข เป็นรองประธานสภาวิชาชีพฯ ต่อมาเดือนมกราคม 2554 นายวสันต์ลาออกจากประธานฯ (เพื่อไปสมัคร กสทช.) แล้ว น.ส.สุวรรณาได้รับเลือกเป็นประธานฯแทน จากนั้น น.ส.สุวรรณาเข้าไปทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาฯ ซึ่งนายวสันต์ได้รับเลือกด้วย

จากลักษณะความสัมพันธ์ของคณะกรรมการสรรหาฯและผู้สมัคร น่าจะถือได้ว่าเป็นกรณีมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาคัดเลือกไม่เป็นกลาง ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เนื่องจากในการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหาฯ มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ใดให้ยึดถือเป็นหลักในการพิจารณา จึงชอบที่จะลงคะแนนได้ตามอำเภอใจ และย่อมเลือกบุคคลที่รู้จักหรือเคยร่วมงานกันมาโดยขาดเหตุผล ซึ่งผลการคัดเลือกก็ประจักษ์ชัดว่า ผู้ที่ได้รับการเลือกเป็นผู้ที่เคยมีความสัมพันธ์กันมาทั้ง 3 ประการดังกล่าว ได้รับการคัดเลือกเป็นส่วนใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น