Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท กับทิศทางเศรษฐกิจไทย

โดย พีระศักดิ์  ชัยธรรม
จาก RED POWER เล่มที่ 17 วันที่ 1 สิงหาคม 2554



         รัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้สัญญาประชาคมเพิ่มค่าจ้างขึ้นต่ำวันละ 300 บาท และเพิ่มเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีเดือนละ 15,000 บาท โดยกำหนดวิสัยทัศน์ภายในปี 2020 จะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำถึงวันละ 1,000 บาท ถือเป็นนโยบายก้าวหน้า ไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้มาก่อน เนื่องจากเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึงวันละ 85 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40  หากพิจารณาในอดีตที่ผ่านมามีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำกันเพียงปีละ 3 – 5  บาท หรือไม่ถึงร้อยละ 5  เท่านั้น

การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท จึงเป็นภารกิจท้าทายความรู้ ความสามารถของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างยิ่ง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมาก แต่ความมั่งคั่งไปกระจุกตัวในกลุ่มคนร่ำรวยที่เป็นคนส่วนน้อยของสังคม  ในขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นคนยากจน ช่องว่างระหว่างคนจน – คนรวย ห่างกัน 13  เท่า ดังนั้นการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และจบปริญญาตรีได้เดือนละ 15,000  บาท จะเป็นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจซื้อของผู้ใช้แรงงาน กระตุ้นการบริโภค การจับจ่ายใช้สอยในระดับฐานล่าง เป็นการขับเคลื่อนวงจรการผลิต การขนส่ง การจำหน่ายจ่ายแจกให้ขยายตัวมากขึ้น

การที่ผู้ใช้แรงงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในระดับนี้ ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้แรงงานร่ำรวยขึ้นมาได้ เพียงแต่พอจะลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้บ้างก็เท่านั้น เพราะความเป็นจริงค่าจ้างขั้นต่ำตามมาตรฐานสากลต้องหมายถึง ค่าจ้างที่คำนวณจากการครองชีพของคนงานหนึ่งคน และสมาชิกในครอบครัวอีก  2  คน  มีงานวิจัยได้คำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่พอยังชีพอยู่ได้ควรอยู่ที่  420  บาท  ดังนั้นการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท จึงไม่ได้เพิ่มมากนัก

วิสัยทัศน์ 2020 ของพรรคเพื่อไทย เป็นการมองการณ์ไกลไปข้างหน้า การตั้งต้นที่ 300 บาท และ 15,000 บาท เป็นเสมือนหนึ่งจุดเริ่มต้นพลิกโฉมหน้าระบบเศรษฐกิจจากเดิมเน้นการกดขี่ ขูดรีดกรรมกร ให้หันกลับมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน อีกทั้งยังเป็นการทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมปรับตัวเสียใหม่ มุ่งเน้นประสิทธิภาพการผลิต การยกระดับฝีมือแรงาน และคุณภาพชีวิตที่เป็นหลักประกันคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันการค้าระหว่างประเทศได้

อย่างไรก็ตามการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอาจทำให้สถานประกอบการจำนวนหนึ่งไม่อาจแบกรับต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นได้จนต้องปิดกิจการ เป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นกฎเกณฑ์ของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี สถานประกองการแต่ละแห่งต้องปรับตัวเองอยู่ตลอดเวลา ต้นทุนของค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจะต้องทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้น หรือยกระดับประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น

การแข่งขันการค้าระหว่างประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ไม่ได้คำนึงแต่เพียงคุณภาพผลิตภัณฑ์ แต่ต้องคำนึงถึงผู้ใช้แรงงานในกระบวนการผลิตว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีงามด้วยหรือไม่ ดังนั้นการเพิ่มค่าจ้างแรงงานให้สูงขึ้นจะเป็นโอกาสอันดีในการโฆษณาผลิตภัณฑ์ให้มีภาพลักษณ์ที่ดี เพราะเป็นสินค้าที่ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ส่วนการเพิ่มเงินเดือน 15,000 บาทให้กับผู้จบปริญญาตรีนั้นไม่ได้เป็นหลักประกันว่าผู้จบการศึกษาวุฒิปริญญาตรีจะมีศักยภาพการทำงานให้กับหน่วยงานได้ เพราะระบบการศึกษาของไทยยังด้อยคุณภาพอยู่มาก ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ดังนั้นรัฐบาลจะต้องทำการปฏิรูปการศึกษาควบคู่ไปด้วยเพื่อผลิตบัณฑิตคุณภาพตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

หากพรรคเพื่อไทยคิดได้แต่เพียงการทำประชานิยมเพื่อสร้างฐานคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่ได้เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ  สังคม  การเมือง ให้มิติอื่น ๆ ย่อมนำมาสู่หายนะทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ดังนั้นการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือนต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี การบริหารสมัยใหม่ ประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาฝีมือแรงาน การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้ปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้นอย่างรอบด้าน

ประเทศไทยจะได้หลุดพ้นไปจากความยากจน ความโง่ดักดานที่มีมาชั่วนาตาปีสักที !!!

1 ความคิดเห็น: