โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2554)
คำแถลง มอบงานให้รัฐบาลใหม่เพื่อบริหารอย่างราบรื่น ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ คืนวันที่ 4 สิงหาคม ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น
มีการโชว์ตัวเลข
เงินสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 180,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
เงินคงคลังมากแตะ 3 แสนล้านบาท
หนี้สาธารณะของประเทศ ต่ำกว่าร้อยละ 40
อันจะทำให้รัฐบาลใหม่บริหารงานง่ายขึ้น
ซึ่งก็ต้องให้ เครดิต รัฐบาลนายอภิสิทธิ์
กระนั้น ที่ไม่เห็นพ้องก็มีอยู่ โดยเฉพาะเรื่อง "ต่างประเทศ"
นายอภิสิทธิ์บอกว่า สังคมโลกมีความมั่นใจไทยมากขึ้น
โดยยกเรื่อง การเลือกตั้งที่เรียบร้อย และการจะเป็นเจ้าภาพงานระดับโลกทั้งเวทีเศรษฐกิจ การกีฬา เป็นตัวอย่าง
ซึ่งก็อาจจริง
แต่ไม่อาจตีขลุมว่าสิ่งเหล่านี้เป็นผลงานที่จะทำให้รัฐบาลใหม่ "บริหารอย่างราบรื่น" ได้
เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา สังคมโลก ตั้งแต่ระดับภูมิภาคอย่าง อาเซียน ไปจนถึงระดับโลกอย่าง ยูเนสโก คณะกรรมการมรดกโลก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ไม่น่าจะเชื่อมั่นกับเราสักเท่าไหร่
เรื่อง "เขาพระวิหาร" เรารู้อยู่เต็มอก ถึงความโดดเดี่ยวและมีเพื่อนน้อยอย่างน่าใจหาย
ในคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ ดูจะตัดตอนเรื่องเขาพระวิหารเพียงประเด็นที่กัมพูชาฟ้องร้องต่อศาลโลก
จนดูประหนึ่งว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายก่อเรื่อง
และนายอภิสิทธิ์ก็อ้างว่า ได้มีการต่อสู้ไปจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วในประเด็นคำสั่งศาลโลก "ชั่วคราว"
ส่วนคดีหลัก ที่ตีความคำวินิจฉัยของศาลเมื่อปี 2505 นั้น รัฐบาลก็ได้เตรียมข้อมูล ข้อกฎหมายเอาไว้แล้ว
"รัฐบาลชุดต่อไปสามารถดำเนินการต่อสู้คดีเพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์" นายอภิสิทธิ์ว่า
แต่กลับเลี่ยงไม่พูดถึง "เหตุ" ก่อนที่จะไปสู่ศาลโลก
มีคนไม่น้อยเห็นว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์มีส่วนในการสร้างเงื่อนไขให้ "บานปลาย" และเลยเถิดไปถึงศาลโลก
มีทางเดินอื่นให้เลือก แต่ไม่เลือก
เขาพระวิหาร จึงไม่ใช่สิ่งที่ "ราบรื่น" ของรัฐบาลใหม่อย่างแน่นอน
ตรงกันข้ามยังเป็นเผือกร้อนที่พร้อมจะลวกมือตลอดเวลา
และเผือกดังกล่าวก็ไม่ได้ มีหัวเดียว
การยึดและอายัดเครื่องบินพระที่นั่งในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โบอิ้ง 737 ของศาลเยอรมนี ภายใต้คำร้องขอของ บริษัท วอลเตอร์ บาว
ก็เป็นงานต่างประเทศ ที่ "ไม่ราบรื่น" และแถมยังละเอียดอ่อนยิ่ง
เป็นภาระให้รัฐบาลใหม่แบกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้เรื่องนี้ จะเกี่ยวพันรัฐบาลในอดีตหลายรัฐบาล
แต่ในช่วง 2 ปี ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ สื่อมวลชนของเยอรมนีระบุว่า หลังคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตัดสินให้รัฐบาลไทยจ่ายเงินชดเชย 1,200 ล้านบาท เอกชนเยอรมนีได้เจรจากับไทยหลายครั้ง
ไม่มีความคืบหน้าใดๆ
จนนำไปสู่ปฏิบัติการยึดทรัพย์สินของรัฐบาลไทย โดยมุ่งเน้นไปที่เครื่องบินโดยสารของรัฐ
การเพิกเฉย ละเลย ขาดความเอาใจใส่ ที่สุดก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ และละเอียดอ่อนเกินความคาดหมาย
"แถลงการณ์ในพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร" คือประจักษ์พยานนั้น
นี่ย่อมเป็นความบกพร่อง ผิดพลาดในการบริหารจัดการของหน่วยงานรัฐภายใต้การดูแลของรัฐบาลอย่างแน่นอน
เราไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะมีข้อยุติอย่างไร
แน่นอนคงไม่อาจจะสบายใจได้อย่างที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์พยายามบอกว่า มีช่องทางที่จะต่อสู้และคลี่คลายปัญหาได้
แต่บทเรียนจากพระวิหาร และมาถึงเครื่องบินพระที่นั่ง
พบว่าเอาเข้าจริงกลับบานปลาย และถลำลึกเข้าไปในปัญหายิ่งขึ้นทุกที
นี่เป็นความ "ไม่ราบรื่น" ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ส่งผ่านให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น