Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การเมืองเปลี่ยนผ่าน สัญญาณเปลี่ยนระบอบ ?

เรื่องจากปก RED POWER ฉบับที่ 36 เดือนพฤษภาคม 2556
สัมภาษณ์พิเศษ จักรภพ เพ็ญแข




          ไม่กี่ปีมานี้ ภายในขบวนการประชาธิปไตยที่มีประชาชนเสื้อแดงเป็นกำลังหลัก เริ่มมีการพูดถึง “การเมืองเปลี่ยนผ่าน” กันอย่างแพร่หลาย สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้จึงขอนำผู้อ่านไปพบกับจักรภพ เพ็ญแข แกนนำและปัญญาชนสำคัญคนหนึ่งของขบวนการประชาธิปไตย ที่แม้ต้องประสบชะตากรรมเลวร้ายจนต้องลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ(เช่นเดียวกับนายรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้นำขบวนการประชาธิปไตยของประชาชนเสื้อแดง) แม้วันนี้จักรภพจะพ้นมลทินจากคดี 112 สามารถกลับประเทศเมื่อใดก็ได้ แต่เขายังเห็นความจำเป็นและคงยืนยันยืนหยัดเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในต่างประเทศควบคู่กับขบวนการประชาธิปไตยภายในประเทศอย่างแข็งขันต่อไป เรามาดูกันว่าการเมืองเปลี่ยนผ่านในทัศนะของเขาคืออะไร สำคัญอย่างไร ช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้จะมีวิกฤติและโอกาสอะไรรออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อ “ผู้นำสูงสุดของระบอบอำมาตยาธิปไตยเสียชีวิตลง”(ในที่นี้ขอให้หมายถึงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ หัวหน้าอำมาตย์สี่เสาเท่านั้น) และจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้อย่างไร ?

Red Power : คำถามแรก เอาใจพ่อยกแม่ยกที่ยังรัก เป็นห่วง คิดถึง คุณจักรภพ พวกเขาคงอยากรู้สารทุกข์สุกดิบ การใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นยังไงบ้าง ?

จักรภพ เพ็ญแข : ความรู้สึกแรกคือดีใจทุกครั้งที่รู้ว่ามวลมิตรยังนึกถึงผมอยู่ ทุกครั้งที่ท่านถามถึง ห่วงใยถึง อยากให้รู้ว่ามันมากกว่าความรักแบบครอบครัว แต่มีอุดมการณ์รวมอยู่ด้วย อย่าลืมว่าเราคบกันเป็นครอบครัวมหาประชาชน เชือกที่คล้องจนเป็นพวงมาลาเดียวกันคืออุดมการณ์ อยากบอกกับญาติมิตรว่า กำลังใจที่ท่านส่งมาล้วนเป็นแรงเสริมเพิ่มเติมให้กับพวกเราที่จะมุ่งมั่นปรับเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นของสามัญชนไทย แต่การต่อสู้บางครั้งก็จำเป็นต้องแบ่งภาคไปอยู่นอกประเทศไทยบ้าง เพราะการประกาศเรียกร้องรัฐของประชาชนเป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย ขอให้ท่านสบายใจว่าผมสบายดีครับ ถ้าเทียบกับผู้ลี้ภัยในอดีตพวกเราอยู่สบายกว่ามาก แต่ทางใจก็คงเหมือนกันทุกยุคทุกสมัย มีความมั่นใจ ฮึกเหิม ซึมเศร้า ว้าเหว่ สลับไปตามฐานะนุรูป เมื่อเรามาอยู่ที่นี่เพื่อเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองของเรา ใจมันอยู่ที่บ้านเราเสมอ

Red Power : ภารกิจในต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ทำอยู่ตอนนี้มีอะไรบ้าง ?

จักรภพ เพ็ญแข : เราใช้เวลาเดินทางไปพบปะกับมวลชน และผู้มีอำนาจตัดสินนโยบายของประเทศต่างๆ เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์การเมืองของไทย ซึ่งยอมรับว่ายากลำบากพอสมควร เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เขามองว่าไทยมีปัญหาน้อยถึงน้อยที่สุด ดูเหมือนว่าปัญหาบ้านเราถูกบดบังด้วยสถานการณ์สากล ต่อมาคือผมใช้เวลาคิด ลับคมความคิด และเขียนความคิดของตัวเองออกมาเป็นงาน ทั้งเปิดเผยและเก็บไว้ใช้ประโยชน์ ซึ่งมีโอกาสทำได้มากกว่าช่วงที่อยู่เมืองไทย ที่เมืองไทยเป็นการต่อสู้หน้างาน ภารกิจยุ่งเหยิง หาความนิ่งสงบเพื่อให้คิดอย่างมีสติยากกว่า อีกงานหนึ่งคือการสานทอแนวความคิดของคนไทยในต่างประเทศที่มีความหลากหลายแตกต่างกันมาก มีทั้งกลุ่มที่ใช้ชีวิตสอดคล้องกับวัฒนธรรมและระดับการพัฒนาของประเทศที่ตนไปอยู่ และกลุ่มที่อยู่อย่างไทยซึ่งก็มีลักษณะเหมือนเอาสังคมไทยไปตั้งเอาไว้ต่างถิ่นนั่นแหละ เราจึงมีทั้งแดง เหลือง หลากสี มีทุกประเภท เราพยายามทำให้ทุกๆ คนมองเห็นว่าการเตรียมการของฝ่ายประชาชนเป็นยุทธศาสตร์เดียวที่จะทำให้ได้มาซึ่งอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะประชาชนเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในรัฐแต่อยู่ห่างไกลจากศูนย์อำนาจรัฐมากที่สุด ถ้าไม่เตรียมการให้ฝ่ายประชาชนได้ยึดกุมอำนาจรัฐ หรือมีส่วนชี้ทิศทางในการบริหารเปลี่ยนแปลงประเทศ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่จัดตั้งดีกว่า แน่นกว่า ก็จะได้สิทธิและโอกาสนั้นไปก่อน อีกงานหนึ่งเกี่ยวข้องกับการเมืองระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งละเอียดอ่อนมาก สร้างความแตกแยกได้ง่ายแม้กระทั่งในขบวนประชาธิปไตย งานนี้เกี่ยวข้องกับการติดตามสถานการณ์และวิเคราะห์ในรายละเอียด เรียกว่าการวิเคราะห์ข่าวกรองก็พอได้ มีตั้งแต่ข่าวกรองของสถานการณ์ทั้งของเราและของโลก บุคคล ทุน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นี่คือสิ่งที่เราติดตามและวิเคราะห์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางทิศทางต่อไป

Red Power : ความสัมพันธ์กับท่านนายกทักษิณช่วงนี้เป็นยังไง ตอนนี้คุณจักรภพเปิดเฟสบุ๊ก ท่านนายกก็กลับมาเปิดเหมือนกันในระยะใกล้ๆ กัน มีความเกี่ยวโยงหรือมีนัยยะอะไรหรือไม่ ?

จักรภพ เพ็ญแข : บังเอิญน่ะครับ ผมไม่รู้อะไรกันเลย แต่อาจเป็นไปได้ว่า การได้พบปะพูดจากับท่านเป็นระยะๆ คงทำให้เกิดการจูนคลื่นโดยไม่ต้องตกลงกันว่าแต่ละคนต้องทำอะไร พูดอย่างนี้ก็มิใช่ว่าผมยกตัวเองไปเท่ากับท่านนะครับ ท่านเป็นผู้นำหรืออย่างน้อยก็เป็นสัญลักษณ์ของขบวนการ ผมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในขบวนการนั้น คงไม่ได้มีนัยยะอะไร แต่บอกได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างท่านกับผมก็เป็นไปอย่างเดิมตั้งแต่รู้จักกันมาตั้งแต่วันแรกในทางการเมืองจนถึงทุกวันนี้ คือมีความสัมพันธ์แบบที่เรียกว่า love-hate relationship หรือความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งชัง ในขณะที่รักกันมาก ผมก็มีอิทธิพลทางความคิดต่อท่านตามสมควร บางครั้งท่านหมั่นไส้ รำคาญ ขัดใจ ก็หายกันไปเป็นเดือนๆ ก็มี เป็นความสัมพันธ์ปกติของมนุษย์ทั่วไป ความจริงแล้วใจเราควรจะยอมรับความสัมพันธ์แบบนี้ในงานการเมือง การบริหารการเมืองไม่ว่าจะเป็นในแง่นโยบายหรือในการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ควรจะให้ความสัมพันธ์ส่วนตัวมีอิทธิพลมากจนเกินไป เรารักกับใครก็ควรรักกันเป็นการส่วนตัว ไม่ใช่ถ่ายเทมาเป็นอำนาจเหนือขบวนการหรือในขบวนการต่อสู้นั้นๆ ผมคิดว่าผมมีความสัมพันธ์อย่างพอดีกับท่าน ท่านเองเป็นผู้ที่มีขีดความสามารถเรียนรู้ทางการเมืองที่สูง ประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวท่าน ท่านก็นำมาคิดตลอด ถามว่าท่านเข้าใจไหมว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวท่านเองและประเทศชาติตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ในเชิงโครงสร้างของสังคม ผมยืนยันว่าท่านเข้าใจ แต่เข้าใจแล้วจะมุ่งตรงไปแก้ปัญหาที่เหตุแห่งทุกข์หรือไม่ ข้อนี้ผมตอบแทนท่านไม่ได้

Red Power : ที่เคยพูดว่าท่านนายกทักษิณเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงระดับรากเหง้า ยังคิดยังงั้นอยู่รึเปล่า  ?

จักรภพ เพ็ญแข :  อย่าหาว่าเล่นลิ้นเลยนะครับ ผมตอบสั้นๆ ได้ว่า วันนี้ถ้าเป็นเรื่องมวยก็เรียกว่าเป็นไฟต์บังคับของท่านแล้ว หากท่านคิดจะไม่เป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงถึงระดับโครงสร้าง ท่านก็ต้องออกมาปฏิเสธที่จะเป็น สถานการณ์มันแต่งตั้งและบรรจุท่านในภารกิจนี้แล้วเรียบร้อย

Red Power : กลับมาที่ปัญหาสำคัญในบ้านเรา ประเด็น “การเมืองเปลี่ยนผ่าน” คำนี้ถูกพูดถึงมากทั้งโดยแกนนำและประชาชนเสื้อแดง แต่ค่อนข้างคลุมเครือ พูดแบบไม่ค่อยเต็มปาก ในความเห็นคุณจักรภพ การเมืองเปลี่ยนผ่านคืออะไร มันเปลี่ยนอะไร มันผ่านอะไร สำคัญยังไง ช่วยอธิบายหน่อย ?

จักรภพ เพ็ญแข : นักวิชาการอิสระหลายท่านได้พูดชัดแล้วว่า การเมืองเปลี่ยนผ่าน นั้นแท้ที่จริงก็หมายถึง การเมืองปลายรัชกาล ซึ่งมีการพูดมาก่อนหน้านี้หลายวาระโอกาสแล้ว แต่มักพูดในกรอบวิชาการ ในขณะที่ฝ่ายการเมืองไม่กล้าพูดคำนี้เลย จะเข้าใจตรงนี้ได้ให้ชัดต้องกล้าพูดเสียก่อนว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่อยู่ใน ระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบมีรัฐธรรมนูญ นั่นคืออำนาจของพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงของรัฐไทยอยู่ ไม่เฉพาะในเชิงสัญลักษณ์ แต่ในเนื้อหาสาระทางการเมืองด้วย การที่ กลไกตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติทางการเมืองไทยอย่าง 14 ตุลา 2516 หรือ พฤษภา 2535 ได้ และต้องมีพระมหากษัตริย์เสด็จฯ ลงมาแก้ไขปัญหาทุกครั้ง เป็นการบอกตัวเองโดยอัตโนมัติว่านี่คือระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบมีรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าใจตรงนั้นแล้วเราถึงจะเข้าใจต่อมาว่า ทำไมการเมืองปลายรัชกาลจึงสำคัญนัก ทำไมถึงได้สร้างความระส่ำระสาย ทำไมถึงบันดาลให้เกิดวิกฤติการณ์มากมาย เมื่อเรามองไปทั่วโลก เราได้เห็นการเปลี่ยนผ่านอย่างสงบสันติในประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์แทบทุกประเทศในโลก เมื่อจักรพรรดิฮิโรฮิโตแห่งญี่ปุ่นสวรรคต มกุฎราชกุมารอากิฮิโตก็ขึ้นเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิโดยไม่มีคลื่นลมใดๆ ไม่นานมานี้สมเด็จพระนางเจ้าเบียทริกซ์แห่งเนเธอแลนด์ก็สละราชสมบัติ มกุฎราชกุมารที่เป็นพระโอรสก็ขึ้นครองราชย์ กำลังจะเป็นกษัตริย์เนเธอร์แลนด์ในไม่กี่วันนี้อยู่แล้ว ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีวิกฤติการณ์ทางการเมือง ไม่มีเหตุให้ต้องประท้วงและปราบปรามประชาชน ไม่มีการแบ่งสีแบ่งค่ายระหว่างประชาชนในสังคม ไม่มีบทละครให้องคมนตรี ศาล องค์กรอิสระออกมาเล่นการเมือง เพราะอะไร ก็เพราะประเทศเหล่านั้นมิได้เป็นรัฐกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ฯ แบบของไทย เมื่อเราเข้าใจและกล้าที่จะพูดตรงนี้ขึ้นก่อน เราในฐานะประชาชนที่มีสติปัญญา มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ของเราเองพอสมควร สมควรที่จะกำหนดเรื่องนี้ขึ้นเป็นวาระสำคัญของชาติ คิดร่วมกันว่าเราควรจะวางยุทธศาสตร์อย่างไรในห้วงการเมืองปลายรัชกาล การเมืองเปลี่ยนผ่านคือเรื่องนี้เลยครับไม่ใช่เรื่องอื่น เมื่อเกิดภาวะการเมืองปลายรัชกาลนี้ขึ้น แต่ละสถาบันทางสังคม แต่ละกลุ่มผลประโยชน์ แต่ละกลุ่มประชาชนจะต้องวางตัวอย่างไร ขอขยายความนิดว่า การเมืองปลายรัชกาลไม่จำเป็นต้องนองเลือดเหมือนสมัยอยุธยา หรือไม่ถึงกับต้องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันเหมือนช่วงเปลี่ยนราชวงศ์ของพม่าแถวๆ รัชกาลที่ 5 ของไทย หรือไม่ต้องมีฝ่ายซ้ายเข้ามาล้างพระราชวงศ์ทิ้งเหมือนเวียดนามและลาว และแม้กระทั่งในกัมพูชาโดยอ้อม หรือไม่ต้องให้ขบวนประชาธิปไตยทะเลาะกับสถาบันกษัตริย์สามสี่ครั้งเพื่อให้ดุลอำนาจลงตัวเหมือนในมาเลเซีย แต่กรณีประเทศไทย พระมหากษัตริย์ยังมีอำนาจอันล้นพ้นอยู่ เกิดความกลัวว่าเปลี่ยนแปลงแล้วจะหมดสิ้นลง มีสภาพเหมือนต้นไทรล้ม พาให้นกกาที่เกาะอาศัยบนกิ่งก้านต่างๆ พลอยไร้ที่อยู่อาศัยหรือถูกต้นไทรล้มทับตายไปด้วย บ้างกลัวว่ารากฐานจะลุกขึ้นมาทวงอำนาจ จนรากแก้วรากฝอยพลอยเสื่อมสลายหรือแห้งตายไป เหล่านี้คือความว้าวุ่นในช่วงการเมืองปลายรัชกาลทั้งสิ้น ไม่ต้องพูดอะไรกันมากเกี่ยวกับวิกฤติการเมืองปลายรัชกาล มันคือศึกชิงบ้านชิงเมืองและวัดดวงกันว่าใครจะเป็นผู้กุมอำนาจรัฐที่มีอำนาจชี้นิ้วนำมากที่สุดในช่วงของการผลัดแผ่นดิน ตอบสั้นๆ ก็คืออย่างนี้ล่ะครับ

Red Power : กลับมาที่การเมืองปัจจุบันที่ประชาชนเสื้อแดงเรียกว่าระบอบอำมาตยาธิปไตย มีคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเชื่อว่า ถ้าผู้นำสูงสุดของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยเสียชีวิตลง(ในที่นี้ขอให้หมายถึงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์) การขับเคลื่อนสู่ประชาธิปไตยคงง่ายขึ้น ความเปลี่ยนแปลงใหญ่จะตามมาไม่นานนัก โดยไม่ต้องลงแรงมากมายเท่าทุกวันนี้ “เวลา”จะกลืนกินฝ่ายอำมาตยาธิปไตย พวกเขาจึงยังไม่ยอมแตะต้องเรื่องสำคัญๆในขณะนี้ จนกว่าวันนั้นจะมาถึง เราควรมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร  ?

จักรภพ เพ็ญแข :  สิ่งที่ว่ามาก็มีเหตุผลอยู่บ้าง ไม่ใช่ไม่มี แต่ผมขอเสนอประเด็นประกอบ ๓ ประเด็นให้ถกเถียงพิจารณาร่วมกัน ประเด็นแรกคือ เราตระหนักดีหรือเปล่าว่าเรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงระบอบซึ่งมีรายละเอียดประกอบระบอบนั้นอยู่มากมาย สายสัมพันธ์ทางอำนาจ เครือข่ายกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ สถาบันทางอำนาจที่ดำรงอยู่ภายใต้โครงข่ายนั้นมันมีมากมายและต่างก็มีผลประโยชน์อยู่ในตัวของมันเอง ซึ่งไม่พร้อมที่จะสูญเสียไปเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ องค์กรย่อยเหล่านี้จะลุกขึ้นมาเป็นปฏิกิริยาหรือทำตัวแสลงต่อการพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อพิทักษ์บทบาทของตัวเอง นี่คือข้อที่ต้องพิจารณาก่อนเกิด ไม่ใช่รอให้เกิดแล้วจึงมาพิจารณา ประเด็นที่สอง เราต้องพิจารณาว่าฝ่ายประชาชนจะเข้าสู่อำนาจได้อย่างไร เพราะอำนาจนั้นไม่มีใครจะเอาราชรถมาเกยเรา ไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะบอกว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงตรงศูนย์อำนาจรัฐในระบอบศักดินาอำมาตยาธิปไตยแล้วคนขึ้นป้ายหน้าคือประชาชน ไม่มีใครบอกอย่างนั้นและไม่มีใครจะช่วยให้เกิดอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ไทยและโลกล้วนบอกกับเราว่า ประชาชนมักไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมในการแบ่งปันอำนาจใหม่นานนัก อย่างเก่งก็เชิญตัวแทนประชาชนเข้าร่วมระยะหนึ่งแล้วก็หาทางทำลายให้พ้นทาง ทั้งนี้เนื่องจากความชำนาญในการยึดบ้านยึดเมืองของฝ่ายประชาชนสู้ฝ่ายตรงข้ามไม่ได้ ชั่วโมงบินต่างกันเยอะ ประเด็นที่สามคือ ต้องถามว่าเราจะมุ่งเปลี่ยนแปลงเฉพาะรูปลักษณ์ทางการเมืองเท่านั้นหรือ เราไม่คิดเปลี่ยนแปลงรากเหง้าความคิดทางการเมืองในสังคมไทยเสียเลยหรือ เราจะต้องเปลี่ยนแปลงความคิดจนประชาชนเองเชื่อว่าตนเองสามารถปกครองตนเองได้ สามารถศึกษาข้อผิดข้อถูกของตัวเอง แล้วเดินไปสู่ประสบการณ์และทิศทางที่ถูกต้องได้ ถ้าเราเชื่อมั่นในประชาชนขนาดนั้นเราก็ต้องเริ่มต้น จะเรียกว่าฉีดวัคซีนหรือบ่มเพาะความคิดก็แล้วแต่ แต่ต้องทำตั้งแต่บัดนี้ไป การได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองมันเป็นเพียงปลายเหตุ มันแปรตามต้นเหตุคือความเชื่อทางการเมืองว่าเราคือเจ้าของประเทศตัวจริง ผมว่าพี่น้องประชาชนแม้กระทั่งในฝ่ายเสื้อแดงยังมีไม่น้อยที่มุ่งให้ได้รับชัยชนะโดยไม่คิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดพื้นฐาน ไม่สังเกตหรือครับว่า เวลาเราทะเลาะกับฝ่ายเสื้อสีอื่นในกลุ่มเล็กๆ ที่มีการถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ฝ่ายที่ยึดถือระบอบศักดินา-อำมาตยาธิปไตยจะไม่มีสาระมาเถียงกับเรามากนัก ส่วนใหญ่ก็ยกเอาคำขวัญเก่าๆ มากรอกหู ตะเบ็งเสียงใส่กัน ตะโกนใส่กัน เพราะฉะนั้นเหตุผลโดยธรรมชาติแท้ที่จริงมันอยู่กับฝ่ายประชาชน เหตุผลที่จะรักษาอำนาจเดิมแทบจะไม่มี เพราะมันจะเหือดแห้งไปตามกาลเวลา โดยสรุปแล้วอยากให้ลองพิจารณาเพิ่มเติมใน ๓ ประเด็นคือ 1. นี่เป็นระบอบนะ ไม่ใช่อยู่ ณ จุดเดียวแต่แผ่ซ่านไปทั่ว 2. ประชาชนจะเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีไหน เราต้องคิดหาวิธี 3. ต้องบ่มเพาะความคิดทางการเมืองแนวใหม่เพื่อรองรับความเป็นรัฐของประชาชน

Red Power : เมื่อรัชกาลที่ 4 สวรรคต เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ขุนนางตระกูลบุนนาคเข้าควบคุมอำนาจและจัดการแต่งตั้งรัชกาลที่ 5 ขึ้นเป็นกษัตริย์ เนื่องจากเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีอำนาจมากชนิดกลุ่มการเมืองอื่นเทียบไม่ได้ การเปลี่ยนรัชกาลตลอดจนการจัดสรรตำแหน่งของชนชั้นนำจึงไม่ค่อยมีปัญหามากนักต่างกับอยุธยาที่ต้องนองเลือด ถ้าเปรียบเทียบกับปัจจุบันที่เป็นระบอบอำมาตยาธิปไตยหรือเป็นประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยวแม้มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งก็ตาม หากผู้นำสูงสุดของระบอบอำมาตยาธิปไตยต้องตายลง(ในที่นี้ขอให้หมายถึงพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์)และชนชั้นนำในระบอบอำมาตยาธิปไตยตกลงกันไม่ได้ในเรื่องอำนาจและจัดสรรบุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญ คิดว่าจะมีโอกาสเกิดความรุนแรงนองเลือดถึงขั้นรัฐประหารได้หรือไม่  ?

จักรภพ เพ็ญแข : บางเรื่องที่จะพูดต่อไปนี้ช่วยกรุณาฟังให้ดีนะครับ ผมไม่ได้มองแบบหาเรื่องหรืออยากให้เกิดปัญหาที่ไม่จำเป็นในสังคมไทย แต่ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยุธยาจนถึงบัจจุบัน ต้องถามตัวเองว่า การช่วงชิงบัลลังก์ในอดีตอย่างรุนแรงนองเลือดนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไร มันเกิดเพราะกลุ่มการเมืองที่ช่วงชิงกันมีอำนาจพอๆ กันครับ ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบการสืบรัชกาลครั้งพระจอมเกล้าฯ มายังพระจุลจอมเกล้าฯ แล้วเกิดปรากฎการณ์สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ คือมี ขาใหญ่ทางการเมืองชนิดไม่มีใครสทัดทานหรือต้านทานได้เข้ามาเป็นตัวกลาง สองโมเดลนี้รัฐไทยผ่านมาแล้วทั้งคู่ คำถามคือเราจะกำลังเดินสู่โมเดลไหนในพุทธศักราชนี้ ผมพยากรณ์ว่าคงเป็นโมเดลแรก ไม่ใช่เพราะอยากให้เกิดความรุนแรงเผชิญหน้า แต่ดูไปแล้วมันไม่มีทางจะประสานประโยชน์โดยอีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองจะปลอดภัยหรือสบายใจได้เลย ในทฤษฎีสงครามนิวเคลียร์เขาใช้วิธีสร้างสมดุลของความกลัวขึ้นมา มหาอำนาจ A มีนิวเคลียร์มหาอำนาจ B ก็ต้องมีบ้าง ไม่ใช่เพื่อจะใช้ยิง เพราะรู้ว่ายิงไปก็สวนไปมาเกิดภาวะล้างโลกจนต้องตายดับไปด้วยกันทั้งคู่ แต่มีเอาไว้ต่อรองฝ่ายที่หนึ่งว่าอย่ายิงนะ ถ้ายิงฝ่ายที่สองก็จะต้องยิงบ้าง เขาเรียกกระบวนการนี้ว่าการป้องปรามหรือ deterrence ถ้านำมาโยงกับการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยขณะนี้มันก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน คุณมีอำนาจ ผมก็มีอำนาจ ยิ่งตอนนี้มีการชิงระดมทุนเอกชนกันอย่างมากมายมหาศาล ใครมีที่ดินตรงไหนหรือทรัพย์สินอะไรก็เอามาเปลี่ยนแปรให้เป็นสภาพคล่องทางธุรกิจกันแทบทุกที่ คนใหญ่ๆ ไปปลูกบ้านเตรียมไว้ในต่างประเทศ มีการตรวจนับกำลังพลกันว่าใครมีใครเท่าไหร่ นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลาขณะนี้ ถึงอยากจะให้ลงเอยแบบสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ขนาดไหน ผมเกรงว่ามันจะออกมาคล้ายสมัยอยุธยามากกว่า ต่างจากอยุธยาในประเด็นเดียวและสำคัญยิ่งคือ ประชาชนเองก็กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์หนึ่งที่เข้าช่วงชิงอำนาจกับเขาด้วย ไม่ใช่นั่งดูสองกลุ่มสามกลุ่มช่วงชิงอำนาจกันอย่างเสมอนอก ประชาชนกลุ่มนี้งอกขึ้นมาได้ ซึ่งในสมัยอยุธยาไม่มี นั่นคือประชาชนถูกปลดปล่อยจากระบบทาส ไพร่ เลกแล้วเรียบร้อย กลายมาเป็น free agent หรือหน่วยอิสระที่จะเข้าช่วงชิงอำนาจเพื่อตัวเองเมื่อเวลาอำนวย ตรงนี้แหละครับที่ทำให้เรากำหนดใจว่า มันจะโน้มไปทางอยุธยา แต่เราจะต้องวางแผนเชิงประชาชนเสริมเข้าไปให้ทันการ ไม่อย่างนั้นประชาชนจะเสียเปรียบอีกเช่นเคย

Red Power : แล้วประชาชนจะวางแผนหรือเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้อย่างไร ?

จักรภพ เพ็ญแข : ผมเสนอว่าต้องเตรียมด้านความคิด ให้รู้ว่าประชาชนสามารถบริหารทรัพยากรของชาติ หรือสร้างวิสาหกิจเสรีเลี้ยงชีวิตตนเองได้โดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือหรืออุปถัมภ์จากใคร มันต้องเริ่มที่ตรงนั้นก่อน ในสหรัฐอเมริกาผมเคยถามพรรคพวกว่าทำไมทหารไม่คิดยึดอำนาจบ้าง ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีไม่มีปืนสักกระบอก ปืน อาวุธ อยู่กับทหารและหน่วยความมั่นคงหมด คำตอบคือ สังคมของเขามันเป็นรัฐอิสระในแต่ละตัวบุคคลเสียจนไม่มีใครกล้าจะช่วงชิงอำนาจนอกระบบ ไม่ใช่ว่าชิงอำนาจไม่ได้ แต่กลัวว่าชิงมาแล้วจะอยู่ไม่ได้ ประชาชนเอาตายแน่ เพราะฉะนั้น การประกันความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยที่ดีที่สุดคือว่าการทำให้ประชาชนหวงแหนและเห็นผลประโยชน์โดยตรงของตนในการช่วงชิงอำนาจ ผมเสนอว่าเราควรมองไปที่การตระเตรียมทางความคิด ในปัจจุบันนี้ธุรกิจใดบ้างที่เป็นธุรกิจอุปถัมภ์ ธุรกิจใดบ้างที่เป็นเรื่องของผู้ประกอบการใหม่ ธุรกิจใดบ้างที่เป็นของประชาชนโดยแท้ เศรษฐกิจตรงไหนคือทุนนิยมโลก ตรงไหนคือทุนนิยมไทย ตรงไหนคือเศรษฐกิจชาวบ้าน ทำมาหากินกับทำมาค้าขายมีความหมายแตกต่างกันมาก หากเราวางแนวคิดเหล่านี้เป็นกรอบและบริหารนโยบายตามกรอบนั้นได้ จะเป็นการติดอาวุธทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชาชนเมื่อถึงคราวเปลี่ยนแปลง ผมขอโทษที่ไม่สามารถพูดให้ชัดกว่านี้ในเรื่องนี้ได้ แต่นี่ก็น่าจะชัดเจนพอควรแล้ว

Red Power : ไม่กี่ปีมานี้กระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มีมากขึ้น เดือนมีนาคมที่ผ่านมา รายการตอบโจทย์ทางไทยพีบีเอส จัดรายการพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์ จนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต คุณจักรภพคิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะทำให้การพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้อย่างปกติเปิดเผยเหมือนกับเรื่องอื่นๆทั่วๆไป และคิดอย่างไรกับข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของนักวิชาการอย่างอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษณ์ กลุ่มอาจารย์คณะนิติราษฎร์  ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องพูดคุยเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กันอย่างจริงจัง คิดว่าสังคมไทยพร้อมจะคุยกันเรื่องนี้หรือยัง ?

จักรภพ เพ็ญแข : พร้อมไม่พร้อมผมไม่รู้หรอก ผมบอกได้แต่ว่า เราไม่สามารถแก้ปัญหารัฐไทยได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ถ้าไม่นำสถาบันกษัตริย์เข้ามาพูดกันอย่างเปิดเผยและเป็นสาธารณะ เราจะประสบกับสภาพเทียวไล้เทียวขื่อแก้ปัญหาการเมืองเป็นงูกินหางตลอด จะเกิดความเสียหายต่อชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนโดยประมาณมิได้ พร้อมไม่พร้อมไม่รู้จะตอบอย่างไร คงตอบได้เพียงว่า จะต้องพูดกันตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไปว่าการแก้ปัญหาการเมืองต้องเริ่มต้นด้วยการรวมสถาบันกษัตริย์เข้ามาแก้ เลิกพูดว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง เพราะการเมืองนั้นมันครอบคลุมทั้งรัฐไทย มันไม่เว้นใครทั้งนั้น เพียงแต่ว่าจะดำรงสภาพเป็นนักการเมืองหรือไม่ หรือจะเป็นเพียงผู้เกี่ยวข้องกับการเมืองในฐานะประชาชนและผู้อาศัยอยู่ในรัฐ อันนี้คือสิทธิของแต่ละคน ถามว่าการเมืองเว้นใครไหม ไม่เว้นเลยครับ อย่าได้พูดว่าการเมืองเว้นใคร อยู่ใต้ใครหรือเหนือใครเป็นอันขาด นั่นเป็นวิธีพูดแบบเตะลูกออก จะทำให้วิกฤติการณ์การเมืองไทยมันแก้ไขอะไรไม่ได้จนถึงจุดที่ต้องนองเลือดจริงๆ

Red Power : พูดง่ายๆ คือ ไม่สามารถแยกสถาบันกษัตริย์ออกไปจากสมการของการเมืองเปลี่ยนผ่านได้ ?

จักรภพ เพ็ญแข : ใช่ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น