Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

คันฉ่องส่องอำมาตย์ไทย...จากวิกฤต พฤษภาทมิฬ 35 – 53


RED POWER ฉบับที่ 36 เดือนพฤษภาคม 2556
โดย นายทหารเอก กรุงธน



พฤษภาทมิฬ 2535 รัฐบาลฆ่าประชาชน พลเอกเปรม พา พล.อ.สุจินดา คราประยูร เข้าเฝ้า, พลเอกสุจินดาลาออก วิกฤตยุติ

พฤษภาทมิฬ 2553 รัฐบาลฆ่าประชาชน พลเอกเปรม อุ้ม ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, อภิสิทธิ์ไม่ลาออกวิกฤตยืด สถานการณ์จึงปั่นป่วนจนถึงทุกวันนี้

แปลกแต่จริงที่รัฐบาลสั่งฆ่าประชาชนเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายเกิดขึ้น 2 ครั้ง ในเดือนพฤษภาคมเหมือนกัน, ในปี พ.ศ.เลขเหมือนกัน แต่สลับที่ระหว่าง 35 กับ 53 ด้วยนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารเหมือนกัน ตนหนึ่งเป็นนายทหารจริงยศพลเอก อีกตนหนึ่งเป็นนายทหารเก๊ยศร้อยตรี

และที่สำคัญที่สุดมีตัวแสดงทางการเมืองที่โดดเด่นที่แสดงตัวเป็นผู้จัดการประเทศไทยนอกรัฐธรรมนูญเป็นคนๆเดียวกันคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่เหตุการณ์กลับลงเอยไม่เหมือนกัน

ทำไม?.........ทำไม?.........ทำไม?.........และทำไม?

เป็นคำถามที่ค้างคาใจคนไทยทั้งประเทศ

ยิ่งเห็นภาพที่พลเอกเปรมนำคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เข้าเฝ้ายามวิกาล ผู้คนก็ยิ่งสงสัยว่าพลเอกเปรมหรือพลเอกสนธิใครกันแน่ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารตัวจริง?

ถ้าพลเอกเปรมจะทำบุญก่อนตาย ผู้เขียนขอแนะนำให้เปิดบ้านสี่เสาแล้วให้ประชาชนทั้งประเทศถามคำถามที่สงสัยอะไรก็ได้เกี่ยวกับเหตุบ้านการเมืองก็เชื่อแน่เหลือเกินว่าประชาชนจะมีคำถามเดียวกันดังที่กล่าวมาข้างต้น

คำตอบจากปากพลเอกเปรมถ้าจะมีก็คงจะเป็นคำตอบที่ไม่ต่างจากคำตอบของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ที่ตอบสังคม

คนไทยในเวลานี้ทำได้เพียงมาศึกษาเส้นทางเดินทางการเมืองของพลเอกเปรมก็จะหาคำตอบได้เองว่าควรจะเป็นเช่นใดและจะเข้าใจเองว่าทำไมพลเอกเปรมจึงมีสถานะเป็นเหมือนผู้จัดการประเทศไทยนอกรัฐธรรมนูญ หรือนัยหนึ่งก็คือผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณได้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นก่อนที่จะถูกโค่นล้ม

ในโลกสมัยใหม่อันเป็นโลกแห่งไฮเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องยากที่จะรู้ว่าทำไมพลเอกเปรมจึงกลายเป็นเสมือนผู้จัดการประเทศไทยตัวจริงนอกรัฐธรรมนูญ เพียงแต่กดเข้าไปหาอากู๋ (ศัพท์เทคนิคเรียกแทน Google) ก็จะพบในสารานุกรมของวิกิพีเดีย

พลเอกเปรมเริ่มมีฐานะทางการเมืองตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารในฐานะเด็กฝากโดยเข้าไปฝึกฝนวิทยายุทธในสภาหินอ่อน(พระที่นั่งอนันตสมาคมในขณะนั้น) ในฐานะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2502 พลเอกเปรมจึงมีประสบการณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ที่มีรูปแบบทำท่าจริงจังแต่มีเนื้อหาไม่เอาจริงเอาจัง จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตาย รัฐธรรมนูญก็ยังร่างไม่เสร็จ

วันนี้ก็อย่าได้หวังว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ภายใต้บารมีของพลเอกเปรม(ผู้มีประสบการณ์ปล้ำรัฐธรรมนูญแบบมาราธอนมาแล้ว)จะแก้ได้สำเร็จ

พลเอกเปรมมีประสบการณ์เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแบบแต่งตั้ง 100 % และเป็นวุฒิสมาชิกแบบแต่งตั้ง 100 % ในระหว่างปี 2511 2516

*เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็ถึงบางอ้อว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มี ส.ว.แต่งตั้ง 50 % ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่กรุณาแล้วอย่ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลือกตั้ง ส.ว. 100 % ในขณะที่พลเอกเปรมยังมีชีวิตอยู่เห็นท่าจะยาก

พลเอกเปรมเป็นผู้นำกำลังทหารคนสำคัญคนหนึ่งในการร่วมทำรัฐประหาร 2 ครั้ง ที่มีหุ่นเชิดเป็นทหารเรือ คือ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ในวันสังหารโหด 6 ตุลาคม 2519 ล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ 20 ตุลาคม 2520 ล้มรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิชียร

*รู้อย่างนี้ก็คงไม่แปลกใจนะครับ ที่เห็นบทบาทของพลเอกเปรมในเหตุการณ์รัฐประหารล้มรัฐบาลพลเอกชาติชาย เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แล้วก็มีนายกฯชื่ออานันท์ ปันยารชุน (ปัจจุบันก็รู้ชัดเจนว่าเป็นคนใกล้ชิดพลเอกเปรม) ล้มรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 แล้วก็นำนายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯรอบสอง โดยรถที่นำพระบรมราชโองการวิ่งผ่านบ้านพลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาและเตรียมตัวรับพระบรมราชโองการอย่างมึนงง

พลเอกเปรม รับตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกในปีพ.ศ. 2520 ในรัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะเด็กฝาก และเป็นรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่มีการปรับ ครม.ไม่มีหลุดโผทั้งๆที่พลเอกเกรียงศักดิ์ก็รำคาญเพราะพลเอกเปรมเป็นหอกข้างแคร่ของจริงทำให้พลเอกเกรียงศักดิ์ที่นอนอยู่บนแคร่นายกรัฐมนตรีพลิกตัวไปมาไม่สะดวกแต่ก็ต้องอุ้มพลเอกเปรมในฐานะเด็กฝากเรื่อยไป และล่าสุดเด็กฝากก็ได้รับการเลี้ยงดูจนใหญ่โตเป็นถึงรัฐมนตรีกลาโหมควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก จนพลเอกเกรียงศักดิ์อุ้มไม่ไหวและจนกระทั่งเด็กที่ถูกอุ้มนั่งทับคนอุ้มนั่นก็คือ พลเอกเกรียงศักดิ์จำใจต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีกลางสภาด้วยวิกฤตเพียงแค่ขึ้นราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้รถเมล์ขึ้นราคาจาก .50 สตางค์ เป็น .75 สตางค์ แล้วมอบตำแหน่งให้แก่ พลเอกเปรมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทยเมื่อ 3 มีนาคม 2523 ด้วยการบีบพลเอกเกรียงศักดิ์จนหน้าเขียวกลางสภา แล้วนับแต่นั้นมาก็มีอำนาจสูงสุดจนถึงปัจจุบันด้วยคำพูดที่เป็นประวัติศาสตร์แห่งการโกหกในวันเริ่มต้นของผู้มีอำนาจสูงสุดว่า ข้าพเจ้าไม่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองแล้วนับแต่นั้นพลเอกเปรมก็รับตำแหน่งพิเศษในระบบพรรคการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์มอบให้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตัวจริงตลอดกาลโดยการสมยอมของแกนนำในพรรคในฐานะคนใต้ด้วยกันและพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ดูดน้ำเลี้ยงทางการเมืองที่ทำให้เกิดสิทธิพิเศษที่ไม่ต้องร้องขอแต่ป๋าจัดให้มาโดยตลอด

*เมื่อรู้อย่างนี้จึงไม่แปลกใจใช่ไหมว่าทำไมเราจึงเห็นพลเอกเปรมเดินสายพูดเรื่องม้ากับจ๊อกกี้ให้นักเรียนนายร้อยทหารบก นักเรียนนายเรือ และนักเรียนนายเรืออากาศ ฟังจนเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดยมีภาพของพลเอกเปรมนำคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าในยามวิกาล และก็คงไม่แปลกใจที่เห็นคนสนิทพลเอกเปรมที่สุดเป็นนายกรัฐมนตรีคือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ (ไม่ต่างจากที่นายอานันทน์เป็นนายกฯ จากการรัฐประหารปี 2534 และปี 2535) และคงไม่แปลกใจ....................และไม่แปลกใจที่เห็นกลยุทธ์การบีบให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากนายกรัฐมนตรีเพื่อเปิดทางให้แก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยวลีทางประวัติศาสตร์ของพลเอกเปรมอีกเช่นกันว่าประเทศไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ

*คงไม่แปลกใจแล้วใช่ไหมครับว่า ทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงมีแนวคิดสนับสนุนการรัฐประหารฝังอยู่ใต้จิตสำนึกและชื่นชอบ สว.แต่งตั้ง ก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์ซึมซับแนวคิดและดูดน้ำเลี้ยงมาจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตัวจริงมายาวนานจนชินกับรสชาติอันหวานชื่น

จากเวลากว่า 50 ปี ภายใต้กลไกของระบอบเผด็จการทหารผสมผสานกับแนวคิดคุณธรรมของข้าราชการไม่ยอมรับการเกษียณอายุได้หล่อหลอมให้พลเอกเปรมตกผลึกแนวคิด เผด็จการอำมาตย์ที่มีความแข็งแกร่งและสลับซับซ้อนยิ่งกว่าเผด็จการทหาร แต่มีเนื้อหาเหมือนกันคือ ไม่ชอบการเลือกตั้งและได้สร้างเครือข่ายสมุนบริวารที่ชื่นชอบทฤษฎีการเมืองใหม่คือให้คนดีที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้งขึ้นปกครองประเทศและใช้แนวคิดระบอบเผด็จการอำมาตย์สมบูรณ์แบบนี้ครอบงำการเมืองไทยอย่างเด่นชัดมานานกว่า 30 ปี จนเกิดกลุ่มต่อต้านระบบการเมืองเลือกตั้งอย่างเป็นระบบขึ้นและกลายเป็นวิกฤตเผชิญหน้าทางแนวคิดของคนสองกลุ่มทางการเมืองที่ยากจะปรองดองกันได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเมืองยุคเปลี่ยนผ่านแนวคิดที่ต้องการคนดีตามแบบพลเอกเปรมยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้น แต่โชคร้ายที่ประชาชนมีความคิดเกี่ยวกับคนดีตรงข้ามกับพลเอกเปรม

ดังนั้นคำถามข้างต้นที่ว่า ทำไมวิกฤตพฤษภาทมิฬปี 2535 จึงจบ แต่วิกฤตพฤษภาทมิฬปี 2553 จึงไม่จบ จึงอยู่ในสายลม แต่คำตอบมีชัดเจนแล้วในหัวใจประชาชน และเป็นคำตอบในภาวะตาสว่างในโอกาสครบรอบ 3 ปี ของการสังหารหมู่ประชาชนราชประสงค์ที่โหดร้าย แต่ยังไม่มีแสงสว่างที่จะนำฆาตกรตัวจริงมาลงโทษได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น