Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

บันทึกลับปลายรัชกาล (6) : ตอน ข่าวคดี “พญาระกา”


กองบรรณาธิการ RED POWER ฉบับที่ 36 เดือนพฤษภาคม 2556
จากพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 (ต่อจากฉบับที่แล้ว)

 


          เรื่องราวของลครที่ชื่อ พญาระกาได้กลายเป็นปัญหาลุกลามในราชสำนักที่คนไทยในปัจจุบันคงจะนึกภาพไม่ออกว่าแค่การแต่งลครเสียดสีกันทำไมกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ทั้งๆที่สามัญชนทุกคนมีจินตภาพเกี่ยวกับราชสำนักว่าเป็นสถานที่อยู่ของบุคคลชั้นสูงที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม แต่ทำไมจึงมีเรื่องกันดูประหนึ่งว่าไม่มีแก่นสาร ดังนั้นบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับบทลคร พญาระกา ที่กรมหมื่นนราธิปดัดแปลงมาจากบทลครของฝรั่งเรื่อง ชองตะแคลร์ เพื่อจะเสียดสีว่ากล่าวกรมราชบุรีหรือกรมหลวงราชบุรีซึ่งเป็นครูนักกฎหมายในขณะนั้นว่าเป็นคนโอ้อวดตัวเองเหมือนพญาระกานี้จึงเป็นคำตอบอยู่ในตัวนั้นเอง ซึ่งการที่ล้นเกล้าฯได้ทรงพระนิพนธ์ไว้อย่างละเอียด ก็ด้วยทรงเห็นว่ามีความสำคัญ บรรณาธิการ Red Power จึงขอนำพระราชนิพนธ์นี้เสนอให้ผู้อ่านได้ศึกษาติดตามโดยละเอียด ดังนี้.-

ข่าวคดี พญาระกา

          ในวันที่ ๓ มิถุนายนนั้น เมื่อฉันออกจากที่เฝ้าแล้วกรมหลวงดำรงได้รับสั่งบอกข่าวว่า การไต่สวนคดี พญาระกา นั้นเสร็จแล้ว,กรรมการกำลังร่างพิพากษาเพื่อจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย กรมหลวงดำรงตรัสเล่าว่ากรมหมื่นนราธิปแก้คดีว่า เรื่อง พญาระกานั้นตั้งพระทัยแต่งตามเค้าเรื่องลคอนพูดคำกลอนของมองสิเออร์เอ็ด ม็องด์ รสตองด์ (Edmond Restand) , ชื่อเรื่อง ชองตะแคลร”  (“Chantecler”) ; แต่กรรมการเห็นว่าเรื่อง พญาระกาไม่เหมือนเรื่อง ชองตะแคลร์หรือจะมีที่คล้ายบ้างก็เปนแต่เล็กน้อยบางแห่งเท่านั้น .

เรื่อง ชองตะแคลร์

          ในน่า ๓๑๔ แห่งสมุดเล่มนี้ ฉันได้สรุปใจความแห่งเรื่อง พญาระกาของกรมนราธิปไว้แล้ว, ในที่นี้จึ่งขอสรุปใจความแห่งเรื่อง ชองตะแคลร์ของเอ็ด ม็องต์ รสตองด์ ไว้บ้าง, สำหรับจะได้อ่านเทียบกัน

          เริ่มต้นมีนกเอี้ยงและสัตว์อื่นๆ ที่ในลานบ้านนากับสุนัขตัว ๑, พูดกันถึงไก่ตัวผู้ที่มีนามว่า ชองตาแคลร์ (แปลว่า ร้องเสียงใส) สัตว์นั้นๆมีความอิจฉาบ้าง, นิยมบ้าง, แต่อย่างไรๆก็ดี คงเปนอันเชื่อด้วยกันหมดว่า ชองตะแคลร์นั้นขันเรียกตวันได้,  และเชื่อด้วยว่าถ้าไก่ตัวนั้นไม่ขันตวันก็ไม่ขึ้น. แล้วชองตะแคลร์ออกมา, พร้อมด้วยเมียและบริวาร, กล่าวคำอวดฤทธาศักดานุภาพของตน ขณนั้นนางไก่ฟ้าทองตัว ๑ ถูกสุนัขของพรานไล่, จึ่งหนีเข้ามาอาศัยในรั้วบ้านของชาวนาอันเปนที่อยู่ของชองตะแคลร์. ฝ่ายชองตะแคลร์มีความรักใคร่นางไก่ฟ้า, เข้าไปพูดจาเกี้ยวพานแพละโลม, นางไก่ฟ้าก็หายินยอมพร้อมใจไม่. ชองตะแคลร์อวดว่าตนเปนสัตว์สำคัญ, มีอำนาจเรียกตวันให้ส่องแสงได้ตามประสงค์. นางไก่ฟ้ายังติดใจสงสัยอยู่, ชองตะแคลร์จึ่งบอกว่าแล้วจะสำแดงอิทธิฤทธิ์ให้ปรากฏ. กล่าวถึงนกเค้าแมวและนกอื่นๆ ที่หากินในเวลากลางคืน ได้นัดพร้อมกันไปประชุมที่ชายป่า, เพื่อปรึกษากันว่าจะควรทำอย่างไรดีจึ่งจะกำจัดชองตะแคลร์ได้, เพราะนกนั้นๆ พากันเชื่ออยู่แน่นอนว่าตวันขึ้นเพราะไก่ตัวนั้นขัน, ฉนั้นถ้ากำจัดไก่ตัวนั้นเสียได้แล้ว ตวันก็จะไม่ขึ้น และนกเค้าแมวและพวกพ้องจะได้หากินได้สดวก ปรึกษากันยังมิทันจะถึงความตกลงอย่างใดก็พอชองตะแคลร์พานางไก่ฟ้าทองมาถึง. และพะเอินเปนเวลาจวนรุ่งอยู่แล้ว, พอชองตะแคลร์ขันตวันก็ขึ้น พวกนกเค้าแมวทนแสงสว่างไม่ได้ก็พากันหนีไป. ฝ่ายนางไก่ฟ้าทองเชื่อแล้วว่าชองตะแคลร์มีฤทธิ์มากจริงสมปากอวด, ก็ยอมเปนเมีย กล่าวถึงนางไก่ต๊อกเปนผู้ชอบการสมาคม, จึ่งเชิญพวกนกต่างไปสโมสรสันนิบาตและเลี้ยงกัน, มีนกต่างๆไปมาก, รวมทั้งนกยูงด้วย ชองตะแคลร์พานางไก่ฟ้าทองและนางไก่ลูกไก่ไปในสมาคมนั้นด้วย มีผู้กล่าวขึ้นว่า น่าเสียดายนางไก่ฟ้าทองที่มีรูปโฉมงามไปสมสู่กับไก่ตัวผู้สามัญเช่นชองตะแคลร์, และว่าถ้าได้กับนกยูงจะสมคู่กันดีกว่า. ชองตะแคลร์โกรธและพูดว่า นกยูงนั้นก็ดีแต่รูปงามเท่านั้น, แต่หาฤทธาศักดานุภาพมิได้. ขณนั้นไก่ชนตัว ๑ จึ่งพูดขัดคอว่าชองตะแคลร์เองก็เก่งแต่ปากเท่านั้น. ไก่ทั้ง ๒ จึ่งเกิดชนกันขึ้น และโดยเหตุที่ไก่ชนนั้นได้ชนกับไก่ตัวอื่นในสังเวียนบอบช้ำมาก่อนแล้วจึ่งแพ้. ฝ่ายชองตะแคลร์นั้น, แม้ได้เปนผู้ชนะก็จริง แต่ต้องบาดเจ็บมาก, สัตวที่อยู่ในที่สมาคมนั้นจึ่งเกิดมีความเห็นกันขึ้นบ้าง ว่าชรอยชองตะแคลร์จะมีฤทธาศักดานุภาพมากเท่าที่โอ้อวด. พะเอินขณนั้นเกิดมีพายุฝน, พวกนกทั้งปวงพากันตื่นตกใจวุ่นไป ชองตะแคลร์จึ่งเรียกครอบครัวและบริวารของตนมาไว้ในร่มปีก, แล้วและขันขึ้นด้วยเสียงอันดัง จำเพาะสพเหมาะเวลานั้นพายุผ่านพ้นไป, ตวันจึ่งส่องแสงออกมาในขณะที่ชองตะแคลร์ขัน, ทำให้นกทั้งปวงเชื่อมั่นในบุญญาภินิหารของชองตะแคลร์, และชองตะแคลร์เองก็ยิ่งอิ่มเอิบกำเริบฤทธิ์ แต่นางไก่ฟ้าทองยังมีความติดใจสงสัยอยู่, จึ่งหาโอกาสล่อชองตะแคลร์ไปเที่ยวในป่า, และอุตส่าห์บำเรอให้ไก่ตัวผู้นั้นชล่าใจจนนอนหลับไป, แล้วนางไก่ฟ้าก็คอยนั่งปรนเปรอเล่าล่อให้นอนอีกเรื่อยจนกระทั่งถึงเวลารุ่ง นางไก่ฟ้าเห็นตวันขึ้นเองโดยชองตะแคลร์มิได้ต้องขันเรียก. นางไก่ฟ้าปลุกชองตะแคลร์ขึ้น, ต่อว่าว่าโอ้อวดเกินความจริง, จะอยู่ด้วยอีกไม่ได้, จึ่งลาจากไป, เพราะปรารถนาเสรีภาพและอยากเปนอิศระแก่ตน. แต่ไม่ช้านางไก่ฟ้าทองก็ไปติดแร้วของพราน, และพรานนำไปขายให้แก่ชาวนา, จึ่งเปนอันต้องกลับมาอยู่ร่วมถิ่นกับชองตะแคลร์อีก.

อธิบายปกรณัม

          เรื่อง ชองตะแคลร์ นี้ ผู้แต่งเขาตั้งใจให้เปนปกรณัมคือเรื่องเปรียบเทียบโดยทั่วๆ ไปไม่ใช่ว่าเปรียบเทียบบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยจำเพาะ. ไก่ตัวผู้เปรียบด้วยบุคคลที่เปนใหญ่และมีเสียงเพราะช่างพูดลวงคนโง่ๆ ให้หลงเชื่อว่ามีความสามารถ, และความที่หลอกผู้อื่นเสียเคยตัวจนสุดท้ายตัวเองก็เชื่อความสามารถของตนเองเสียด้วย, ทั้งพะเอินเปนผู้ที่มีโชคดี ทำอะไรมักจะพบแก่กาละ, จึ่งไม่มีผู้ใดรู้เท่า, จนในที่สุดเมื่อหลงผู้หญิงจนเผลอตัว จึ่งเสียกลและถูกผู้หญิงรู้ไส้. นางไก่ฟ้าทองเปรียบด้วยหญิงที่ชอบเปนอิศระแก่ตน, แต่เมื่อมีภัยเบียดเบียฬก็จำใจหนีไปพึ่งผู้มีบุญ แต่ถึงได้ไปพึ่งเขาแล้วก็ยังไม่เต็มใจที่จะสละอิศระภาพของตน, จนได้เห็นอภินิหารของผู้มีบุญนั้นจึ่งอดนิยมมิได้. เพราะโดยธรรมชาติย่อมนิยมชายที่เก่ง เพราะเหตุที่มีนิสัยเปน คนอวดดีและมีความอิจฉาติดสันดาน. หญิงนั้นจึ่งพยายามกระทำกลอุบายล่อลวงจนได้รู้ไส้ชายผู้ที่เลี้ยงตน, แล้วก็จากนั้นเพื่อพรากไป. จนไปประสพภยันตรายเข้าอีก จึ่งต้องกลับมาอยู่กับชายนั้นตามเดิม. นกเค้าแมวเปรียบด้วยผู้ที่อิจฉาผู้มีบุญ, และคิดประทุษร้ายผู้มีบุญเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเขาเปนผู้กีดขวางในทางหากินทุจริตของตน. นกเอี้ยงได้แก่คนปากพลอด, ช่างพูดตลบแตลง. สุนัขได้แก่ผู้ที่พูดเสียงไม่เบากระโชกกระชาก, แต่มีใจสุจริต. ไก่ต๊อกได้แก่หญิงหัวประจบและชอบมีงานเพื่อแสดงว่าตนเปนคนรู้จักกับคนสำคัญๆ มาก. นกยูงได้แก่คนที่เย่อหยิ่ง, งามแต่รูป, ใจไม่กล้า. ไก่ชนได้แก่คนที่เป็นนักเลงเกะกะก้าวร้าว. ไม่มีใครนับถือ, แต่บางทีเมื่อประสพโอกาสเหมาะก็ทำร้ายแก่ผู้มีบุญวาสนาได้บ้าง

          ดังนี้ก็เห็นได้ว่า ความมุ่งหมายของผู้แต่งเรื่อง ชองตะแคลร์ เปนคนละอย่างกับความมุ่งหมายของผู้แต่งเรื่อง พญาระกาทีเดียว. รสตองด์แต่งเปนปกรณัมเปรียบเทียบโดยทั่วๆ มิได้เจาะจงที่ตัวผู้ใดๆ แต่กรมนราธิปทรงแต่งขึ้นโดยว่าเปรียบเจาะจงตัวบุคคลทีเดียว, จึ่งนับเปนหมิ่นประมาท.

          วันที่ ๔ มิถุนายน เมื่อฉันเข้าไปถึงที่เฝ้า, พระเจ้าหลวงได้พระราชทานหนังสือให้ฉันดูฉบับ ๑, เปนหนังสือของพระยาจักรปาณีกราบบังคมทูลสารภาพผิดและขอรับพระราชอาญา. สังเกตว่าพระเจ้าหลวงค่อยคลายทรงพระพิโรธลงเพราะได้ทรงรับหนังสือฉบับนี้, ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกยินดีอยู่เพราะพระยาจักรปาณีเปนผู้ที่ฉันชอบพอมากอยู่. พระยาจักรปาณีเปนคน ๑ ซึ่งพระเจ้าหลวงทรงถือว่าเปนหัวน่าในพวกที่ถวายหนังสือทูลลาออก, ฉนั้นเมื่อสารภาพผิดแล้ว ก็คงจะพอเชื่อได้ว่าผู้น้อยจะไม่กระด้างกระเดื่องต่อไป.

พระเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำรัสต่อว่ากรมขุนสิริธัชว่า พระยาจักรปาณีเปนศิษย์ทำไมจึ่งไม่ว่ากล่าวตักเตือน, กรมขุนสิริธัชกราบบังคมทูลว่า พระองค์ท่านได้ทรงตักเตือนว่ากล่าวและพยายามเหนี่ยวรั้งนักแล้วก็หาฟังไม่. กรมขุนสิริธัชกราบบังคมทูลต่อไปด้วยว่า ท่านได้ทรงทราบว่าผู้ที่ลงนามในฎีกานั้น บางคนก็ดูเหมือนแทบจะมิได้ทราบตลอดว่ามีข้อความอย่างไรบ้างในฎีกานั้น, แต่เมื่อเขาชวนให้ลงชื่อก็ลงไปกระนั้นเอง. มีพระราชดำรัสถามหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤษดากรว่าเปนที่เรียบร้อยตลอดแล้วหรือ หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กราบบังคมทูลว่าเรียบร้อยดี. กรมขุนสิริธัชทรงรับรองว่าเรียบร้อยดีแล้ว สังเกตว่าพระเจ้าหลวงคลายทรงพระวิตกลงมาก

 

คำให้การของเจ้าพระยายมราช

          ครั้นเวลาบ่ายวันที่ ๕ เจ้าพระยายมราชได้ไปหาฉันที่วังสราญรมย์, เพื่อชี้แจงข้อความต่างๆ ให้ฉันฟัง. คำให้การของเจ้าพระยายมราชได้เรื่องราวพิสดารดีมาก, ฉนั้นฉันจึ่งได้บันทึกลงไว้ในสมุดจดหมายเหตุรายวันของฉัน, และฉันคัดข้อความมาลงไว้ ณ ที่นี้ดังต่อไปนี้.-

 

ด้วยเมื่อแรกเกิดเหตุ         

          เดิมที, เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม (พ.ศ.๒๔๕๓) เจ้าพระยายมราชได้ไปเที่ยวตรวจราชการตระเตรียมไว้สำหรับที่พวกจีนจะหยุดงาน, (ซึ่งมันกำหนดเริ่มต้น ณ วันที่ ๑ มิถุนายน), จนเวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา จึ่งได้ทราบข่าวว่ากรมราชบุรีให้เที่ยวตามตัว. เจ้าพระยายมราชได้รีบไปที่วัง, กรมราชบุรีจึ่งประทานหนังสือเรื่อง พญาระกาให้ดู, เปนหนังสือคัดด้วยเส้นดินสอ. เจ้าพระยายมราชได้อ่านแล้วก็รู้สึกว่าผู้แต่งกล่าวข้อความบ่งตรงเต็มที่. ฝ่ายกรมราชบุรีนั้นทรงกรรแสง, และตรัสว่าเมื่อมามีขึ้นเช่นนี้แล้ว พระองค์ท่านจะคงอยู่ไม่ได้, ต้องออกจากตำแหน่ง, เจ้าพระยายมราชทูลวิงวอนให้ทรงคิดเสียใหม่ให้รอบคอบ, กรมราชบุรีตรัสตอบว่าพระองค์ท่านได้ทรงตรองมาตลลอดคืนแล้ว, ไม่แลเห็นทางอื่นเลย, และขอให้เจ้าพระยายมราชช่วยนำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. ส่วนพระองค์ท่านจะต้องเสด็จไปเสียให้พ้นกรุงเทพฯ เพราะถ้าแม้อยู่ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องแล้ว จะรับสั่งให้หาพระองค์ท่านเข้าไป, ท่านกำลังเต็มไปด้วยความโทมนัสและโทษะ, ก็อาจที่จะกราบบังคมทูลใช้ถ้อยคำรุนแรงไม่สมควรได้. กรมราชบุรีตรัสด้วยว่าในเรื่องนี้ตัวฉันก็คงเห็นพระทัยท่าน. เจ้าพระยายมราชก็ตกลงรับจะเปนธุระนำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย ครั้นเมื่อกรมราชบุรีทรงชี้แจงพระดำริห์ในการที่จะประกาศแก่ข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมให้ทราบเหตุก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จไปจากกรุงเทพฯ เจ้าพระยายมราชจึ่งได้ทูลห้ามไว้. เพราะเห็นว่าจะทำให้เปนการเอิกเกริกไม่พอที่. กรมราชบุรีทรงรับรองว่าจะทรงปรึกษาหาฤๅกับข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงยุติธรรมดูก่อน. เจ้าพระยายมราชเห็นว่าก็ดีอยู่แล้วและเวลานั้นหิวข้าว, จึ่งทูลลากลับ. ในเวลาบ่ายนั้นเอง (ที่ ๓๑ พฤษภาคม) กรมราชบุรีได้เสร็จไปที่กระทรวงยุติธรรม, เรียกข้าราชการประชุมปรึกษาเรื่องจะประกาศในศาล, แต่ติละกี (วิลเลียม แอลเฟร็ด คุณะดิลก, ซึ่งภายหลังได้เปนพระยาอรรถการประสิทธิ์ ที่เรียกว่า ติละกีเพราะนามเขียนเปนอักษรโรมันตามแบบที่ใช้ในลังกาว่า) ห้ามปรามไว้ จึ่งเปนอันงดการประกาศ. กรมราชบุรีเสด็จออกจากกระทรวงยุติธรรมก็ตรงไปลงเรือ, โดยมิได้บอกกล่าวล่ำลาผู้ใดเลย. แม้เจ้าจอมมารดาของท่านและหม่อมอ่อนก็มิได้ทราบก่อน, ภายหลังหม่อมอ่อนจึ่งได้ตามไป. ในเวลาบ่ายวันที่ ๓๑ พฤษภาคม นั้นเจ้าพระยายมราชได้รับหนังสือเรื่อง พญาระกาเล่ม ๑, ซึ่งพิมพ์เพ่อแล้ว ยังเปียกๆ อยู่ ในชั้นต้นเจ้าพระยายมราชก็คิดว่าจะรอเรื่องไว้ก่อน, เพราะไม่อยากให้มีเหตุกวนพระราชหฤทัยพระเจ้าอยู่หัวในเวลานั้น, แต่ไปได้ข่าวว่ากรมนราธิปจะนำลครเรื่องนี้เข้าไปเล่นถวายในคืนวันที่ ๓ มิถุนายน, เห็นว่าจะรอต่อไปไม่ได้, จึ่งนำหนังสือของกรมราชบุรีและเรื่องทั้งปวงขึ้นกราบบังคมทูล, เมื่อได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงตั้งกรรมการพิจารณา, ตามที่ได้ทราบอยู่แล้ว. เจ้าพระยายมราชได้มีจดหมายไปยังกรมราชบุรี, ทูลว่ากล่าววิงวอนให้ทรงระงับโทษ, กรมราชบุรีจึ่งมีลายพระหัตถ์ตอบมายังเจ้าพระยายมราชเปนข้อความพิสดาร, แสดงความเห็นของพระองค์อ่าน,และขอให้ฉันได้ดูลายพระหัตถ์ฉบับนั้นด้วย. เมื่อได้อ่านลายพระหัตถ์ฉบับนั้นแล้ว ทำให้ฉันเข้าใจแจ่มแจ้งว่าความเห็นและความรู้สึก, ทั้งความเข้าใจผิดของท่านนั้นเปนอย่างไร, และเพราะเหตุที่ท่านเข้าพระทัยผิดอยู่เช่นนั้น ท่านจึ่งได้รู้สึกว่าพระองค์ท่านได้รับความอัปรยศจนคงอยู่ในตำแหน่งไม่ได้, ต้องลาออก. ลายพระหัตถ์นั้นฉันได้คัดความไว้โดยตลอด, ดังต่อไปนี้.

ลายพระหัตถ์กรมราชบุรี เจ้าพระยายมราช

          (ลายพระหัตถ์)

          ถึงครูทราบ.

          ด้วยฉันได้มานั่งตรองมาแต่ต้นจนเดี๋ยวนี้, ความเห็นยังลงคงอย่างเดียวกันว่า ที่ฉันได้ทำมาดังนี้เปนถูก. แต่ผิดในส่วนผลประโยชน์ในตัว, แต่ในทางราชการและทางซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าอยู่หัวแล้ว, ฉันได้ตรองแล้วตรองเล่า, ยังเห็นว่าถูก.

          เรื่องที่ฉันว่าจะออกประกาศนั้น, ติละกีเห็นไม่ควรออกเวลานี้ฉันจึ่งได้หยุดเสีย, มอบธุระให้แกแล้วแต่เห็นควร.

          ข้อที่ทำการต่อไปไม่ได้นั้น คนในศาล,จนถึงกรมสิริ, ก็ต้องเข้าใจ, แต่จะให้คนที่ไม่ใช่พวกกฎหมายเข้าใจด้วยนั้นเปนการยากจริง, ฉันจึ่งขอพยายามกล่าวอีกครั้งหนึ่ง, ถ้าจะเปนที่เบื่อหน่ายก็ขออภัย. คือเมื่อครั้งไกรสี (เปล่ง) ถูกตีหัวนั้นศาลก็รวน, ไม่มีใครทำการตามน่าที่, จนถึงกงสุลได้ร้อง, ฉันต้องหาคนสำรับใหม่เข้าทำงานหมด, ฝึกหัดขึ้นยากเย็นเข็ญใจ, และที่เขาทำการมาก็โดยเข้าใจว่าทำผิดแล้วจะต้องโทษ, ทำถูกแล้วจะต้องปกครองรักษาไม่ให้ต้องภัย ฉันได้จัดการต่ออายุศาลมาได้ ๑๐ ปีกว่า, มาบัดนี้แดงออกมาให้เห็นว่า, อย่าว่าแต่จะคุ้มภัยให้เขาเลย, ตัวฉันเองยังรักษาตัวเองไม่ได้. การที่ใครจะทำอะไรต่อไปให้ถูกในน่าที่นั้น ไม่มีใครที่จะทำเปนแน่, ทั้งในสมัยนี้ฝรั่งก็มาก, ผลประโยชน์เขาก็มี, ความประพฤติตัวอย่างตุลาการฝรั่ง       จำเปนต้องประพฤติ. เมื่อมีเหตุเช่นนี้ขึ้นแล้วไม่มีใครอาจประพฤติดีได้, ฉันหมดอำนาจนั่งบัญชาการ, ฝืนอยู่ต่อไปจะเปนผู้ผลาญเมืองไทยลงด้วยมือตนเอง. ในศาลไม่มีไทยจะทำงานได้สักคนเดียว. ฉันออกเสียเช่นนี้แล้วดูทีเหมือนหนึ่งไทยวิวาทกันเอง, ถ้าไทยมีสติคงจะจัดการให้ไทยทำราชการในน่าที่ผู้พิพากษาได้ต่อไปทันการก่อนฝรั่งจับฉวยเรื่องขึ้นได้. ถ้าฉันฝืนคิดประโยชน์ส่วนตัว, และคิดเกรงพระราชหฤทัยพระเจ้าอยู่หัวแล้ว, เปนอันฉันดูราชการไม่ลึกไม่ไกลสมควรแก่น่าที่, จะผลาญเมืองไทย, จะผลาญพระราชาในสมัยนี้เอง, ไม่ใช่สมัยน่า.ถ้าฉันอยู่ต่อไปฉันบอกได้ว่าปีเดียวไม่มีไทยอีกต่อไปที่ฉันจะว่ากล่าวได้. ข้อความไม่ใช่ส่วนตัว, ข้อความถึงอิศรภาพของเมืองไทย.

          ฝ่ายไทยแล้วดูแต่ส่วนตัว, ซึ่งผิด, จนถึงสิ้นอำนาจเมืองในรัชกาลนี้เปนแน่.

          ฉันอยากให้ครูนำหนังสือนี้ถวายสมเด็จพระบรมโอรส, กรมหลวงเทววงศ์, กรมดำรงทอดพระเนตร์, แต่การจะสมควรหรือไม่นั้นแล้วแต่ครูเถิด.

          เสียใจที่เปนเหตุกวนใจในเวลาที่ครูต้องกังวลเปนห่วงเรื่องอื่น. ขอกราบมาอย่างลูกศิษย์กับครู

          (จบลายพระหัตถ์)

          ตามลายพระหัตถ์นี้เห็นได้ว่ากรมราชบุรีมีความเข้าพระทัยผิดสำคัญอยู่ข้อ ๑, คือเข้าพระทัยว่าการที่กรมนราธิปได้แต่งหนังสือว่าเปรียบพระองค์ท่านเช่นนั้นแล้ว, พระเจ้าหลวงทรงทราบแล้วก็หาได้ทรงว่ากล่าวผู้แต่งไม่, แต่ตรงกันข้ามกลับจะโปรดเกล้าฯ ให้กรมนราธิปนำลคอนเรื่องนั้นเข้าไปเล่นถวาย, ซึ่งจะเปนการประจารพระองค์ท่าน. แม้เมื่อเจ้าพระยายมราชได้ทูลไปแล้วว่า พระเจ้าหลวงได้ทรงตั้งกรรมการพิจารณาคดีนั้นแล้ว กรมราชบุรีก็ยังไม่คลายความแค้น, เพราะน่าจะนึกเสียว่าทีเมื่อแรกได้ทรงรับหนังสือเรื่อง พญาระกานั้น ก็หาได้ทรงทำอะไรไม่, จนเจ้าพระยายมราชนำลายพระหัตถ์ของกรมราชบุรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว คือเมื่อกรมราชบุรีเปนโจทย์ขึ้นแล้ว จึ่งได้มีพระบรมราชโองการสั่งตั้งกรรมการพิจารณา. ก็การที่กรมราชบุรีความเข้าพระทัยผิด เปนเพราะเหตุใด ในเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายนนั้นฉันเองก็ยังหาได้ทราบไม่, ต่อภายหลังจึ่งได้ทราบว่าเปนเพราะมีคนอุบาทว์คอยยุแหย่อยู่มิให้ความสงบลงเสียง่ายๆ เพื่อประโยชน์หรือความพอใจอย่างเลวทรามของคนๆ นั้นเอง ดังจะได้แถลงต่อไปข้างน่า. นอกจากข้อเข้าพระทัยผิดสำคัญอันนี้มีข้อความอยู่บางข้อในลายพระหัตถ์กรมราชบุรี, ซึ่งเมื่ออ่านแล้วทำให้เห็นได้ว่าโทษทำให้กรมราชบุรีคิดและกล่าวข้อความมากเกินเหตุไป.

          (หมายเหตุกองบรรณาธิการ : เรื่องราวของคดีพญาระกาได้เกิดการพัวพันไปถึงขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักหลายคนจนถึงขั้นขุนนางบางคนถูกถอดออกจากตำแหน่งและกลายเป็นเรื่องรบกวนเบื้องยุคลบาทของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 อีกยืดยาวซึ่ง Red Power จะได้นำเสนอในตอนต่อไปในหัวข้อ ว่าด้วยเรื่องข้าราชการลาออก และพระราชวินิจฉัยลงโทษกรมนราธิปเป็นต้น โปรดติดตาม)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น