Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รายงาน: 3 ปีพฤษภาเลือด เสียงจากนักโทษการเมือง (ที่ไม่ได้มาร่วมรำลึก)

ทีมข่าวกระบวนการยุติธรรม ประชาไท



ในวาระครบรอบ 3 ปี การสลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ประชาไทถือโอกานี้สะท้อนเสียงของนักโทษการเมืองที่ยังอยู่ในเรือนจำ ทั้งเรือนจำโรงเรียนตำรวจหลักสี่ที่นับว่าเป็น “คุกการเมือง” และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครที่ผู้ต้องขังตามมาตรา 112 ทั้งหมดยังอยู่ที่นั่น

เอกชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อดีตคนขายหวยออนไลน์คนนี้เริ่มสนใจการเมืองหลังเกิดการรัฐประหาร เขาถูกจับกุมและแจ้งข้อหานี้เนื่องจากนำซีดีสารคดีการเมืองไทย จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์เอบีซี ประเทศออสเตรเลีย  และเอกสารวิกิลีกส์ฉบับภาษาไทยไปขายในที่ชุมนุมของกลุ่มแดงสยาม หลังจากนอนคุกไม่กี่วันและได้รับการประกันตัว เขาออกมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับข่าวสารข้อมูลคนเสื้อแดง โดยเฉพาะในระยะหลังเขาได้สัมภาษณ์ผู้ต้องขังหลายคนเพื่อจัดทำประวัติชีวิตของนักโทษการเมือง ขณะนี้คดีของเขาอยู่ระหว่างอุทธรณ์ :
ในโอกาสที่ครบ 3 ปีเหตุการณ์นองเลือด เราจะเห็นว่าผลกระทบที่เกิดกับคนเสื้อแดงโดยเฉพาะคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำเขาประสบความยากลำบาก ส่วนใหญ่ที่ยังเหลืออยู่เป็นโทษหนัก สิ่งที่พวกเขาหวังมากที่สุดตอนนี้คือ การประกันตัว เท่าที่เคยสัมภาษณ์พวกเขา เขาเห็นว่าการประกันตัวอาจเป็นไปได้ยาก จึงหวังการนิรโทษกรรม หลายคนยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด เช่น เพชร แสงมณี (คนกัมพูชา) ที่เดินเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์พอดี ตอนนี้อัยการก็อุทธรณ์อยู่ อยากให้พรรคเพื่อไทยผลักดันเรื่องนี้ เพราะเป็นหนทางเดียวที่พวกเขาจะได้ชีวิตปกติสุขกลับคืน ได้กลับไปอยู่กับครอบครัว แต่พวกเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบเหมายกเข่ง
ในเรื่องความช่วยเหลือ เราจะเห็นชัดเจนว่าช่วงปี 53 นี่ย่ำแย่ ไม่เวิร์ค เรียกว่า กนห. หรือ แกนนำหาย ตอนนั้นเป็นรัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วย ไม่มีใครยื่นมือเข้าช่วย พวกที่อยู่ในเรือนจำโดนรังแกสารพัด ไม่มีใครเหลียวแล แต่ปี 54 สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้น มีการย้ายเรือนจำ

 

สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์  ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่อายุมากที่สุดและเป็นโรคประจำตัวหลายโรค เขามีประวัติการต่อสู้ทางการเมืองมายาวนาน ได้รับฉายาว่า นักโทษคดีคอมมิวนิสต์คนสุดท้าย เขาหวนกลับมาสู่การเมืองใหญ่อีกครั้งหลังรัฐประหาร เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มแดงสยาม และถูกพิพากษาจาก 5 คดีซึ่งล้วนแต่เป็นการเดินสายปราศรัยเรื่องประชาธิปไตยกับคนเสื้อแดงในเวทีย่อยๆ คำพิพากษาจำคุกรวมแล้ว 12 ปีครึ่ง หากเขาต้องถูกจำคุกอีกครั้ง รวมกับในอดีตที่เคยถูกจองจำแล้วหลายครั้ง เท่ากับเขาใช้ชีวิตกว่า 30 ปีหรือ 1 ใน 3 ของชีวิตในเรือนจำ :
ทุกวันนี้เราเข้าใจแล้วว่า การต่อสู้ทางรัฐสภาชนะแล้วไม่จบ ดังนั้น เราก็ต้องรู้ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน เราควรสรุปบทเรียนที่ผ่านมา อย่าอาย ถ้าที่สิ่งที่ทำที่ผ่านมามีความผิดพลาด ผมคิดว่าการต่อสู้ที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ต้องรู้ว่าเรื่องนี้ต้องจบอย่างไรก่อน แล้วจึงค่อยกำหนดยุทธศาสตร์ ที่ผ่านมาเราค่อนข้างคิดว่าเลือกตั้งแล้วจะจบ มาวันนี้มีข้อสรุปชัดเจนว่าไม่ใช่ เราเตรียมแค่ต่อต้านรัฐประหารเท่านั้น แต่ไม่มีการเตรียมการต่อสู้เชิงรุก เมื่อเป็นรัฐบาลก็เดินไม่ถูก ไม่รู้จะเดินไปทางไหน

ธันย์ฐวุฒิ ทวีวโรดมกุล  ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เขาถูกกล่าวหาเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์นปช.ยูเอสเอและถูกตัดสินจำคุก 13 ปี เขาเป็นคนชั้นกลางทั่วไปอีกคนหนึ่งที่เริ่มสนใจการเมืองไม่นานนัก มีทักษะหลายด้าน และเป็นผู้บุกเบิก มีบทบาทอย่างสูงในการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนในเรือนจำ โดยเฉพาะประเด็น “การรับน้อง” สำหรับผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ ที่มักเกิดขึ้นเสมอ นอกจากนี้เขายังเป็นคุณพ่อใบเลี้ยงเดี่ยว ที่ลูกชายวัยสิบกว่าขวบต้องอยู่ในอุปการะของคนรู้จักยาวนาน :
สปีชนายกฯ ที่มองโกเลีย ผมได้อ่านครั้งแรก สิ่งแรกที่คิดในใจคือ เราจำเป็นต้องอยู่ในนี้กันถึง 3 ปีเพื่อให้ข้างนอกพูดคำนี้ได้ ผมรู้สึกว่าการช่วยเหลือนั้นทำได้ตั้งแต่แรกๆ ที่เป็นรัฐบาลด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรม แม้เวลานี้เราได้ขออภัยโทษแล้วก็ยังไม่ได้คำตอบอะไร แต่เมื่อไรที่มีกระแสปฏิวัติหรืออะไรก็ตามที่กระเทือนเสถียรภาพคุณก็ค่อยออกมาพูด
ผมอยากบอกประชาชนว่า แม้เรารักประชาธิปไตย แต่ไม่ต้องมีสีก็ได้ ผมไม่เหลือความภูมิใจในความเป็นคนเสื้อแดงแล้ว เราเหมือนถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ผมคิดอย่างนี้จริงๆ  อย่างปรีชา (สงวนนามสกุล) ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เขาโดนโทษจำคุก 30 กว่าปีกรณีขับรถชนตำรวจก็เหมือนกัน เขาก็เป็นคนเล็กๆ ที่แกนนำและมวลชนเสื้อเหลืองไม่สนใจแล้วเหมือนกัน ดังนั้น การจะเชื่อใครควรคิดให้ลึก อย่าเชื่อตามการปลุกกระแส เราไม่จำเป็นต้องลงทุนมากขนาดที่เอาอิสรภาพหรือชีวิตของเราไปแลกกับเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเรามองไม่เห็นว่าความหมายคืออะไร ตอนนี้พ่อผมยังต้องวิ่งหาเงินห้าร้อน พันนึงเพื่อช่วยค่าเทอมลูกผม นี่คือประชาธิปไตยที่ผมได้รับ  ทุกวันนี้ผมไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน ความคิด เพียงแต่หมดศรัทธากับกระบวนการที่ผ่านมา

สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 นักต่อสู้สายแรงงานที่ผันตัวเองมาต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยเต็มตัวหลังรัฐประหาร เป็นแกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย และเป็นบรรณาธิการ Voice of Taksin ซึ่งต่อมาโดนปิดและเปลี่ยนเป็น Red Power เขาถูกพิพากษาจำคุก 10 ปีจากการตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้นซึ่งเขาไม่ได้เขียนในนิตยสาร ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ โดยเขาให้เหตุผลว่า “เพราะผมยังเชื่อในกระบวนการยุติธรรม”
สั้นๆ เลยคือ วันนี้คนเสื้อแดงยังขาดความมุ่งมั่นด้านประชาธิปไตย ความเป็นธรรมทางสังคม เพราะเล่นบทบาทเป็นหางเครื่องของพรรคเพื่อไทย ล้มเหลวในการนำทักษิณกลับบ้าน ทำไม? เพราะทักษิณก็เป็นส่วนหนึ่งของความไม่เป็นธรรมเช่นกัน ล้มเหลวในการปล่อยนักโทษการเมือง ความล้มเหลวนี้เกิดจากยังขาดความมุ่งมั่น ดูง่ายๆ การประกาศนโยบายที่โบนันซา 3 ข้อ ทั้งโหวตวาระ3 แก้รัฐธรรมนูญ การปล่อยนักโทษการเมือง การลงสัตยาบันศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งหมดเงียบหายไป ไม่ทำต่อเนื่อง ทั้งหมดที่พูดนี้หมายถึงแกนนำ ซึ่งมีแนวโน้มพูดมากกว่าทำ
ส่วนมวลชนเห็นว่าควรรวมกันเป็นกลุ่มย่อย เป็นองค์กรอิสระที่สนใจมุ่งมั่นในประเด็นประชาธิปไตย และสนใจประเด็นความเป็นธรรมด้วย

เรือนจำหลักสี่

ทองสุข หลาสพ : พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ, พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์, พาอาวุธไปในเมือง ศาลจำคุก 1 ปี 6 เดือน
3 ปีที่ผ่านมา คนที่เป็นเสื้อแดงมีหลายกลุ่มต่างๆ กันไป  ทำให้มีความขัดแย้งกันบ้าง ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปของขบวนการประชาชน หากเป็นไปได้ก็อยากให้ยึดถือแนวร่วมสำคัญที่ทำมาตั้งแต่ต้น คือการการเรียกร้องประชาธิปไตยเต็มใบ ต่อต้านรัฐประหาร และเรียกร้องให้องค์กรตุลาการมีความเป็นธรรมด้วย สิ่งที่อยากจะให้เกิดขึ้นต่อๆ ไปในขบวนการเสื้อแดงคือการเตรียมพร้อม รวมมวลชนเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อเรื่องต่างๆ และต้องการให้กระจายความรู้เรื่องประชาธิปไตยสู่ชุมชน ให้ประชาชนมีความรู้การเมืองมากขึ้น แต่ไม่ใช่พูดความจริงด้านเดียว หรือพูดเข้าข้างใดข้างหนึ่ง แต่ควรสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนได้เห็นด้วยตัวเอง และตัดสินใจเลือกเองว่าจะมีทัศนคติทางการเมืองแบบใด เพราะประชาชนในระบอบประชาธิปไตยไม่จำเป็นต้องเห็นคล้อยตามกันหมด ขอเพียงเสียงส่วนน้อยยอมรับเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนใหญ่เคารพเสี่ยงส่วนน้อยที่คิดต่าง สังคมก็จะก้าวหน้าไปได้

สนอง เกตุสุวรรณ  :  พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อความวุ่นวาย ทำให้เกิดเพลิงไหม้ (อุบลราชธานี)  ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 33 ปี 12 เดือน
3 ปีแล้วที่เราไม่ได้รับความยุติธรรม ความเป็นธรรม ตั้งแต่การประกันตัว เราไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานเลย ทำให้จิตใจพวกเราบอบช้ำ เราเป็นประชาชนอยากออกมาเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เรียกร้องประชาธิปไตย เราไม่ได้กระทำความผิด
ที่ผ่านมาเราไม่เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราน้อยใจกับกระบวนการยุติธรรม เราเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยตัวเราเอง ถึงตอนนี้ให้ย้อนกลับไปอีกผมก็ต้องออกมาอีก ยังไงผมก็ต้องออกมาปกป้องประชาชน ถ้ายังมีการเข่นฆ่าประชาชนตาดำๆ ที่เขาออกมาชุมนุม ใครอยากเป็นรัฐบาลก็ควรใช้สติปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่อาศัยการยึดอำนาจ
อยากให้แกนนำจริงใจกับคำพูดของเขา พูดแล้วทำจริง เราอยากเห็นรูปธรรม ส่วนรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประชาชนเขาต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ ก็ควรต้องผลักดันอย่างจริงจัง
สุดท้าย ขอให้มวลชนอดทนและเข้มแข็งในการต่อสู้ต่อไป หนทางยังอีกยาวไกลมากกับประชาธิปไตยที่แท้จริง คนข้างในส่งกำลังใจให้คนข้างนอกเสมอ ผมเชื่อว่าจิตใจเราเชื่อมโยงถึงกันได้

ปัทมา มูลนิล : พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อความวุ่นวาย ทำให้เกิดเพลิงไหม้ (อุบลราชธานี) ศาลอุทธรณ์ยืน จำคุก 33 ปี 12 เดือน
เรื่องนิรโทษกรรมเราพูดกันมานาน แต่เพิงมาเด่นชัดปี 56 นี้เอง เราจะเห็นความจริงใจกว่านี้ ไม่ใช่มัวรอจังหวะ แต่อย่างน้อยมันก็เกิดขึ้นแล้ว เราก็ยังรู้สึกมีความหวัง จากที่เคยสิ้นหวังมาโดยตลอด
รัฐบาลนี้มีคนเสื้อแดงอยู่ข้างหลัง คนเสื้อแดงสู้ให้ได้เลือกตั้ง เมื่อคุณมีโอกาสลงเลือกตั้ง คุณได้รับเลือกตั้ง คุณก็ควรทำเพื่อพวกเราบ้าง  เท่าที่ผ่านมาก็เห็นว่าพยายามทำเพื่อคนเจ็บคนตาย เราก็ขอบคุณแทนพวกเขา แต่เราอยากให้หันมองคนติดคุกด้วย เพราะเราออกมาสู้เพื่อให้การเมืองมันดีขึ้น ไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง แต่ว่าก็ว่า เราสู้แทบตายสุดท้ายก็ยังไม่ได้ประชาธิปไตยจริงๆ
ถามว่าเข็ดไหมกับการเมือง คือ จริงๆ ก็ไม่อยากยุ่ง แต่ถ้าประเทศยังเป็นแบบนี้เราจะถอยได้ยังไง ถ้าประเทศมันเป็นประชาธิปไตยจริงๆ พวกเราก็ไม่ต้องติดคุก เราถึงต้องเดินต่อไป อย่างน้อยก็เพื่อคนรุ่นหลังจะได้ไม่ต้องออกมาสู้ มาเจ็บ ติดคุกกับเรื่องแบบนี้อีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น