Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

รัฐสภากับการเปลี่ยนรัชกาล จาก ร.7 สู่ ร.8 และ ร.8 สู่ ร.9 (ตอนที่ 2)


จาก RED POWER ฉบับที่ 36 เดือนพฤษภาคม 2556

โดย สุวิทย์ เลิศไกรเมธี

 


การขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชโดยความเห็นชอบของรัฐสภา

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 แล้ว ในวันเดียวกันนั้นรัฐสภาก็ได้จัดประชุมเพื่อเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา โดยในการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 1 ระเบียบวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี แจ้งให้สมาชิกรัฐสภาทราบข่าวการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล โดยมีใจความว่า[47] ด้วยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มประชวรตั้งแต่วันที่  2 มิถุนายน เป็นต้นมาด้วยอาการพระนาภีไม่เป็นปกติ และทรงเหน็ดเหนื่อยไม่มีพระกำลัง อย่างไรก็ตาม พระองค์ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเสด็จเยี่ยมราษฎรตามปรกติ เมื่ออาการพระนาภียังไม่ทุเลาลงจึงต้องประทับรักษาพระองค์อยู่โดยมิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน  เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตื่นพระบรรทมตอนเช้าเวลา 6 นาฬิกา ได้เสวยพระโอสถแล้วเข้าห้องสรงซึ่งเป็นพระราชกิจประจำวัน จากนั้นจึงเสด็จเข้าพระที่ ครั้นเวลาประมาณ 9 นาฬิกา “มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในพระที่นั่ง จึงรีบวิ่งเข้าไปดูเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ มีพระโลหิตไหลเปื้อนพระองค์และสวรรคตเสียแล้ว” มหาดเล็กห้องบรรทมจึงไปกราบทูลให้สมเด็จพระราชชนนีทรงทราบแล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ต่อมาพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ได้เข้าไปกราบถวายบังคม และอธิบดีกรมตำรวจกับอธิบดีกรมการแพทย์ ถวายตรวจพระบรมศพและสอบสวน ได้ความสันนิษฐานได้ว่าคงจะทรงจับคลำพระแสงปืนตามพระราชอัธยาศัยแล้วเกิดอุปัทวเหตุขึ้น

จากนั้นประธานรัฐสภาก็ขอให้สมาชิกรัฐสภายืนขึ้นไว้อาลัย “ที่ประชุมยืนขึ้นไว้อาลัยเป็นเวลานานพอสมควร”[48]

          หลังจากนั้นสมาชิกได้ซักถามรายละเอียดรัฐบาลเกี่ยวกับการสวรรคต เช่น มีสิ่งใดหรือไม่ที่ชี้ชัดเจนว่าพระเจ้าอยู่หัวมิได้สวรรคตโดยพระองค์เอง ลักษณะบาดแผลจากการชัณสูตรพลิกศพ เหตุผลและวิธีการสอบสวนสืบสวนคดี การเข้าออกห้องบรรทมนอกจากพระญาติวงศ์แล้วมีใครเข้าออกได้อีกบ้าง เป็นต้น โดยที่พล.ต.ท.พระรามอินทรา อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งอยู่ในที่ประชุมด้วยเป็นผู้ทำหน้าที่ตอบคำถาม[49]

          อย่างไรก็ตาม หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช สมาชิกสภาผู้แทน(พระนคร) เห็นว่าไม่ควรจะพูดเรื่องนี้กันต่อเพราะ

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยและข้าพเจ้าเข้าใจว่ารัฐบาลคงจะต้องทำคำแถลงการณ์โดยละเอียดเมื่อทำการสืบสวนโดยละเอียดภายหลัง เพราะฉะนั้นขอความกรุณาท่านสมาชิกทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ใช่เจ้าถ้อยหมอความ ขออย่าให้มีการพิสูจน์หรือพลิกพระศพกันที่นี่ ขอความกรุณาอย่าซักถามเรื่องนี้ และพูดเรื่องอื่นกันต่อไป”[50]

เมื่อ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เสนอดังนี้ นายวิลาศ โอสถานนท์ ประธานรัฐสภาจึงให้รัฐบาลแถลงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ในวาระที่ 3 ต่อไป

        การประชุมในระเบียบวาระที่ 3 รัฐบาลแถลงเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์โดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 และขอความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 9 แห่งรัฐธรรมนูญ[51] โดยนายทวี บุณยเกตุ ผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรี แถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่าการสืบราชสมบัติ ให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งตรงกับมาตรา 9 ข้อ 8 โดยนายทวีได้กล่าวถึงกฎมณเฑียรบาลข้อดังกล่าวให้สมาชิกฟังว่า “ข้อ 8 ถ้าแม้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไร้พระราชโอรสและพระราชนัดดา ท่านก็ให้อัญเชิญสมเด็จพระอนุชาที่ร่วมพระราชชนนีพระองค์ที่มีพระชนมายุถัดลงมาจากพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์” เมื่อมีความชัดเจนเช่นนี้ “รัฐบาลจึงเห็นว่าผู้ที่สมควรจะสืบราชสันตติวงศ์ควรได้แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เพราะฉะนั้นรัฐบาลจึงขอเสนอและขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญต่อไป”

          ประธานรัฐสภาจึงขอมติจากที่ประชุมรัฐสภาว่า “ข้าพเจ้าขอความเห็นของรัฐสภา ถ้าท่านผู้ใดเห็นชอบด้วย ขอได้โปรดยืนขึ้น” ผลปรากฏว่า“สมาชิกยืนขึ้นพร้อมเพรียงกัน” เป็นอันว่ารัฐสภาลงมติให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์สืบต่อจากพระเชษฐาธิราช โดย“มีผู้เห็นชอบเป็นเอกฉันท์”[52]

          จากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี จึงขอให้สมาชิกรัฐสภาถวายพระพรชัยขอให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจงทรงพระเจริญ โดย “ที่ประชุมได้ยืนขึ้นและเปล่งเสียงไชโย 3 ครั้ง”[53]

          ต่อมาประธานรัฐสภาแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 กำหนดให้สมาชิกพฤฒสภาที่มีอายุสูงสุด 3 คน เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว ซึ่งประกอบด้วย พระสุธรรมวินิจฉัย เจ้าคุณนนท์ราชสุวัจน์ และนายสงวน จูฑะเตมีย์ มีอายุสูงตามลำดับ และให้ทั้งสามยืนขึ้นแสดงตัวต่อที่ประชุมรัฐสภา[54]

จากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีก็ได้แจ้งต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ตนได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลซึ่งบัดนี้พระองค์ได้เสด็จสวรรคตแล้ว จึงได้ยื่นใบลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว[55]

-----------------

การเลือกพระมหากษัตริย์สองครั้งแรกโดยการให้ความเห็นชอบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น ไม่ปรากฏความขัดแย้งรุนแรงหรือมีเหตุเภทภัยอันตรายถึงขั้นเสี่ยงที่จะเกิดความล่มจมต่อราชอาณาจักรอย่างที่เคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งเมื่อมีการผลัดแผ่นดินมาแต่ครั้งโบราณ และเป็นที่น่าสังเกตว่าในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเรื่องการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และการเลือกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ (ตลอดจนการเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายในเชิงตำหนิติเตียนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนอภิปรายถึงคุณสมบัติด้านลบของพระองค์เจ้าอานันทมหิดล (รวมถึงคุณสมบัติด้านลบของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย) ยังไม่นับว่ามีการแสดงจุดยืนของฝ่ายฝ่ายรัฐบาลว่าให้การสนับสนุนผู้ใดให้สืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ดังที่พระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวว่า “ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล...”(ซึ่งสอดคล้องกับที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวในเวลาต่อมาว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนพระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เพราะพระบิดาของพระองค์เจ้าอานันทมหิดล “...ได้ทรงทำคุณประโยชน์แก่ราษฎร และเป็นเจ้านายที่บำเพ็ญพระองค์เป็นนักประชาธิปไตย เป็นที่เคารพรักใคร่ของราษฎรส่วนมาก คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบพร้อมกันเสนอสภาผู้แทนราษฎรขอความเห็นชอบ...”[56]) แม้ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์จะปฏิเสธในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าเป็นการเสนอตามลำดับของกฎมณเฑียรบาลก็ตาม แต่สิ่งที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์อธิบายนั้นอาจจะมีความถูกต้องเพียงบางส่วน เพราะหากรัฐบาลไม่ประสงค์จะให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นเป็นกษัตริย์ก็ย่อมจะสามารถรวบรวมคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้มากพอที่จะลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบได้ สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นอย่างน้อยที่สุดน่าจะเป็นการยืนยันได้ว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนด้วยการไม่คัดค้าน ขณะที่การเลือกเจ้าฟ้าภูมิพลขึ้นครองราชย์นั้น สมาชิกรัฐสภามิได้อภิปรายถึงคุณสมบัติของเจ้าฟ้าภูมิพลกันอย่างกว้างขวางเหมือนกรณีพระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าขณะนั้นกำลังอยู่ในบรรยากาศของความโศกเศร้าจากกรณีสวรรคต หรือไม่บรรดาผู้มีอำนาจในขณะนั้นอาจไม่ติดใจในคุณสมบัติของเจ้าฟ้าภูมิพลก็เป็นได้

        อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งประชาชนทั่วไปจะแสดงจุดยืนในการสนับสนุนหรือคัดค้านผู้ใดถือเป็นเรื่องปกติธรรมดามากในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอภิปรายและการลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะคนเหล่านั้นในฐานะผู้แทนของประชาชนกำลังใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนในการเลือกประมุขของรัฐ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าการเลือกพระมหากษัตริย์โดยรัฐสภาในปัจจุบัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำได้เฉพาะกรณีที่พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนมิได้ทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทเอาไว้เท่านั้น แต่ถ้าเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์องค์ก่อนหน้าทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้รัฐสภาก็มีหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่ว่าหากในอนาคต รัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกพระมหากษัตริย์เป็นอำนาจของรัฐสภาในทุกกรณี ไม่ว่าพระมหาษัตริย์องค์ก่อนหน้าจะทรงแต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้ก่อนหรือไม่ก็ตาม จะมีสมาชิกรัฐสภาคนใดกล้าอภิปรายถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะขึ้นสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างตรงไปตรงมาเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในอดีตหรือไม่
 

*******************************************



        [47] รายงานการประชุมรัฐสภา ครั้งที่ 1-10, 9 มิถุนายน 2489 - 12 สิงหาคม 2490, หน้า 1-2.
        [48] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2.
        [49] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2-5.
        [50] เรื่องเดียวกัน, หน้า 5.
        [51] เรื่องเดียวกัน, หน้า 5-6.
        [52] เรื่องเดียวกัน, หน้า 6.
        [53] เรื่องเดียวกัน
        [54] เรื่องเดียวกัน
        [55] เรื่องเดียวกัน, หน้า 5-6.
        [56] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, ใน บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพ : คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาลฯ และสภาบันปรีดี พนมยงค์, 2543), หน้า 26.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น