Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความเป็นทาสที่ยังคงอยู่

การเมืองฉบับชาวบ้าน RED POWER ฉบับที่ 36 เดือนพฤษภาคม 2556
ดอม   ด่านตระกูล

  


          ในยุคบรรพกาลคำว่า “ทาส” และคำว่า “ชนชั้น” ยังไม่ปรากฏเป็นที่รู้จัก ต่อเมื่อการเสื่อมสลายของชุมชนบุพกาลพร้อมกับการก่อเกิดขึ้นของระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกชน จากการผลิตเพียงเพื่อการดำรงชีพกลับขยายตัวกลายเป็นการผลิตเพื่อการค้าหรือเศรษฐกิจ ทุกๆการงานไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงสัตว์ การกสิกรรม การหัตถกรรม ฯลฯ ล้วนต้องการการผลิตเพิ่ม จึงจำเป็นต้องเสาะแสวงหาแรงงาน ซึ่งเมื่อนั้นเองจึงได้เกิดการแบ่งชนชั้นกันขึ้นมาระหว่างทาส กับนายทาส  ผู้ที่ด้อยกว่าทั้งในด้านอาวุธ ยุทโธปกรณ์  ทั้งทรัพย์สินจึงถูกล่ามตรวน ตีตราด้วยคำว่า “ทาส” ทั้งๆที่เป็นมนุษย์มี 1 สมอง 2 มือเหมือนกัน แต่กลับถูกกระทำเสมือนว่าเป็นดั่งสัตว์เลี้ยงไว้ใช้งาน ทั้งถูกเฆี่ยนตี ทารุณกรรม เพื่อสนองความต้องการของนายทาสในด้านการผลิตเพื่อให้ได้ปริมาณมากที่สุด
         
เมื่อ “ทาส” ถูกข่มเหงหนักเข้า ใครเล่าจะไปทานทนไหวด้วยแรงผลักแห่งความทุกข์ยากตรากตรำ ความเจ็บช้ำน้ำใจสารพัด ทาสจึงจำต้องลุกขึ้นสู้ การต่อสู้ทางชนชั้นจึงเริ่มอุบัติขึ้น จนเมื่อถึงยุคเครื่องจักร อุตสาหกรรมเข้ามาแทนที่การผลิตด้วยมือ การเปิดโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ และขยายการผลิตไปสู่เครื่องยังชีพชนิดต่างๆ การแข่งขันทางธุรกิจทำให้ต้องการแรงงานเพิ่มยิ่งขึ้นเพื่อนำมาเป็นคนงานในโรงงาน โดยแลกเปลี่ยนกับค่าจ้างแทนการเลี้ยงทาสไว้ในบ้าน  ประกอบกับมีการลุกฮือขึ้นสู้ของทาสหลายครั้ง ระบบนายทาสจึงถูกสั่นสะเทือนและพังทลายลงพร้อมๆกับระบบนายทุนได้เข้ามาแทนที่ หลังการปลดปล่อยทาสส่วนใหญ่ได้กลายมาเป็นคนงานในโรงงาน ถึงแม้การเรียกขานจะเปลี่ยนไป รายละเอียดจะไม่เหมือนเดิม นายทุนไม่อาจเฆี่ยนตีทารุณกรรมคนงานได้เหมือนเช่นนายทาสกระทำกับทาส แต่เนื้อหาการกดขี่ระหว่างชนชั้นนั้นไม่แตกต่างไม่ว่าจะเป็นยุคนายทุนกับคนงาน หรือยุคนายทาสกับทาส
 
          ในเมืองไทยเราการเป็นทาสเท่ากับตกเป็นทรัพย์สินของผู้เป็นนาย สามารถยกให้กันเป็นมรดกส่งต่อไปยังทายาทได้ ระบบข้าทาสมีมานานทั้งมาจากการสงครามกวาดต้อนเชลยศึกมาเป็นทาส หรือทาสที่เกิดจากความยากจนจึงนำภรรยา นำลูกมาเป็นทาสเพื่อแลกเงิน ซึ่งถ้ามีเงินครบเมื่อไรก็สามารถมาไถ่ตัวคืนได้  ส่วนทาสในเรือนเบี้ยคือลูกที่เกิดจากแม่ที่เป็นทาสอยู่ในเรือนนั้น เมื่อมีลูกต้องถือว่าเป็นสมบัติของผู้เป็นนายไปโดยปริยาย และไม่สามารถเปลี่ยนนายหรือไถ่ถอนตัวเองได้ นอกจากว่านายทาสจะยกให้คนอื่นไป  เมืองไทยในอดีต “ทาส” เป็นกำลังสำคัญในการเพาะปลูก และกำลังในการต่อสู้ยามศึกสงคราม ฉะนั้นทั้งกษัตริย์ และขุนนางจึงต้องมีข้าทาสบริวารไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในบางครั้งการขยายขอบเขตของเมืองทำได้โดยการเริ่มสร้างวัดขึ้นก่อนเพื่อให้เป็นศุนย์รวมใจของพลเมือง จากนั้นกษัตริย์จะให้ขุนนางจัดส่งข้าทาสบริวารที่เกณฑ์ได้ไปหักร้างถางพงเป็นกำลังในการสร้างเมือง และเพาะปลูก ซึ่งเมื่อเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตก็ต้องส่งให้พระมหากษัตริย์
 
          ส่วน “ไพร่” แม้ไม่ใช่ทาส แต่ก็ไม่สามารถเลือกใช้ชีวิตตามความพอใจอย่างอิสระได้ เพราะเมื่อถึงวัยประมาณ 18-20 ปี ต้องลงทะเบียนขึ้นสังกัดมูลนาย ด้วยการสักเป็นสัญลักษณ์ตามร่างกาย เรียกว่า “การสักเลก” ไพร่ชายจะถูกเกณฑ์มาทำงานหนัก ส่วนไพร่หญิงให้ทำงานเบากว่า  ไพร่แต่ละคนจะต้องทำงานตามสังกัดมูลนายไปจนอายุ 60 ปี หรือมีลูกชายเข้าเป็นไพร่แล้ว 3 คน  วิธีการควบคุมไพร่อย่างเป็นระบบปรากฏชัดในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ โดยแบ่งไพร่เป็น 2 ประเภท คือไพร่หลวง กับไพร่สม ในหนังสือ Discovering Autthaya,2003 อธิบายไว้ดังนี้

           ไพร่หลวง คือ ไพร่ที่เป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์ แต่ทรงมอบอำนาจอำนาจการควบคุมผ่านการบริหารราชการในแต่ละกรม เช่น กรมกลาโหม กรมมหาดไทย กรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา กรมสุรัสวดื กรมธรรมการ กรมฝีพาย กรมภูษามาลา เป็นต้น แต่ละกรมจะควบคุมไพร่เป็นลำดับชั้นตามการบังคับบัญชาจากเจ้ากรม ปลัดกรม สมุห์บัญชี  นายกอง นายหมวดลงมาจนถึงเจ้าหมู่ บุคคลเหล่านี้ต้องจัดทำบัญชีรายชื่อที่อยู่ของไพร่หลวง เรียกว่า “บัญชีหางว่าว” เป็น 3 ชุด เก็บไว้ที่กรมของตน ส่งให้กรมต้นสังกัด และส่งไปยังกรมสุรัสวดี ซึ่งเป็นกรมหน่วยกลางขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์

           ไพร่สม คือ ไพร่ส่วนตัวของมูลนาย พระมหากษัตริย์พระราชทานไพร่สมให้ตามศักดินาของมูลนายแต่ละคน เพื่อเป็นการจ่ายเบี้ยหวัดและปูนบำเหน็จ และเพื่อถ่วงดุลอำนาจระหว่างเจ้านาย การควบคุมไพร่สมจะทำผ่านกรมเจ้า ซึ่งเป็นกรมที่ทรงตั้งให้แก่เจ้านายเป็นกรมชั่วคราว เพียงเพื่อให้ควบคุมกำลังคนไว้ เรียกว่า เจ้านายทรงกลม ซึ่งเป็นการให้ตำแหน่งเกียรติยศและความมั่งคั่ง  ไพร่สม มีหน้าที่รับใช้มูลนายของตนตามคำสั่งนาย ไม่ต้องมาทำงานให้หลวง และถือเป็นสมบัติของมูลนาย เช่นเดียวกับทาสที่ให้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานได้


จะเห็นได้ว่า ไพร่กับทาสก็ล้วนถูกบังคับไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก ทั้ง ไพร่หลวง ที่ต้องเข้าเวรทำงานรับใช้ทางการก็ไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ ทั้งยังต้องเสียค่าเดินทางมาเอง ถือว่ารัฐขูดรีดกินแรงงานของประชากรไปเปล่าๆโดยไม่มีอะไรตอบแทนทั้งสิ้น



          ระบบไพร่ ทาส เป็นระบบที่รัฐไทยในอดีตใช้เพื่อการควบคุมกำลังคน เกณฑ์แรงงาน และถ่วงดุลอำนาจ เป็นฐานกำลังทางการผลิตและทางการทหาร การจัดระบบลงทะเบียนไพร่ ทาสก็เพื่อควบคุมกำลังคนไว้ให้มีประสิทธิภาพ และกระจายผู้คนมิให้กระจุกอยู่ในที่แห่งเดียวกันมากไป เพราะอาจนำอันตรายมาสู่ชนชั้นปกครองได้ ต่อเมื่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศต่างๆ การปลดปล่อยทาสทั้งในยุโรปและอเมริกา มาจนถึงการปฏิวัติในรัสเซียพ.ศ.2448 หรือค.ศ.1905 ที่ประเทศรัสเซียตกอยู่ในสภาพแร้นแค้น ขาดแคลน และประชาชนไม่พอใจสภาพที่ถูกกดขี่ ฝ่ายกรรมกรต้องทำงานหนักโดยได้รับค่าตอบแทนน้อยมาก  ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดการเดินขบวนภายใต้การนำของหลวงพ่อกาปอง ที่เชื่อมั่นว่าทหารจะไม่ยิงพระ เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง เรียกร้องรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลดชั่วโมงการทำงาน และแก้ไขความทุกข์ยากของราษฎร แต่ทหารกลับระดมยิงประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "วันอาทิตย์นองเลือด" (Bloody Sunday) ประชาชนจึงเริ่มเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบซาร์ และทำให้การจลาจลแผ่ขยายขึ้น เป็นปีเดียวกันกับที่ในประเทศไทยก็มีการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงระบบไพร่ ทาส โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีการตราพระราชบัญญัติยกเลิกการมีทาส มีระบบการเกณฑ์ทหารแทนการลงทะเบียน ไพร่หลวง ไพร่สม ระบบไพร่และทาสจึงถูกยกเลิกไปโดยปริยาย


          ปัจจุบันในประเทศไทย (พ.ศ.2556) ถึงแม้โดยการรับรู้ทั่วไประบบไพร่ ทาสหมดสิ้นไปแล้วก็จริง แต่ก็เช่นเดียวกันกับในประเทศหลายๆประเทศทั่วโลกที่ยังมีการต่อสู้ทางชนชั้นกันอยู่เช่นเดียวกันกับ ระบบนายทาสและทาสในอดีต เพราะทั้งสองชนชั้นนี้มีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันชัดเจนจึงไม่สามารถปรองดองกันได้ ฝ่ายหนึ่งต้องการกดขี่ อีกฝ่ายที่ถูกกดขี่ก็ย่อมต้องต่อสู้เป็นธรรมดา แต่การกดขี่นั้นอาจไม่ใช่การทารุณ ข่มเหง เฆี่ยนตีกันอย่างโจ่งแจ้งเช่นในยุคทาส แต่มาในรูปแบบที่แนบเนียนยิ่งขึ้น เช่นในรูปของกฎหมาย ซึ่งผู้ออกกฎหมายก็คือชนชั้นปกครองที่ร่วมมือกับนายทุน อำนาจรัฐบวกกับอำนาจเงินออกกฎหมายเพื่อควบคุมพลเมืองให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ชนชั้นปกครองอ้างว่า “เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ”  และออกกฎหมายเพื่อเอื้อต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นนายทุน ส่วนชนชั้นกรรมกร แรงงานนั้นต้องต่อสู้แทบเลือดตากระเด็นกว่าจะได้กฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงาน หรือแค่การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เพียงพอแก่การยังชีพ ทั้งยังต้องถูกบังคับให้คิดในสิ่งเหมือนๆกัน ใครคิดต่าง ถึงแม้ยังไม่ได้มีการลงมือก่อการร้าย ใช้อาวุธกระทำการใดๆ แต่แค่นั้นรัฐก็ถือว่า “เป็นภัย” ถึงยกเลิกระบบไพร่-ทาสไปตั้งแต่พ.ศ. 2448 แล้ว แต่ประชาชนคนไทยยังต้องถูกบังคับขืนใจเหมือนเช่นยุคทาส


          สิ่งหนึ่งที่นักต่อสู้ทุกคนต้องเรียนรู้คือ รูปแบบการต่อสู้ทางชนชั้นขั้นมูลฐานที่จะทำให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพที่เท่าเทียมของฝ่ายที่ถูกกดขี่คือ ต้องต่อสู้ให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยของประชาชนขึ้นก่อน จึงจะสามารถปลดปล่อยประชาชนให้พ้นจากการถูกกดขี่ และยกเลิกกฎหมายทาสได้  ตราบใดที่อำนาจทางการเมืองยังไม่เป็นของประชาชนฝ่ายที่ถูกกดขี่อย่างสมบูรณ์แบบ ตราบนั้นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรย่อมทำได้ยากเย็น การต่อสู้อาจยืดเยื้อเยื้อยาวนาน หรืออาจรวดเร็วฉับพลันเราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตการต่อสู้จะเป็นในรูปแบบใด แต่เชื่อแน่ว่าระบบไพร่-ทาสที่ยังคงแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในสังคมไทย ต้องหมดไปสักวันด้วยจิตใจและพลังการต่อสู้ของมวลชนที่รวมเป็นหนึ่ง และนับวันจะยิ่งก้าวหน้าและแข็งแกร่ง

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น