เรื่องราวของลครที่ชื่อ
“พญาระกา” ได้กลายเป็นปัญหาลุกลามในราชสำนักที่คนไทยในปัจจุบันคงจะนึกภาพไม่ออกว่าแค่การแต่งลครเสียดสีกันทำไมกลายเป็นเรื่องใหญ่โต
ทั้งๆที่สามัญชนทุกคนมีจินตภาพเกี่ยวกับราชสำนักว่าเป็นสถานที่อยู่ของบุคคลชั้นสูงที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม
แต่ทำไมจึงมีเรื่องกันดูประหนึ่งว่าไม่มีแก่นสาร
ดังนั้นบทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับบทลคร “พญาระกา” ที่กรมหมื่นนราธิปดัดแปลงมาจากบทลครของฝรั่งเรื่อง
“ชองตะแคลร์”
เพื่อจะเสียดสีว่ากล่าวกรมราชบุรีหรือกรมหลวงราชบุรีซึ่งเป็นครูนักกฎหมายในขณะนั้นว่าเป็นคนโอ้อวดตัวเองเหมือนพญาระกานี้จึงเป็นคำตอบอยู่ในตัวนั้นเอง
ซึ่งการที่ล้นเกล้าฯได้ทรงพระนิพนธ์ไว้อย่างละเอียด ก็ด้วยทรงเห็นว่ามีความสำคัญ บรรณาธิการ
Red Power จึงขอนำพระราชนิพนธ์นี้เสนอให้ผู้อ่านได้ศึกษาติดตามโดยละเอียด
ดังนี้.-
ข่าวคดี “พญาระกา”
ในวันที่ ๓ มิถุนายนนั้น
เมื่อฉันออกจากที่เฝ้าแล้วกรมหลวงดำรงได้รับสั่งบอกข่าวว่า การไต่สวนคดี “พญาระกา” นั้นเสร็จแล้ว,กรรมการกำลังร่างพิพากษาเพื่อจะได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ
ถวาย กรมหลวงดำรงตรัสเล่าว่ากรมหมื่นนราธิปแก้คดีว่า เรื่อง “พญาระกา” นั้นตั้งพระทัยแต่งตามเค้าเรื่องลคอนพูดคำกลอนของมองสิเออร์เอ็ด
ม็องด์ รสตองด์ (Edmond Restand) , ชื่อเรื่อง “ชองตะแคลร” (“Chantecler”)
; แต่กรรมการเห็นว่าเรื่อง “พญาระกา” ไม่เหมือนเรื่อง “ชองตะแคลร์” หรือจะมีที่คล้ายบ้างก็เปนแต่เล็กน้อยบางแห่งเท่านั้น
.
เรื่อง “ชองตะแคลร์”
ในน่า
๓๑๔ แห่งสมุดเล่มนี้ ฉันได้สรุปใจความแห่งเรื่อง “พญาระกา”
ของกรมนราธิปไว้แล้ว, ในที่นี้จึ่งขอสรุปใจความแห่งเรื่อง “ชองตะแคลร์” ของเอ็ด ม็องต์ รสตองด์ ไว้บ้าง,
สำหรับจะได้อ่านเทียบกัน
เริ่มต้นมีนกเอี้ยงและสัตว์อื่นๆ
ที่ในลานบ้านนากับสุนัขตัว ๑, พูดกันถึงไก่ตัวผู้ที่มีนามว่า “ชองตาแคลร์” (แปลว่า “ร้องเสียงใส”) สัตว์นั้นๆมีความอิจฉาบ้าง, นิยมบ้าง, แต่อย่างไรๆก็ดี
คงเปนอันเชื่อด้วยกันหมดว่า ชองตะแคลร์นั้นขันเรียกตวันได้, และเชื่อด้วยว่าถ้าไก่ตัวนั้นไม่ขันตวันก็ไม่ขึ้น.
แล้วชองตะแคลร์ออกมา, พร้อมด้วยเมียและบริวาร, กล่าวคำอวดฤทธาศักดานุภาพของตน
ขณนั้นนางไก่ฟ้าทองตัว ๑ ถูกสุนัขของพรานไล่, จึ่งหนีเข้ามาอาศัยในรั้วบ้านของชาวนาอันเปนที่อยู่ของชองตะแคลร์.
ฝ่ายชองตะแคลร์มีความรักใคร่นางไก่ฟ้า, เข้าไปพูดจาเกี้ยวพานแพละโลม,
นางไก่ฟ้าก็หายินยอมพร้อมใจไม่. ชองตะแคลร์อวดว่าตนเปนสัตว์สำคัญ,
มีอำนาจเรียกตวันให้ส่องแสงได้ตามประสงค์. นางไก่ฟ้ายังติดใจสงสัยอยู่,
ชองตะแคลร์จึ่งบอกว่าแล้วจะสำแดงอิทธิฤทธิ์ให้ปรากฏ. กล่าวถึงนกเค้าแมวและนกอื่นๆ
ที่หากินในเวลากลางคืน ได้นัดพร้อมกันไปประชุมที่ชายป่า,
เพื่อปรึกษากันว่าจะควรทำอย่างไรดีจึ่งจะกำจัดชองตะแคลร์ได้, เพราะนกนั้นๆ
พากันเชื่ออยู่แน่นอนว่าตวันขึ้นเพราะไก่ตัวนั้นขัน,
ฉนั้นถ้ากำจัดไก่ตัวนั้นเสียได้แล้ว ตวันก็จะไม่ขึ้น
และนกเค้าแมวและพวกพ้องจะได้หากินได้สดวก
ปรึกษากันยังมิทันจะถึงความตกลงอย่างใดก็พอชองตะแคลร์พานางไก่ฟ้าทองมาถึง.
และพะเอินเปนเวลาจวนรุ่งอยู่แล้ว, พอชองตะแคลร์ขันตวันก็ขึ้น
พวกนกเค้าแมวทนแสงสว่างไม่ได้ก็พากันหนีไป.
ฝ่ายนางไก่ฟ้าทองเชื่อแล้วว่าชองตะแคลร์มีฤทธิ์มากจริงสมปากอวด, ก็ยอมเปนเมีย
กล่าวถึงนางไก่ต๊อกเปนผู้ชอบการสมาคม, จึ่งเชิญพวกนกต่างไปสโมสรสันนิบาตและเลี้ยงกัน,
มีนกต่างๆไปมาก, รวมทั้งนกยูงด้วย
ชองตะแคลร์พานางไก่ฟ้าทองและนางไก่ลูกไก่ไปในสมาคมนั้นด้วย มีผู้กล่าวขึ้นว่า
น่าเสียดายนางไก่ฟ้าทองที่มีรูปโฉมงามไปสมสู่กับไก่ตัวผู้สามัญเช่นชองตะแคลร์,
และว่าถ้าได้กับนกยูงจะสมคู่กันดีกว่า. ชองตะแคลร์โกรธและพูดว่า นกยูงนั้นก็ดีแต่รูปงามเท่านั้น,
แต่หาฤทธาศักดานุภาพมิได้. ขณนั้นไก่ชนตัว ๑ จึ่งพูดขัดคอว่าชองตะแคลร์เองก็เก่งแต่ปากเท่านั้น.
ไก่ทั้ง ๒ จึ่งเกิดชนกันขึ้น และโดยเหตุที่ไก่ชนนั้นได้ชนกับไก่ตัวอื่นในสังเวียนบอบช้ำมาก่อนแล้วจึ่งแพ้.
ฝ่ายชองตะแคลร์นั้น, แม้ได้เปนผู้ชนะก็จริง แต่ต้องบาดเจ็บมาก,
สัตวที่อยู่ในที่สมาคมนั้นจึ่งเกิดมีความเห็นกันขึ้นบ้าง
ว่าชรอยชองตะแคลร์จะมีฤทธาศักดานุภาพมากเท่าที่โอ้อวด. พะเอินขณนั้นเกิดมีพายุฝน,
พวกนกทั้งปวงพากันตื่นตกใจวุ่นไป
ชองตะแคลร์จึ่งเรียกครอบครัวและบริวารของตนมาไว้ในร่มปีก, แล้วและขันขึ้นด้วยเสียงอันดัง
จำเพาะสพเหมาะเวลานั้นพายุผ่านพ้นไป, ตวันจึ่งส่องแสงออกมาในขณะที่ชองตะแคลร์ขัน,
ทำให้นกทั้งปวงเชื่อมั่นในบุญญาภินิหารของชองตะแคลร์,
และชองตะแคลร์เองก็ยิ่งอิ่มเอิบกำเริบฤทธิ์ แต่นางไก่ฟ้าทองยังมีความติดใจสงสัยอยู่,
จึ่งหาโอกาสล่อชองตะแคลร์ไปเที่ยวในป่า,
และอุตส่าห์บำเรอให้ไก่ตัวผู้นั้นชล่าใจจนนอนหลับไป,
แล้วนางไก่ฟ้าก็คอยนั่งปรนเปรอเล่าล่อให้นอนอีกเรื่อยจนกระทั่งถึงเวลารุ่ง นางไก่ฟ้าเห็นตวันขึ้นเองโดยชองตะแคลร์มิได้ต้องขันเรียก.
นางไก่ฟ้าปลุกชองตะแคลร์ขึ้น, ต่อว่าว่าโอ้อวดเกินความจริง, จะอยู่ด้วยอีกไม่ได้,
จึ่งลาจากไป, เพราะปรารถนาเสรีภาพและอยากเปนอิศระแก่ตน.
แต่ไม่ช้านางไก่ฟ้าทองก็ไปติดแร้วของพราน, และพรานนำไปขายให้แก่ชาวนา, จึ่งเปนอันต้องกลับมาอยู่ร่วมถิ่นกับชองตะแคลร์อีก.
อธิบายปกรณัม
เรื่อง
“ชองตะแคลร์” นี้
ผู้แต่งเขาตั้งใจให้เปนปกรณัมคือเรื่องเปรียบเทียบโดยทั่วๆ
ไปไม่ใช่ว่าเปรียบเทียบบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดโดยจำเพาะ. ไก่ตัวผู้เปรียบด้วยบุคคลที่เปนใหญ่และมีเสียงเพราะช่างพูดลวงคนโง่ๆ
ให้หลงเชื่อว่ามีความสามารถ,
และความที่หลอกผู้อื่นเสียเคยตัวจนสุดท้ายตัวเองก็เชื่อความสามารถของตนเองเสียด้วย,
ทั้งพะเอินเปนผู้ที่มีโชคดี ทำอะไรมักจะพบแก่กาละ, จึ่งไม่มีผู้ใดรู้เท่า,
จนในที่สุดเมื่อหลงผู้หญิงจนเผลอตัว จึ่งเสียกลและถูกผู้หญิงรู้ไส้. นางไก่ฟ้าทองเปรียบด้วยหญิงที่ชอบเปนอิศระแก่ตน,
แต่เมื่อมีภัยเบียดเบียฬก็จำใจหนีไปพึ่งผู้มีบุญ
แต่ถึงได้ไปพึ่งเขาแล้วก็ยังไม่เต็มใจที่จะสละอิศระภาพของตน,
จนได้เห็นอภินิหารของผู้มีบุญนั้นจึ่งอดนิยมมิได้.
เพราะโดยธรรมชาติย่อมนิยมชายที่เก่ง เพราะเหตุที่มีนิสัยเปน คนอวดดีและมีความอิจฉาติดสันดาน.
หญิงนั้นจึ่งพยายามกระทำกลอุบายล่อลวงจนได้รู้ไส้ชายผู้ที่เลี้ยงตน,
แล้วก็จากนั้นเพื่อพรากไป. จนไปประสพภยันตรายเข้าอีก
จึ่งต้องกลับมาอยู่กับชายนั้นตามเดิม. นกเค้าแมวเปรียบด้วยผู้ที่อิจฉาผู้มีบุญ,
และคิดประทุษร้ายผู้มีบุญเพราะเข้าใจผิดคิดว่าเขาเปนผู้กีดขวางในทางหากินทุจริตของตน.
นกเอี้ยงได้แก่คนปากพลอด, ช่างพูดตลบแตลง. สุนัขได้แก่ผู้ที่พูดเสียงไม่เบากระโชกกระชาก,
แต่มีใจสุจริต.
ไก่ต๊อกได้แก่หญิงหัวประจบและชอบมีงานเพื่อแสดงว่าตนเปนคนรู้จักกับคนสำคัญๆ มาก.
นกยูงได้แก่คนที่เย่อหยิ่ง, งามแต่รูป, ใจไม่กล้า.
ไก่ชนได้แก่คนที่เป็นนักเลงเกะกะก้าวร้าว. ไม่มีใครนับถือ,
แต่บางทีเมื่อประสพโอกาสเหมาะก็ทำร้ายแก่ผู้มีบุญวาสนาได้บ้าง
ดังนี้ก็เห็นได้ว่า
ความมุ่งหมายของผู้แต่งเรื่อง “ชองตะแคลร์” เปนคนละอย่างกับความมุ่งหมายของผู้แต่งเรื่อง “พญาระกา”
ทีเดียว. รสตองด์แต่งเปนปกรณัมเปรียบเทียบโดยทั่วๆ
มิได้เจาะจงที่ตัวผู้ใดๆ
แต่กรมนราธิปทรงแต่งขึ้นโดยว่าเปรียบเจาะจงตัวบุคคลทีเดียว,
จึ่งนับเปนหมิ่นประมาท.
วันที่
๔ มิถุนายน เมื่อฉันเข้าไปถึงที่เฝ้า, พระเจ้าหลวงได้พระราชทานหนังสือให้ฉันดูฉบับ
๑, เปนหนังสือของพระยาจักรปาณีกราบบังคมทูลสารภาพผิดและขอรับพระราชอาญา.
สังเกตว่าพระเจ้าหลวงค่อยคลายทรงพระพิโรธลงเพราะได้ทรงรับหนังสือฉบับนี้,
ซึ่งทำให้ฉันรู้สึกยินดีอยู่เพราะพระยาจักรปาณีเปนผู้ที่ฉันชอบพอมากอยู่.
พระยาจักรปาณีเปนคน ๑ ซึ่งพระเจ้าหลวงทรงถือว่าเปนหัวน่าในพวกที่ถวายหนังสือทูลลาออก,
ฉนั้นเมื่อสารภาพผิดแล้ว ก็คงจะพอเชื่อได้ว่าผู้น้อยจะไม่กระด้างกระเดื่องต่อไป.
พระเจ้าหลวงทรงมีพระราชดำรัสต่อว่ากรมขุนสิริธัชว่า
พระยาจักรปาณีเปนศิษย์ทำไมจึ่งไม่ว่ากล่าวตักเตือน, กรมขุนสิริธัชกราบบังคมทูลว่า
พระองค์ท่านได้ทรงตักเตือนว่ากล่าวและพยายามเหนี่ยวรั้งนักแล้วก็หาฟังไม่.
กรมขุนสิริธัชกราบบังคมทูลต่อไปด้วยว่า ท่านได้ทรงทราบว่าผู้ที่ลงนามในฎีกานั้น
บางคนก็ดูเหมือนแทบจะมิได้ทราบตลอดว่ามีข้อความอย่างไรบ้างในฎีกานั้น,
แต่เมื่อเขาชวนให้ลงชื่อก็ลงไปกระนั้นเอง.
มีพระราชดำรัสถามหม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กฤษดากรว่าเปนที่เรียบร้อยตลอดแล้วหรือ
หม่อมเจ้าจรูญศักดิ์กราบบังคมทูลว่าเรียบร้อยดี.
กรมขุนสิริธัชทรงรับรองว่าเรียบร้อยดีแล้ว
สังเกตว่าพระเจ้าหลวงคลายทรงพระวิตกลงมาก
คำให้การของเจ้าพระยายมราช
ครั้นเวลาบ่ายวันที่
๕ เจ้าพระยายมราชได้ไปหาฉันที่วังสราญรมย์, เพื่อชี้แจงข้อความต่างๆ ให้ฉันฟัง.
คำให้การของเจ้าพระยายมราชได้เรื่องราวพิสดารดีมาก, ฉนั้นฉันจึ่งได้บันทึกลงไว้ในสมุดจดหมายเหตุรายวันของฉัน,
และฉันคัดข้อความมาลงไว้ ณ ที่นี้ดังต่อไปนี้.-
ด้วยเมื่อแรกเกิดเหตุ
เดิมที,
เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม (พ.ศ.๒๔๕๓) เจ้าพระยายมราชได้ไปเที่ยวตรวจราชการตระเตรียมไว้สำหรับที่พวกจีนจะหยุดงาน,
(ซึ่งมันกำหนดเริ่มต้น ณ วันที่ ๑ มิถุนายน), จนเวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา
จึ่งได้ทราบข่าวว่ากรมราชบุรีให้เที่ยวตามตัว. เจ้าพระยายมราชได้รีบไปที่วัง,
กรมราชบุรีจึ่งประทานหนังสือเรื่อง “พญาระกา”
ให้ดู, เปนหนังสือคัดด้วยเส้นดินสอ.
เจ้าพระยายมราชได้อ่านแล้วก็รู้สึกว่าผู้แต่งกล่าวข้อความบ่งตรงเต็มที่.
ฝ่ายกรมราชบุรีนั้นทรงกรรแสง, และตรัสว่าเมื่อมามีขึ้นเช่นนี้แล้ว พระองค์ท่านจะคงอยู่ไม่ได้,
ต้องออกจากตำแหน่ง, เจ้าพระยายมราชทูลวิงวอนให้ทรงคิดเสียใหม่ให้รอบคอบ,
กรมราชบุรีตรัสตอบว่าพระองค์ท่านได้ทรงตรองมาตลลอดคืนแล้ว, ไม่แลเห็นทางอื่นเลย,
และขอให้เจ้าพระยายมราชช่วยนำหนังสือขึ้นทูลเกล้าฯ
ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. ส่วนพระองค์ท่านจะต้องเสด็จไปเสียให้พ้นกรุงเทพฯ
เพราะถ้าแม้อยู่ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบเรื่องแล้ว
จะรับสั่งให้หาพระองค์ท่านเข้าไป, ท่านกำลังเต็มไปด้วยความโทมนัสและโทษะ,
ก็อาจที่จะกราบบังคมทูลใช้ถ้อยคำรุนแรงไม่สมควรได้.
กรมราชบุรีตรัสด้วยว่าในเรื่องนี้ตัวฉันก็คงเห็นพระทัยท่าน.
เจ้าพระยายมราชก็ตกลงรับจะเปนธุระนำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย
ครั้นเมื่อกรมราชบุรีทรงชี้แจงพระดำริห์ในการที่จะประกาศแก่ข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมให้ทราบเหตุก่อนที่พระองค์ท่านจะเสด็จไปจากกรุงเทพฯ
เจ้าพระยายมราชจึ่งได้ทูลห้ามไว้. เพราะเห็นว่าจะทำให้เปนการเอิกเกริกไม่พอที่.
กรมราชบุรีทรงรับรองว่าจะทรงปรึกษาหาฤๅกับข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงยุติธรรมดูก่อน.
เจ้าพระยายมราชเห็นว่าก็ดีอยู่แล้วและเวลานั้นหิวข้าว, จึ่งทูลลากลับ. ในเวลาบ่ายนั้นเอง
(ที่ ๓๑ พฤษภาคม) กรมราชบุรีได้เสร็จไปที่กระทรวงยุติธรรม,
เรียกข้าราชการประชุมปรึกษาเรื่องจะประกาศในศาล, แต่ติละกี (วิลเลียม แอลเฟร็ด
คุณะดิลก, ซึ่งภายหลังได้เปนพระยาอรรถการประสิทธิ์ ที่เรียกว่า “ติละกี” เพราะนามเขียนเปนอักษรโรมันตามแบบที่ใช้ในลังกาว่า)
ห้ามปรามไว้ จึ่งเปนอันงดการประกาศ. กรมราชบุรีเสด็จออกจากกระทรวงยุติธรรมก็ตรงไปลงเรือ,
โดยมิได้บอกกล่าวล่ำลาผู้ใดเลย.
แม้เจ้าจอมมารดาของท่านและหม่อมอ่อนก็มิได้ทราบก่อน,
ภายหลังหม่อมอ่อนจึ่งได้ตามไป. ในเวลาบ่ายวันที่ ๓๑ พฤษภาคม
นั้นเจ้าพระยายมราชได้รับหนังสือเรื่อง “พญาระกา” เล่ม ๑, ซึ่งพิมพ์เพ่อแล้ว ยังเปียกๆ อยู่ ในชั้นต้นเจ้าพระยายมราชก็คิดว่าจะรอเรื่องไว้ก่อน,
เพราะไม่อยากให้มีเหตุกวนพระราชหฤทัยพระเจ้าอยู่หัวในเวลานั้น,
แต่ไปได้ข่าวว่ากรมนราธิปจะนำลครเรื่องนี้เข้าไปเล่นถวายในคืนวันที่ ๓ มิถุนายน,
เห็นว่าจะรอต่อไปไม่ได้, จึ่งนำหนังสือของกรมราชบุรีและเรื่องทั้งปวงขึ้นกราบบังคมทูล,
เมื่อได้ทรงทราบฝ่าลอองธุลีพระบาทแล้ว พระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงตั้งกรรมการพิจารณา,
ตามที่ได้ทราบอยู่แล้ว. เจ้าพระยายมราชได้มีจดหมายไปยังกรมราชบุรี,
ทูลว่ากล่าววิงวอนให้ทรงระงับโทษ,
กรมราชบุรีจึ่งมีลายพระหัตถ์ตอบมายังเจ้าพระยายมราชเปนข้อความพิสดาร,
แสดงความเห็นของพระองค์อ่าน,และขอให้ฉันได้ดูลายพระหัตถ์ฉบับนั้นด้วย.
เมื่อได้อ่านลายพระหัตถ์ฉบับนั้นแล้ว
ทำให้ฉันเข้าใจแจ่มแจ้งว่าความเห็นและความรู้สึก,
ทั้งความเข้าใจผิดของท่านนั้นเปนอย่างไร,
และเพราะเหตุที่ท่านเข้าพระทัยผิดอยู่เช่นนั้น ท่านจึ่งได้รู้สึกว่าพระองค์ท่านได้รับความอัปรยศจนคงอยู่ในตำแหน่งไม่ได้,
ต้องลาออก. ลายพระหัตถ์นั้นฉันได้คัดความไว้โดยตลอด, ดังต่อไปนี้.
ลายพระหัตถ์กรมราชบุรี เจ้าพระยายมราช
(ลายพระหัตถ์)
ถึงครูทราบ.
ด้วยฉันได้มานั่งตรองมาแต่ต้นจนเดี๋ยวนี้,
ความเห็นยังลงคงอย่างเดียวกันว่า ที่ฉันได้ทำมาดังนี้เปนถูก.
แต่ผิดในส่วนผลประโยชน์ในตัว,
แต่ในทางราชการและทางซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าอยู่หัวแล้ว, ฉันได้ตรองแล้วตรองเล่า,
ยังเห็นว่าถูก.
เรื่องที่ฉันว่าจะออกประกาศนั้น,
ติละกีเห็นไม่ควรออกเวลานี้ฉันจึ่งได้หยุดเสีย, มอบธุระให้แกแล้วแต่เห็นควร.
ข้อที่ทำการต่อไปไม่ได้นั้น
คนในศาล,จนถึงกรมสิริ, ก็ต้องเข้าใจ,
แต่จะให้คนที่ไม่ใช่พวกกฎหมายเข้าใจด้วยนั้นเปนการยากจริง,
ฉันจึ่งขอพยายามกล่าวอีกครั้งหนึ่ง, ถ้าจะเปนที่เบื่อหน่ายก็ขออภัย.
คือเมื่อครั้งไกรสี (เปล่ง) ถูกตีหัวนั้นศาลก็รวน, ไม่มีใครทำการตามน่าที่,
จนถึงกงสุลได้ร้อง, ฉันต้องหาคนสำรับใหม่เข้าทำงานหมด, ฝึกหัดขึ้นยากเย็นเข็ญใจ,
และที่เขาทำการมาก็โดยเข้าใจว่าทำผิดแล้วจะต้องโทษ, ทำถูกแล้วจะต้องปกครองรักษาไม่ให้ต้องภัย
ฉันได้จัดการต่ออายุศาลมาได้ ๑๐ ปีกว่า, มาบัดนี้แดงออกมาให้เห็นว่า, อย่าว่าแต่จะคุ้มภัยให้เขาเลย,
ตัวฉันเองยังรักษาตัวเองไม่ได้. การที่ใครจะทำอะไรต่อไปให้ถูกในน่าที่นั้น
ไม่มีใครที่จะทำเปนแน่, ทั้งในสมัยนี้ฝรั่งก็มาก, ผลประโยชน์เขาก็มี,
ความประพฤติตัวอย่างตุลาการฝรั่ง จำเปนต้องประพฤติ.
เมื่อมีเหตุเช่นนี้ขึ้นแล้วไม่มีใครอาจประพฤติดีได้, ฉันหมดอำนาจนั่งบัญชาการ,
ฝืนอยู่ต่อไปจะเปนผู้ผลาญเมืองไทยลงด้วยมือตนเอง. ในศาลไม่มีไทยจะทำงานได้สักคนเดียว.
ฉันออกเสียเช่นนี้แล้วดูทีเหมือนหนึ่งไทยวิวาทกันเอง,
ถ้าไทยมีสติคงจะจัดการให้ไทยทำราชการในน่าที่ผู้พิพากษาได้ต่อไปทันการก่อนฝรั่งจับฉวยเรื่องขึ้นได้.
ถ้าฉันฝืนคิดประโยชน์ส่วนตัว, และคิดเกรงพระราชหฤทัยพระเจ้าอยู่หัวแล้ว,
เปนอันฉันดูราชการไม่ลึกไม่ไกลสมควรแก่น่าที่, จะผลาญเมืองไทย,
จะผลาญพระราชาในสมัยนี้เอง,
ไม่ใช่สมัยน่า.ถ้าฉันอยู่ต่อไปฉันบอกได้ว่าปีเดียวไม่มีไทยอีกต่อไปที่ฉันจะว่ากล่าวได้.
ข้อความไม่ใช่ส่วนตัว, ข้อความถึงอิศรภาพของเมืองไทย.
ฝ่ายไทยแล้วดูแต่ส่วนตัว,
ซึ่งผิด, จนถึงสิ้นอำนาจเมืองในรัชกาลนี้เปนแน่.
ฉันอยากให้ครูนำหนังสือนี้ถวายสมเด็จพระบรมโอรส,
กรมหลวงเทววงศ์, กรมดำรงทอดพระเนตร์, แต่การจะสมควรหรือไม่นั้นแล้วแต่ครูเถิด.
เสียใจที่เปนเหตุกวนใจในเวลาที่ครูต้องกังวลเปนห่วงเรื่องอื่น.
ขอกราบมาอย่างลูกศิษย์กับครู”
(จบลายพระหัตถ์)
ตามลายพระหัตถ์นี้เห็นได้ว่ากรมราชบุรีมีความเข้าพระทัยผิดสำคัญอยู่ข้อ
๑,
คือเข้าพระทัยว่าการที่กรมนราธิปได้แต่งหนังสือว่าเปรียบพระองค์ท่านเช่นนั้นแล้ว,
พระเจ้าหลวงทรงทราบแล้วก็หาได้ทรงว่ากล่าวผู้แต่งไม่,
แต่ตรงกันข้ามกลับจะโปรดเกล้าฯ ให้กรมนราธิปนำลคอนเรื่องนั้นเข้าไปเล่นถวาย,
ซึ่งจะเปนการประจารพระองค์ท่าน. แม้เมื่อเจ้าพระยายมราชได้ทูลไปแล้วว่า
พระเจ้าหลวงได้ทรงตั้งกรรมการพิจารณาคดีนั้นแล้ว กรมราชบุรีก็ยังไม่คลายความแค้น,
เพราะน่าจะนึกเสียว่าทีเมื่อแรกได้ทรงรับหนังสือเรื่อง “พญาระกา” นั้น ก็หาได้ทรงทำอะไรไม่,
จนเจ้าพระยายมราชนำลายพระหัตถ์ของกรมราชบุรีขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว
คือเมื่อกรมราชบุรีเปนโจทย์ขึ้นแล้ว
จึ่งได้มีพระบรมราชโองการสั่งตั้งกรรมการพิจารณา. ก็การที่กรมราชบุรีความเข้าพระทัยผิด
เปนเพราะเหตุใด ในเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายนนั้นฉันเองก็ยังหาได้ทราบไม่,
ต่อภายหลังจึ่งได้ทราบว่าเปนเพราะมีคนอุบาทว์คอยยุแหย่อยู่มิให้ความสงบลงเสียง่ายๆ
เพื่อประโยชน์หรือความพอใจอย่างเลวทรามของคนๆ นั้นเอง ดังจะได้แถลงต่อไปข้างน่า. นอกจากข้อเข้าพระทัยผิดสำคัญอันนี้มีข้อความอยู่บางข้อในลายพระหัตถ์กรมราชบุรี,
ซึ่งเมื่ออ่านแล้วทำให้เห็นได้ว่าโทษทำให้กรมราชบุรีคิดและกล่าวข้อความมากเกินเหตุไป.
(หมายเหตุกองบรรณาธิการ : เรื่องราวของคดีพญาระกาได้เกิดการพัวพันไปถึงขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักหลายคนจนถึงขั้นขุนนางบางคนถูกถอดออกจากตำแหน่งและกลายเป็นเรื่องรบกวนเบื้องยุคลบาทของล้นเกล้าฯ
รัชกาลที่ 6 อีกยืดยาวซึ่ง Red Power จะได้นำเสนอในตอนต่อไปในหัวข้อ
“ว่าด้วยเรื่องข้าราชการลาออก
และพระราชวินิจฉัยลงโทษกรมนราธิป” เป็นต้น โปรดติดตาม)