Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ปู-พท.อิง"มวลชน" ลุยการเมือง ฝ่ามรสุม"องค์กรอิสระ"

วิเคราะห์
จาก มติชนออนไลน์



การต่อสู้ทางการเมืองได้ขยายเวทีจากรัฐสภาไปสู่องค์กรอิสระตามคาด

สำหรับการต่อสู้ในพื้นที่องค์กรอิสระยกแรก ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายคัดค้าน ถือว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่เพลี่ยงพล้ำ

ประการแรก ศาลรัฐธรรมนูญไม่ระงับการทูลเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ดำเนินการหลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นว่าที่ ส.ว. ผ่านการพิจารณาในวาระ 3 แล้ว

ประการที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยกคำร้องกรณีมีผู้ร้องว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมีการปรับลดงบประมาณขององค์กรอิสระ

เท่ากับว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวสามารถนำไปบังคับใช้ได้ตามปกติ แม้จะช้ากว่ากำหนดเวลาการเริ่มต้นคือ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ถือว่ากระทบต่อการบริหารงานในภาพรวมนัก

แต่ทุกจังหวะก้าวยังต้องระมัดระวัง เพราะยังเหลือคำร้องที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยต้องลุ้นอีก 3 คำร้องเป็นอย่างน้อย

คำร้องดังกล่าว มีทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องที่ทูลเกล้าฯร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่รอฟังคำตัดสินเรื่องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะขัดต่อ ม.154 หรือไม่ เรื่องร่าง พ.ร.บ.ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ที่กำหนดวิธีการใช้เงินแผ่นดิน ซึ่งทางฝ่ายคัดค้านเห็นว่า เงินกู้ดังกล่าวคือเงินแผ่นดินที่จะต้องผ่านการพิจารณาดังเช่นงบประมาณ ส่วนฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าไม่ใช่ เช่นเดียวกับ พ.ร.ก.เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง

คำร้องที่เหลืออยู่อาจสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพของรัฐบาล

แต่ดูเหมือนขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลจะเข้าเกียร์เดินหน้าทุกอย่างแล้ว

ดังที่ปรากฏความเคลื่อนของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยปลีกวิเวกในตอนประชุมสภา ออกไปตรวจราชการต่างจังหวัดและต่างประเทศ แต่ระยะหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เผื่อเวลาไว้สำหรับเข้าประชุมรัฐสภา

ยังมีปรากฏการณ์ควันหลงจากกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปมที่มา ส.ว.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาที่รัฐสภาและเข้าร่วมโหวตผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวกำลังถูกโจมตีและยื่นศาลรัฐธรรมนูญ

เท่ากับว่าหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการโหวตดังกล่าวผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ในฐานะ 1 ใน 358 เสียงที่สนับสนุนร่างในวาระ 3 ก็พร้อมรับผิดด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรียังนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ หลังจากส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบแล้ว

เป็นการนำขึ้นทูลเกล้าฯในขณะที่พรรคฝ่ายค้านและสมาชิกวุฒิสภาผู้คัดค้าน แห่กันไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

เหตุที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะ.. รัฐบาลพรรคเพื่อไทยรู้ดีว่าอยู่ได้เพราะมวลชน จึงจำเป็นต้องรักษามวลชนไว้จึงจะอยู่ได้

รัฐบาลจึงจำเป็นที่ต้องดำเนินการสิ่งที่เคยสัญญากับประชาชนไว้ก่อนเลือกตั้ง ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

และเพราะต้องการความนิยมจากมวลชน รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างผลงานเพิ่มหลังจากดำเนินนโยบายหลายอย่างไปแล้ว ดังนั้น การผลักดันเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทออกมา เพื่ออัดฉีดโครงการอภิโปรเจ็กต์ของกระทรวงคมนาคม ที่มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอยู่นั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็น

จำเป็นทั้งเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

จำเป็นทั้งเม็ดเงินที่ใช้ผลักดันยกระดับระบบขนส่งและการคมนาคมไทย ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศ

จำเป็นทั้งเม็ดเงินที่มีผลต่อการเมืองในอนาคตอันใกล้

ยิ่งเวลารัฐบาลผ่านพ้นไปแล้ว 2 ปี ยังเหลือเวลาอีก 2 ปี รัฐบาลยิ่งต้องผลักดันผลงานออกมาส่งท้าย เพื่อเป็นผลงานสำคัญในการหาเสียงครั้งต่อไป

ที่สำคัญ ด้วยเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและฝ่ายค้านได้แสดงบทบาทต่อสาธารณชนจนคนไทยมองแล้ว...เห็นเจตนา

เจตนาต่อประชาชน

เจตนาต่อการเมือง

เจตนาดังกล่าวมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้น พรรคเพื่อไทยและรัฐบาล หรือแม้แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจประมาณการเอาไว้แล้วว่า หากสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนได้

แม้ในที่สุดรัฐบาลต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์คับขัน การใช้วิธียุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีสำหรับพรรคเพื่อไทย

ณ วันนี้ รัฐบาลจึงเดินหน้าในทุกๆ เรื่องที่เคยสัญญากับประชาชนไว้

เพราะการทำตามสัญญา จะเป็นเกราะป้องกันพรรคการเมืองและนักการเมือง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

หากถึงวันที่รัฐบาลไปไม่ไหว การคืนอำนาจให้ประชาชนจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดของพรรคเพื่อไทย เพราะเชื่อว่าการทำตามสัญญาจะรักษาความนิยมจากประชาชนที่สนับสนุนเอาไว้ได้

แต่หากไม่มีเหตุการณ์วิกฤตเกิดขึ้น รัฐบาลก็จะเดินหน้าตามแผนที่กางให้ประชาชนเห็นต่อไป

เมื่อครบวาระ 4 ปี หากแผนที่วางไว้สัมฤทธิผล พรรคเพื่อไทยก็จะได้รับคะแนนนิยม และสามารถกลับคืนสู่สภาได้เหมือนเดิม

การอิงแอบประชาชนเช่นนี้ พรรคเพื่อไทยถนัด และทำแล้วได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นเสมอมา

ห้วงเวลานี้ก็เช่นกัน พรรคเพื่อไทยยังยึดแนว "อิง" มวลชน เป็นยุทธศาสตร์หลักในการช่วงชิงชัยชนะทางการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น