Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แผนรุก-ทางรอด "เพื่อไทย" 3 ขั้นบันไดสู้ตุลาการภิวัตน์

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
 เมื่อสงครามการเมืองลาก "พรรคเพื่อไทย"มาเผชิญหน้ากับ "ศาลรัฐธรรมนูญ"เป็นการเผชิญหน้าที่มีความหมายกับอนาคตลมหายใจของพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

เป็นการเผชิญหน้าที่ต่อเนื่องจากปี 2555 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตุลาการ "สั่งเบรก" การลงมติการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระ 3 พร้อมแนะนำให้พรรคเพื่อไทยทำประชามติถามความเห็นของประชาชน อันเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญเสียก่อน

ทำให้ศักราช 2556 พรรคเพื่อไทยจึงเปลี่ยนแผน-เปิดช่องทางใหม่ หันทิศทางเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราแทน เพราะรู้แน่ว่าหากทำประชามติถามความเห็นประชาชน อาจตกม้าตายเพราะคะแนนอาจไม่ผ่านเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนด

แต่ใช่ว่าเส้นทางใหม่จะไร้อุปสรรคเสียทีเดียว...

เหตุเพราะไม่ว่าจะขยับเขยื้อน ผลักดันกฎหมายการเมืองหรือเศรษฐกิจ จุดจบมิได้อยู่ที่การประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ แต่กฎหมายต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทยกลับไปกองที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อรอการ "ลงดาบ"

ทำให้หัวใจของคนในพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องลุ้นระทึก

นั่นเพราะคู่ขัดแย้งของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่ากลุ่ม ส.ว.สรรหา ต่างยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลายคำร้อง หลายวาระ

เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ทั้งฉบับแก้ไขมาตรา 68 ที่บัญญัติถึงขอบเขตอำนาจรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 และฉบับแก้ไขที่มา ส.ว.

ที่อีกฝ่ายชี้ว่า ล้วนเข้าข่ายมาตรา 68 ถือว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีโทษร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคแทบทั้งสิ้น

รวมถึงร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.... หรือ พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ซึ่งฝ่ายค้านก็เตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 หรือไม่ เพราะการใช้เงินจะต้องผ่านกฎหมาย 4 ฉบับนี้เท่านั้น 1.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2.กฎหมายโอนงบประมาณ 3.งบประมาณวิธีการจ่ายงบประมาณ และ 4.กฎหมายเงินคงคลัง

เพียงแค่พรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่ม ส.ว.สรรหา จับมือแยกกันเดิน-ร่วมกันตี ยื่นคำร้องเรื่องการแก้ไขมาตรา 68 อย่างเดียว นับรวมแล้วถึง 6 สำนวน

หน้าตาของผู้ร้องมีชื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา-สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา-วรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา-วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์

เช่นเดียวกับกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ตัวละครที่ยื่นคำร้องก็เป็นคนหน้าเดิม โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม ส.ว.สรรหา

ไม่นับกรณีที่คนกลุ่มเดียวกันยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีชะลอการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาขึ้นทูลเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยกคำร้องไปแล้ว

"ดิเรก ถึงฝั่ง" ส.ว.นนทบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ใช้สิทธิในฐานะประธานแก้ไขมาตรา 68 และในฐานะแกนนำ ส.ว.สายเลือกตั้งที่ได้รับประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. โต้แย้งว่า พลิกตำราหลายเล่มก็ไม่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว.นั้นขัดรัฐธรรมนูญ

"เพราะมาตรา 1 ในร่างแก้ไขมาตรา 68 เขียนไว้ว่า ถ้าผู้ใดพบเห็นการกระทำล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ยื่นเรื่องผ่านอัยการสูงสุด หากไม่แล้วเสร็จภายใน 30 วันสามารถยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ แล้วอย่างนี้มันล้มล้างการปกครองตรงไหน"

จึงมีการวิเคราะห์กันในกลุ่มแกนนำ ส.ว.สายเลือกตั้ง ถึงพฤติกรรมของ ส.ว.สายสรรหา ที่จับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ใช้ "กับดัก" กฎหมายปิดเกมฝ่ายพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง

เป็นเพราะ ส.ว.สายสรรหา "พลาดท่า" พรรคเพื่อไทยในช่วงการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ในวาระ 2 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากเดิมที่ให้ ส.ว.สรรหาหมดไปตามวาระที่เหลืออยู่ เป็นหมดไปทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับที่มา ส.ว.มีผลบังคับใช้

ทำให้ ส.ว.สรรหาไม่สามารถอยู่เฉยได้อีกต่อไป ต้อง "เปิดเกม" ยื่นคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ และหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญ "ปิดเกม" ด้วยการตัดสินลงโทษพรรคเพื่อไทยให้ได้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อล้มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด

"เกมมันพลิกเพราะนายสมชาย แสวงการ นายวันชัย สอนศิริ 2 ส.ว.สรรหา ไปอภิปรายท้าทายในที่ประชุมว่าตัดวาระ ส.ว.สรรหาไปเลย ไม่อยากอยู่หรอก ทำให้พรรคเพื่อไทยที่ไม่ค่อยพอใจ ส.ว.สรรหา เพราะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลายคำร้องอยู่แล้ว พอมีจังหวะเขาก็เอาคืน ส.ว.สรรหา เกมมันพลิกตั้งแต่ตอนนั้น" แหล่งข่าวกล่าว

อย่างไรก็ตาม ด้านวอร์รูมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กลับไม่สามารถประเมินชะตากรรมพรรคเพื่อไทยที่ถูกลากไปเผชิญหน้ากับศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ได้ เพราะไม่สามารถหยั่งใจศาลได้ว่าจะตัดสินมาอย่างไร

แม้ไม่สามารถหยั่งใจศาลได้ แต่พรรคเพื่อไทยก็เตรียมทางสู้ ทางรอด โดยแบ่งเป็นบันไดสู่ทางออกรวม 3 ขั้น

ขั้นแรก สู้ทางข้อกฎหมาย โดยสำนักงานกฎหมายพรรคที่มี "ชูศักดิ์ ศิรินิล" เป็นหัวหน้า ระดมขุนพลกฎหมายทั้งหมดในพรรคเพื่อไทย อาทิ โภคิน พลกุล-พิชิต ชื่นบาน-นพดล ปัทมะ และทีมงานคนใน คนนอกที่พรรคว่าจ้าง หาช่องต่อสู้ทางกฎหมาย ขุดคำพิพากษาของศาลในอดีตที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการโต้แย้ง - เทียบเคียง แก้ต่างฝ่ายตรงข้าม

หากเรื่องใดที่พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นฝ่ายถูกร้อง แล้วรอดพ้นเงื้อมมือศาล เช่น พ.ร.ก.เงินกู้ไทยเข้มแข็ง ที่พรรคเพื่อไทยเคยยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการกู้เงินที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 พรรคเพื่อไทยก็จะใช้คำแก้ต่างชุดเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ย้อนศรกลับไป

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเป็นลบกับพรรคเพื่อไทย วาทกรรม "2 มาตรฐาน" จะถูกงัดออกมาใช้ทันที

อันนำมาสู่การต่อสู้ในขั้นที่สอง โดยใช้มวลชนกดดัน ผ่านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเครือข่าย เช่น กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) เป็นต้น

พร้อมทั้งให้ ส.ส.เสื้อแดง ในพรรคร่างคำฟ้องไว้ล่วงหน้า เพื่อรอจังหวะที่ตุลาการภิวัตน์แผลงฤทธิ์ และมีแนวโน้มที่จะพิฆาตพรรคเพื่อไทย ส.ส.กลุ่มนี้ก็จะใช้สิทธิ์แจ้งความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรืออาจดำเนินการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทันที

ทางสู้ขั้นที่สาม หากสถานการณ์ถึงขั้นเลวร้ายที่สุด ศาลวินิจฉัยให้ยุบพรรคเพื่อไทย-พรรคเพื่อไทยก็จะใช้โมเดลเดิม เหมือนครั้งที่พรรคพลังประชาชนถูกยุบ และหาหัวใหม่เป็นพรรคเพื่อไทย

ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีการตั้งพรรคสำรองไว้แล้วคือ "พรรคเพื่อธรรม" ที่มีนายวัลลภ สุปริยศิลป์ อดีต ส.ส.พลังประชาชน คนกันเองในพรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้าพรรค

ขณะที่ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ขยายความแผนการต่อสู้ครั้งนี้ พร้อมทั้งลำดับการต่อสู้ทางกฎหมาย แยกเป็นรายมาตรา

โดยประเมินกรณีเลวร้ายที่สุดในทุกขั้นตอนแล้วว่า ผลลัพธ์-คำตัดสินจะไม่ถูกพาดพิงถึง "ยิ่งลักษณ์" อย่างแน่นอน

1.ปัญหารัฐธรรมนูญมาตรา 154 ที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม ส.ว.สรรหา เรียกร้องให้นายกฯชะลอการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ออกไป เพื่อรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ปรากฏว่า "ยิ่งลักษณ์" ได้ยื่นทูลเกล้าฯไปแล้วนั้น

"สมชาย" อธิบายว่า มาตรา 154 เป็นเรื่องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ใดขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า หรือกฎหมายลูกที่ออกตามรัฐธรรมนูญออกมาขัดกับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่หรือไม่ แต่การแก้รัฐธรรมนูญเป็นการแก้กฎหมายแม่ตามรัฐธรรมนูญ 291 นั่นหมายความว่าไม่ใช่กฎหมายที่อยู่ในข่ายมาตรา 154

ดังนั้น กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นทูลเกล้าฯก็ทำหน้าที่เป็นแค่ไปรษณีย์เท่านั้น

2.ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน เป็นเรื่องกฎหมายปกติ ไม่ใช่ พ.ร.บ.งบประมาณ หากถูกตีตกในชั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ถือว่าร่างกฎหมายดังกล่าวตกไป รัฐบาลไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภาหรือลาออก

3.พ.ร.บ.นิรโทษกรรม "สมชาย" เห็นว่า เป็นเรื่องของพรรคเพื่อไทยดำเนินการ หากมีข้อผิดพลาดพรรคเพื่อไทยรับผิดชอบ มิใช่รัฐบาล

เขากล่าวว่า "ตอนนี้ทุกอย่างเดินไปตามกระบวนการ มีการไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ว่าไป การแพ้คดีในศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลต้องลาออก เมื่อดูว่ามีกฎหมายไหนบ้าง โดยเฉพาะกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญมันเป็นกฎหมายที่ยื่นโดย ส.ส.ไม่ได้ยื่นโดยรัฐบาล รัฐบาลมีหน้าที่อย่างเดียวคือ เมื่อกฎหมายผ่านสภา นายกฯมีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นไปรษณีย์ ไม่ต้องมารับผิดชอบอะไร"

"ส่วนผู้เสนอกฎหมายที่เป็น ส.ส.ก็ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค นายกฯก็ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรค แต่สมมติว่าถ้ามันจะนำไปสู่การยุบพรรค คุณจะไปหวั่นไหวอย่างนั้นไม่ได้ ยุบพรรคก็ยุบหลายทีแล้วนี่ ยุบแล้วก็ตั้งขึ้นมาใหม่อีก"

ดังนั้น กรณีเลวร้ายที่สุดหากมีการยุบพรรค แม้ไม่มีพรรคเพื่อไทยแต่ยังมีพรรคสำรองให้ ส.ส.เพื่อไทยเดิม เข้าไปอยู่ในบ้านสำรองชื่อ "เพื่อธรรม" ได้ทันที

นอกจากนี้ ยังมีทางสู้-ทางถอยอีกหนึ่งทางที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจตัวจริงในพรรคเพื่อไทย สั่งการตรงมาจากฮ่องกง ให้พรรคเตรียมพร้อมสำหรับการยุบสภาไว้ หากแรงกดดันทางการเมืองทั้งในและนอกพรรคมีมากเกินความสามารถในการควบคุม

โดย "พ.ต.ท.ทักษิณ" สั่งให้พรรคจัดทำบัญชีรายชื่อสำหรับการเลือกตั้งใหม่ วางตัว "ยิ่งลักษณ์" ให้อยู่ในลำดับที่ 1 เช่นเดิม พร้อมทั้งให้ทีมงานทำโพลของพรรคลงพื้นที่เช็กความนิยม ส.ส.ของพรรคทั่วประเทศ หาก ส.ส.ในพื้นที่ใดคะแนนนิยมตก หรือกระแสไม่ดี จะมีการเปลี่ยนตัวทันที

คู่ขนานกับการเดินสายฟ้องประชาชน ยืนยันความจริงใจของ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ในการผลักดันร่างกฎหมายทุกฉบับ แต่หากฉบับใดไม่สามารถประกาศใช้ได้ทัน ให้อธิบายว่าเป็นความผิดของกลุ่มผู้ขัดขวาง มิใช่ความผิดรัฐบาล

นอกจากนั้น อาจมีการปรับคณะรัฐมนตรีบางตำแหน่งที่มีปัญหาการถือครองหุ้นต้องห้าม คือ นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข และ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกไป

ขณะที่ "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อาจหลุดเก้าอี้ มท.1 ไปสู่เก้าอี้รองนายกฯแทน

และมีความเป็นไปได้ที่ "โภคิน พลกุล"ที่ปรึกษานายกฯ จะมานั่งเก้าอี้ มท.1 แทน "จารุพงศ์" เพราะ "โภคิน" มีข่าวมาตลอดว่าจะกลับมาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ที่ยังไม่สามารถกลับมาได้เพราะติดปัญหาคดีรถ-เรือดับเพลิงสมัยที่เป็น รมว.มหาดไทยในรัฐบาลทักษิณ ซึ่ง ณ เวลานี้ "โภคิน" ก็ได้พ้นมลทินจากข้อกล่าวหาทั้งปวงแล้ว

ทั้งหมดเป็นทางออกที่ถูกปูทางไว้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่คนพรรคเพื่อไทยเชื่อว่ายังไม่มีกรณีเลวร้าย ๆ ใดที่จะกระทบถึงตัว "ยิ่งลักษณ์" นายกรัฐมนตรีโดยตรง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น