พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว. สร้างความตื่นเต้นให้กับ “สังคมไทย” อีกครั้ง จากการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ … พ.ศ. …. เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. อาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 154
พร้อมทั้งเรียกร้องให้ “ยุติกระบวนการ” ทุกอย่าง เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งๆที่ ในช่วง “รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์” ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยมีคำสั่งคดีเกี่ยวกับมาตรา 154 เมื่อปี 2554 มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เพื่อไทยขณะนั้น และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว. เคยยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 154 (1) ให้พิจารณาประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 93-98 เกี่ยวกับที่มาของ ส.ส.ให้เป็นระบบเขตเดียวเบอร์เดียว และมาตรา 190 เรื่องหนังสือสนธิสัญญา ซึ่งศาลวินิจฉัยว่ามาตรา 154 ไม่สามารถใช้แย้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ และครั้งนั้นจึงมี “คำสั่งไม่รับคำร้อง”!!
ซึ่ง “พระนครสาส์น” ขอนำรายละเอียดคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 มาเผยแพร่ให้ “สังคม” ได้รับรู้ร่วมกันอีกครั้ง…
โดย “คำสั่ง” ดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญดังนี้…
…ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่าคำร้องของผู้ร้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรม นูญ 2550 มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ที่ศาลจะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 154 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุม ร่างพ.ร.บ.มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้น มาตรา 291 บัญญัติว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้… (2) ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม และให้รัฐสภาพิจารณาเป็นสามวาระ… (7) เมื่อการลงมติได้เป็นไปตามที่กล่าวแล้ว ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าฯ และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม”
พิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะในหมวด 15 มาตรา 291 โดยบัญญัติหลักเกณฑ์และวิธีการตาม (1) ถึง (7) ว่าให้ต้องทำเป็นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มิใช่ทำเป็นร่างพ.ร.บ. ทั้งมาตรา 291 (7) บัญญัติให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการตราพ.ร.บ. เฉพาะมาตรา 190 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 154 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตราพ.ร.บ. มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัยมาใช้บังคับ
ดังนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติดังกล่าวประกอบกันแล้วกรณีคำร้องนี้จึงไม่ต้อง ด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัยได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น