Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพุธที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กดปุ่ม 2 ล้านล. เฟสแรก ปี′57 29โครงการผ่าน EIA รอตอกเข็ม

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
 
 
 
เปิด ความพร้อมโปรเจ็กต์ 2 ล้านล้าน "ชัชชาติ" ยันเดินหน้าตามขั้นตอน เผย 29 โครงการยักษ์ผ่าน EIA รอกดปุ่มได้ทันทีหลังกฎหมายผ่าน ทั้งถนน มอเตอร์เวย์ด่านศุลกากร ทางคู่ ไฮสปีดเทรน พลิกโฉมประเทศ กรมทางหลวง ทางหลวงชนบท รถไฟฯ รฟม.คัดเลือกโครงการจ่อตั้งแท่นประมูลเฟสแรกต้นปี"57 จับตาเค้ก 7 แสนล้าน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ระหว่างรอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของประเทศ พ.ศ....หรือร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้าน ผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม โดยให้คัดเลือกและจัดลำดับโครงการที่พร้อมลงทุน และได้รับอนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สามารถเดินหน้าลงทุนได้ทันที เตรียมนำมาเปิดประมูลก่อสร้างหลังกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ เบื้องต้นพบว่าจากจำนวนโครงการหลัก ภายใต้แผนลงทุน 2 ล้านล้านบาท จำนวน 53 โครงการ มีโครงการที่จัดทำรายงานอีไอเอ และได้รับอนุมัติแล้ว 29 โครงการ ไม่ต้องจัดทำอีไอเอ 13 โครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำอีไอเอ 11 โครงการ



เร่งปลดล็อกเวลาอนุมัติอีไอเอ

สำหรับโครงการที่อีไอเอยังไม่ผ่านการพิจารณา มีรถไฟทางคู่ อยู่ระหว่างรออนุมัติ รถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง ยื่นไปแล้ว 1 สายคือเฟสแรกสายเหนือ จากกรุงเทพฯ-พิษณุโลก เร็ว ๆ นี้เป็นสายกรุงเทพฯ-โคราช และกรุงเทพฯ-หัวหิน เวลาจะห่างกันไม่เกิน 1-2 เดือน ส่วนกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ยังอีกนาน เนื่องจากเพิ่งเริ่มศึกษาโครงการ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอีไอเอไม่น่าจะนาน เพราะการก่อสร้างอยู่ในแนวเขตทางรถไฟเดิม ไม่ได้สร้างผลกระทบให้ประชาชนมากนัก

ขณะเดียวกัน จะหารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) หาแนวทางแก้ปัญหาที่ทำให้การพิจารณาล่าช้า เพื่อให้โครงการเดินหน้าเร็วขึ้น แต่ไม่ได้ลัดขั้นตอนทุกอย่างดำเนินการตามกรอบกฎหมาย เพียงแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพการพิจารณารายงานอีไอเอสำหรับโครงการ 2 ล้านล้าน โดยร่วมกันพิจารณาว่าที่ผ่านมามีปัญหาติดขัดจุดไหน จะได้แก้ไขตรงจุด ให้โครงการดำเนินการได้ตามแผนที่วางไว้

เดินหน้าทันทีหลัง พ.ร.บ.บังคับใช้

นายชัชชาติกล่าวว่า ในส่วนของโครงการที่มีความพร้อมทุกด้าน สามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ทันทีหลังร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ในปี 2557 ที่พร้อมประมูล ได้แก่ ถนน มอเตอร์เวย์ รถไฟฟ้า 8 สาย มีสายสีเขียว ชมพู แดง ส้ม เหลือง รถไฟทางคู่ ที่เหลือยังไม่ได้ศึกษาโครงการ โดยจะเริ่มประมูลในปีที่ 3 และ 4 ต่อไป มีทางคู่สายใหม่ 6 สาย เช่น สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ สายชุมพร-สุราษฎร์ฯ สายสุราษฎร์ฯ-ปาดังเบซาร์ สายปากน้ำโพ-เด่นชัย สายขอนแก่น-หนองคาย และสายจิระ-อุบลราชธานี

แผนงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง วงเงิน 783,229 ล้านบาท นายชัชชาติกล่าวว่า คาดว่าจะเริ่มประมูลได้กลางปี 2557 รวม 3 สาย ประกอบด้วย สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และกรุงเทพฯ-หัวหิน ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบประมูล จะแยกสัญญาระหว่างงานคัดเลือกงานระบบก่อน หรือจะดำเนินการไปพร้อม ๆ กับงานก่อสร้าง ส่วนกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2558

"มีบางโครงการที่หนักใจบ้าง คือรถไฟความเร็วสูง เพราะเป็นเรื่องใหม่ และกลัวบางโครงการจะแล้วเสร็จไม่ทัน 7 ปี เช่น ท่าเรือปากบารา เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะนี้รถไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะก่อสร้างในกรุงเทพฯ อาจจะมีปัญหาเรื่องเวนคืนที่ดินบ้าง แต่ทุกอย่างก็ต้องเดินหน้า" นายชัชชาติย้ำ

ทล.พร้อมประมูล 1.8 แสนล้าน

นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมได้รับจัดสรรกรอบวงเงินในร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท 377 โครงการ วงเงินลงทุน 241,080 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างใน 7 ปีนี้ โดยจะใช้เวลาประมูล 4 ปี แยกเป็น ปี 2557 วงเงิน 186,600 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 38,190 ล้านบาท ปี 2558 เบิกจ่าย 21,150 ล้านบาท และเบิกจ่ายจริง 55,105 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 27,790 ล้านบาท เบิกจ่ายจริง 70,010 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 5,540 เบิกจ่ายจริง 61,412 ล้านบาท ที่เหลืออีก 16,363 ล้านบาท จะเบิกจ่ายปี 2561

ในส่วนของกรมทางหลวงทุกโครงการพร้อมเปิดประมูลทันทีหลัง พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ แต่จะทยอยก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน 4 ปี ได้แก่ โครงการบูรณะสายทางหลักระหว่างภาค, ทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ, ขยาย 4 ช่องจราจร, มอเตอร์เวย์ 3 สาย เริ่มประมูลสายบางปะอิน-โคราช จ่ายค่าเวนคืนสายพัทยา-มาบตาพุด และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี รวมทั้งงานสะพานข้ามทางรถไฟ

ซอยมอเตอร์เวย์ร่วม 10 สัญญา

ตามแผนปีแรกจะประมูลได้ครบหมด มีงานบูรณะทางสายหลัก 235 โครงการ วงเงิน 31,600 ล้านบาท ส่วนงานอื่นจะทยอยประมูลจนถึงปี 2560 เช่น สะพานข้ามทางรถไฟ 83 แห่ง ปี 2557 ประมูล 22 แห่ง ปี 2558 จำนวน 22 แห่ง ปี 2559 จำนวน 20 แห่ง และปี 2560 จำนวน 19 แห่ง ขยาย 4 เลน จาก 80,610 ล้านบาท ปี 2557 ประมูลได้ 50,380 ล้านบาท ขณะที่ถนนเชื่อมโยงระหว่างประเทศ ปีแรกอยู่ที่ 7,390 ล้านบาท

สำหรับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช ระยะทาง 196 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 84,600 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินการทันทีในปี 2557 ทั้งเวนคืนที่ดิน ซึ่งมีค่าชดเชย 6,630 ล้านบาท และงานประมูลก่อสร้างอีกกว่า 77,970 ล้านบาท โดยจะแบ่งงานมากกว่า 10 ตอน เพื่อเร่งรัดโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ทช.มี 3 โครงการ ร่วม 8 พันล้าน

ขณะที่นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมมีโครงการประมูลทุกปี ตั้งแต่ปี 2557-2561 เนื่องจากต้องเวนคืนที่ดินให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเปิดประมูล โดยทุกโครงการออกแบบรายละเอียดเสร็จหมดแล้ว และไม่อยู่ในข่ายต้องจัดทำรายงานอีไอเอ ปี 2557 จะเปิดประมูล 3 โครงการ วงเงิน 7,917 ล้านบาท จากทั้งหมด 34,309 ล้านบาท ที่ได้รับจัดสรรจากเงินกู้ 2 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการสนับสนุนสนามบินสุวรรณภูมิ สายแยกทางหลวง 314-ลาดกระบัง ระยะทาง 20.33 กิโลเมตร วงเงิน 3,838 ล้านบาท 2.สะพานข้ามทางรถไฟ 8 แห่ง 1,705 ล้านบาท และ 3.ถนนรอยัลโคสต์ 12 โครงการ 2,376 ล้านบาท ที่เหลือจะประมูลปี 2558 วงเงิน 8,675 ล้านบาท เช่น โครงการสนับสนุนท่าเทียบเรือเชียงแสน 2,773 ล้านบาท สะพานข้ามทางรถไฟ 17 แห่ง 3,314 ล้านบาท ถนนรอยัลโคสต์ 10 โครงการ 1,815 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 2,526 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 3,450 ล้านบาท และปี 2561 จำนวน 562 ล้านบาท

รถไฟฯลุ้นทางคู่ 5 สาย แสนล้าน

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ปีแรกงาน ร.ฟ.ท.พร้อมประมูลก่อสร้าง 140,271 ล้านบาท จากวงเงินลงทุนทั้งหมดกว่า 1.276 ล้านล้านบาท หลัก ๆ เป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของทางรถไฟ เช่น ราง หมอน สะพาน รั้ว เพราะไม่ต้องจัดทำอีไอเอ

รถไฟทางคู่ เฟสแรก 5 สาย 797 กิโลเมตร 118,829 ล้านบาท หลังได้รับอนุมัติอีไอเอสิ้นปีนี้ จะประมูลทันทีปี 2557 ได้แก่ 1.สายลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กิโลเมตร 24,842 ล้านบาท 2.มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 132 กิโลเมตร 29,855 ล้านบาท 3.จิระ-ขอนแก่น 185 กิโลเมตร 26,007 ล้านบาท 4.นครปฐม-หัวหิน 165 กิโลเมตร 20,833 ล้านบาท และ 5.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กิโลเมตร 17,292 ล้านบาท

8 สาย 3.4 แสนล้าน

นอกจากนี้ มีรถไฟฟ้าใหม่ 8 สาย ของ ร.ฟ.ท.และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่าลงทุนรวม 342,497 ล้านบาท ได้แก่ สายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) 6,243 ล้านบาท สีแดงอ่อน (บางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง) 38,469 ล้านบาท

สีแดงเข้ม (รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์) 5,412 ล้านบาท สีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) 7,527 ล้านบาท สีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) 58,590 ล้านบาท สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 58,624 ล้านบาท สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 110,326 ล้านบาท และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 57,306 ล้านบาท

ทางน้ำ-สถานีขนส่งสินค้า รอปี"58

สำหรับการลงทุนทางน้ำของกรมเจ้าท่า (จท.) 29,580 ล้านบาท ที่พร้อมประมูลคือก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งน้ำพังแม่น้ำป่าสัก ระยะที่ 1 วงเงิน 11,387.87 ล้านบาท ส่วนท่าเรือชุมพร ท่าเรือสงขลา แห่งที่ 2 ท่าเรือน้ำลึกปากบารา สถานีขนส่งทางน้ำที่อ่างทอง ต้องทำอีไอเอก่อนประมูลปี 2558

ด้านกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รับงบฯลงทุน 14,093 ล้านบาท เริ่มประมูลพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า 15 แห่ง ในเมืองชายแดนและเมืองหลัก รับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) 11,856 ล้านบาท ในปี 2557-2558 ส่วนศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าที่เชียงของ วงเงิน 2,236 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน 200 ไร่ จะเริ่มเวนคืนปี 2557 ก่อสร้างปลายปี 2558 ส่วนการปรับปรุงด่านศุลกากรทั้ง 41 แห่ง ของกรมศุลกากร 12,545 ล้านบาท ปี 2557 จะประมูลและก่อสร้างได้ทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ซึ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อยู่ระหว่างรอการพิจารณาในที่ประชุมวุฒิสภา โดยจะพิจารณาวาระแรกวันที่ 7 ตุลาคมนี้ คาดว่าวุฒิสภาจะใช้เวลาพิจารณาวาระ 2 และ 3 แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น