Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ท่วงที เยือกเย็น ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร "ตุลาการภิวัฒน์"

ที่มา:มติชนรายวัน 2 ต.ค.2556




ทั้งๆ ที่การเคลื่อนไหวของ "ประชาธิปัตย์" ประสานเข้ากับ "40 ส.ว." ในการต้านตั้งแต่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ร่าง พ.ร.บ.รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

อึกทึกครึกโครมอย่างยิ่ง

ผลสะเทือนเฉพาะหน้า 1 รัฐบาลยังมิอาจประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557

แม้จะเริ่มปีงบประมาณแล้ว

ผลสะเทือนเฉพาะหน้า 1 คือการฟ้องแล้วฟ้องอีกต่อศาลรัฐธรรมนูญมิให้มีการนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมซึ่งผ่านวาระ 3 ในที่ประชุมรัฐสภาแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

อ้างว่าอาจผิดมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ อันอาจเป็นการกระทำที่ล้มล้างระบอบการปกครอง

อ้างว่าผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

น่าสนใจก็ตรงที่ท่าทีของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สงบนิ่งอย่างยิ่ง เยือกเย็นอย่างยิ่ง ยังคงเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดินต่อไปอย่างเป็นปกติ

ขวาง "คิ้ว" เย็นชา เฉย

เมื่อร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ยังมิอาจประกาศและบังคับใช้ได้ ก็ยังมี พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 อยู่

อาจไม่สามารถดำเนิน "โครงการ" ใหม่ได้

การลงทุนและเท "เม็ดเงิน" ใหม่เข้าไปยังติดขัด งันชะงัก ก็จำเป็นต้องยอมรับและชี้แจงให้ข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ

ที่ช้ามิใช่เพราะรัฐบาล

1 ช้าเพราะกระบวนการเตะสกัดขาของ "ประชาธิปัตย์" 1 ช้าเพราะกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

จำเป็นต้อง "ชี้แจง" ต้อง "อธิบาย"

เหมือนกับประเด็นอันเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มิใช่ว่ารัฐสภา มิใช่ว่ารัฐบาลต้องการปะทะกับศาลรัฐธรรมนูญ

เพราะรัฐสภาทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ทุกประการ

ขณะเดียวกัน เมื่อผ่านการประชุมพิจารณาและลงมติในวาระ 3 และรัฐสภาส่งร่างอันกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 รัฐบาลก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 150 และ 151 ภายในกำหนด 20 วัน

แล้วใครกันเล่าที่ทำให้เป็น "ปัญหา"

ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจะมีการวินิจฉัยออกมาอย่างไร ไม่ว่าร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะมีบทสรุปอย่างไร

ล้วนอยู่ใน "สายตา" ของ "ประชาชน"

ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะกระทำอะไรไปตามอำเภอใจ ตรงกันข้าม จำเป็นต้องยึดกุมกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด

ต้องตอบให้ได้ว่ารัฐบาลกระทำผิด "รัฐธรรมนูญ" อย่างไร

ต้องตอบให้ได้ว่ากระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ดำเนินตามคำชี้แนะของศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกต้องอย่างไร

หากทำเช่นนี้แล้วยังไม่ชอบ จะให้ทำอย่างไร

และที่ "ประชาธิปัตย์" กับ "40 ส.ว." อาศัยรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 มาเป็นเครื่องมือในการสกัดขัดขวางมิให้มีการนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอันผ่านวาระ 3 ของรัฐสภาแล้ว จะขัดกับคำวินิจฉัยเดิมของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร

"หลักการ" ต่างหากที่สำคัญเหนือ "หลักกู"

ก่อนอื่น รัฐสภาและรัฐบาลต้องยืนหยัดในอำนาจบัญญัติที่มีอยู่ ต้องยืนหยัดในอำนาจบริหารที่มีอยู่ ประเด็นอยู่ที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตระหนักในหลักแห่งการแบ่งแยกอำนาจอย่างใด

หรือยังคิดจะ "ขยาย" อำนาจแห่งตน

ไม่ว่าเดือนตุลาคมดวงดาวจะเคลื่อนย้ายอย่างไร ร้อนแรงเพียงใด และส่งผลสะเทือนอย่างไร

แต่บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่าง นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อย่างเด่นชัด ไม่มีใครแสดงอำนาจเหนือกว่าใครโดยกระบวนการแห่ง "ตุลาการภิวัฒน์"

7 ปีทุกฝ่ายล้วนมี "บทเรียน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น