ชี้น่าเป็นห่วงเรื่องเด็กเลิกเรียนกลางคันเกือบ
50% ปัญหาคุณภาพครูผู้สอน ไปจนถึงระบบอำนาจนิยมในการศึกษา
ด้านแนวร่วมนร.นศ.ผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทยแถลงขอให้ทีนิวส์ขอโทษที่ลงข่าวบิดเบือน
มิเช่นนั้นจะฟ้องกลับด้วยพ.ร.บ. คอมพ์
26 ต.ค. 2556
ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มสภาหน้าโดม
จัดงานเสวนาในหัวข้อ “การศึกษาไทย รัฐสวัสดิการคือทางออก?” โดยมีวิทยากรที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันการปฏิรูปการศึกษาเข้าร่วมการอภิปราย
โดยก่อนการเริ่มเสวนา
ทางกลุ่มแนวร่วมนักเรียนนักศึกษาผลักดันปฏิรูปการศึกษาไทย ได้แถลงข่าวต่อกรณีการรายงานข่าวของเว็บไซต์ทีนิวส์กรณีการจับกุมกลุ่มนักเรียนนักศึกษา
เมื่อวันที่ศุกร์ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาบิดเบือนจากความจริง
ทางกลุ่มระบุว่า
เมื่อเวลา 18.42 น. ของวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา
มีการเผยแพร่ข่าวการทำกิจกรรมของนักศึกษาเพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยทางเว็บไซต์สำนักข่าวทีนิวส์
โดยมีการพาดหัวว่า "เนติวิทย์" เหิมหนักเปิดเครื่องเสียงดังลั่น
ระหว่างปชช.ทำพิธีส่งเสด็จ "พระสังฆราช" ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง
โดยในระหว่างการทำกิจกรรมทางกลุ่มนักศึกษาพบว่า ไม่มีผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวทีนิวส์เข้ามาทำข่าวเลย
เป็นเพียงการนำข้อมูลจากสำนักข่าวอื่นๆ บิดเบือนเท่านั้น
โดยทางกลุ่มได้ชี้แจงว่า
ในระหว่างการชุมนุม ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง
ทางตำรวจสน.ดุสิตจึงได้เข้ามาล้อมที่รถ และได้แจ้งว่า
นักศึกษากลุ่มนี้ถูกจับกุมในข้อหาละเมิดพ.ร.บ.จราจร และระบุว่าจะมีการจับกุมในข้อหาละเมิดพ.ร.บ.ความมั่นคง
รวมถึงข้อหาการดัดแปลงรถยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต
แต่ต่อมาพบว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง
ทำให้ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม นักเรียนนศ.
ที่ไปชุมนุมทั้งหมดถูกปรับรวมกันเป็นจำนวน 500 บาท
ทางกลุ่มย้ำว่า
การเผยแพร่ข่าวของเว็บไซต์ทีนิวส์ไม่เป็นความจริงและเป็นการใส่ร้ายป้ายสีกลุ่มนักเรียนนักศึกษา
และได้เรียกร้องให้สำนักข่าวทีนิวส์ทำการขอโทษกลุ่มนักเรียนนักศึกษา มิเช่นนั้น
ทางกลุ่มจะดำเนินคดีฟ้องร้องสำนักข่าวทีนิวส์ ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
2550 มาตรา 14
ในข้อหาการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
น่าห่วงนักเรียน-นศ.ตกหายระหว่างทาง
เดชรัต สุขกำเนิด
อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในระยะ 15 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งรัฐพยายามจะเพิ่มเงินอุดหนุนการศึกษา พบว่า ในระดับมัธยม
ช่องว่างระหว่างร้อยละ 20 แรกของคนรวยที่สุด และร้อยละ 20 ของคนจนที่สุดในประเทศ
ยังไม่ห่างกันมากนัก อย่างไรก็ตามในระดับอุดมศึกษา ช่องว่างระหว่างร้อยละ 20
แรกและสุดท้ายห่างกลับห่างออกกันไปเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม
ในระดับมัธยมยังมีปัญหาอยู่ ซึ่งรัฐสวัสดิการอาจจะแก้ปัญหานี้ไม่ได้สักทีเดียว
คือเรื่องของการเรียนจบการศึกษา และจำนวนของการเลิกกลางคันระหว่างเรียน
ยังไม่มีการเก็บสถิติในระดับนี้อย่างเป็นทางการ
แต่พบว่าช่วงม.สามและปวช.จะเกิดการหล่นหายไประหว่างทางมากที่สุด หากเปรียบเทียบคร่าวๆ
จากนักเรียนที่เข้าเรียนชั้นประถม 1 จำนวน 50 คน มีเพียง 28 คนเท่านั้น
ที่จบการศึกษาในชั้น ม.6 หรือปวส. ปัญหานี้จึงน่าเป็นห่วงและต้องแก้ให้ได้
อย่างไรก็ตามในเชิงอุดมการณ์เอง
การศึกษาไทยก็ยังมีปัญหาอยู่ ในแง่ที่สถาบันการศึกษายอมรับการจัดการศึกษาจากรัฐ
หรือโครงสร้างส่วนบน คือยอมรับอะไรก็ตามที่รัฐประทานมาให้ ถือว่าเป็นบุญคุณ
เช่นเดียวกันกับผู้ที่ให้การศึกษา ซึ่งยังมีความคิดว่าการให้การศึกษาเป็นบุญคุณ
ซึ่งขัดกับแนวคิดเรื่องของรัฐสวัสดิการ
นอกจากนี้
เดชรัตยังเล่าถึงประสบการณ์รัฐสวัสดิการของประเทศเดนมาร์ค
ซึ่งเมื่อเทียบกับของไทยแล้วชี้ให้เห็นว่า
รัฐสวัสดิการไม่ใช่เพียงแค่การเสียภาษีจากประชาชนและได้ของฟรีจากรัฐเท่านั้น
แต่รัฐสวัสดิการในยุโรปจะมีลักษณะเป็น “สังคมนิยมโดยวัฒนธรรม”
ซึ่งหมายถึงการที่รัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ รู้สึกว่าเป็นหน้าที่และวัฒนธรรมที่จะต้องให้ความดูแลประชาชน
มีวัฒนธรรมที่ผู้แพ้ไม่ถูกคัดออก แต่จะถูกฝึกฝนให้มีความสามารถเท่าๆ กับผู้ชนะ
นอกจากนี้ เขายังเล่าว่า นักศึกษาเดนมาร์คยังได้รับเงินเดือนอุดหนุนจากรัฐด้วย
มองปัญหาหลักคือคุณภาพครูผู้สอน
ปิยรัฐ จงเทพ
เลขาธิการกลุ่มเยาวชนปฏิรูปการรับน้องและประชุมเชียร์แห่งชาติ กล่าวว่า
การเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเยาวชนไทยที่ยังนับว่าน้อยอยู่มาก
โดยอ้างสถิติการเข้าเรียนของนักเรียนไทย ปี 2541
มีจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียนในระดับประถม 50 คน แต่เมื่อถึงม. 3 เหลือเพียง 28 คน
ในขณะที่สถิติปี 2540 มีนักเรียนที่เข้าเรียนในระดับประถม 1 ล้าน 1 แสนคน
แต่มีเพียง 8 แสนคนเท่านั้น ที่สามารถจบการศึกษาในชั้นม. 3
มีการวิเคราะห์ปัญหาดังกล่าวจากสภาการศึกษา
พบว่า นักเรียนที่เรียนไม่จบนั้นมีปัญหาจากด้านการเงิน
ต้องออกจากการเรียนกลางคันเพื่อไปช่วยพ่อแม่ทำนาทำสวน
หรือไม่มีเงินส่งเรียนต่อในระดับสูงขึ้น ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะเห็นว่า ในปี 2540
มีนักเรียนเข้าถึงการศึกษา 65% แต่ในปี 40 กลับลดลง เหลือเพียงร้อยละ 60% เท่านั้น
ปิยรัฐมองว่า ปัญหาหลักๆ
ของระบบการศึกษา มาจากคุณภาพของครูที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ ในระยะสามสิบปีที่ผ่านมา
ใครก็ได้มาเป็นครู ไม่ได้มีการคัดเลือกที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพ
มหาวิทยาลัยอย่างมศว. ที่เคยให้ความสำคัญกับการสร้างครูโดยเฉพาะ
ก็ไม่เป็นเหมือนแต่ก่อน
นอกจากนี้
นอกจากรัฐสวัสดิการจะสามารถช่วยในแง่การเข้าถึงการศึกษาได้แล้ว
รัฐสวัสดิการยังมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ด้วย
อย่างประเทศในตะวันตกที่มีรัฐสวัสดิการด้านสาธารณสุข เช่น
มีการบังคับให้แม่ต้องฝากครรภ์ภายใน 12 สัปดาห์
เพื่อให้ทารกมีสุขภาพที่ดีและเอื้อต่อการเรียนรู้
นี่เป็นวิธีหนึ่งที่รัฐสวัสดิการจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเรียนรู้และการศึกษาของประชากรในสังคมได้
ต้องพัฒนาอาชีวะ,พาณิชย์
รองรับความสามารถที่หลากหลาย
อั้ม เนโกะ นศ.
คณะศิลปศาสตร์ มธ. ผู้รณรงค์เรื่องการให้ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบในมหาวิทยาลัย
กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยเรียนครุศาสตร์มา ในวิธีการเรียนการสอน
มีแนวคิดที่ให้ควรให้นักศึกษาพัฒนาศักยภาพตามที่ตนเองสนใจ
แต่ในความเป็นจริงของประเทศไทย ยังเป็นระบบการให้การศึกษาตามยถากรรม คือไม่มีการพัฒนาศักยภาพตามความสนใจของตนเองจริงๆ
ยังมีการเป็นไปตามแบบแผน ว่าจบประถม มัธยม เข้ามหาวิทยาลัย และรับปริญญา
นี่เป็นการจัดความศึกษาที่ให้ความสำคัญกับมิติเดียว
เธอกล่าวว่า
ทุกวันนี้เรามีนักศึกษาที่เรียนในระดับอุดมศึกษามากเกินไป ในขณะที่คุณภาพกลับลดลง
ในขณะเดียวกันประเทศในยุโรป อย่างเช่น เยอรมนี มีวิทยาลัยดนตรี การเต้น
รวมถึงระดับหลักสูตร diploma หรือ
certificate ที่รองรับการสร้างคนที่มีความหลากหลาย
ในสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพ วิชาการ หรือเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
"ทุกวันนี้
เรามองเด็กพาณิชย์ ในแง่ลบว่า เป็นสก๊อย
เป็นพวกที่ไม่สามารถเรียนต่อมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัยได้
แต่สิ่งที่รัฐควรทำคือเอางบประมาณไปพัฒนาวิทยาลัยเฉพาะด้านให้เท่าเทียมกัน
ไม่ควรมองว่านักศึกษามหาวิทยาลัยเท่านั้นที่จะเป็นอนาคตของชาติได้แต่เพียงผู้เดียว"
อั้มกล่าวว่า
มีการเสนอว่าให้แก้ปัญหาการศึกษาไทยที่แบบเรียน
เนื่องจากมีประวัติศาสตร์เรื่องของชาติเต็มไปหมด มีแต่เรื่องของสถาบันกษัตริย์
แต่กลับไม่มีเรื่องของปรีดี พนมยงค์ ผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง
ไม่มีประวัติศาสตร์สังคม หรือประวัติศาสตร์ของประชาชนในแบบเรียนเลย
นี่เป็นการสร้างกลไกความเชื่อแบบที่รัฐไทยต้องการที่จะให้เป็น
และอยู่ภายใต้ระบบคิดที่มีปัญหา
เธอเสนอว่า
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาการศึกษาเมืองไทย
ต้องพูดถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาของสถานะสถาบันกษัตริย์ด้วย
หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของสถาบันกษัตริย์ จะไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นๆ
ที่รองลงมาได้เลย ถ้าจะพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเพียวๆ แบบพูดมาเป็นสิบปี
อย่างนี้ก็ไม่เปลี่ยน ตราบใดที่ยังมีตำราเรียนที่ดีแค่ไหน
แต่หากอุดมการณ์เรื่องสถาบันชาติ ศาสนา กษัตริย์ยังคงครอบงำอยู่
คนยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่รอบด้าน ยังมีการเลือกคัดจัดสรรข้อมูลโดยรัฐให้ประชาชนได้รับรู้
ถ้ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาแกนกลางของการเมืองไทย ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ
ได้เช่นกัน
สิ่งสำคัญของเรื่องการศึกษาคือ
การที่เราสามารถคิดอย่างตั้งคำถาม เชิงวิพากษ์ต่อชุดความรู้นั้น
ว่ามีปัญหาอย่างไรด้วยการใช้เหตุผล ไม่ว่าจะเป็นชุดความรู้ของตะวันตก
หรือของเราเอง เพื่อให้เราเรียนรู้
ไม่ใช่คิดว่าเราเป็นชาติที่ดีเลิศที่สุดและไม่ต้องการที่จะพัฒนาตนเองไปไหนอีก
การกดขี่ในสังคมสะท้อนการขดขี่ในโรงเรียน
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
สมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติ เห็นด้วยกับการมองปัญหาการศึกษาผ่านมุมมองของชนชั้น
คือมุมมองผู้ปกครอง และชนชั้นของผู้ถูกกดขี่ แม้จะมีความก้าวหน้าของสังคมขนาดไหน
แต่ก็ยังมีการกดขี่เกิดขึ้นอยู่ในสังคม รวมถึงในระบบการศึกษาด้วย
เนติวิทย์เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานนักเรียน
แต่ไม่ได้เป็น เนื่องจากไม่ได้ไปเลือกตั้ง จึงต้องยอมสละสิทธิ์ตามกฎของโรงเรียน
และทางโรงเรียน ก็ลดตำแหน่งให้มีแค่รองประธานนักเรียนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม
กลับมีการยุบสภา เพื่อเป็นการกลั่นแกล้ง
เนื่องจากพวกครูไม่พอใจที่ตนเองได้รับเลือกเป็นประธาน
จากเดิมที่ตนเองจะได้เป็นกรรมการ ก็เลยไม่ได้เป็น จึงหันมาอ่านหนังสือในห้องสมุด
จัดกิจกรรมเสวนา อ่านหนังสือ ฉายหนังในโรงเรียน
และรวบรวมครูที่หัวก้าวหน้าไว้ได้จำนวนหนึ่งในเครือข่าย
เขาเล่าวว่า
ตอนนี้โรงเรียนจะมีการสร้างอนุเสาวรีย์รัชกาลที่ห้า มีตนคนเดียวที่คัดค้าน
เพราะต้องให้สถาบันการศึกษาเป็นที่ที่เอื้อให้มีการวิพากษ์วิจารณ์รัชกาลที่ห้า
ต้องสนับสนุนให้มีการวิจารณ์ร.ห้า ไม่ใข่ส่งเสริมให้รัก
นี่คือสภาพของการเมืองไทยที่สะท้อนลงมาถึงในโรงเรียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น