ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
นายกฯยิ่งลักษณ์ใช้เวที "APEC 2013" อินโดนีเซีย 3-9 ต.ค. จีบผู้นำจีนร่วมมือซื้อขายข้าว-ยางพาราล่วงหน้า ส่วน "นิวัฒน์ธำรง" โชว์สานต่อเป้าหมายโบกอร์ให้ทันปี 58 ชูโครงการลงทุนรัฐบาล 2 ล้านล้านบาท เชื่อมโยงไทย-ภูมิภาค ลดต้นทุนโลจิสติกส์
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders′ Meeting : AELM) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม 2556 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีมีกำหนดหารือระดับทวิภาคีกับผู้นำจีนในวันที่ 5 ตุลาคม 2556 เบื้องต้นฝ่ายไทยเตรียมผลักดันให้เกิดความร่วมมือเชื่อมโยงตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าไทย-จีน เพื่อระบายสต๊อกสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าวและยางพาราในสต๊อกของรัฐบาล โดยไทยมุ่งหวังทั้งสองประเทศจะได้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะจีนถือว่าเป็นตลาดสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าคณะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปก (APEC Ministerial Meeting : AMM) ซึ่งจะเริ่มประชุมก่อนตั้งแต่ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2556 เปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ สมาชิกจะร่วมการพัฒนาเอเปกให้มีความแข็งแกร่งและเติบโต ตามหัวข้อ "Resilient Asia-Pacific, Engine of Global Growth" โดยยังคงมุ่งสู่เป้าหมายโบกอร์ เพื่อเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในภูมิภาคในปี 2563 ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกเอเปก และให้ความสำคัญกับการดำเนินการลดภาษีสินค้าสิ่งแวดล้อม ภายหลังจากในปีที่ผ่านมา ทางผู้นำเอเปกให้การรับรองรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม 54 รายการ เพื่อนำมาลดอัตราภาษีศุลกากรให้เหลือไม่เกิน 5% ภายในปี 2558 ให้สำเร็จด้วย
ที่สำคัญทางกลุ่มเอเปก ที่ต้องการจะส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ให้เกิดการผลักดันการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค พร้อมดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแผนการลงทุนในโครงการลงทุนรถไฟฟ้า 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการเชื่อมโยงไทยเข้ากับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และช่วยลดต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศต่อไป
นอกจากนี้ สมาชิกจะมุ่งเน้นหารือถึงแนวทางการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและเท่าเทียม เน้นการพัฒนาศักยภาพให้ SMEs เพื่อก่อให้เกิดการขยายของตลาดไปยังต่างประเทศ ตลอดจนการให้ความสำคัญด้านความมั่นคงทางอาหาร สนับสนุนให้การค้าสินค้าเกษตรมีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
"ไทยมุ่งหวังให้การประชุมครั้งนี้เป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 9 (MC 9) ซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นต่อเนื่องที่บาหลี ในเดือนธันวาคมนี้ได้ประสบผลสำเร็จ โดยต้องการให้สมาชิก WTO สามารถมีข้อตกลงในบางเรื่องได้ก่อน เพื่อจะเป็นก้าวสำคัญให้การเจรจา WTO ให้เดินหน้าได้ต่อไป และเรียกความเชื่อมั่นของ WTO กลับคืนมา"
แหล่งข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปกในช่วง 2 วันแรก ระหว่างวันที่ 3-4 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายยังมุ่งเน้นให้การประชุมเอเปกมีส่วนสนับสนุนการประชุม WTO ที่จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมนี้ และหารือถึงการจัดทำข้อบท (Wording) สินค้าสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน เพราะฝ่ายสหรัฐเห็นว่าควรจะนำเรื่องนี้ไปเจรจาใน WTO ต่อ แต่ฝ่ายอินโดนีเซียพยายามให้จัดกลุ่มสินค้าน้ำมันปาล์ม ยางพารา ซึ่งเป็นสินค้าที่อินโดนีเซียมีศักยภาพในการผลิตไปไว้ในรายการสินค้าสิ่งแวดล้อม ทำให้หลายประเทศรวมถึงไทยไม่รับข้อเสนอ
พร้อมกันนี้ ไทยอาจจะติดตามความก้าวหน้าจากประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ตามกระบวนการอยู่ระหว่างการปรับปรุงกรอบการเจรจา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และผ่านการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น