เมื่อสถานการณ์การเมืองบีบให้พรรคเพื่อไทยต้องผ่าทางตันทางกฎหมาย เพราะฝ่ายตรงข้าม อย่างพรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม ส.ว.สรรหา พยายามนำวาระนิติบัญญัติที่ "พรรคเพื่อไทยและพวก" ผลักดันทุกเรื่อง ไปกองไว้ที่บันไดศาลรัฐธรรมนูญ
"ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เขาบอกว่า ทุกเรื่องที่ฝ่ายค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ล้วนเป็นเรื่อง "รกโรงรกศาล" แทบทั้งสิ้น พร้อมทั้งบอกเป้าหมายชีวิตทางการเมืองในอีก 60 วันข้างหน้า ที่ตัวเขาจะได้พ้นโทษ หลังจากเว้นวรรค 5 ปี วันนี้ "สมชาย" บอกว่า ไม่กระสันอำนาจการเมืองอีกแล้ว
- ทำไมกฎหมายของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ถึงถูกฝ่ายตรงข้ามไปร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญ
จริง ๆ แล้วคิดว่า อันนี้เป็นการทำให้คดีไปรกโรงรกศาลมากกว่า คำว่ารกโรงรกศาลเป็นวลีที่คนอยู่ในกระบวนการศาลใช้กันมานานแล้ว เรื่องของเรื่องไม่เห็นจำเป็นต้องให้ศาลลำบากใจ หรือเอาไปให้เสียเวลา เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่พอจบจากรัฐสภาแล้วไปยื่นศาล บอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลไม่จัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรอิสระอย่างเพียงพอ ซึ่งอ่านแล้วไม่เห็นจะเกี่ยวตรงไหน
แต่เราดูแล้ว การจัดงบประมาณ เป็นหน้าที่รัฐบาลที่ต้องดำเนินการทุกปี ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาล ผมไปดูงบประมาณขององค์กรอิสระ รัฐบาลให้เยอะกว่าทุก ๆ ปี ให้เยอะกว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ให้เยอะกว่าปีที่แล้ว ที่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แต่บางครั้งรัฐบาลให้ไปสูงแล้ว พอไปถึงสภาปุ๊บ ก็มีคณะกรรมาธิการงบประมาณไปตัด ไปลด ไปเพิ่ม ซึ่งเป็นกระบวนการของเขา ไม่ได้เป็นความผิดของรัฐบาล เพราะฉะนั้น ไม่น่าเป็นเรื่องที่ควรจะไปถึงศาล ถ้าผมเป็นฝ่ายค้าน ผมจะไม่ทำ เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นเรื่องพัฒนาประเทศ เมื่อทำอย่างนี้ ก็เสียหายต่อส่วนรวมของประเทศ
- แต่กฎหมายฉบับอื่น ก็ไปที่ศาลเหมือนกัน
เดี๋ยว นี้ รู้สึกว่าฝ่ายค้านดูเหมือนจะมีศาลเป็นที่พึ่ง ถ้าค้านไม่สำเร็จ แต่มองว่า การแก้รัฐธรรมนูญ กฎหมายกู้เงิน ผมว่ามันต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ในระบอบประชาธิปไตย มันจะมีอำนาจ 3 อย่าง คานกัน บริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ คิดว่ากระบวนการออกกฎหมายน่าจะเป็นอิสระ ผมวิเคราะห์ในที่ประชุมพรรคเพื่อไทยว่า เอ๊ะ..พอสภาออกมติไปแล้วมีบางฝ่ายไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ คล้ายกับว่าให้วินิจฉัยว่าสภาทำไม่ถูก ผมบอกว่าผมเป็นผู้พิพากษามานาน เคยเห็นแต่คำตัดสินของศาลมีปัญหา สภาก็ต้องไปออกกฎหมาย เพื่อมายกเลิกคำพิพากษานั้น
ที่ศาลตัดสินคดีวันนี้ ตัดสินตามกฎหมายที่สภาออกไป อาจมีคนมาเถียงว่า กฎหมายให้อำนาจในการพิจารณา แต่ดูแล้ว น่าจะเป็นเรื่องการทำหน้าที่ของสถาบัน การที่ศาลจะมาเบรกการดำเนินการของสภา ก็เพิ่งมาเกิดในยุคที่เราเห็นเร็ว ๆ นี้ จากกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่รัฐธรรมนูญ 2550 เท่าที่อ่านมา ก็ไม่ได้ให้อำนาจอย่างนั้น
- แต่ปรากฏว่าคดีของพรรคเพื่อไทยหลายเรื่อง ศาลรับคำร้อง แสดงว่ามีมูลความผิดจริง ๆ หรือไม่
ไม่ใช่ทุกเรื่องมีมูล แต่รับไว้เพื่อพิจารณา พิจารณาแล้วเป็นยังไง ค่อยว่ากันอีกที แล้วแต่ศาล เราไม่ไปยุ่งตรงนั้น
- 7 ปีหลังการรัฐประหาร มักเจอคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่อะไรหลายอย่างเสมอ
อ้าว..ผม ก็เคยถูกยุบพรรค (หัวเราะ) แต่ผมไม่ติดใจตรงนั้น ที่ถามมาก็เหมือนกับเป็นการเฝ้ามองของประชาชน ไม่เป็นไร ประชาชนมองแล้ววิพากษ์วิจารณ์ได้
- ไม่ได้คิดว่าศาลยืนตรงข้ามเรา
(สวนทันที) ไม่ได้คิดหรอก แต่บางครั้งน้อยใจบ้าง (หัวเราะ)
- มีคนบางกลุ่มพยายามใช้ศาลเป็นเครื่องมือในการโจมตีเราตลอด
เออ...นั่น สิ ผมถึงบอกว่า เราอย่าไปให้ศาลเข้ามาวุ่นวายดีไหม เรื่องอะไรที่ไปได้ของมันอยู่แล้ว เช่น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณอย่างเนี้ย ผมไม่เชื่อว่าศาลไปเข้าข้างใครหรอก อีกอย่างศาลไม่ใช่เป็นคนอยากได้เงินได้ทองงบประมาณของศาลอะไรหรอก ผมว่าทำให้ท่านลำบากใจด้วยซ้ำไป และไม่เชื่อว่าท่านเข้าข้างใคร
- มองอย่างไร ที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้ศาลเป็นที่พึ่ง ในการเล่นงานพรรคเพื่อไทย
จะ เอาศาลเป็นที่พึ่ง หรือเอาศาลเป็นพวก (หัวเราะ) ผมถึงบอกไง เอาศาลเป็นพวกไม่ถูกนะ ทำไม่ได้หรอก เพราะศาลไม่สามารถเป็นพวกใครได้ แต่อย่างที่บอก เรื่องบางเรื่อง จบแล้วควรจบ เพราะสภาก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถามว่า เสียงข้างมากชนะไหม มันแน่นอนอยู่แล้ว นั่นคือเสียงของประชาชน ฝ่ายค้านทำเต็มที่แล้ว ทั้งในระบบ นอกระบบ จบแล้วก็ควรจบ เพราะมันเป็นเรื่องของอำนาจนิติบัญญัติ อย่าเอาความข้างในไปสู่ภายนอก จะดีเสียกว่า
ศาลรัฐธรรมนูญเอง บริบทของท่านมีหน้าที่ดูแลกฎหมายบ้านเมืองที่จะขัดรัฐธรรมนูญ แต่จะขัดหรือไม่ขัด มันควรจะมิวิจารณญาณที่มีลิมิตบ้าง ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ขัด ไม่งั้นศาลก็เหนื่อย มันควรพอประมาณ พอสมควร
- แต่ฝ่ายค้านสู้ในสภาไม่ได้ จึงให้ศาลเป็นผู้สนับสนุนความคิดเขา
จะเอาศาลเป็นพวกไง ใคร ๆ ก็รู้ว่าฝ่ายค้านต้องแพ้ แพ้ตั้งแต่ตอนเลือกตั้งแล้วใช่ไหมล่ะ ไม่ใช่พอแพ้แล้วจะเอาศาลเป็นที่พึ่ง ศาลไม่สามารถเป็นที่พึ่งของ ส.ส.หรือของพรรคใดพรรคหนึ่งได้ แต่ถ้าใครคิดว่ามีสิทธิเอาไปศาลก็เอาไป แต่อะไรไม่จำเป็น อย่าเอาไปรกศาลได้ไหม
- ท้ายที่สุด ความพยายามออกกฎหมายต่าง ๆ ของรัฐบาล ก็ยังไม่สำเร็จ
นั่นสิ แต่ผมบอกว่า รัฐบาลควรบอกให้ประชาชนทราบ เพราะรัฐบาลแถลงนโยบายว่าจะทำนู่นทำนี่เยอะแยะ แต่จะทำอะไรต้องมีกฎหมายรองรับ พอกฎหมายออกมาไปติดขัดตรงไหน ต้องบอกให้ประชาชนทราบว่าตอนนี้ทำเต็มที่ แต่ถ้ายังไม่สำเร็จ ขอให้เข้าใจว่าทำไมถึงไม่สำเร็จ
- หรือว่าการเขียนกฎหมาย หรือการวางแผนกฎหมายของเราไม่รัดกุมพอ ทำให้ฝ่ายตรงข้ามมีช่องไปยื่นศาล
จะ เขียนให้รัดกุมยังไง เขาถึงไม่เอาไปศาล (หัวเราะ) ยกตัวอย่าง จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมอีกข้อหา คือกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ซึ่งมาตรา 154 เป็นเรื่องที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ใดขัดรัฐธรรมนูญหรือเปล่า หรือกฎหมายลูกที่ออกตามรัฐธรรมนูญนูญออกมาขัดกับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่ หรือไม่ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันเป็นการแก้กฎหมายแม่ ตามรัฐธรรมนูญ 291 มันไม่ได้อยู่ในมาตรา 154 ไม่เห็นต้องไปรกโรงรกศาลอีก...ถูกไหม ผมอาจตกกฎหมายก็ได้ แต่อ่านแล้วมันชัด ๆ แบบนี้ จะบอกว่าเขาบกพร่อง หรืออะไร บางทีเขาอ่านกฎหมายไม่เป็น หรือแกล้งไม่รู้ เราก็ไม่รู้
- ทำไมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถึงเจอกฎหมายสะกัดตลอดเวลา
เพราะว่ารัฐบาลชุดนี้ อาจทำกฎหมายตามนโยบายเยอะมั้ง
- แต่กฎหมายที่ผลักดัน มักเป็นกฎหมายเรียกแขก เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คิดไหมว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยตกม้าตาย
กฎหมาย นิรโทษกรรมเป็นของพรรค ไม่ใช่ของรัฐบาล ถามว่า กลัวไหมจะตกม้าตาย ถ้าคิดครบวงจรว่าอันนี้ต้องทำ เพื่อประโยชน์ของประชาชน เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็ต้องทำ พรรคเพื่อไทยต้องคิดถึงประชาชนยิ่งกว่าตำแหน่งของตัวเอง อะไรต้องทำ ก็ต้องทำ แม้จะตกม้าตาย ก็ต้องยอมตาย ถ้าหากคิดว่าทำแล้วเป็นประโยชน์ เพราะผมว่าประชาชนมองอยู่ ถ้าคิดว่า โอ้ย เดี๋ยวจะต้องออกจากตำแหน่ง แล้วไม่ต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ประชาชนก็จะไม่ชอบ
- สู้เต็มที่ให้ประชาชนเห็นไปเลย แม้จะต้องยุบสภา
(สวน ทันที) แต่ต้องยืนบนความถูกต้องถ้าคิดว่าถูกต้อง ก็ต้องทำ ไม่ใช่พอเจออะไรนิดหน่อย ก็กลัว เมื่อถูกต้องแล้ว ต้องทำ แต่ถ้าไม่ถูกต้อง ก็อย่าทำ
- กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ยังเป็นของร้อน ก็ต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยมีจุดจบเหมือนตอนที่ท่านเป็นนายกฯไหม
มัน คงไม่เกี่ยวกัน เพราะตอนที่ผมเป็นนายกฯ เขายุบพรรคพลังประชาชน ในกฎหมายรัฐธรรมนูญเขียนว่า ถ้าคนใดคนหนึ่งทำผิด ก็ถือว่าทุกคนออกจากตำแหน่งไปเสียหมด แต่อันนี้เป็นเรื่องแก้ไขกฎหมาย ถ้าไม่สำเร็จ ก็แล้วไป
- เมื่อการเมืองยังฝุ่นตลบ เป็นไปได้ไหม ที่พรรคเพื่อไทยชิงปิดเกมยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แล้วใช้เสียงประชาชนมาเคลมว่าเสียงส่วนใหญ่ยังให้เดินหน้ากฎหมายสำคัญอีก
หลาย คนวิเคราะห์อย่างนั้น แต่การยุบสภาเป็นอำนาจของนายกฯ จะต้องพิจารณาว่ายุบไม่ยุบ ถ้าจะยุบสภา ก็ต้องพิจารณาว่าไม่ใช่ไม่มีแนวทาง เราคงไปบอกไม่ได้ว่ายุบเมื่อไหร่ แต่ผมไม่เคยได้ยินว่ารัฐบาลมีนโยบายยุบสภา คงไม่มีรัฐบาลไหนมีนโยบายยุบสภาหรอก ถ้าเลือดไม่เข้าตาจริง ๆ
- ประเมินสถานการณ์ตอนนี้ เลือดยังไม่เข้าตา
ผม ว่าตอนนี้ทุกอย่างเดินไปตามกระบวนการ มีการไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ว่าไป การแพ้คดีในศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลจะต้องออก โดยเฉพาะกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันเป็นกฎหมายที่ยื่นโดย ส.ส.ไม่ได้ยื่นโดยรัฐบาล รัฐบาลมีหน้าที่อย่างเดียว คือเมื่อกฎหมายผ่านสภา นายกฯมีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นไปรษณีย์ ไม่ต้องมารับผิดชอบอะไร
- กฎหมายอันเดียวที่จะทำให้รัฐบาลล้มได้ คือร่าง พ.ร.บ.2 ล้านล้าน เพราะเสนอโดยคณะรัฐมนตรี
2 ล้านล้าน เป็นเรื่องกฎหมายปกติ ไม่ใช่ พ.ร.บ.งบประมาณ และผ่านสภาไปแล้ว การยุบสภา มันเป็นเรื่องที่สภากับรัฐสภาขัดกัน
- หาก พ.ร.บ.2 ล้านล้าน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด รัฐบาลต้องล้มด้วยไหม
ไม่ล้ม จะล้มทำไม ไม่มีกฎหมายบังคับว่ารัฐบาลต้องออก แค่พัฒนาประเทศไม่ได้จะถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ก็ว่ากันต่อไป
- อีก 60 วัน จะได้รับสิทธิการเมืองกลับคืนมา จะวางตัวเองอย่างไร
ไม่ได้กลับมา เพียงแต่ผมพ้นจากการถูกตัดสิทธิการเมือง ผมก็เฉย ๆ ไม่ได้กระสันว่าจะต้องกลับมาทำการเมืองอะไร ใครอยากให้ช่วยด้านไหน ก็ทำไป ไม่ปรารถนามีอำนาจการเมือง
- แต่ทีเด็ดทีขาดทางการเมือง ก็ยังนั่งหัวโต๊ะ กำหนดทิศทางให้พรรคเพื่อไทยอยู่ดี
ไม่..ต้องไปดู นั่งหัวโต๊ะ นั่งหลายคน (หัวเราะ) มีหัวหน้าพรรค มีท่านโภคิน (พลกุล) ผมนั่งหัวโต๊ะจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้นำพรรค เป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค เพราะเราถูกตัดสิทธิทางการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น