ที่มา:มติชนรายวัน 3 เมษายน 2556
กดเครื่องคิดเลขบวกลบคูณหารแล้ว การอภิปรายญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา มีลักษณะพิเศษที่น่าสนใจ
เพราะเหลือเวลาไม่มากนัก ให้กับการอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล หรือการเสนอหลักการที่เหนือกว่า เป็นประชาธิปไตยมากกว่า
เวลาไม่น้อย หมดเปลืองไปกับการประท้วง การวอล์กเอาต์ การพูดนอกเรื่อง อภิปรายนอกประเด็น
โดยเฉพาะการประท้วง ไม่ให้นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ควบคุมการประชุมร่วมกับนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
เข้าใจได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของการเมือง
คือเริ่มต้นจากผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรค
ไม่ได้เริ่มต้นจากผลประโยชน์ของพรรคการเมือง ที่ต้องแนบแน่นกับหลักประชาธิปไตย และผลประโยชน์ของประชาชน
ในวันที่ 2 เม.ย. กลุ่ม 40 ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ยังยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณี นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา กับ ส.ว.และ ส.ส. รวม 312 คน
กระทำการร้ายแรงดังนี้ --- กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ต่อประธานรัฐสภา
เพื่อที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่เป็นเรื่องของสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 เรื่องการยุบพรรคการเมือง
ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายสมศักดิ์และพวก ยกเลิกการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237
และมีคำสั่งยุบพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรคมหาชน พรรคประชาธิปไตยใหม่ ที่ผู้ถูกร้องทั้งหมดสังกัดอยู่
รวมถึงให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน
โดยสั่งให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะพิจารณาคดีเสร็จสิ้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นปี 2555 พรรคเพื่อไทยได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ก็มีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาตามมาตรา 68 เช่นกันว่า เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย
สุดท้าย ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยกคำร้อง พร้อมกับมีข้อแนะนำว่า หากจะยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ควรทำประชามติก่อน
หรืออาจจะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ตามช่องทางของมาตรา 291 ในรัฐธรรมนูญ 2550
การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 4 ประเด็นที่เกิดขึ้น จึงเป็นไปตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นการดำเนินการของ "เด็กดี" ที่เชื่อฟังผู้หลักผู้ใหญ่ แต่ผลกลับย้อนกลับไปที่เดิมอีก
พิจารณาจากเกมตีรวน และการยื้อทั้งหลาย พอจะคาดหมาย หากถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผล ใครจะเพลี่ยงพล้ำ ใครจะกำชัย
คะแนนเสียงนั้นประเด็นหนึ่ง แต่ชัยชนะที่สมบูรณ์ ต้องยืนกับสัจธรรมและเหตุผล
เส้นแบ่งง่ายๆ ของรัฐธรรมนูญนี้ คือ จะพิทักษ์รักษาดอกผลของการรัฐประหาร 2549 หรือจะยกเลิก แล้วเริ่มต้นใหม่ โดยใช้เจตนารมณ์ของประชาชนเป็นพื้นฐาน
จึงเกิดความจำเป็นจะต้องพึ่งพา "ตัวช่วย" อีกครั้ง
ผลการพิจารณาจะออกมาอย่างไร สังคมประเทศไทย กำลังจับตามอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น