Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2556

อันตรายของรัฐธรรมนูญเผด็จการ ปี 2550 ต่อสถาบันตุลาการ

facebook Sunai Chulpongsatorn


 
การอภิปรายของกระผมในสภาเมื่อวานนี้ (1 เมษายน 2556) เป็นการแสดงความห่วงใยต่อสถาบันตุลาการที่สืบทอดมายาวนาน แต่บรรยากาศในสภาเกิดการประท้วงตีรวนของประชาธิปัตย์อย่างต่อเนื่องทั้งวันตั้งแต่เริ่มต้นเปิดประชุมสภาจนสิ้นสุดการประชุมสภาทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ดังนั้นเพื่อความเข้าใจร่วมกันต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีเจตนาต้องการให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและรักษาสถาบันตุลาการไว้กระผมจึงขอโอกาสชี้แจงให้สาธารณชนทราบ ดังต่อไปนี้

ในอดีตเคยมีการแต่งตั้ง ส.ว. โดยรัฐบาล แต่รัฐธรรมนูญปี 50 กลับให้ศาลทั้งสาม คือ ตัวแทนศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระเป็นผู้แต่งตั้ง สมาชิกวุฒิสภา โดยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการปี 50 นี้ ดังจะเห็นได้จากมาตรา 111 และ 113 และเป็นที่น่าสังเกตว่าองค์กรอิสระเกือบทั้งหมดเป็นคนที่มาจากศาล เมื่อเป็นอย่างนี้จึงเท่ากับเป็นการดึงศาลเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรงและให้มีฐานะเหนือสถาบันนิติบัญญัติและสถาบันบริหารซึ่งไม่เคยมีมาก่อน



 


ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงศาลจะมีจริยธรรมทางตุลาการที่ควบคุมไม่ให้ผู้พิพากษาไปคบกับบุคคลภายนอกเพื่อป้องกันการติดสินบน ซึ่งจะทำให้บัลลังก์ของศาลเอนเอียงได้ ดังนั้นศาลที่เข้ามาสู่อำนาจการเมืองจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนดี คนไม่ดี เพื่อจะเลือกเข้ามาเป็น ส.ว. จึงเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งสังคมว่า คณะผู้เลือกสรร ส.ว.เป็นเพียงหุ่นเชิดของบุคคลบางคนที่แอบแฝงอำนาจอยู่ในรัฐธรรมนูญนี้ ด้วยเหตุนี้ในสภากระผมจึงต้องวิเคราะห์ที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้ว่ามาจากการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยา 2549 อย่างไร และมีผู้ใหญ่ของศาลเข้าไปร่วมวางแผนการรัฐประหารด้วยจึงทำให้เกิดความเสื่อมเสียมาถึงสถาบันตุลาการทุกวันนี้ และได้กลายเป็นชนวนที่พรรคประชาธิปัตย์ฉวยเหตุการณ์นี้มาทำการประท้วงซ้ำซากในสภา และเลยเถิดมาเรียกร้องให้กระผมถอนคำพูดเกี่ยวกับประธานศาลฎีกาและศาลชั้นผู้ใหญ่บางคนที่ได้นั่งร่วมวางแผนการรัฐประหาร เพื่อจะกล่าวหาว่าผมกล่าวเท็จ ในเบื้องต้นกระผมไม่ยอมถอนคำพูด แต่ได้รับการขอร้องจากประธานสภาหลายครั้ง ดังนั้นเพื่อให้บรรยากาศการประชุมสภาเดินหน้าต่อไปได้สุดท้ายกระผมจึงยอมถอน แต่แม้ถอนแล้วพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ยอมหยุดก่อกวนตีรวนในสภา ดังนั้นเพื่อเป็นการยืนยันถึงประวัติศาสตร์รอยต่อที่สำคัญนี้กระผมขอแถลงความเป็นจริงดังนี้

1. ข้อมูลที่ศาลชั้นผู้ใหญ่ทั้ง ศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ได้ร่วมนั่งวางแผนการรัฐประหารเป็นข้อมูลจากคำสัมภาษณ์ของ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี ที่ระบุทั้งชื่อและระบุทั้งตำแหน่งและระบุทั้งสถานที่ ทั้งยืนยันด้วยว่าตัวท่านเองก็นั่งร่วมอยู่ในที่ประชุมนั้นด้วย เหตุการณ์ผ่านมาแล้วกว่า 5 ปี แต่ศาลชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกระบุชื่อก็ไม่เคยฟ้อง พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี เลย

2. หลังจากการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 แล้ว ศาลชั้นผู้ใหญ่บางคนที่ถูกระบุชื่อก็เข้าไปเป็นคณะรัฐมนตรีในคณะรัฐประหาร และหลายคนก็ไปเป็นผู้บริหารในกลุ่มของคณะรัฐประหารและเกิดปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อนคือ มีผู้พิพากษาอีกหลายคนเข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระที่มีอำนาจสูงสุดเต็มไปหมด

3. ในบรรดาศาลที่เข้ามาอยู่ในคณะทำงานของคณะรัฐประหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้พิพากษา 3 ท่าน เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการปี 50 โดยเขียนให้อำนาจสูงสุดไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเพื่อจะควบคุมสภาและรัฐบาล และผู้พิพากษา 3 ท่านนี้ หลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จและผ่านสภานิติบัญญัติแล้วก็กระโดดไปเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและตัดสินคดีที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นจนถึงวันนี้



เมื่อความเป็นจริงของเหตุการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว เราจึงเห็นความมัวหมองของสถาบันตุลาการที่ประชาชนเริ่มหมดความเชื่อมั่นมากขึ้นทุกที คนที่รักชาติบ้านเมืองจะนิ่งดูดายปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้เป็นต่อไปไม่ได้ จึงขอแจ้งต่อสาธารณชนไว้ ณ ที่นี้ว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว. แต่งตั้งกลุ่ม 40 ออกมาขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกวิถีทางรวมถึงทำการขัดขวางนอกกติกาต่างๆ นาๆ เช่นนี้กำลังทำลายสถาบันตุลาการโดยรู้เท่าไม่ถึงกาล ซึ่งก็คือการทำลายระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นเอง ดังนั้นในอนาคตหากบ้านเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางร้ายพรรคประชาธิปัตย์และคณะผู้ยึดอำนาจ 19 กันยา จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ


ส.ส.ดร.สุนัย จุลพงศธร
2 เมษายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น