- ๑ -
กษัตริย์กัมพูชา : “กษัตริย์ผู้ถูกเลือกตั้ง” ไม่ใช่ “กษัตริย์ผู้สืบสายโลหิต”
เอกลักษณ์สำคัญประการหนึ่งของสถาบันกษัตริย์กัมพูชาที่สะท้อนให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าสถาบันกษัตริย์ของไทย
คือ การได้มาซึ่งตำแหน่งกษัตริย์ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ๑๙๔๗ -
รัฐธรรมนูญฉบับแรกของกัมพูชาซึ่งกำหนดให้กัมพูชาเป็นประชาธิปไตย เป็นราชอาณาจักร
มีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ – ได้สร้างหลักการเรื่อง “กษัตริย์ผู้ถูกเลือกตั้ง” ไม่ใช่ “กษัตริย์ผู้สืบสายโลหิต” กล่าวคือ เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง ผู้สืบสายโลหิตของกษัตริย์ที่ตายไปไม่อาจถูกแต่งตั้งเป็นกษัตริย์ได้โดยอัตโนมัติ
แต่ต้องให้คณะกรรมการราชบัลลังก์ (Conseil de la Couronne) มีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากเลือกให้ผู้สืบสายโลหิตนั้นเป็นกษัตริย์[1] ซึ่งคณะกรรมการราชบัลลังก์ประกอบด้วย
ประธานสภาแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์ ประธานสภาแห่งชาติ
ประธานสภาแห่งราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายสงฆ์ทั้งสองนิกาย[2]
รัฐธรรมนูญ
๑๙๔๗ ถูกยกเลิกโดยรัฐประหาร ๘ มีนาคม ๑๙๗๐ ของนายพลลอน นอล กัมพูชากลายเป็นสาธารณรัฐ
หลังจากนั้นกัมพูชาก็ผ่านความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆโดยมีประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา
สหภาพโซเวียต จีน และประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม และไทย
คอยให้การสนับสนุนกลุ่มพลังการเมืองเหล่านั้น
สถาบันกษัตริย์กัมพูชากลับมาอีกครั้งในรัฐธรรมนูญ
๑๙๙๓ บทบัญญัติหมวด ๒ ว่าด้วยกษัตริย์ ยังคงหลักการตามรัฐธรรมนูญ ๑๙๔๗ ที่ว่า “กษัตริย์ผู้ถูกเลือกตั้ง” ในมาตรา ๑๐
ของรัฐธรรมนูญ ๑๙๙๓ ประกาศหลักการดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า “สถาบันกษัตริย์กัมพูชาเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ถูกเลือกตั้ง
กษัตริย์ไม่มีอำนาจในการแต่งตั้งรัชทายาทเพื่อครองราชย์” แม้จะยึดหลักการ “กษัตริย์ผู้ถูกเลือกตั้ง” แต่รัฐธรรมนูญ ๑๙๙๓ เคร่งครัดกว่ารัฐธรรมนูญ ๑๙๔๗
ในประเด็นที่ห้ามมิให้กษัตริย์แต่งตั้งรัชทายาทโดยเด็ดขาด ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ๑๙๔๗
อนุญาตให้กษัตริย์ตั้งรัชทายาทได้หลังปรึกษาหารือคณะกรรมการราชบัลลังก์แล้ว
ตามรัฐธรรมนูญ
๑๙๙๓ มาตรา ๑๓ องค์กรผู้มีอำนาจหน้าที่ในการเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ คือ
คณะกรรมการราชบัลลังก์ (Conseil du
Trône) อันประกอบด้วยกรรมการ ๙ คน ได้แก่ ประธานวุฒิสภา
ประธานสภาแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าฝ่ายสงฆ์นิกายธรรมยุติและมหานิกาย
รองประธานวุฒิสภาคนที่ ๑ และ ๒ รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ ๑ และ ๒
จากองค์ประกอบของคณะกรรมการราชบัลลังก์แสดงให้เห็นถึง “ลักษณะทางการเมืองอยู่เหนือลักษณะทางกษัตริย์”[3] เพราะกรรมการมาจากฝ่ายการเมืองรวม
๗ คน มีเพียงหัวหน้าคณะสงฆ์สองนิกายเท่านั้นที่สะท้อนถึงลักษณะจารีตประเพณี
คณะกรรมการราชบัลลังก์ไม่สามารถเลือกบุคคลใดมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ก็ได้
เพราะ รัฐธรรมนูญ ๑๙๙๓ มาตรา ๑๔ บังคับให้เลือกสมาชิกในราชวงศ์อายุอย่างน้อย ๓๐ ปี
และสืบสายโลหิตมาจากกษัตริย์องด้วง กษัตริย์นโรดม กษัตริย์สีสวัสดิ์
นั่นหมายความว่า บุคคลที่อาจถูกเลือกเป็นกษัตริย์ต้องมาจาก ๓ สกุลนี้เท่านั้น
- ๒ –
กษัตริย์ตาย
กษัตริย์เจ็บป่วยอย่างร้ายแรง กษัตริย์ไม่อยู่ในราชอาณาจักร
และการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
รัฐธรรมนูญ
๑๙๙๓ มาตรา ๗ วรรคสองบัญญัติว่า “กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐตลอดชีวิต” ราชบัลลังก์จะว่างลงทันทีเมื่อกษัตริย์ตาย
และรัฐธรรมนูญก็ไม่อนุญาตให้ตั้งรัชทายาทได้ นั่นหมายความว่า
ตำแหน่งประมุขของรัฐจะไม่มีผู้ใดมาปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น
รัฐธรรมนูญจึงต้องวางกระบวนการแต่งตั้งบุคคลมาเป็นประมุขของรัฐชั่วคราว
เพื่อรอให้คณะกรรมการราชบัลลังก์มีมติเลือกตั้งกษัตริย์องค์ใหม่ รัฐธรรมนูญ มาตรา
๑๒ กำหนดว่า เมื่อกษัตริย์ตาย
ให้ประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวในฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการ
ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวได้
ให้ประธานสภาแห่งชาติปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ ๑
ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ ๑ ปฏิบัติหน้าแทน
ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ ๒ ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก
ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ ๒ ปฏิบัติหน้าแทน
นอกจากนี้
เพื่อประกันความต่อเนื่องของตำแหน่งประมุขของรัฐ
ในกรณีที่กษัตริย์เจ็บป่วยอย่างร้ายแรงจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐได้
รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๑ กำหนดให้มีคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่วินิจฉัยว่ากษัตริย์อยู่ในสภาวะเจ็บป่วยอย่างร้ายแรงจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
หากเกิดกรณีดังกล่าว
ให้ประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวในฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการ
ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวได้ ให้ประธานสภาแห่งชาติปฏิบัติหน้าแทน
ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ ๑ ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก
ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ ๑ ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก
ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ ๒ ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก
ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ ๒ ปฏิบัติหน้าแทน
ในรัชสมัยของกษัตริย์สีหนุ
ทั้งในช่วงก่อนรัฐประหาร ๑๙๗๐ และในยุคปัจจุบัน
พระองค์มักเดินทางไปต่างประเทศเป็นเวลายาวนาน ด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป
ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาลที่จีน การพำนักอาศัยที่เกาหลีเหนือ
หรือการเดินทางเพื่อเป้าประสงค์ทางการเมืองในฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียต
ทำให้เกิดปัญหาไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ หรือบางกรณี เมื่อกษัตริย์ไม่อยู่
ก็อาจเปิดโอกาสให้รัฐประหาร ดังที่เคยเกิดมาแล้วเมื่อปี ๑๙๗๐ รัฐธรรมนูญ ๑๙๙๓
ต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในมาตรา ๓๐ จึงกำหนดว่า ในกรณีที่กษัตริย์ไม่อยู่ ให้ประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวในฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการ
ในกรณีที่ประธานวุฒิสภาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐชั่วคราวได้
ให้ประธานสภาแห่งชาติปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ ๑
ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ ๑ ปฏิบัติหน้าแทน
ถ้าไม่ได้อีก ให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ ๒ ปฏิบัติหน้าแทน ถ้าไม่ได้อีก
ให้รองประธานสภาแห่งชาติคนที่ ๒ ปฏิบัติหน้าแทน
อย่างไรก็ตาม
เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้แล้ว
กษัตริย์สีหนุเสด็จไปรักษาพยาบาลและพำนักอาศัยที่จีนบ่อยครั้ง โดยไม่มีการแต่งตั้งให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และปัญหาสุญญากาศทางการเมือง ในปี ๑๙๙๔
จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในมาตรา ๒๘ วรรคสองว่า “ในกรณีเจ็บป่วยและรักษาพยาบาลที่ต่างประเทศ
ให้กษัตริย์มอบอำนาจการลงนามในพระราชบัญญัติและพระราชกฤษฎีกาเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายแก่ประมุขของรัฐชั่วคราว
การมอบอำนาจการลงนามดังกล่าวต้องกระทำโดยเร็ว” ว
กษัตริย์สีหนุเสด็จไปพำนักอาศัยที่จีนบ่อยครั้ง
และไม่มีการแต่งตั้งให้ประธานวุฒิสภาเป
- ๓ -
ใครจะเป็นกษัตริย์องค์ถัดไป? ความกังวลใจของกษัตริย์สีหนุ
รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินการประชุมของคณะกรรมการราชบัลลังก์และจำนวนมติในการเลือกกษัตริย์
จึงต้องมีการตรากฎหมายเพื่อกำหนดรายละเอียดขึ้น แม้รัฐธรรมนูญจะประกาศใช้ตั้งแต่ปี
๑๙๙๓ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการผลักดันให้ตรากฎหมายคณะกรรมการราชบัลลังก์ จนกระทั่งปี
๒๐๐๒ พรรคสมรังสี แกนนำพรรคฝ่ายค้าน
ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินการของคณะกรรมการราชบัลลังก์
ซึ่งมีเนื้อหาสาระว่า รัชทายาทต้องเป็นบุคคลที่มีชีวิตไม่ด่างพร้อย
ไม่เคยถูกดำเนินคดีใดๆ ไม่ขึ้นต่อพรรคการเมืองใด
แต่ต้องได้การยอมรับจากกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มในสภาแห่งชาติ
และกษัตริย์สามารถแต่งตั้งรัชทายาทได้[4] นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ปฏิเสธไม่สนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นอันตกไป
ต่อมาเจ้าชายนโรดม
จักรพงษ์ได้เสนอแนะว่าบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ควรผ่านความเห็นชอบจากประชาชนโดยการออกเสียงประชามติ
การผ่านประชามตินี้ช่วยตัดปัญหาความขัดแย้งภายในราชวงศ์
และทำให้บุคคลผู้มาเป็นกษัตริย์ไม่ต้องอยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมืองในสภา[5]
เมื่อกษัตริย์สีหนุชราภาพลงเรื่อยๆ
ความกังวลใจถึงผู้ที่จะมาเป็นกษัตริย์องค์ถัดไป
ความกังวลใจเกี่ยวกับอนาคตของสถาบันกษัตริย์ย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
หากกษัตริย์สีหนุตาย อำนาจในการกำหนดบุคคลมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์องค์ใหม่จะอยู่ในมือของคณะกรรมการราชบัลลังก์ทันที
ในขณะที่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการของคณะกรรมการราชบัลลังก์ องค์ประชุม
ประธานในที่ประชุม การเรียกประชุม มติเลือกกษัตริย์ ก็ยังไม่ชัดเจน
กรณีดังกล่าวสร้างความกังวลใจแก่กษัตริย์สีหนุมาก พระองค์เห็นว่ามติเลือกกษัตริย์ควรเป็นมติเสียงข้างมาก
ไม่ควรเป็นมติเอกฉันท์
พระองค์วิจารณ์ความคิดของนักการเมืองเขมรระดับสูงบางคนที่ต้องการให้มติเลือกกษัตริย์ต้องเป็นมติเอกฉันท์ว่า “หากข้าพเจ้าตายไป
และหากในเวลานี้ที่คณะกรรมการราชบัลลังก์เป็นองค์ประกอบแบบนี้
ก็จะเป็นการยากที่คณะกรรมการชุดนี้จะหาฉันทามติแบบเอกฉันท์ในการเลือกกษัตริย์ใหม่ได้
หากกำหนดให้ใช้มติเอกฉันท์ ก็จะเกิดเหตุการณ์น่าเศร้าสลดตามมา คือ
จะไม่มีกษัตริย์ถัดจากสีหนุ เราจะมีกษัตริย์เฉพาะในกระดาษตามรัฐธรรมนูญ ๑๙๙๓
เราจะกลายเป็นสาธารณรัฐในทางความเป็นจริง”[6]
ในความเห็นของกษัตริย์สีหนุแล้ว
พระองค์เกรงว่าหากคณะกรรมการราชบัลลังก์ยังแบ่งขั้วการเมืองกันอยู่ ก็จะไม่มีทางได้มติเอกฉันท์
จึงไม่มีกษัตริย์องค์ใหม่ทำให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้สำเร็จราชการไปเรื่อยๆ
กัมพูชาก็ได้ชื่อว่าเป็นราชอาณาจักรและมีกษัตริย์เป็นประมุขตามกฎหมาย
แต่ในความเป็นจริงไม่มีกษัตริย์
ดูเหมือนว่าฮุน
เซนและพรรคการเมืองของเขาจะไม่อนาทรร้อนใจกับปัญหาเรื่องการเลือกกษัตริย์องค์ถัดไปนัก
ฮุน เซน ไม่เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินการของคณะกรรมการราชบัลลังก์
ภายใต้กฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ฮุน เซน
ไม่มีความจำเป็นใดๆที่ต้องเร่งผลักดันเรื่องนี้ หากจะเกิดกรณี “สุญญากาศ” หาบุคคลมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์ไม่ได้
รัฐธรรมนูญก็กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ซึ่งประธานวุฒิสภา คือ เจีย ซิม ขั้วการเมืองเดียวกันกับฮุน เซน นั่นเอง
ตรงกันข้ามกับกษัตริย์สีหนุ
พระองค์กังวลใจถึงความไม่แน่นอนของสถาบันกษัตริย์กัมพูชามากขึ้นเรื่อยๆ
รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้พระองค์ตั้งรัชทายาทได้ แล้วถ้าพระองค์ตายไป
อะไรจะเกิดขึ้นตามมา? ใครจะเป็นกษัตริย์? มีแต่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์? ไม่มีสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป?
ในบรรดาลูกของกษัตริย์สีหนุที่อยู่ในขอบข่ายอาจเป็นกษัตริย์ได้ตามรัฐธรรมนูญนั้น
นโรดม สิริวุฒิ และนโรดม รณฤทธิ์ ได้ปฏิเสธไม่รับตำแหน่งกษัตริย์
และกษัตริย์สีหนุก็ไม่สนับสนุนด้วยเพราะทั้งสองคนมีฝักฝ่ายทางการเมือง Jacques Népote และ Raoul Marc
Jennar ที่ปรึกษาของรัฐบาลได้จัดทำรายชื่อบุคคลผู้อาจเป็นกษัตริย์เสนอต่อกษัตริย์สีหนุ
ซึ่งพระองค์ได้ปฏิเสธทั้งหมด[7] พระองค์แสดงความเห็นอีกเช่นกันว่าพระราชินีโมนิค
มเหสีของพระองค์ ก็ไม่มีสิทธิเป็นกษัตริย์ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบังคับว่าบุคคลผู้จะเป็นกษัตริย์ต้องสืบสายโลหิตจากกษัตริย์องด้วง
กษัตริย์นโรดม กษัตริย์สีสวัสดิ์[8] ก่อนหน้านั้น
ในช่วงที่พรรคสม รังสีเสนอร่างพระราชบัญญัติในปี ๒๐๐๒
ซึ่งตามร่างดังกล่าวกำหนดให้พระราชินีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้
กษัตริย์สีหนุก็แสดงความเห็นว่า “ในกรณีที่ไม่มีกษัตริย์ใหม่
สมเด็จเจีย ซิม ประธานวุฒิสภา จะเป็นประมุขของรัฐชั่วคราว”[9]
ปลายปี
๒๐๐๓ กษัตริย์สีหนุทรงแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับบุคคลที่สมควรเป็นกษัตริย์ต่อจากพระองค์
เมื่อรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้พระองค์ตั้งรัชทายาท พระองค์จึงต้อง “กดดัน” ด้วยการเสนอชื่อรัชทายาทผ่านสาธารณะ พระองค์เขียนบันทึกเมื่อวันที่ ๑๗
กันยายน ๒๐๐๓ ว่า “เจ้าชายสีหมุนีไม่ได้เล่นการเมือง
ไม่สังกัดพรรคการเมือง ไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร
รักและเคารพเพื่อนร่วมชาติและพรรคการเมืองทั้งหมด เป็นคนขาวสะอาด
ไม่มีเรื่องทุจริต มีความรู้เรื่องวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง
รู้ภาษาเช็คและฝรั่งเศสอย่างดีเลิศ และรู้ภาษาเขมรอย่างดี ผ่านการศึกษาดี
เป็นสุภาพบุรุษ และเป็นคนที่ซื่อสัตย์ต่อบิดาอย่างยิ่ง
เพื่อนร่วมชาติมากมายต่างไม่ยอมรับที่ไม่เห็นชื่อของสีหมุนีอยู่ในรายชื่อของบุคคลที่อาจถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์”[10]
- ๔ -
การสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์สีหนุกับประเด็นปัญหาทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ในวันที่
๖ ตุลาคม ๒๐๐๔ ขณะที่พำนักอาศัยอยู่ที่จีน
กษัตริย์สีหนุได้ส่งหนังสือสละราชบัลลังก์
โดยพระองค์ได้เขียนไว้ในหนังสือสละราชบัลลังก์ว่า “เป็นอำนาจของคณะกรรมการราชบัลลังก์ว่าจะมีมติเลือกเจ้าชายสีหมุนีเป็นกษัตริย์องค์ถัดไปหรือไม่” ความข้อนี้แสดงให้เห็นว่า
แม้รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้กษัตริย์ตั้งรัชทายาทได้
แต่กษัตริย์สีหนุก็แสดงเจตจำนงของตนเอง “ซ่อน” เข้าไปในหนังสือสละราชบัลลังก์
มีปัญหาทางกฎหมายรัฐธรรมนูญตามมาว่ากษัตริย์สีหนุมีสิทธิสละราชบัลลังก์ได้หรือไม่? รัฐธรรมนูญ ๑๙๙๓ มาตรา ๗
วรรคสองกำหนดให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐตลอดชีวิต
รัฐธรรมนูญกำหนดเหตุแห่งการพ้นจากตำแหน่งนี้ได้กรณีเดียว คือ ตาย
นอกจากนั้นก็เป็นกรณีที่กษัตริย์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้เพราะเจ็บป่วยอย่างร้ายแรง
หรือกษัตริย์ไม่อยู่ในราชอาณาจักร
ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ประมุขของรัฐเป็นการชั่วคราวแทนกษัตริย์ในฐานะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
สาเหตุที่รัฐธรรมนูญ
๑๙๙๓ ไม่กำหนดให้กษัตริย์สละราชบัลลังก์ได้
เพื่อป้องกันกรณีกษัตริย์สละราชบัลลังก์แล้วลงมาเล่นการเมืองเหมือนที่กษัตริย์สีหนุเคยทำมาเมื่อปี
๑๙๕๕ แล้วยกตำแหน่งให้พระราชบิดาเป็นประมุขของรัฐแทน
ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นประสบการณ์เลวร้ายของกัมพูชาที่กษัตริย์ “กระโดดลงมาเล่นการเมือง” ผูกขาดทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และประมุขของรัฐ
(ผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิด)
นโรดม
รณฤทธิ์ เขียนไว้ในตำรากฎหมายมหาชนกัมพูชาว่า ไม่ควรตีความรัฐธรรมนูญ ๑๙๙๓
โดยเอาเหตุการณ์สละราชบัลลังก์ของกษัตริย์สีหนุในปี ๑๙๕๕ มาประกอบการพิจารณา
ตรงกันข้าม การสละราชสมบัติอาจเป็นอาวุธที่กษัตริย์ใช้สู้กับรัฐประหารได้
และยังอาจชิงตัดหน้าสละราชบัลลังก์ก่อนที่จะถูกปลดแบบที่นายพลลอน นอลทำรัฐประหารสีหนุเมื่อปี
๑๙๗๐ เขาเห็นว่าการสละราชสมบัติเป็นธรรมเนียมของเขมร
การห้ามสละราชสมบัติกระทบกับเสรีภาพส่วนบุคคลของกษัตริย์[11]
แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรณีสละราชบัลลังก์ไว้
แต่กษัตริย์สีหนุแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า
ถ้าเสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่งหรือสังฆราชฝ่ายมหานิกายให้ความเห็นชอบกับการสละราชบัลลังก์
พระองค์จะสละราชบัลลังก์ทันที อย่างไรก็ตามกษัตริย์สีหนุไม่ได้รับความเห็นชอบเหล่านี้ ในท้ายที่สุด
กษัตริย์สีหนุตัดสินใจสละราชบัลลังก์ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๐๐๔ และเป็นฮุน
เซนที่ยอมผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินการของคณะกรรมการราชบัลลังก์
เพื่อรับรองให้คณะกรรมการฯอนุญาตให้กษัตริย์สละราชบัลลังก์ได้
ทั้งที่ตลอดระยะเวลาหลายปีก่อนหน้า ฮุน เซน ไม่สนใจจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เลย
แรกเริ่มเดิมที
นายกรัฐมนตรีฮุน เซน แสดงความเห็นว่าการสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์สีหนุไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมา ภายหลังการเจรจาระหว่างฮุน เซนกับกษัตริย์สีหนุ ฮุน เซน ก็เปลี่ยนใจและเร่งดำเนินการให้เจ้าชายนโรดม
สีหมุนีเป็นกษัตริย์ต่อไป
เขาผลักดันให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานของคณะกรรมการราชบัลลังก์
และประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๐๐๔
พระราชบัญญัตินี้กำหนดให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานคณะกรรมการราชบัลลังก์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานฯคนที่
๑ และนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธานฯคนที่ ๒ องค์ประชุมของคณะกรรมการอยู่ที่ ๕
คนขึ้นไป และการเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งกษัตริย์ให้ใช้มติเสียงข้างมาก
จะเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวได้แก้ไขปัญหาที่กษัตริย์สีหนุกังวลใจมาตลอดว่าการประชุมของคณะกรรมการราชบัลลังก์จะดำเนินไปอย่างไร
และต้องใช้มติแบบใดในการเลือกกษัตริย์ นอกจากนี้
พระราชบัญญัติดังกล่าวยังเปิดช่องรับรอง “ย้อนหลัง” การสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์สีหนุด้วย
โดยกำหนดให้คณะกรรมการราชบัลลังก์มีอำนาจในการอนุญาตให้กษัตริย์สละราชบัลลังก์ได้
และกระบวนการเลือกตั้งบุคคลมาเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ให้ดำเนินไปเหมือนกรณีกษัตริย์ตาย
เมื่อพระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้
คณะกรรมการราชบัลลังก์ก็มีมติอนุญาตให้กษัตริย์สีหนุสละราชบัลลังก์
และดำเนินการเลือกสีหมุนีเป็นกษัตริย์องค์ใหม่
แม้รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดกรณีกษัตริย์พ้นจากตำแหน่งด้วยการสละราชบัลลังก์
แต่พระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการราชบัลลังก์กำหนดให้กษัตริย์สละราชบัลลังก์ได้หากผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชบัลลังก์
ซึ่งน่าคิดต่อไปว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ คงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าว่า
พระราชบัญญัตินี้ถูกผลักดันเร่งรีบออกมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาการสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์สีหนุนั่นเอง
……………………
กษัตริย์สีหนุเกรงว่าถ้าวันหนึ่งพระองค์ตายไป อำนาจการกำหนดบุคคลที่เป็นกษัตริย์อยู่ในมือของคณะกรรมการราชบัลลังก์
ไม่มีหลักประกันแน่นอนว่าสถาบันกษัตริย์จะเป็นอย่างไร
บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งกษัตริย์จะเป็นสกุลนโรดมของพระองค์หรือไม่
สถาบันกษัตริย์อาจหายไป – อาจหายไปโดยความเป็นจริง
หรือปลาสนาการไปทั้งทางกฎหมายและทางความเป็นจริงอย่างสมบูรณ์ - เพื่อรักษาให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ต่อไป
เมื่อพระองค์ยังพอมีพระบารมีในหมู่ประชาชนชาวกัมพูชาอยู่บ้าง
กษัตริย์สีหนุจึงเลือกการสละราชสมบัติเป็นอาวุธสุดท้ายทั้งนี้เพื่อ
๑.
ต่อรองเจรจากับฮุน เซน เพื่อขอมีส่วนกำหนดบุคคลผู้จะเป็นกษัตริย์องค์ถัดไป
๒.
ต่อรองเจรจากับฮุน เซนเพื่อรับประกันว่าสถาบันกษัตริย์จะยังคงดำรงอยู่ต่อไป
โดยกษัตริย์เป็นโอรสของพระองค์เอง
๓.
อาศัยบารมีของพระองค์ในช่วงท้ายของชีวิตปกป้องคุ้มครองกษัตริย์สีหมุนี
การสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์สีหนุจึงเป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพและการอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์กัมพูชาโดยแท้
ในโลกปัจจุบัน
สถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งล้าสมัยและไม่จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อรักษาเสถียรภาพและความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์
กษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานและสะสมพระบารมีอย่างต่อเนื่องมักเลือกใช้การสละราชบัลลังก์และให้รัชทายาทขึ้นเป็นกษัตริย์แทน
ดังปรากฏให้เห็นในภูฏาน กัมพูชา และล่าสุดคือเนเธอร์แลนด์
รวมทั้งเริ่มมีเสียงเรียกร้องทำนองนี้ในสเปน ทั้งนี้เพื่อสร้างหลักประกันว่า
เมื่อกษัตริย์สละราชบัลลังก์
รัชทายาทก็ขึ้นเป็นกษัตริย์โดยมีพระบารมีของตนคอยปกป้องคุ้มครองกษัตริย์องค์ใหม่
และเมื่อตนตายไปแล้ว สถาบันกษัตริย์ยังอยู่ต่อ มิใช่ตนตายแล้ว
จะเกิดความโกลาหลในช่วงเปลี่ยนผ่าน
การสละราชบัลลังก์ของกษัตริย์สีหนุทำให้ความไม่แน่นอนของสถาบันกษัตริย์กัมพูชาแน่นอนชัดเจนขึ้น
แม้รัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้พระองค์แต่งตั้งรัชทายาท
แต่ด้วยกุศโลบายและการเจรจาต่อรองกดดันผ่านสาธารณะโดยอาศัยพระบารมีที่สั่งสมมา ทำให้เจ้าชายสีหมุนีได้เป็นกษัตริย์สืบต่อมาอย่างราบรื่น
ตรงกันข้ามกับบางประเทศ
แม้รัฐธรรมนูญและกฎมณเฑียรบาทกำหนดให้กษัตริย์แต่งตั้งรัชทายาทได้
และแม้กษัตริย์ได้แต่งตั้งรัชทายาทมานานแล้ว
กลับมีความไม่แน่นอนชัดเจนในช่วงเปลี่ยนผ่านและสร้างความกังวลใจให้แก่ชนชั้นนำจารีตประเพณีอย่างยิ่ง
[1] มาตรา ๒๗ รัฐธรรมนูญ
๑๙๔๗
ผู้สืบสายโลหิตของกษัตริย์ไม่อาจถูกแต่งตั้งเป็นกษัตริย์เมื่อราชบัลลังก์ว่างลง
กษัตริย์จะถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการราชบัลลังก์ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก
ประธานคณะกรรมการราชบัลลังก์ออกเสียงได้อีกหนึ่งเสียงในกรณีที่มติออกมาเท่ากัน
[2] มาตรา ๒๘ รัฐธรรมนูญ
๑๙๔๗
คณะกรรมการราชบัลลังก์ประกอบด้วย
- ประธานสภาแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์
- ประธานสภาแห่งชาติ
- ประธานสภาแห่งราชอาณาจักร
- นายกรัฐมนตรี
- หัวหน้าฝ่ายสงฆ์ทั้งสองนิกาย
ให้ประธานสภาแห่งพระบรมวงศานุวงศ์ของราชวงศ์
เป็นประธานคณะกรรมการราชบัลลังก์
[3] GOUR Claude-Gilles, Institutions
constitutionnelles et politiques du Cambodge, Dalloz, 1965, p.96.
[4] GAILLARD Maurice (Sous la direction
de), Droit constitutionnel cambodgien, Presses universitaires du
Cambodge, 2005, p.15.
[5] EDA n°359, Dossiers et documents
n°7/2002 – 16/09/2002.
[6] www.norodomsihanouk.info/Messages/ cité
par GAILLARD Maurice (Sous la direction de), Op.cit., p.19.
[7] GAILLARD Maurice (Sous la direction
de), Op.cit., p.20.
[8] กษัตริย์สีหนุเขียนว่า “ไม่มีห้วงเวลาใดเลยที่ข้าพเจ้าจะเสนอข้อเสนอหรือแนะนำหรือแสดงความปรารถนาให้พระราชินี
มเหสีของข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์
พระราชินีและข้าพเจ้าเห็นด้วยอย่างเต็มที่กับการเลือกบุคคลสืบสายโลหิตจากกษัตริย์องด้วง
กษัตริย์นโรดม กษัตริย์สีสวัสดิ์ โดยคณะกรรมการราชบัลลังก์”
[9] www.norodomsihanouk.info/Messages/ cité
par GAILLARD Maurice (Sous la direction de), Op.cit., p.21.
[10] www.norodomsihanouk.info/Messages/ cité
par GAILLARD Maurice (Sous la direction de), Op.cit., p.20.
[11] NORODOM Ranariddh, Droit
public cambodgien, PU Perpignan, 1998, n°316.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น