Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

ย้อนรอย 10 เมษา 53 ... 3 ปีผ่านไป ยังไร้ความจริง

ข้อมูลจาก Voice TV



แม้ขณะนี้ความจริงเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต ของประชาชนและเจ้าหน้าที่ทหาร จะยังไม่ปรากฎ เนื่องจากกำลังอยู่ในขั้นตอนสืบพยานในชั้นศาล แต่ภาพเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกโดยสื่อหลายสำนัก และผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ก็ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สามารถนำมาเรียงเหตุการณ์ได้พอสมควร


13.00น. ของวันที่ 10 เมษายน 2553  นายขวัญชัย ไพรพนา หนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง พามวลชนมารวมตัวหน้ากองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ถนนราชดำเนินนอก และพยายามบุกเข้าไปด้านใน หลังจากทราบว่ามีกองกำลังทหารเตรียมพร้อมสลายการชุมนุม หรือที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. เรียกว่า "ปฎิบัติการขอคืนพื้นที่"

จนนำมาสู่เกิดเหตุเผชิญหน้ากันครั้งแรก "ระหว่างทหารกับประชาชน" โดยทหารพยายามฉีดน้ำออกจากกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1  ปิดประตูและขึงรั้วลวดหนาม พร้อมยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อข่มขวัญ และใช้แก๊สน้ำตาผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ ด้านกลุ่มผู้ชุมนุมตอบโต้ด้วยการปาท่อนไม้ และสิ่งของใกล้ตัวเข้าไปยังฝั่งทหาร พร้อมกับถอนร่นไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์

14.00น. ทหารตั้งแถวหน้ากระดานหลายชั้น ใช้กระบองไม้เคาะโล่พลาสติกให้เกิดเสียงดัง พร้อมกับยิงปืนขึ้นฟ้าและโยนแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อให้ถอยกลับไปยังเวทีการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ขณะที่ผู้ชุมนุมบางส่วนบาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนยางและถูกทุกตีด้วยกระบองไม้

15.30น. ปรากฎผู้บาดเจ็บสาหัสจากเหตุปะทะรายแรก บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นั่นคือ นายเกรียงไกร คำน้อย วัย 23ปี อาชีพรับจ้างขับรถตุ๊กตุ๊ก ถูกอาวุธปืนสงครามยิงเข้าที่สะโพก ทำให้อวัยวะภายในช่องท้องฉีกขาด จึงเสียชีวิตในวันถัดมา เวลา 03.30น. ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล นี่จึงเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า มีการใช้กระสุนจริงในเหตุปะทะครั้งนี้

เหตุปะทะระหว่างทหารกับผู้ชุมนุม เกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงช่วงใกล้ค่ำ โดยทหารจากทุกทิศทางพยายามต้อนผู้ชุมนุมกลับเข้ายังเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ เพื่อคืนพื้นที่การจราจรให้กับประชาชนทั่วไป ทั้งบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนตะนาว และถนนดินสอ จึงมีทหารและยานพาหนะเข้ายึดครองพื้นที่ไว้หมดโดยในบางพื้นที่ทหารยิงปืนขู่ขึ้นฟ้าเป็นระยะ และมีการโยนแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์

นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องออกมาเตือนรัฐบาลให้ยุติการสลายการชุมนุมไว้ก่อน เนื่องจากบรรยากาศเริ่มมืดลงเรื่อยๆ การสลายม็อบในเวลานี้ สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียหรืออาจมีมือที่สามเข้ามาร่วมสร้างสถานการณ์ ทางออกดีที่สุดคือถอยกลับที่ตั้งรอรุ่งเช้าค่อยตัดสินใจอีกครั้ง แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่หยุดจนฟ้ามืด

ในที่สุดความกังวลก็เกิดขึ้นจริง เมื่อลูกระเบิดเอ็ม 79 ตกลงมายังกองกำลังทหาร หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ ส่งผลให้ พันเอก(พิเศษ)ร่มเกล้า ธุวธรรม อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ วัย 43 ปี พร้อมทหารอีก 4 นายเสียชีวิต จากสะเก็ดระเบิด

ส่วนฝั่งประชาชน อย่างนายฮิโรยูกิ มูราโมโต้ ช่าวภาพสำนักข่าวรอยเตอรส์ชาวญี่ปุ่น เสียชีวิตขณะถ่ายภาพเหตุการณ์อยู่บนถนนดินสอ โดยถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูง เข้าที่หน้าอก กระสุนทำลายปอด และหลอดเลือดใหญ่ รวมทั้ง นายวสันต์ ภู่ทองซึ่งยืนถือธงและถูกยิงบริเวณศีรษะด้านหลังทะลุด้านหน้าจนล้มลงกับพื้น หน้าโรงเรียนสตรีวิทยาเช่นกัน

อีกจุดหนึ่งที่เกิดความสูญเสียอย่างหนัก คือสี่แยกคอกวัว ถนนตะนาว เนื่องจากทหารตั้งแถวหน้ากระดาษซ้อนกันหลายชั้น เพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมออกนอกพื้นที่ ซึ่งการปะทะกันท่ามกลงความมืดทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตไปกว่า 10 ราย โดยส่วนใหญ่ถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงในบริเวณจุดสำคัญของร่างกายเช่น หน้าอก และศรีษะ

เหตุการณ์ยุติลงเมื่อแกนนำ นปช. และ ศอฉ. ประกาศถอนกำลังจากการปะทะในพื้นที่ต่างๆ หลังเกิดความสูญเสียชีวิตของประชาชนและทหาร โดยคนเสื้อแดงประณามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัย ว่าเป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน จึงเรียกร้องให้ยุบสภา และเดินทางออกนอกประเทศโดยเร็วที่สุด แต่นายอภิสิทธิ์ อ้างว่าชายชุดดำอยู่เบื้องหลังความสูญเสียในครั้งนี้ พร้อมกล่าวแสดงความเสียใจต่อผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต

ศูนย์ข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบเหตุสลายชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. สรุปยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ 10 เมษา 53 รวมทั้งสิ้น 26 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย และพลเรือน 21 ราย โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการใช้กระสุนปืนความเร็วสูง และสะเก็ดระเบิดจากเอ็ม 79

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น