Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

รัฐสภากับการเปลี่ยนรัชกาล จาก ร.7 สู่ ร.8 และ ร.8 สู่ ร.9 (ตอนที่ 1 )

เรื่องจากปก RED POWER ฉบับที่ 35 เดือนเมษายน 2556
โดย สุวิทย์ เลิศไกรเมธี



คำปรารภบรรณาธิการ Red Power ในการนำเสนอบทความนี้
          ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งจำเป็นจะต้องมีระบอบรัฐสภาและระบอบกษัตริย์อยู่คู่กัน แต่คนไทยกลับขาดประสบการณ์การเรียนรู้ในความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันรัฐสภากับสถาบันกษัตริย์ด้วยเพราะระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทยได้ตีความอย่างเปิดกว้างในการลงโทษผู้กระทำผิด และทุกวันนี้ได้เกิดวัฒนธรรมการใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือในการทำร้ายกันในหมู่ประชาชนจึงทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวต่อการที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับระบบความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างสถาบันรัฐสภากับสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ช่วงรอยต่อระหว่างการเปลี่ยนรัชกาลซึ่งโดยกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติในนานาอารยะประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยนั้นล้วนแล้วแต่รัฐสภาจะต้องเข้ามามีบทบาทในช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านรัชกาลทั้งสิ้นและก็ไม่อาจเว้นแม้แต่ประเทศไทย ดังนั้นด้วยเหตุนี้บรรณาธิการจึงเห็นว่าบทความที่นำมาเสนอนี้เป็นเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้ล่าสุดอยู่ในระบบรัฐสภาของไทยในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดลกำลังจะขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมีนาคมนี้เป็นเดือนที่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2477 ดังนั้นเพื่อเป็นการถวายราชสุดีแด่พระองค์และสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเห็นเป็นการสมควรที่พสกนิกรจะได้รำลึกถึงพระองค์จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านและหน่วยงานต่างๆจะเข้าใจถึงเจตนาดีของผู้เขียนและเข้าใจในความจงรักภักดีในการเสนอบทความนี้


การสืบราชสมบัติในอดีตอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มักมีความไม่แน่นอน มีการแย่งชิงราชสมบัติจนเกิดความรุนแรงนองเลือดบ่อยครั้ง ปัญหาดังกล่าวยังคงตกทอดมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 5 มีการยกเลิกตำแหน่งวังหน้าและสถาปนาตำแหน่งมกุฎราชกุมารขึ้นแทน สมัยรัชกาลที่ 6 กฎเกณฑ์การสืบราชสมบัติได้รับการปฏิรูปให้มีความชัดเจนแน่นอนมากขึ้นด้วยการประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 การประกาศใช้กฎมณเฑียรบาลสะท้อนให้เห็นความกังวลของรัชกาลที่ 6 ต่อปัญหาใหญ่หลวงที่อาจนำหายนะมาสู่ราชตระกูลและราชอาณาจักรอันเนื่องจากการที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเลือกและแต่งตั้งรัชทายาทไว้ก่อนสวรรคต ซึ่งอาจทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจและราชสมบัติเหมือนในอดีต รวมทั้งเป็นการป้องกันพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีข้อบกพร่องสำคัญมิให้อยู่ในเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์[1] อย่างไรก็ตาม ตลอดทั้งสามรัชกาลในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  คือ จากร. 5 ถึง ร.7 ก็ยังคงเกิดความตึงเครียดในราชสำนักทุกครั้งในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนรัชกาล นอกจากนั้นผู้มีอำนาจในการกำหนดการสืบราชสันตติวงศ์ก็เป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆไม่กี่คนในราชสำนักเท่านั้น

          ปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้รับการแก้ไขสำเร็จลุล่วงโดยคณะราษฎร ด้วยการเปลี่ยนให้อำนาจส่วนนี้มาอยู่ที่รัฐสภา เมื่อคณะราษฎรก่อการปฏิวัติ 2475 ล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนมาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญและจำกัดอำนาจกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การปฏิวัติก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลักการพื้นฐานจากอำนาจสูงสุดเป็นของกษัตริย์มาเป็นของประชาชน และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ครั้งใหญ่  กล่าวคือ นอกจากจะต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 แล้ว ยังต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกด้วย

          รัฐธรรมนูญสามฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 (มาตรา 4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475(มาตรา 9) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2489(มาตรา 9) บัญญัติให้การสืบราชสันตติวงศ์ต้องเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา(รัฐธรรมนูญสองฉบับแรกบัญญัติให้มีสภาเดียวคือสภาผู้แทนราษฎร จึงถือว่าสภาผู้แทนราษฎรก็คือรัฐสภา) พระมหากษัตริย์สองพระองค์แรกที่ได้ขึ้นครองราชย์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภา คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ดังกล่าวยังคงได้รับการสืบทอดในรัฐธรรมนูญต่อมาอีกหลายฉบับ จนกระทั่งภายหลังการรัฐประหารของ รสช. ก็ถูกปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้งในรัฐธรรมนูญ 2534(มาตรา 20  และมาตรา 21 ) และกฎเกณฑ์นี้ยังคงใช้เรื่อยมาในรัฐธรรมนูญ 2540(มาตรา 22 และมาตรา 23 ) และรัฐธรรมนูญ 2550 (มาตรา 22 และมาตรา 23 ) กล่าวคือ การสืบราชสมบัติให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้วก็ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ เพื่อให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อ”รับทราบ ส่วนกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ก็ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้ความ “เห็นชอบ”

          อย่างไรก็ตาม กฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้แล้วรัฐสภามีหน้าที่เพียงรับทราบเท่านั้น และแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และมีกษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งการเลือกหรือให้ความเห็นชอบผู้ใดขึ้นเป็นประมุขแห่งรัฐล้วนเป็นอำนาจของรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังพยายามก้าวไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อีกทั้งมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงควรจะได้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่าสถาบันรัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกรัฐสภาทั้งหลายมีบทบาทอย่างไรในการอภิปรายถกเถียงและลงมติเลือกพระมหากษัตริย์

 

การขึ้นครองราชย์ของพระองค์เจ้าอานันทมหิดลโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร
          หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นปกครองประเทศสยามแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิธิราชย์ ทำให้กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่คณะราษฎรบริหารประเทศได้เพียงปีเศษก็เกิดกบฏบวรเดชซึ่งเป็นการโต้กลับของฝ่ายเจ้าและขุนนางระบอบเก่า หรือเป็นผลสืบเนื่องจากความขัดแย้งของระบอบเก่ากับระบอบใหม่ ได้แก่ ความขัดแย้งเรื่องการตั้งสมาคมคณะชาติ ปัญหาเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจ การทำรัฐประหารของพระยามโนปรกรณ์นิติธาดาโดยการออกพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จนถึงการรัฐประหารของพระยาพหลพลพยุหเสนาและคณะเมื่อ 20 มิถุนายน 2476 และประเด็นสำคัญที่สุดคือ ข้อโต้แย้งเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชสงบลงความสัมพันธ์ระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ก็เสื่อมทรามลง เกิดข้อสงสัยในบทบาทของรัชกาลที่ 7 ต่อกบฏบวรเดช ระหว่างที่เกิดกบฏบวรเดช ทรงประทับอยู่ที่หัวหิน แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็เสด็จด้วยเรือเร็วไปประทับที่สงขลาซึ่งเป็นจังหวัดใกล้พรมแดนมลายู รัฐบาลพยายามกราบบังคมทูลเชิญเสด็จกลับพระนครก็ไม่สำเร็จ ทรงประทับที่สงขลานานถึงสองเดือนจนเสด็จกลับในเดือนธันวาคม รวมทั้งปรากฏหลักฐานทางทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ว่ารัชกาลที่ 7 พระราชทานเงินให้แก่พระองค์เจ้าบวรเดชสองแสนบาท[2]

หลังจากเสด็จกลับจากสงขลาเพียงเดือนเดียวรัชกาลที่ 7 ก็เสด็จไปรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ และใช้เวลาขณะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อรองขอเพิ่มพระราชอำนาจ แต่เมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองจนเป็นที่พอพระทัยได้พระองค์จึงมีพระราชประสงค์ที่จะสละราชสมบัติ รัฐบาลรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมากต่อการที่พระองค์อาจจะสละราชสมบัติจึงส่งคณะผู้แทนไปเจรจาแต่ไม่เป็นผล ทรงสละราชสมบัติเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้นำเสนอเรื่องการสละราชสมบัติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเลือกพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว รัฐบาลจึงได้ออกคำแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบถึงที่มาที่ไปโดยสังเขป และสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติว่า[3] 

“...ทรงขอร้องต่อรัฐบาลหลายประการ ในประการที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ได้จัดสนองพระราชประสงค์เท่าที่จะจัดถวายได้ ในส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอันนอกเหนืออำนาจที่รัฐบาลจะจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ ...รัฐบาล...ได้พยายามทุกทางจนสุดความสามารถที่จะทานทัดขัดพระราชประสงค์มิให้ทรงสละราชสมบัติ แต่ก็หาสมตามความมุ่งหมายไม่”

 

ต่อไปนี้คือการอภิปรายและการลงมติเลือกพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

         

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 33/2477(สามัญ) สมัยที่ 2 (ประชุมวิสามัญ) วันที่ 6-7 มีนาคม พ.ศ. 2477 รัฐบาลเสนอเป็นญัตติด่วนและขอให้สภาผู้แทนราษฎรประชุมลับ เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละพระราชสมบัติ และการเลือกตั้งพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ รัฐบาลโดยพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ทำจดหมายแจ้งสภาผู้แทนราษฎรว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติเมื่อ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 โดยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลได้โทรเลขแจ้งข้อความในพระราชหัตถเลขามาโดยละเอียด รัฐบาลจึงขอส่งคำแปลโทรเลข พร้อมสำเนาหนังสือและโทรเลขที่เกี่ยวข้องมาให้สภาผู้แทนพิจารณาเรื่องการสละราชสมบัติต่อไป[4]

เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางและรับทราบเรื่องการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว[5] ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ต่อไป แต่ก่อนหน้าที่จะเริ่มพิจารณาเรื่องกษัตริย์พระองค์ใหม่อย่างจริงจัง พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรโทรเลขไปแสดงความอาลัยของสมาชิกสภาต่อรัชกาลที่ 7 [6] แต่พระพินิจธนากร ผู้แทนจังหวัดเชียงใหม่ ไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า[7]

...ในฐานที่ข้าพเจ้าเป็นสมาชิกและเป็นผู้แทนราษฎรผู้หนึ่งก็อยากจะได้กราบเรียนถึงความจริงใจ ก็เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติด้วยพอพระทัยเช่นนี้แล้ว เราจะไปวิงวอนและโทรเลขไปดังที่ท่านผู้แทนสกลนคร และผู้แทนจังหวัดสตูลนั้นทำไมกัน...

          ท่านบอกให้โทรเลขเสียใจอะไรกัน

ข้าพเจ้าคัดค้านในเรื่องนี้... ข้าพเจ้าเห็นไม่เป็นการสมควรที่จะโทรเลขไปเสียใจอะไรให้เสียอัฐเปล่าๆ โทรเลขทุกคำที่มีไปเงินไปตกอยู่แก่ต่างประเทศ ...เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องพูดถึงในเรื่องนี้ เราพูดในฐานสมาชิก ข้าพเจ้าขอแสดงความรู้สึกอย่างจริงใจทีเดียว ในชีวิตของเราจะหาโอกาสเช่นนี้ยาก เพราะฉะนั้นเหตุใดที่จะแสดงความเสียใจ ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบเลย เหตุผลที่ข้าพเจ้าคัดค้านว่าไม่ควรจะแสดงความเสียใจนั้น ข้าพเจ้าจะได้กราบเรียนดังต่อไปนี้ เราไม่มีโอกาสจะได้พบโอกาสเช่นนี้เลย โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราได้มีเงินสำหรับส่วนพระองค์...

 

แต่ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวตัดบทว่า “ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่จำเป็นต้องอธิบายต่อไป” หลังจากนั้นผู้ทำการแทนประธานสภาฯก็ให้ลงมติ ในที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ลงมติให้ประธานสภาฯ ส่งโทรเลขไปแสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การเลือกพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ โดยพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง กล่าวแถลงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า[8]

ผู้ที่จะสืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาลตามที่สมเด็จกรมพระนริศฯ[9]ได้ทรงสืบสวนแล้ว ได้แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลาฯ ซึ่งได้สิ้นพระชนม์แล้ว กับมีพระราชโอรส คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้นเป็นผู้สืบราชสันตติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ตามกฎมณเฑียรบาล...

 

ขณะที่ พระยาพหลพลพยุหเสนา  นายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  “ที่รัฐบาลเสนอพระองค์แรก  คือ  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สภาฯนี้จะรับหรือไม่รับ”[10]

แต่ น.ต.หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. ชี้แจงว่า[11] รายนามที่แจกให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นบัญชีรายนามที่จัดทำขึ้นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังซึ่งเป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ และได้รับการตรวจสอบและรับรองว่าถูกต้องแล้วโดยผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ รัฐบาลปฏิบัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวังเสนอรายนามผู้ซึ่งควรจะมีสิทธิตามกฎมณเฑียรบาลนั้นลดหลั่นกันลงไป “เพราะฉะนั้นลำดับที่ควรจะเป็นอย่างไรนั้นได้ดำเนินตามกฎมณเฑียรบาล หาใช่ฝ่ายรัฐบาลเสนอขึ้นไม่”

          หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ กล่าวเสริมว่า[12] ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 9 การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร เป็นหน้าที่ของเสนาบดีที่จะอัญเชิญเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์องค์ที่ 1 ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา 8 ของกฎมณเฑียรบาลขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ ซึ่งเจ้านายเชื้อพระวงศ์ลำดับที่ 1 คือ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล แต่ถ้าสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบกับลำดับที่ 1 ก็ให้พิจารณาลำดับที่ 2 ต่อไปตามลำดับ




[1] คำปรารถ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์(ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 41, ตอน 0, 12 พฤศจิกายน พ.. 2467)
        [2] คำพิพากษาศาลพิเศษ พ.ศ. 2482 เรื่องกบฏ, กรมโฆษณาการ, หน้า 30.
        ขณะที่หลักฐานจากฝ่ายเจ้า โดยหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้บันทึกไว้ตรงกันว่า รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานเงินจากพระคลังข้างที่ให้กับพระองค์เจ้าบวรเดชจำนวนสองแสนบาท(พูนพิศมัย ดิศกุล, 2543 : 126-127)
        [3] คำแถลงการณ์ของรัฐบาล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1337-1338.
        [4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 ถึง ครั้งที่ 34 สมัยสามัญ สมัยที่สอง,เล่ม 2, 12 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 2242-2244.
        [5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2244-2328.
        [6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2329.
        [7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2329-2331.
        [8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2328-2329.
        [9] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์
        [10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2331.
        [11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2331-2332.
        [12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2332-2333.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น