บทความโดย ใบตองแห้ง
อ่านข่าวคนขับรถท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ออกพูดเรื่องนายถูกข่มขู่ แล้วอดไม่ได้ที่จะคิดถึงใครคนหนึ่ง ที่ถูกข่มขู่อยู่เนืองๆ เมื่อสถานการณ์การเมืองร้อนระอุ เขาคือประสงค์ สุ่นศิริ ผู้ถูกทุบรถ ถูกอะไรต่อมิอะไรหลายอย่าง จนขี้เกียจจำ จำได้แต่ว่าทุกครั้งที่จะออกมาไล่รัฐบาล ประสงค์เป็นต้องถูกข่มขู่เอาฤกษ์เอาชัย ทั้งที่ได้ฉายาซีไอเอเมืองไทย (ซีไอเอโดนขู่ อย่างนี้มีแต่ในประเทศไทย)
ให้บังเอิ๊ญ ท่านวสันต์ท่านก็ออกมามี “บทบาททางการเมือง” ครั้งแรกในคดีที่เจ้าของฉายา “ปีศาจคาบไปป์” ถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคดีซุกหุ้นฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งตอนนั้นผมก็ชูสองมือเชียร์ท่านสุดใจ ท่านพูดถูกครับ ตุลาการต้องตัดสินคดีไปตามเนื้อผ้า ต้องไม่เอาประเด็นทางการเมือง อคติ สุคติ มาชี้นำ เป็นห่วงเป็นใยว่าถ้าทักษิณผิดแล้วจะไม่มีใครบริหารประเทศ
คดีซุกหุ้นคือต้นกำเนิดของ “ตุลาการภิวัตน์” ซึ่งต่อมาอีกฝ่ายก็เอามาใช้ คิดว่าถ้าไม่เอาทักษิณให้ตาย ประเทศชาติจะพินาศฉิบหาย
ท่านวสันต์น่าจะเข้าใจดี และน่าจะยืนหยัดหลักที่ท่านพูดไว้
ท่านวสันต์ยังเป็นฮีโร่สำหรับผม เมื่อครั้งวิกฤติตุลาการปี 2534 ที่ท่านเป็นโฆษกฝ่าย “กบฎ” คัดค้าน อ.ประภาศน์ อวยชัย รมว.ยุติธรรม เข้ามาแทรกแซงอิสระของฝ่ายตุลาการ ในการแต่งตั้งประธานศาลฎีกา มองย้อนหลังไปอย่างไรผมก็เห็นว่าท่านทำถูกต้อง ท่านปกป้อง “ประชาธิปไตย” ของผู้พิพากษา ในการเลือกคนที่ “ประชานิยม” เอ๊ย “ผู้พิพากษานิยม” เข้ามาเป็นประธานศาลฎีกา
กรณีนี้ “กบฎตุลาการ” ไม่ได้รบกับนักการเมืองนะครับ แต่รบกับ อ.ประภาศน์ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ใครๆ ก็เคารพนับถือ ไม่ใช่นักการเมืองเลวชั่วมาจากไหน ท่านเป็นคนดี แต่คิดแบบ “อำมาตย์” คือมองว่าคนที่ “ประชานิยม” เอ๊ย “ผู้พิพากษานิยม” ไม่ใช่คนดี แล้วท่านก็พยายามใช้อำนาจสกัดกั้นสิทธิอิสระของตุลาการ จึงถูกผู้พิพากษารุ่นหนุ่มสมัยนั้นต่อต้าน ทั้งท่านวสันต์ ท่านจรัญ ภักดีธนากุล ท่านวิชา มหาคุณ ฯลฯ ร่วมกับท่านอุดม เฟื่องฟุ้ง ซึ่งท่านวสันต์ก็เจอวิบากกรรมจนถูกโยกย้าย
กาลเวลาพิสูจน์ว่า อ.ประภาศน์มองถูกบางเรื่อง แต่ “กบฎตุลาการ” ก็ต่อสู้ในเรื่องหลักการ ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล หลักความเป็นอิสระ ของ ก.ต.ที่มาจากการเลือกตั้ง (1 คน 1 เสียง ฮิฮิ) “อำมาตย์” จะมาแทรกแซงไม่ได้
แต่ถ้าจะมีอะไรที่ผมไม่เห็นด้วยกับท่านวสันต์ ก็คือตอนที่ท่านผ่านการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเข้ามาแคนดิเดทเป็น กกต.แล้วไม่ยอมแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อวุฒิสภา โดยย้อนว่าทำไมต้องแสดง ในเมื่อวุฒิสภาก็ไม่ได้เหนือกว่าท่าน องค์กรอิสระที่วุฒิสภาเลือกก็มีปัญหามากมาย
ผมเชื่อนะว่าท่านไม่มีลับลมคมนัยอะไรจะต้องไปปกปิดบัญชีทรัพย์สิน แต่ท่านหยิ่งในศักดิ์ศรี ไอ้พวก ส.ว.ที่ชาวบ้านจน เครียด กินเหล้า เลือกเข้ามาเนี่ย มันบังอาจจะมาบังคับให้ตุลาการผู้สูงส่งอย่างท่านเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้อย่างไร
เอ้อ วุฒิสภาชั่วดียังไงก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชนครับ ท่านไม่ได้แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ “คนชั่ว” แต่ท่านต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อองค์กรที่ทำหน้าที่แทนประชาชน โดยส่วนตัว ท่านอาจเป็นคนดีเลิศประเสริฐศรีกว่า ส.ว.ทั้งหมดในสภา แต่เมื่อท่านจะเข้ามาทำหน้าที่ ท่านก็ต้องเคารพองค์กรที่มาจากการเลือกตั้ง
แบบเดียวกันที่ อ.ประภาศน์ต้องเคารพมติ ก.ต.ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ อ่อนด้อยมาจากไหน แต่นั่นคือองค์กรที่ได้รับมอบอำนาจมาจากผู้พิพากษา
หลังท่านชัช ชลวร ลาออก ท่านวสันต์ได้รับเลือกให้เป็นประธาน อย่างน่ากังขาว่าตำแหน่งนี้เปลี่ยนได้ด้วยหรือ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้โปรดเกล้าฯ ประธานพร้อมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แบบตุลาการศาลปกครองสูงสุด หรือบางองค์กร ที่เป็นตุลาการก่อนแล้วค่อยเป็นประธานอีกครั้ง
แต่เอาเถอะ ไม่มีใครยื่นตีความ ท่านวสันต์ก็กลายเป็นประธานที่มีสีสันที่สุด นับแต่ก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญมา แหม จะไม่มีสีสันได้ไง ก็เล่นวลี “สีทนได้” สมแล้วที่เป็นรุ่นน้องของ “ซ้ายที่แปด” เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ (คอยดูซักวันท่านจะเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนเป็นบทกวี เอ๊ะ หรือจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษหว่า)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนท่านให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ชะอำ อ่านแล้วมันส์มาก
“ผมก็ทำอาชีพด้านกฎหมายนี้มา 44 ปี แล้ว แต่ก็นึกขำและตลกอยู่เหมือนกัน ที่คนที่ไม่รู้กฎหมายมาสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ ซึ่งโทรทัศน์หลายช่องเชิญนักวิชาการมารุมถล่มศาลรัฐธรรมนูญสถานเดียว ผมไม่ได้โกรธเคืองอะไร แต่ขำและแปลกใจเท่านั้น เมื่อพิธีกรถามนักวิชาการในเรื่องของเนื้อหากลับงง และตอบหน้าตาเฉยว่ายังไม่เห็นคำร้อง แต่ด่าได้เป็นฉากๆ”
ใครหว่า ไม่รู้กฎหมายมาสอนกฎหมายรัฐธรรมนูญทางโทรทัศน์ ผมเห็นแต่เจษฎ์ โทณะวณิก จบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา วิเคราะห์กฎหมายมหาชนเป็นคุ้งเป็นแคว นักวิชาการส่วนใหญ่เขาไม่ได้พูดเรื่องคำร้องนะครับ เขาวิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาต่างหาก เขาบอกว่ารัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ จึงไม่เข้ามาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญต่างหากที่ไม่มีอำนาจ
แต่ท่านก็ยังบอกอีกว่า “เราก็ไปดูในตัวร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เตรียมจะโหวตในวาระ 3 ซึ่งดูแล้วเป็นไปได้เหมือนกัน (ที่จะล้มล้างฯ) เพราะรัฐสภาชุดนี้ขายขาดไม่รับคืน โยนกลองไปให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ”
ฟังแล้วงงดี แบบนี้รัฐธรรมนูญ 40 ก็ขายขาดไม่รับคืน แถมท่านยัง “สะบัดธง” (ไม่ใช่ฟันธง) ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะผิด ซึ่งทำให้มีเสียงตอบโต้เซ็งแซ่ว่า ท่านทำผิดจริยธรรม แหม แต่ใครจะไปกล้าตีความ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะส่งให้ใครตีความ
กระนั้น คนรักเท่าผืนเสื่อคนชังเท่าผืนหนัง ไม่จีรังทุกสรรพสิ่ง คนชอบท่านก็เยอะเหมือนกัน จิ๊กโก๋แถวบ้านบอกว่าท่านพูดได้ชัดเจนดี ปากกับใจตรงกัน ต้องอย่างนี้สิ นักเลง ไม่มีอ้ำอึ้ง
“แล้วตกลงที่บอกว่าล้มล้างการปกครองก็ยังไม่เห็นมีใครออกมาปฏิเสธว่ามีความคิดแนวนี้หรือไม่ ไม่เห็นมีใครปฏิเสธสักคำ เป็นคู่ความประสาอะไรมิทราบ โจทย์ฟ้องจำเลยแทนที่จำเลยจะไปสู้คดีกับโจทย์แต่กลับมาสู้กับศาลฯ ไม่รู้ว่าสภาทนายความสอนแบบนี้หรือ แล้วจะชนะความได้อย่างไร และการที่รับคำร้องเพราะรับไว้เพื่อพิจารณาว่ามีหลักฐานอะไรที่จะพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ก็ยังไม่ได้บอกว่าใครจะแพ้จะชนะ ก็ดันจินตนาการ ฝันเฟื่อง ว่าอำมาตย์สั่งให้ยุบพรรครอบสองรอบสาม”
โห ท่อนนี้ได้ใจเด็กเกรียนได้เสียงกรี๊ดไปเต็มๆ ครับ โดยเฉพาะที่ทิ้งท้ายว่า “ผมเป็นคนไม่อาฆาตใคร แต่ค่อนข้างที่จะลืมยาก” จิ๊กโก๋แถวบ้านตีความว่า “ลงบัญชีไว้แล้ว เดี๋ยวเช็คบิลระนาว” มันยังยุส่งว่านี่ถ้าท่านตัดสินให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างระบอบฯ ถอดถอนกราวรูด 461 ส.ส. ส.ว.ล้มรัฐบาลและรัฐสภาทั้งระบอบ ก็น่าถอดเสื้อเบ่งกล้ามทำหน้าถมึงทึง จะสะใจเป็นที่ซู้ด
ผมเลยตบหัวมันบอกว่า เฮ้ย นั่นมันมาริโอ บาโลเตลลี นี่ตุลาการนะไม่ใช่ตุลาเกรียน (แต่ขนาดนั้น เว็บไซต์บางแห่งก็ดันเอาภาพท่านไปเปรียบเทียบกับ ดอน จมูกบาน เวงกำ!)
ในช่วงเดียวกัน สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญก็ไป “วางบิล” เอ๊ย ยื่นถอนประกันจตุพร พรหมพันธุ์ ทำให้นักกฎหมายงงกันเป็นแถบว่าใช้อำนาจอะไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีก่อการร้าย แค่จตุพรวิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถส่งคำร้องถึงศาลอาญา ขอถอนประกันจตุพรได้เชียวหรือ
จะบอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร ก็ไม่ใช่ เพราะยังไม่ได้วินิจฉัย หรือจะบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิร้องสอด ร้องแทรก ร้องแส่ ฯลฯ
ถ้างั้นต่อไปนี้ จตุพร หรือจำเลยคดีอาญาคนอื่นๆ ไปเคลื่อนไหววิพากษ์วิจารณ์องค์กรอิสระ กกต.ปปช.กสม. ฯลฯ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือแม้แต่ตัวบุคคล ทุกคนทุกหน่วยก็สามารถยื่นคำร้องถึงศาลอาญา ขอถอนประกันได้ใช่ไหมครับ
สมมติเช่น สนธิ ลิ้ม อยู่ระหว่างประกันตัวคดีโกงแบงก์กรุงไทยติดคุก 85 ปี ไปวิจารณ์องค์การสวนสัตว์ ปลุกมวลชนขู่ล่าชื่อถอดถอน ผอ.องค์การสวนสัตว์ องค์การสวนสัตว์ก็น่าจะเลียนแบบศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนประกันสนธิ ลิ้ม มั่ง
ถ้าองค์การสวนสัตว์ยื่นคำร้องขอถอนประกันสนธิ ศาลจะรับไปไต่สวนไหม อธิบดีศาลอาญาจะออกมาพูดไหมว่า “ในข้อเท็จจริงแล้วแม้องค์การสวนสัตว์จะไม่ใช่คู่ความ แต่คำร้องที่องค์การสวนสัตว์ยื่นมานั้น มีผลกระทบต่อสังคมและพฤติการณ์ของนายสนธิตามที่ร้องมา ก็มีการเผยแพร่ออกทางสื่อมวลชน ที่สามารถเห็นและรับรู้ได้ เป็นกรณีที่เห็นชัดแจ้งในสังคม และเข้าข่ายข้อกำหนดในการประกันตัว ถึงองค์การสวนสัตว์ไม่มีคำร้องมา ศาลอาญาก็มีสิทธิเรียกตัวมาสอบสวนได้ และการพิจารณาเรื่องการถอนประกันนั้น ก็ไม่ได้นำประเด็นจากเอกสารองค์การสวนสัตว์มาเป็นประเด็นพิจารณาหลัก แค่ใช้เป็นส่วนประกอบเท่านั้น”
แหม ฟังแล้วปวดหัว ไม่รู้องค์การสวนสัตว์ต่างจากศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร จิ๊กโก๋แถวบ้านมองว่าองค์การสวนสัตว์ไม่มีอำนาจบารมี แถมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ 8 ใน 9 คน ยังมาจากตุลาการศาลยุติธรรม (แม้บางคนเลี้ยวมาจากศาลปกครอง) เคยเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในศาล มีลูกศิษย์ลูกหา ลูกน้อง อดีตผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่มากมาย แถมการที่ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์ ยังกระทบต่อภาพลักษณ์ ศักดิ์ศรี ความศักดิ์สิทธิ์ ของสถาบันตุลาการโดยรวม
ใช่ไม่ใช่ ท่านก็คงต้องชี้แจงพวกเอาจิตใจต่ำช้ามาวัดจิตใจวิญญูชนหน่อยละครับ
จอดป้ายไหนดี
ในขณะที่ใครต่อใครวิเคราะห์กันอื้ออึงว่าตุลาการจะวินิจฉัยอย่างไร จะสั่งให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับผิดมาตรา 68 หรือไม่ ผมว่าพวกท่านก็คงหนักใจอยู่เหมือนกัน ว่าจะหาทางลงแบบไหน
คือถ้าจะเอาเรื่องไร้สาระมาเป็นข้ออ้างล้มล้างรัฐบาลและรัฐสภา โดยมีอดีตสหายพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อดีตทหารปลดแอกประชาชนไทย มาเป็นบอดี้การ์ดระหว่างพิจารณา มันก็พิลึกกึกกืออยู่ นี่ศาลรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นศาลประชาชนโค่นล้มทุนนิยมให้พรรคคอมมิวนิสต์หรือไร
โห ถ้าศาลวินิจฉัยทันทีวันที่ 6 รัฐบาลล้มทั้งยืน รัฐสภาสิ้นสภาพ แล้วพวกบอดี้การ์ดหน้าโหลไชโยโห่ร้อง “พรรคคอมมิวนิสต์จงเจริญๆๆๆ ลัทธิมาร์กซ์-เลนิน จงเจริญๆๆๆ” คงดูไม่จืดเลย
ผมเชื่อว่าศาลท่านก็น่าจะรู้ดี ถ้าวินิจฉัยออกมาแบบนี้ก็นองเลือด เพราะพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลคงยอมไม่ได้ ต่อให้บอกว่าเลือกตั้งใหม่กี่ครั้งก็ชนะ แต่ชนะแล้วแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ใครมันจะยอมครับ
ถ้าชี้เปรี้ยงวันที่ 6 อันที่จริงก็จังหวะดี เพราะวันเสาร์ที่ 7 การเมืองต้องหยุด 1 วัน ห้ามรบกัน เพราะเป็นวันในหลวงเสด็จฯ ชลมารค รัฐบาลและรัฐสภายังไม่ทันตั้งตัว วันอาทิตย์ พันธมิตร สลิ่ม ปชป.อาจออกมายึดสนามบิน ยึดทำเนียบ เรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่จะล้มล้างระบอบฯ ตามคำวินิจฉัยของศาล (หรือเรียกร้องนายกพระราชทาน ให้ระคายเคืองเบื้องยุคลบาท) แต่ถ้ารัฐบาลและรัฐสภาตั้งหลักได้ ประกาศไม่ยอมรับคำสั่งศาล ระดมมวลชนเสื้อแดงทั่วประเทศ เข้ามายึดกรุงเทพฯ ยึดจังหวัดสำคัญ ยึดค่ายทหาร ยึดสื่อ ยึดสถานีดาวเทียม ยึดทรู ยึดแกรมมี่ ฯลฯ ระดมกำลังทหารแตงโม ตำรวจมะเขือเทศ เตรียมต่อต้าน คงรบกันแหลก
คำถามคือศาลรัฐธรรมนูญพร้อมจะรับผิดชอบไหม กับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีคนจำนวนไม่น้อยชี้ว่าท่านคือผู้จุดชนวน
อย่าลืมว่า การรับคำร้องมาตรา 68 ไม่ได้มีแค่นิติราษฎร์ หรือนักกฎหมายฝ่ายประชาธิปไตยที่คัดค้านนะครับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกันอย่างคุณสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต ปปช.ยังวิพากษ์ไม่มีชิ้นดี
ยิ่งพูดในหลักการและเหตุผล ก็ยิ่งเข้าตาจน ผมนึกภาพไม่ออกว่าตุลาการจะอธิบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการล้มล้างระบอบได้อย่างไร ในเมื่อจรัญ ภักดีธนากุล ก็พูดไว้ตอนดีเบตว่า รับไปก่อนแล้วค่อยแก้ โดยให้มี สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่แบบปี 2540 มาคราวนี้ พวกท่านจะกลับไปเชื่อสมคิด เลิศไพฑูรย์ ว่ามาตรา 291 ห้ามแก้ทั้งฉบับ อย่างนั้นหรือ
พวกท่านต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ว่าจะเชื่อจรัญ หรือเชื่อสมคิด หรือเชื่อเมียสมคิด (ฮา) (แหม น่าเสียดาย ข่าวล่าสุรพล นิติไกรพจน์ จะไปแทนซะแล้ว)
พวกท่านอธิบายไม่ง่ายนะครับ แม้แต่การห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 นักการเมืองเขาลากถูกันได้ แต่นักกฎหมายต้องมีหลัก สมมติท่านย้ำว่าห้ามแก้ แก้แล้วถือว่าล้มล้างระบอบฯ ก็จะมีคนโต้ว่า อ้าว ทีรัฐธรรมนูญ รสช.2534 ยังแก้ได้ หมวด 1 เพิ่มคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ระบอบนี้เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญ 2534 เองนะ ก่อนหน้านั้นเขาใช้คำว่า “มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”)
รัฐธรรมนูญ รสช.ยังไปแก้หมวด 2 ว่าด้วยการสืบราชสมบัติ ทั้งที่เนื้อหาเดิมตั้งแต่ฉบับแรก 59 ปี เขาให้รัฐสภา “เห็นชอบ” ทั้งสิ้น มีอย่างที่ไหน รัฐประหารแล้วยังบังอาจมาแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์
อะไรคือการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คำถามไร้สาระนี้ท่านต้องตอบให้ได้ เพราะระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สรุปได้ 2 อย่างเท่านั้นคือมีประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ (ตราบใดที่มีพระมหากษัตริย์ ก็ต้องเป็นประมุข) ส่วนอื่นๆ จะเป็นเหมือนอังกฤษ สวีเดน ฮอลแลนด์ ญี่ปุ่น สเปน ฯลฯ ก็เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น
ท่านจะอ้างอย่างเทพเทือกว่า พรรคเพื่อไทยจะตั้งประธานศาลฎีกาเองแบบระบอบประธานาธิบดี เทือกเป็นนักการเมืองพูดเหลวไหลอย่างไรก็ได้ ท่านเป็นนักกฎหมายพูดเลอะเทอะอย่างนั้นไม่ได้ ระบอบอเมริกาเขาให้ประธานาธิบดีเสนอชื่อตุลาการศาลสูงผ่านรัฐสภา แต่ระบอบอังกฤษยิ่งหนักกว่าเพราะรัฐมนตรียุติธรรมเป็นประธานศาลฎีกาโดยตำแหน่ง ไม่มีที่ไหนบัญญัติว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ห้ามอำนาจปวงชนเกี่ยวข้องกับประธานศาลฎีกา
อ้าง ก็ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลปกครองสูงสุด เขายังต้องผ่านการรับรองของวุฒิสภา เห็นอยู่ตำตา
ป้ายที่สอง ถ้าท่านจะตัดสินยกฟ้อง ไม่มีความผิด รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปได้ พวกทหารป่าก็จะโห่ฮาป๋า หาว่าพวกท่านเป็นมวยล้มต้มคอมมิวนิสต์ เกรียนสลิ่มจะผิดหวัง จิ๊กโก๋แถวบ้านจะบ่นอุบ ว่าไม่ต่างจากบาโลเตลลีกร่างไม่ออก โดนสเปนขยี้ 4-0 อุตส่าห์เอาวากันมาถึงขนาดนี้ จะกลายเป็นโดนด่าฟรี เพราะพวกเสื้อแดงต้องด่าอยู่ดีว่าทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญล่าช้า
ลงป้ายนี้ก็เสียศาล เอ๊ย เสียศูนย์เหมือนกันนะครับ
ป้ายที่สาม ถ้าท่านจะวินิจฉัยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้ แต่ไม่ถือเป็นความผิด ไม่ถอดถอนคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ให้ไปแก้ไขใหม่ นับหนึ่งใหม่ แก้เฉพาะมาตรา
ไอ้รัฐบาลขี้แขะขี้กลัวนี่มันคงจะยอมท่านหรอก แต่สมมตินะ สมมติ มีพวกยุแยงตะแคงรั่วเสนอให้แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญก่อน ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ หรือเปลี่ยนแปลงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เลือกตุลาการกันใหม่ คราวนี้ท่านจะทำอย่างไรละครับ เพราะถ้าท่านเข้าไปขัดขวาง เขาก็จะกล่าวหาว่าท่านมีผลประโยชน์ทับซ้อนนี่หว่า หวงเก้าอี้นี่หว่า ตุลาการผู้มีคุณธรรมจริยธรรมคงหน้าบาง ไม่กล้าเข้าไปยับยั้งหรอก คริคริ
ป้ายที่สี่ ถ้าท่านจะวินิจฉัยว่า แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ไม่มีหลักประกันว่าจะล้มล้างระบอบฯ ฉะนั้นก่อนลงประชามติ สสร.ร่างเสร็จ แทนที่จะให้ประธานสภาวินิจฉัย ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจข้อสอบก่อน
รัฐบาลขี้ขลาดก็คงจะยอมท่านอีกแหละ ซื้อเวลาต่อไป แต่คิดให้ดีนะครับ สสร.มาจากการเลือกตั้ง การแก้ไขแต่ละประเด็น ไม่ใช่จะรวบรัดเอาในเวลาสั้นๆ ต้องมีการหยั่งเสียงในสังคม ผ่านการถกเถียงทางสื่อ ทางเวทีสาธารณะ มีคนเห็นด้วยมากกว่าไม่เห็นด้วย จึงผ่านแต่ละประเด็นมาได้
สมมติเช่น จะแก้ไขที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่ง ให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สอง ให้สรรหาจากสัดส่วนต่างๆ เช่น ตุลาการ อาจารย์มหาลัย องค์กรทางสังคม ทางรัฐศาสตร์ ทางกฎหมาย มีที่มาหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ แล้วส่งชื่อให้วุฒิสภาเลือก
หรือถ้ามีข้อตกลงที่ตกผลึก เช่น การแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ให้ศาลเสนอผู้มีอาวุโสสูงสุด 3 ลำดับมาให้คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา แข่งกับคนนอกอีก 3 คน ที่มีข้อกำหนดว่าอย่างน้อยต้องเป็นศาสตราจารย์กฎหมายมา 5 ปี มีคุณสมบัติด้านต่างๆ ครบถ้วน มีการอภิปรายลับแล้วลงมติ ฯลฯ สังคมฟังแล้ว เออ เห็นด้วย เข้าท่าดี
ถามว่าตอนนั้นท่านจะไปขัดขวางเขาอย่างไร จะเอาตรงไหนไปชี้ว่าล้มล้างระบอบ
เฮ้อ คิดแล้วก็น่าปวดกบาลแทนนะครับ จะเลือกลงป้ายไหน ก็มีเด็กอาชีวะรออยู่ทุกป้าย ไม่น่าขึ้นรถเมล์มาเลย
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมขอยุส่งมั่ง เลือกทางไหนก็ได้ครับที่ให้มันจบเร็วๆ ขี้เกียจยืดเยื้อ ล้มโต๊ะไปเลย หรือไม่ก็ถอยไปเลย อย่างหลังยังพอจะด่ากลับได้ว่า เห็นไหม พวกจินตนาการ ฝันเฟื่อง ว่าอำมาตย๋ให้ยุบพรรครอบสองรอบสาม