Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ข้อหา‘กบฏ’ตัดวงจรปฏิวัติ

เรื่องจากปก จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ปีที่ 14 ฉบับที่ 3414 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 2 พฤศจิกายน 2012

 
“...ยังไม่ได้รับหมายเรียก และคงไม่สามารถเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาได้ เพราะเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้ง...”

เสียงปฏิเสธนิ่มๆจากแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสนธิ ลิ้มทองกุล
ปฏิเสธไม่ไปตามหมายเรียกของพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ที่นัดวันที่ 7 พ.ย. ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา “ยุยงให้ราษฎรเป็นกบฏ ยุยงทหารให้ก่อการปฏิวัติ และแสดงความคิดเห็นไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ”

ไม่ได้ถูกออกหมายเรียกคนเดียว แต่ยังมี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย ประธานองค์การพิทักษ์สยาม ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย

การเรียก 2 แกนนำฝ่ายต้านรัฐบาลเข้ารับทราบข้อกล่าวหาเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ที่ระบุว่า

ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

(1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

(2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ

(3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
การยุให้ทหารออกมายึดอำนาจ หรือการปลุกระดมมวลชนเพื่อทำการปฏิวัติประชาชน
ถือว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 113 เพราะเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้

การยุยงให้ทหารปฏิวัติ หรือการทำปฏิวัติประชาชน ยังน่าจะเข้าข่ายกระทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ระบุไว้ว่า

“บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้”

การเรียกร้องให้ทหารยึดอำนาจ ปลุกระดมทำปฏิวัติประชาชน

โดยมีเป้าหมายแช่แข็งประเทศ 5 ปี ไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาออกกฎกติกาประเทศใหม่ตามความต้องการ

น่าจะเข้าข่ายความผิดชัดเจนยิ่งกว่าเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องไว้พิจารณาก่อนหน้านี้

แก้รัฐธรรมนูญมีกฎหมายรองรับ

แต่การยึดอำนาจ ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ไม่มีกฎหมายรองรับ

การออกหมายเรียกผู้ที่มีความคิดอ่านไปในทางที่ไม่มีกฎหมายรองรับเพื่อให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา “กบฏ” ถือเป็นความท้าทายของผู้รักษากฎหมาย

จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานไม่ให้ใครออกมายุยงปลุกปั่นให้เกิดการยึดอำนาจเหมือนก่อนการยึดอำนาจเมื่อปี 2549

การประกาศว่าจะไม่ไปรับทราบข้อกล่าวหานับเป็นความท้าทายของผู้รักษากฎหมายว่าจะทำอย่างไรต่อไป

กล้าเดินต่อตามขั้นตอน คือออกหมายเรียกซ้ำหรือไม่ และหากไม่ไปจะกล้าออกหมายจับหรือไม่

แน่นอนว่าการแจ้งข้อกล่าวหายังไม่ถือว่าทำความผิดเพราะต้องต่อสู้คดีกันตามพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายมี

แต่การดำเนินคดีคนที่โหยหาการปฏิวัติ โหยหาอำนาจนอกระบบ โหยหาวิธีการนอกรัฐธรรมนูญล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ถือเป็นมิติใหม่ที่จะใช้กฎหมายต่อต้านการปฏิวัติได้ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น