บทความจาก ประชาไท
10 พ.ย.55 งานเสวนาวิชาการ ‘กลุ่มพลังประชาธิปไตยในช่วงเปลี่ยนผ่าน’ จัดโดยสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย มีผู้ร่วมอภิปรายได้แก่ ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ จากวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ , ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง คอลัมนิสต์อิสระ, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากภาคธุรกิจ
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับสังคมไทย เพราะหากพิจารณาดูตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีเพียงช่วงยาวที่สุด 14-15 ปีหลังรัฐประหาร 2534 - รัฐประหาร 2549 เท่านั้นที่ประชาชนได้เรียนรู้กับประชาธิปไตย ความคิดประชาธิปไตยไม่ได้ถูกหยั่งรากในสังคมมาก่อนเพราะถูกขัดจังหวะด้วยรัฐประหารตลอดเวลา นอกจากนี้ความพยายามสร้างประชาธิปไตยในปัจจุบันก็มีความแตกต่างในเชิงพื้นฐานกับการเคลื่อนไหวที่ต่อต้านรัฐในอดีต เช่น กบฏผีบุญ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เป็นขบวนการที่ปฏิเสธอำนาจรัฐหรือต้องการยึดอำนาจรัฐ แม้แต่สมัชชาคนจนก็มีกลิ่นอายปฏิเสธอำนาจรัฐสูง แต่การเคลื่อนไหวตอนนี้ไม่ได้ปฏิเสธอำนาจ หากแต่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐ
เขาชี้อีกว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือแนวทางการกระจายอำนาจ เป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ประชาธิปไตยของประชาชนในชนบท เพราะเป็นการกระจายทรัพยากรอย่างมหาศาลจากส่วนกลางสู่ชนบท ทำให้ชนบทได้มีโอกาสตัดสินอนาคตตัวเองจริงๆ ผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งเป็นผลพวงหลังการปฏิรูปการเมืองปี 2540 เมื่องบมหาศาลของ อปท.ผนวกกับนโยบายส่วนกลางช่วงทักษิณ ทำให้ประชาชนมี ‘HOPE’ หรือมีความหวังที่จะเปลี่ยนชนชั้นตัวเองภายในชั่วอายุคน และเมื่อเขาได้ลิ้มรสแล้ว เขาก็ไม่ยอมสูญเสียไป กลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘พลเมืองผู้ตื่นรู้’
เขากล่าวอีกว่า นี่คือ Third Wave หรือการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทย คลื่นลูกที่ 3 โดยในอนาคตอีก 10 ปี เศรษฐกิจไทยจะเติบโตมากเพราะเกิดการกระจายรายได้ คนทุกคนมีช่องทางทำมาหากิน สะสมทุนได้โดยไม่ต้องอาศัยรัฐส่วนกลาง แต่ชนชั้นเจ้านายรับแนวโน้มนี้ไม่ได้ จนเกิดปีรัฐประหารปี 49 เป็นการทำลายประสบการณ์ประชาธิปไตยของประชาชน ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่ามีกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ประชาธิปไตยในสังคมไทยและพยายามโค่นล้มฆ่าฟันพลังประชาธิปไตยไม่ให้เกิดขึ้น
กลุ่มปฏิปักษ์ประชาธิปไตย โดยพื้นฐานแล้วมี 3 กลุ่มใหญ่คือ ทหาร, นายทุน, เครือข่ายเจ้านาย ซึ่งกลุ่มหลังมีศูนย์กลางที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งรวมถึงกลุ่มเอ็นจีโอบางกลุ่ม เช่น กลุ่ม นพ.ประเวศ วะสี ด้วย ทั้งหมดถูกเชื่อมโยงและร้อยรัดด้วยเครือข่ายผลประโยชน์มหาศาล มีการศึกษาพบว่างบที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ทำให้คนกลุ่มนี้มีลักษณะแนวคิดปกป้องผลประโยชน์ตัวเองผ่านสิ่งที่เรียกรวมๆ ว่า ‘ความเป็นกษัตริย์นิยม’
“อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า พลังประชาธิปไตยจะชนะในท้ายที่สุด ในอนาคต 20-30 ปีเมื่อเราหันหลังมามองตอนนี้ ประวัติศาสตร์จะบันทึกถึงเรื่องชัยชนะของขบวนการประชาธิปไตย” ธนาธรกล่าว
ธนาธรระบุถึงเหตุผลที่ทำให้เชื่อเช่นนั้นว่า เพราะ 1.โครงสร้างสามส่วนที่ได้กล่าวไปนั้นอยู่ในวัยชราภาพ ตั้งอยู่บนขอนไม้ที่เก่าแก่ผุพัง ดูง่ายๆ ว่าอายุเฉลี่ยขององคมนตรีปัจจุบันอยู่ที่ 76.4 ปี และเขายังเห็นว่าฝ่ายอุดมการณ์กษัตริย์นิยมยากจะหาใครที่มีบารมีมาทดแทนพล.อ.เปรมได้ อีกทั้งผู้นำรุ่นใหม่ในเครือข่ายเหล่านี้ก็ไม่ได้เติบโตในระบบอุปถัมภ์ 2.พลวัตรด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและโลกาภิวัตน์ ทำให้กลุ่มนายทุนต่างๆ ในสังคมไทยไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งตราครุฑและเครื่องราชย์ ซึ่งต่างจากอดีตอย่างสำคัญ ผู้เล่นทางเศรษฐกิจที่สำคัญโดยไม่อิงอุดมการณ์กษัตริย์นิยมมีมากขึ้นเรื่อยๆ 3.กลุ่มทหารมีแรงบันดาลใจน้อยลง โดยเฉพาะความล้มเหลวของ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้นายทหารคนต่อไปที่คิดจะทำรัฐประหารต้องคิดหนักมากขึ้น
4.เครือข่ายทั้งสามมีเครื่องมือน้อยลงทุกวันในการหยุดยั้งเครือข่ายประชาธิปไตย เพราะการรัฐประหารก็ล้าหลังมาก แม้ไม่ใช่ไม่มีความเป็นไปได้ แต่จินตนาการยากมากว่ากลุ่มนายทหารจะบริหารประเทศอย่างไร, การยุบพรรคใช้บ่อยแล้วและไม่มีประสิทธิภาพ, สงครามมวลชน จะเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนองค์กรมาไม่รู้กี่องค์กรนับตั้งแต่ พธม. โดยแกนนำยังหน้าเดิม แต่เงื่อนไขนี้ยังประมาทไม่ได้, รัฐสภาก็หวังไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์แพ้หลุดลุ่ย
“ถ้าดูนโยบายประชาธิปัตย์จะเห็นว่าก็เป็นประชานิยมเช่นกันและเป็นนโยบายที่ไม่ขี้เหร่ด้วย แต่เหตุผลที่ประชาธิปัตย์แพ้ คือ ประชาธิปัตย์ไม่ได้แสดงให้ประชาชนเห็นว่ากำลังเดินไปสู่สัญญาประชาคมใหม่ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ในสังคมใหม่มีประชาชนที่เท่ากัน ไม่งอมืองอเท้ารอเจ้านาย และประชาชนยังมีข้อกังขาว่าพรรคนี้จะให้ชนชั้นล่างมีพลังทางการเมือง เข้าไปมีส่วนกำหนดนโยบายจริงหรือเปล่า” ธนาธรกล่าว
5.การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารเป็นไปได้ยากมาก แนวคิดว่าด้วยเรื่องสื่อมวลชนที่เรียนกันมาถูกทำลายด้วยเทคโนโลยีและการสื่อสารในอินเตอร์เน็ต ไม่มีทางถูกปิดกั้นประชาชนพลเมืองผู้ตื่นรู้ได้อีก
ธนาธรกล่าวด้วยว่า หลายคนอาจกังวลเรื่องการออกแบบรัฐธรรมนูญในช่วงต่อไปว่าจะเอาอะไรมาถ่วงดุลนักการเมือง จริงๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องมีพิมพ์เขียวในระยะนี้ก็ได้ว่าสังคมประชาธิปไตยไทยต้องมีหน้าตายังไง และปล่อยให้ขบวนการเหลาตัวมันเอง
ส่วนที่สำคัญที่ต้องการเน้นคือ เรื่องความรุนแรงของการเปลี่ยนผ่าน เขามองว่า ในสังคมสุดขั้วทางแนวคิดนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยต้องมีเลือดอีกหลายหยดแน่นอน เพราะอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่เราพูดถึงแตกต่างจากอำนาจจารีตอย่างสุดขั้ว อยู่ด้วยกันไม่ได้ การหาทางออกที่ไม่แตกแยกกันถึงที่สุดนั้นยังไม่เห็นคำตอบ ดังนั้น หน้าที่ของผู้รักประชาธิปไตยที่ต้องทำเพื่อการเปลี่ยนผ่านเป็น soft landing คือการทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้กับคนในวงกว้างขึ้น ทำความเข้าใจเรื่องนี้กับสังคม และยกเพดานการพูดประชาธิปไตยให้สูงขึ้น
อธึกกิต แสวงสุข หรือใบตองแห้ง ตั้งประเด็นว่า การรัฐประหารเป็นไปได้หรือไม่หลังมีการชุมนุมของกลุ่มพิทักษ์สยาม โดยมองว่า เงื่อนไขทางภววิสัยนั้นเป็นไปไม่ได้ โลกไปไกลมากแล้วและเห็นชัดว่าที่ผ่านมากระแสสังคมต้องการความสงบเพื่อทำมาหากิน ต้องการให้รัฐบาลบริหารต่อไปแม้ไม่พอใจ แต่คนที่คิดเรื่องรัฐประหารและมีศักยภาพในการล้มรัฐบาลก็ยังมีและประมาทไม่ได้ เพราะนี่คือเฮือกสุดท้ายก่อนเกิดการเปลี่ยนผ่านบางอย่าง และหากจะมีการล้มรัฐบาลจริงอาจไม่ใช่การรัฐประหารโดยตรงอย่างที่เคยเป็นมา แต่หวังเพียงเพื่อล้มรัฐบาลเพื่อครองอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญและก่อนมีการก้าวกระโดดใหญ่ทางเศรษฐกิจจากการเข้าสู่ AEC และการมีรถไฟความเร็วสูง ส่วนการการยุบพรรคอาจใช้ไม่ได้แล้ว สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ คือ การถอดถอนนายกฯ โดยอาจให้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เมื่อเรื่องคาวุฒิสภา ระหว่างนั้นนายกฯ ก็ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้
เขาวิเคราะห์ว่าหากถอดบทเรียนจาก 6 ตุลาจะเห็นว่ามีการนำด้วยพลังที่รุนแรงก่อนแล้วค่อยมีพระเอกของความเป็นกลางมาช่วยแก้ปัญหา เป็นลำดับขั้น ซึ่งรูปแบบนี้ก็ยังเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลก็ไม่ได้มีกลุ่มเสนาธิการที่จะตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างทันเหตุการณ์และตอบโต้ทางเนื้อหา การรับมือของรัฐบาลที่เป็นอยู่ก็เป็นรูปแบบไดโนเสาร์และไร้ประสิทธิภาพ เช่น การบอกว่าเขาขนคนจากไหน ขึ้นป้ายสนับสนุนรัฐบาลตามจังหวัดต่างๆ
“เขาแซวในเฟซบุ๊กว่า พรรคเพื่อถอย ไปแล้ว รู้สึกรัฐบาลจะกลัวมาก ไม่กล้าทำอะไรเลยเพราะคิดว่ารัฐประหารเป็นไปได้ ความกลัวมันทำให้เสื่อม และตอนนี้อาจเผชิญกับอาการเสื่อมศรัทธาในสายตาประชาชน” ใบตองแห้งกล่าว
เขากล่าวต่อว่า ประชาธิปไตยไทยก้าวต่อไปควรเป็นอะไร เราจะไปสู่การปกครองตนเองอย่างไร การกำกับดูแลระบบ สถาบัน นักการเมืองจะทำได้อย่างไร หากคิดแบบพยายามเข้าใจประชาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยก็จะเห็นข้อกังวลสำคัญว่า หากล้างระบบอำมาตย์ เช่น องค์กรอิสระที่ไม่มีที่มาจากประชาชน แล้วในการคานอำนาจรัฐบาล ตรวจสอบรัฐบาลจะทำอย่างไร นี่เป็นโจทย์ที่ต้องตอบให้ละเอียดกับสังคม
ประภาส ปิ่นตบแต่ง กล่าวว่า สำหรับเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญนี้ จะเห็นกลุ่มพลังทางการเมืองที่ผลักประชาธิปไตยไปใน 2 ทิศทาง คือ 1.ประชาธิปไตยเต็มใบ ซึ่งยังมีปัญหาเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น 2.กลุ่มพลังคนชั้นกลางที่เน้นการตรวจสอบอำนาจรัฐ แต่ข้อเสนออาจเลยเถิดไปกระทั่งเรียกร้องอำนาจนอกระบบ ซึ่งเราไม่อาจยอมรับได้ในแง่หลักฐานพื้นฐาน
ประภาสยังกล่าวถึงภาคประชาชนส่วนอื่น คือ ชาวบ้านกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเขามองว่าก็เป็นการพยายามขยายประชาธิปไตยแบบตัวแทน ทำให้คนเล็กคนน้อยสามารถใช้พื้นที่การเมืองได้ด้วยเช่นกัน แน่นอนว่ามีบางส่วนของภาคประชาชนที่ไปสนับสนุนพลังนอกระบบซึ่งก็ต้องว่าเป็นรายกลุ่มไป อย่างไรก็ดี การมองกลุ่มพลังทางการเมืองในช่วงหลัง เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่พูดถึงการปรากฏตัวของ ‘คนเสื้อแดง’ แต่กลับเป็นสิ่งที่สังคมไทยอาจไม่ตระหนักกัน กลุ่มคนเสื้อแดงจะเป็นพลังที่สำคัญที่จะคัดคานกับอำนาจนอกระบบ คนกลุ่มนี้เข้ามาสนับสนุนพรรคการเมือง นักการเมือง เป็นส่วนหนึ่งของการเมือง เพราะการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา ทำให้ชีวิตเขาพออยู่ได้ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ฉะนั้น การเลือกตั้งจึงมีความหมายกับผู้คนมากขึ้นอย่างมาก ส่วนเรื่องการซื้อเสียง อย่างน้อยในพื้นที่ที่ตนศึกษาก็พบว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ซื้อเสียงกันแล้ว แต่ในระดับท้องถิ่นลงไปยังพบอยู่
ประภาสกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ยังรู้สึกว่ามวลชนเหล่านี้ยังมีลักษณะ “เคว้งคว้าง” อยู่ เนื่องจากกิจกรรมที่เกาะเกี่ยวในระดับพื้นที่นั้นห่างหายไป โดยเฉพาะหลังพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล น่าเสียดายที่ไม่ได้ทำให้คนเหล่านี้ได้เกาะเกี่ยวและสร้างการต่อรองมากขึ้น
สำหรับข้อเสนอนั้น ประภาสกล่าวว่า สำหรับประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง การแก้รัฐธรรมนูญมาตราสำคัญๆ ต้องทำแน่ แต่ขณะเดียวกันการตรวจสอบอำนาจรัฐก็ต้องให้คำตอบให้กับสังคมด้วยว่าจะทำย่างไรให้มีประสิทธิภาพกว่าที่ผ่านมา และจะให้ชาวบ้านได้เข้าไปใช้พื้นที่ทางการเมือง เข้าไปมีส่วนร่วมกับนโยบายสาธารณะอย่างไร
นอกจากนี้ประเด็นการสร้างพรรคมวลชนน่าจะเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณากันมากขึ้น ส่วนการกระจายอำนาจ ระบบตัวแทนท้องถิ่นเราก็พบว่ายังทำงานได้ไม่มากนัก ต้องพัฒนาต่ออย่างจริงจัง
“การพูดถึงประชาธิปไตยชุมชนในสายคุณหมอประเวศ ถ้าเราไม่โกรธจัดตอนเขาสนับสนุนรัฐประหาร เราก็จะเห็นมิติว่าเป็นการถ่ายโอนอำนาจตัวแทนไปอยู่ในมือประชาชนมากขึ้นเช่นกัน” ประภาสกล่าว
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวว่า วิธีการมองการเปลี่ยนผ่าน ถ้าเรามองแบบที่ทำกับระบบยุติธรรมก็จะพบว่า อะไรที่ทำไม่ได้ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอดีตนั้น แทนที่จะอธิบายแบบเดิมเกี่ยวกับจุดอ่อน ความล้มเหลวของส่วนต่างๆ ถ้ามองใหม่ว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ได้มีตัวแบบอันเดียวแบบยุโรป อเมริกา เท่านั้น การอธิบายว่าทำไมประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ไม่สำเร็จก็จะต้องพูดต่างออกไป ทุกวันนี้ไม่มีใครสามารถเป็นตัวแบบให้ใครได้เต็มที่อีกแล้ว การศึกษาประเทศต้นแบบไม่ใช่เพื่อเลียนแบบว่าเขามีอะไรบ้าง แต่เพื่อหาเหตุผลว่าทำไมจึงเป็นแบบนั้น ต้องดูประวัติศาสตร์ ที่มาของเขา การเคลื่อนไหวเขาเป็นอย่างไร ทำได้เพราะอะไร แล้วมาดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยด้วยว่าทำได้แค่ไหน
หากวิเคราะห์ 24 มิถุนายน 2475 ด้วยมุมมองนี้จะเห็นว่า ประชาธิปไตยตั้งแต่ 2475 ไม่ได้เริ่มต้นด้วยการเอาของใหม่ไปตั้งวางแทนของเก่าแล้วนับหนึ่งแบบที่เราเชื่อ หากดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยเปรียบกับเอเชียด้วยกันแล้วจะพบว่ามีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนคนอื่น ตรงที่ความต่อเนื่องของสถาบันดั้งเดิมมีอยู่สูงมาก สูงกว่าทุกประเทศในเอเชีย ไม่มีการถูกทำลายให้ขาดตอนเลย ในขณะที่ประเทศอื่นๆ นั้นขาดตอนกันไปตั้งแต่สมัยอาณานิคม มีการเปลี่ยนสถาบัน เปลี่ยนการปกครองในประเทศกันจนครึ่งหนึ่งเป็นตะวันตก ครึ่งหนึ่งเป็นของเดิม การสร้างประชาธิปไตยของประเทศเหล่านั้นจึงพูดถึงอนาคตอย่างเดียวไม่พูดถึงอดีต ขณะที่กรณี 24 มิถุนา ลองอ่านบันทึกของปรีดีก็จะเห็นชัดเจนว่าระบอบเก่าและใหม่ประนีประนอมกันอย่างแรง มันจึงไม่ได้เป็นการเริ่มต้นประชาธิปไตยแบบที่เราเข้าใจ โดยรากแล้วยังเป็นรากเก่าเกือบทั้งนั้น จนถึงทุกวันนี้ก็มีรากเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกัน ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ซึ่งระบบอุปถัมภ์ก็ไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด แต่เป็นธรรมเนียมระเบียบที่ควบคุมกันอย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่ไปแทรกแซงกฎระเบียบหลักตราบที่กฎหมายใหญ่นั้นไม่เบี้ยวมากเกินไป แต่เมื่อกฎหมายมันเบี้ยว คนก็เข้าหาระบบอุปถัมภ์ ทำให้ทฤษฎีการปกครองตนเอง เสียงข้างมาก แบบในยุโรปอเมริกาเป็นเพียงแต่นามธรรมสำหรับสถานการณ์ในบ้านเรา
ความยากลำบากของการสร้างระบบประชาธิปไตยในการเมืองไทยคือ ทำอย่างไรจะเอาความเป็นจริงที่เรารับมา ปรับเข้าความเป็นจริงที่เป็นอยู่ เพื่อไปสู่ความเป็นจริงที่อยากเห็น ส่วนว่าจะให้เป็นอย่างไร ประชาชนต้องช่วยกันตอบว่าจะเอาแค่ไหน เพราะมันจะโยงถึงกลไกที่จะใช้ ตะวันตกใช้ระบบกฎหมายและทำให้ระบบกฎหมายเป็นสถาบัน สำหรับของเราต้องไม่ให้เป็นนักการเมืองมาเป็นผู้ตัดสินว่าประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร ควรจะปกครองอย่างไร และต้องสร้างกลไกที่ควบคุมผู้เข้ามามีอำนาจด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น