Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คนดีอย่าง ร.ต.อภิสิทธิ์

เรื่องจากปก จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข  ปีที่ 8 ฉบับที่ 386 ประจำวัน จันทร์ ที่ 19 พฤศจิกายน 2012



“วันนี้เริ่มต้นที่ศาลปกครองก่อนเป็นขั้นแรก และถ้ามีใครไปยื่นเรื่องคุณสมบัติผมที่ศาลรัฐธรรมนูญ ผมก็ต้องไปชี้แจง ที่ศาลรัฐธรรมนูญว่าคำสั่งปลด ผมออกจากราชการนั้นเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนศาลรัฐธรรมนูญหรือศาล ปกครองถ้ารับเรื่องทั้งสองไว้จะ มีแนวทางอย่างไรว่าจะให้ศาลไหนเป็นผู้พิจารณา ต้องมาดูกันอีกที แต่สุดท้ายในเรื่องคุณสมบัติผมต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ”

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อนุมัติคำสั่งกระทรวงกลาโหมลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 ให้ปลดหรือให้ออกจากราชการว่า หากมีพฤติกรรมผิดวินัยทหารจริงก็ต้องดำเนินการภายใน 3 เดือน แต่ของตนผ่านมา 24 ปีแล้ว หรือจะทำให้เป็นกรณีแรกของประวัติศาสตร์ ที่สำคัญการปลดคนออกจากราชการแบบนี้ไม่สามารถทำได้ ซึ่ง พล.อ.อ.สุกำพล น่าจะทราบดี เพราะมีคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาที่เคยวินิจ ฉัยไว้แล้วตั้งแต่ปี 2551 อีกทั้งคำสั่งปลดให้ไปเป็นทหารกองหนุนก็เป็นไม่ได้ เพราะอายุเกินแล้ว

นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่า คำสั่งของกระทรวงกลาโหมตั้งใจสกัดกั้นหรือกลั่นแกล้งทางการเมือง เดิมตั้งเรื่องว่าหนีทหาร สุดท้ายจากคำสั่งที่ออกมาแสดงว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเห็นว่าตนเป็นทหารแล้ว ไม่อย่างนั้นจะปลดออกได้อย่างไร ประโยคที่เขาต้องการให้อยู่ในคำสั่งคือบอกว่าประพฤติทุจริต ประพฤติมิชอบในวงราชการ เพื่อปลดออก และมีการยื่นให้องค์กรต่างๆชี้ว่าขาดคุณสมบัติ เพื่อมาตีให้ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตกไป และการสอบของกระทรวงกลาโหมก็ทำอย่างเร่งรีบ น่าจะขัดกับกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้มอบอำนาจให้นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความ ยื่นฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพลต่อศาลปกครองกลาง ฐานกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีคำสั่งลงวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งศาลได้รับคดีไว้เพื่อพิจารณา และมีคำสั่งว่าจะรับฟ้องเพื่อมีคำพิพากษาต่อไปหรือไม่

คำสั่งกระทรวงกลาโหม

สำหรับรายละเอียดคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 ระบุว่าให้ปลดหรือให้ออกจากราชการ ร.ต.อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ได้กระทำความผิด ด้วยการนำเอกสารเท็จคือ ใบสำคัญ สด.9 ฉบับใบแทน ลงวันที่ 8 เมษายน 2531 (ซึ่งใช้แทนฉบับจริง ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2529 ที่อ้างว่าชำรุดสูญหาย) ไปขึ้นทะเบียนกองประจำการที่จังหวัดนครนายกเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 จึงถือว่านายอภิสิทธิ์กระทำการทุจริตประพฤติมิชอบ เป็นความผิดวินัยทหารอย่างร้ายแรงในการแจ้งความหรือใช้เอกสารอันมีข้อความเท็จต่อเจ้าพนักงานสัสดี และอนุมัติสั่งการให้เพิกถอนคำสั่งการบรรจุนายอภิสิทธิ์เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือน ตำแหน่งอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) เนื่องจากมีการปกปิดข้อความอันเป็นจริงเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายอภิสิทธิ์ คือการขาดการเกณฑ์ทหารเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2530 และไม่มีใบสำคัญทางทหารที่ถูกต้องในการบรรจุ

ดังนั้น คำสั่งบรรจุจึงมิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งเมื่อคำสั่งการบรรจุไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำสั่งการแต่งตั้งนายอภิสิทธิ์เป็นนายทหารสัญญาบัตรยศว่าที่ ร.ต. ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย จึงให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวต่อเนื่องกันไป

โดยคณะกรรมการรวบรวมข้อมูลเพื่อดำเนินการถอดยศและเรียกเบี้ยหวัดคืนจากนายอภิสิทธิ์ ประกอบด้วย พล.อ.ม.ล.ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน พล.อ.ชาญ โกมลหิรัญ เจ้ากรมเสมียนตรา พล.อ.ชัยรัตน์ ชีระพันธุ์ เจ้ากรมพระธรรมนูญ พล.ท.พอพล มณีรินทร์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อย จปร. เป็นกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการได้ทำหนังสือให้นายอภิสิทธิ์มาให้การหรือนำส่งเอกสารเพื่อเปิดโอกาสให้พิสูจน์ความถูกต้องของตน แต่นายอภิสิทธิ์บ่ายเบี่ยงและขอเลื่อนเวลามาให้การ และมิได้นำส่งเอกสารใดๆให้กับคณะกรรมการ จนกระทั่งพ้นกำหนดระยะเวลาให้ส่งเอกสารเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมการจึงลงมติตัดสินเป็นเอกฉันท์ในความผิดต่างๆของนายอภิสิทธิ์ และรายงานผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555

“เรืองไกร” ฟันดาบสองยื่น กกต.

นอกจากการออกมาตอบโต้ของพรรคประชาธิปัตย์ในรูปแบบต่างๆแล้ว ที่น่าสนใจคือ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ได้ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 เพื่อขอให้ประธาน กกต. ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 วรรค 3 โดยขอให้ กกต. ส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิก ภาพ ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ต้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรม นูญ มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (6) จากกรณีถูกปลดออกจากราชการตามคำสั่งกระทรวงกลา โหมหรือไม่ โดยแนบเอกสาร 1.สำเนาคำสั่งกระทรวง กลาโหมที่ 1163/2555 2.สำเนาข่าวที่เกี่ยวข้อง 3.สำ เนาคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 8/2549 และ 4.สำเนาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8211/2543

นายเรืองไกรกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ไม่สามารถร้องเรียนต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงกลาโหมได้ เนื่องจากเรื่องเกี่ยวกับวินัยทหารไม่ได้อยู่ในอำนาจที่ศาลปกครองจะพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรค 2 (1) ซึ่งบัญญัติ ชัดเจนว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องที่เกี่ยว กับวินัยทางทหารได้ แต่เป็นอำนาจของศาลยุติธรรม นอกจากนี้หากยึดตามแนวทางของศาลฎีกา การที่นายอภิสิทธิ์ถูกปลดออกจากราชการย่อมมีผลทันทีด้วย

นายเรืองไกรระบุว่า นายอภิสิทธิ์ใช้วิธีเดียวกับนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยสถานะ โดยใช้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 50 คน ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเหมาะสมกว่าการไปยื่นศาลปกครอง เนื่องจากมีข้อเท็จจริงกรณีการวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งศาลปกครองให้ความเห็นกรณีปลดออกในคำวินิจฉัย 8/2549 ว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจตามมาตรา 9 วรรค 2 (1) นอก จากนี้แนวทางในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8211/2543 ที่มีนายอภิชาต สุขัคคานนท์ เป็นหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษา ได้วางไว้ว่า กรณีถูกไล่ออก ปลดออก เมื่อคำสั่งออกมาแล้วและเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยการตั้งคณะกรรมการถือว่ามีผลใช้บังคับทันที

เตือน “อภิสิทธิ์” ยื่นเอกสารเท็จ

นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เตือนนายอภิ สิทธิ์กรณีไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองว่า อาจมีความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จและใช้เอกสารเท็จต่อศาล เพราะสาระสำคัญต่อคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 ที่ให้ปลดนายอภิสิทธิ์ออกจากราชการ นายอภิสิทธิ์ต้องพิจารณาและตั้งคำถามกับตนเองก่อนว่าการพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปในรูปของคณะบุคคล คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลา โหมมิได้ใช้อำนาจหรือดุลยพินิจโดยลำพังตนเอง แต่ใช้อำนาจในรูปของคณะกรรมการ ดังนั้น นายอภิสิทธิ์จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าคณะกรรมการซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่รังแกตน เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเพียงเห็นชอบตามการพิจารณาและข้อเสนอของคณะบุคคลที่เป็นกรรมการเท่านั้น เรื่องนี้จะทำให้ชีวิตของนายอภิสิทธิ์เป็นปัญหาในลักษณะที่เรียกว่างูกินหางไม่เสร็จสิ้น

ขณะที่นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ค “รมต.กลาโหมมีอำนาจสั่งปลดคุณอภิสิทธิ์ได้หรือไม่?” ว่าเรื่องนี้มีผู้อ้างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 566/2553 ว่าสั่งปลดไม่ได้ ซึ่งต้องพิจารณา 2 ประเด็นสำคัญคือ

ประเด็นแรก คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า การที่กระทรวงกลาโหมจะดำเนินการทางวินัยตามมติ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น ถ้ากระทรวงกลาโหม เห็นว่ามีอำนาจที่จะปลดออกจากประจำการได้ก็ต้องปลดออก โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันสุดท้ายของการรับราชการ หากพ้นจากราชการแล้วก็ไม่อาจ ปลดออกจากประจำการได้ และหากเป็นการดำเนินการทางวินัยก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าการถอดยศทหารถือว่ายศเป็นสิ่งที่ติดตัวทหาร ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในประจำการหรือนอกประจำการ การถอดยศทหารจึงสามารถกระทำได้ แม้ทหารผู้นั้นจะออกจากประจำการแล้ว โดยไม่ต้องรอผลคดีอาญา การถอดยศจึงสามารถดำเนินการได้ไม่ว่านายอภิสิทธิ์จะอยู่ในประจำการหรือนอกประจำการก็ตาม และหากฝ่ายกฎหมายของนายอภิสิทธิ์อ้างเรื่อง “วินัย” ต่อศาลปกครอง ศาลปกครองก็ไม่มีอำนาจพิจารณาเรื่องวินัยทหาร

เตือน ปชป. ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

ส่วนกรณีที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงโจมตีว่ากระทรวงกลาโหมรีบร้อนจนเกิดความผิดพลาดอย่างน้อย 3 จุดนั้น กรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม ออกมาชี้แจงตอบโต้ทันควันว่า สำเนาที่อ้างว่าพิมพ์คำว่า “รัฐมนตรีว่าการทรวงกลาโหม” ตกคำว่า “กระ” นั้น เป็นสำเนาที่ไม่ตรงกับข้อความในฉบับจริง ซึ่งต้องลงนามโดยเจ้ากรมเสมียนตราหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย แต่ฉบับจริงได้พิมพ์คำว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ไว้อย่างถูกต้อง

คำว่า “ผิดหลง” ที่ใช้ในคำสั่งนั้นเป็นคำที่ถูกต้อง ตามภาษากฎหมายแล้ว ไม่ได้ใช้คำว่า “หลงผิด” และ การใช้คำว่า “ว่าที่ร้อยตรี” นำหน้าชื่อนายอภิสิทธิ์ใน ย่อหน้าแรก เป็นการบรรยายถึงการกระทำและความ ผิดของว่าที่ร้อยตรีอภิสิทธิ์เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531

แต่การใช้คำว่า “ร้อยตรี” นำหน้าชื่อนายอภิสิทธิ์ในตอนต่อๆไป เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งต่อร้อยตรีอภิสิทธิ์ ในวันออกคำสั่งมียศอย่างไรก็ต้องเรียกตามนั้น แต่คำสั่งจะให้มีผลบังคับย้อนหลังไปยังวันใดตามสมควรแก่เหตุก็ย่อมทำได้ ทั้งนี้ เป็นความถูกต้องและเป็นไปตามแบบธรรมเนียมทหารแล้ว การกล่าวหาว่าเร่งรีบ ลุกลี้ลุกลนนั้นก็ไม่ถูกต้อง เพราะคณะกรรมการใช้เวลาสอบสวนต่อเนื่องรวมเวลา 136 วัน ก่อนจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพิจารณา

ในหนังสือกรมเสมียนตราทิ้งท้ายว่า ผู้ที่แสดงความคิดเห็นในเชิงดูถูก ดูหมิ่น หรือสร้างความเข้าใจผิดต่อคณะกรรมการ หรือชี้นำว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการไม่น่าเชื่อถือ อาจมีความผิด ฐานหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นเจ้าพนักงาน...ฯลฯ

ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์!

ส่วน พล.อ.อ.สุกำพลยืนยันว่า ไม่ได้ตั้งธงเรื่องนี้อย่างที่ฝ่ายค้านกล่าวหา แต่มีข้อมูลหลักฐานถึงความไม่ชอบมาพากลและพบว่าผิดจริง จึงต้องทำตามขั้นตอน หากนายอภิสิทธิ์จะส่งหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมก็สามารถทำได้ พร้อมให้ความเป็นธรรมเสมอ หากในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจฝ่ายค้านหยิบประเด็นถอดยศมาอภิปรายก็พร้อมชี้แจงอย่างตรงไปตรงมา และแจกแจงให้เห็นว่านายอภิสิทธิ์ทำผิดขั้นตอนอย่างไร ให้ประชาชนทั้งประเทศรับทราบว่าไม่ได้กลั่นแกล้งและไม่มีการ เมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมีผู้ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วส่งมายังกระทรวงกลาโหม

พล.อ.อ.สุกำพลฝากถามนายอภิสิทธิ์ว่า หนีทหารจริงหรือไม่ มีหลักฐานการขอผ่อนผันหรือไม่ และใช้หลักฐานเท็จหรือไม่ ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์เคยตอบคำถามเหล่านี้หรือไม่

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุกรณีการถอดยศร้อยตรีของนายอภิสิทธิ์ว่า เรื่องนี้หากเป็นลูกตาสีตาสา นายอภิสิทธิ์จะไม่สามารถสมัครเป็น ส.ส. ได้ตั้งแต่ต้น เพราะขาดคุณสมบัติ จะไม่ได้เป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย เนื่องจากไม่ได้ผ่านการเกณฑ์ทหาร เรื่องนี้เดินมาเป็นหลายสิบปีจนกระทรวงกลาโหมสรุปและมีมติ จึงไม่ใช่เรื่องการกลั่นแกล้ง แต่เป็นเรื่องว่าในที่สุดก็ไม่มีใครมีอภิสิทธิ์เหนือกว่ากฎกติกาที่ถูกต้องของบ้านเมืองไปได้

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรมที่จะถามเรื่องจริยธรรมจากใครอีกแล้ว นอกจากนายอภิสิทธิ์จะแสดงสปิริตของตัวเองออกมา อย่างที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ลาออกจากทุกตำแหน่ง หากเทียบกับกรณีนายอภิสิทธิ์นั้นต่างกันมาก เพราะนายอภิสิทธิ์ใช้วิธีการสร้างเอกสารเท็จลวงโลกมาเกือบครึ่งชีวิตจนได้เป็นนายกรัฐมนตรี

คนดี (ร้อยตรีอภิสิทธิ์)?

“เมื่อมีประชาชนเพียง 1 คน หรือแสนคนมาเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาตัวเองนั้น ไม่ได้ขัดหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะถ้ามีข้อสงสัยว่าการบริหารประเทศนั้นละเมิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิประชาชน หรือทุจริตคอร์รัปชัน เรื่องเหล่านี้ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่รอให้กฎหมายจัดการ แต่จะมีสำนึกความรับผิดชอบทางการเมือง”

คำอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ในฐานะหัวหน้าฝ่ายค้านกับรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช กรณีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมขับไล่รัฐบาลเมื่อปี 2551 วันนี้นายอภิสิทธิ์คงต้องถามตัวเองเช่นเดียวกันว่ามี “สำนึกความรับผิดชอบทางการเมือง” หรือไม่หลังจากถูกถอดยศ “ร้อยตรี”

เช่นเดียวกับเหตุการณ์เมษา-พฤษภาอำมหิตปี 2553 ที่มีคนตายถึง 99 ศพ และบาดเจ็บพิการเกือบ 2,000 คน ซึ่งนายอภิสิทธิ์ในฐานะผู้นำรัฐ บาลนอกจากจะไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆทางการเมืองแล้ว ยังไม่มีแม้แต่คำ “ขอโทษ” ขณะที่นายอภิสิทธิ์ได้อภิปรายรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กรณีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯที่บริเวณหน้ารัฐสภาจนมีผู้เสียชีวิต 2 คนว่า “ไม่มีที่ไหนในโลกที่ประชาชนถูกทำร้ายจากภาครัฐแล้วรัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่มี”

“สำนึกทางการเมือง” หรือ “ความรับผิดชอบทางการเมือง” จึงเป็นวาทกรรมที่นายอภิสิทธิ์ต้องถามตัวเอง เช่นเดียวกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีส่งบุคคลเข้าแทรกแซงการทำงานในกระทรวงวัฒนธรรม แม้วุฒิสภาจะลงมติไม่ถอดถอนก็ตาม

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปลายเดือนพฤศจิกายนจึงน่าจะเป็นการอภิ ปรายพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ที่พรรคประชาธิปัตย์แนบชื่อในฐานะ “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” ทั้งที่วันนี้ถูกกระทรวงกลาโหมระบุว่า “การกระทำไม่สุจริตเพื่อประโยชน์แห่งตนเป็นการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ ผิดวินัยทหารอย่างร้ายแรง”

เพราะที่นี่คือแผ่นดินไทย แผ่นดินของ “คนดี” ที่คนกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยยกย่องบูชา ทำอะไรก็ไม่ผิด ตรวจสอบก็ไม่ได้ แม้แต่ทำให้คนตายเกลื่อนเมือง..

ทำให้นึกถึงสุภาษิตละตินบทหนึ่งที่บอกว่า “Corruptio optimi pessima”..the corruption of the best is the worst of all.

..ไม่มีอะไรจะสุดชั่วร้ายไปกว่าคนที่ถูกยก ย่องว่าเป็น “คนดีที่สุด” แต่กลับกระทำในสิ่งที่ชั่วร้ายเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น