Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

‘โอบามา’เยือน‘ไทย-พม่า-เขมร’ปรับยุทศาสตร์เอเชีย-คานดุลจีน

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับที่ 386 วันที่ 17-23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 หน้า 9 คอลัมน์ จับกระแสการเมือง โดย ทีมข่าวต่างประเทศ



หลังชนะการเลือกตั้งเข้าสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่ 2 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประเดิมเยือน 3 ชาติเอเชียทันทีระหว่างวันที่ 17-21 พฤศจิกายนนี้ ได้แก่ พม่า ไทย และกัมพูชา โดยจะมาไทยวันที่ 18 พฤศจิกายน เพื่อหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก่อนจะเดินทางไปกัมพูชาเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก โดยมีผู้นำจีน ญี่ปุ่น และรัสเซียเข้าร่วมด้วย คาดว่าผู้นำสหรัฐจะหารือในประเด็นกว้างๆคือ ด้านความมั่งคั่ง เศรษฐกิจ และการลงทุน

แต่ที่ถูกจับตามากที่สุดคือการเยือนพม่าครั้งแรกของประธานาธิบดีสหรัฐในรอบ 50 ปี เพื่อหารือกับประธานาธิบดีเต็ง เส่ง และนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้านพม่า

แม้การเยือนพม่าจะใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่เป็นการบ่งบอกว่ารัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปของพม่าอย่างเต็มที่หลังจากนางซู จี ได้รับอิสรภาพและได้เป็น ส.ส. ครั้งแรกในชีวิตการเมืองกว่า 30 ปีของเธอ ทั้งยังคาดว่านายโอบามาจะกล่าวสุนทรพจน์ต่อกลุ่มตัวแทนภาคประชาสังคมและแวะชมสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมในย่างกุ้งด้วย

นายเจย์ คาร์นีย์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงว่า นายโอบามาตั้งใจกล่าวกับประชาสังคมว่าสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า ขณะที่นายเดวิด แบมฟอร์ด จากสำนักข่าว BBC กล่าวว่า การเยือนของนายโอบามาสะท้อนให้เห็นถึงนัยสำคัญว่าสหรัฐต้องการปรับความสัมพันธ์กับพม่าให้เป็นปรกติอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการท้าทายอำนาจของจีนในพม่าที่ยาวนานอีกด้วย
แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนวิพากษ์วิจารณ์การเยือนพม่าของนายโอบามาว่าเร็วเกินไป เพราะรัฐบาลพม่ายังมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และไม่ดำเนินการแก้ปัญหาระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 140 คน และบาดเจ็บกว่า 100,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงยา จนต้องอพยพหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนประเทศไทยซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญตามสนธิสัญญาของสหรัฐ นายโอบามาจะพบและหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เนื่องในวาระครบรอบ 180 ปีความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐ การเจรจาขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และหารือด้านความมั่นคงของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยจะมีการลงนามความเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์”

ขณะที่นายลีออน พาเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ จะหารือกับ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีกลาโหม เพื่อร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคง

ส่วนการเยือนกัมพูชาที่เป็นจุดสุดท้ายนั้น นายโอบามาจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่เป็นกรอบความร่วมมือสำคัญในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน โดยทั้ง 10 ชาติอาเซียนจะมีโอกาสเจรจากับผู้นำสหรัฐโดยตรง

นอกจากชัยชนะของนายโอบามาแล้ว จุดที่โลกติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกันคือ การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยประชุมที่ 18 ที่รับรองการเสนอชื่อนายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดี ให้ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่แทนนายหู จิ่นเทา ซึ่งครบวาระ หลังจากอยู่ในตำแหน่ง 2 สมัยนาน 10 ปี ถือเป็นการส่งผ่านอำนาจครั้งสำคัญของจีนยุคใหม่ ซึ่งนายสีจะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีและประธานคณะกรรมาธิการกลางกลาโหมในเดือนมีนาคมปีหน้า

จีนแสดงความโล่งใจที่นายโอบาชนะการเลือกตั้ง แม้จีนกับสหรัฐจะกระทบกระทั่งกันบ่อยครั้งในด้านการค้า การทหาร และการเมือง แต่ผู้นำจีนก็ไม่ต้องการให้นายรอมนีย์ชนะ เพราะนายรอมนีย์ประกาศว่าจะใช้นโยบายแข็งกร้าวเพื่อกดดันจีน รวมถึงอาจประกาศใช้มาตรการขู่คว่ำบาตรจีน โดยร่วมมือกับชาติพันธมิตร เพื่อให้จีนยึดมั่นในกฎระเบียบการค้าโลก เพราะถือว่าจีนทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ามหาศาลในขณะนี้

แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจคือด้านความมั่นคงที่นายโอบามาประกาศระหว่างเยือนอินโดนีเซียเมื่อกลางปีนี้ว่าจะส่งทหารนาวิกโยธิน 2,500 นาย ไปประจำการที่เมืองดาร์วินในออสเตรเลีย แต่จะไม่ตั้งฐานทัพถาวร ตามแผนการปรับยุทธศาสตร์เสริมสร้างความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก หลังจากสหรัฐเตรียมถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานทั้งหมดภายในสิ้นปี 2014

การเปิดเกมรุกยุทธศาสตร์ในภูภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐจึงมีผลโดยตรงต่อการขยายอิทธิพลของจีน รวมทั้งการค้าที่วันนี้จีนผงาดเป็นมหาอำนาจอับดับ 2 แล้ว และคาดว่าอีก 5 ปีจะขึ้นเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 แทนสหรัฐ ดังนั้น สหรัฐจึงต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งเพื่อรองรับอิทธิพลของจีนอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ใช่การเป็นศัตรู อย่างที่นายพาเนตตาย้ำกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนว่าต้องการเห็น “ระเบียบปฏิบัติ” (code of conduct) ของอาเซียนมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด โดยสหรัฐต้องการให้จีนเจรจาข้อพิพาทเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์และเกาะปะการังอื่นๆกับอาเซียน เพราะสหรัฐถือว่าทะเลจีนใต้เป็นทั้งแหล่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และประมงที่สำคัญ ทั้งยังเป็น 1 ใน 3 เส้นทางเดินเรือที่สำคัญที่สุดของโลก ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐด้วย

นายหยาง เจี๋ยฉือ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ก็บอกว่าจีนพร้อมจะยอมรับ “ระเบียบปฏิบัติ” ของอาเซียนบนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน แต่ไม่ได้ระบุกรอบเวลาในการรับรอง ทั้งยังขอสงวนสิทธิต่อการเจรจาข้อพิพาทแบบทวิภาคีระหว่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ โดยอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์โดยชอบธรรมเหนือหมู่เกาะสแปรตลีย์และบริเวณใกล้เคียง ทั้งยังส่งกองเรือไปประจำการถาวรอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสหรัฐพยายามใช้นโยบายปิดล้อมจีน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ โดยใช้ชาติในเอเชียเป็นพันธมิตร ซึ่งมีหลายชาติที่มีข้อพิพาทกับจีน อย่างญี่ปุ่นกรณีหมู่เกาะเตี้ยวหยูหรือหมู่เกาะเซนกากุ หรือกรณีหมู่เกาะทาเคชิมาหรือหมู่เกาะต็อกโตที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้บาดหมางกับจีน
นักวิเคราะห์การเมืองจึงเห็นว่านายโอบามาตัดสินใจถูกที่มาเยือนไทยซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ที่สุดในเอเชียสำหรับการเริ่มต้นยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งนายบิล คลินตัน และนายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ก็เคยมาเยือนแล้ว

ขณะที่ไทยก็ต้องให้สหรัฐในฐานะพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดปลดล็อกเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสหรัฐจัดให้ไทยเป็นประเทศที่ถูกจับตามองอย่างยิ่ง Priority Watch List (PWL) หากสหรัฐต้องการให้ไทยเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในยุทธศาสตร์เอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจีนกับไทยถือเป็นพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ “พิเศษ” ทั้งระดับรัฐบาล ภาคเอกชน และระดับพระราชวงศ์ของไทย

ที่สำคัญไทยจะทำให้เกิดความถ่วงดุลที่ดีทั้งจีนกับสหรัฐอย่างไร โดยไม่ทำให้การดำเนินนโยบายต่างประเทศมีปัญหาหรือขาดความเป็นอิสระ โดยเฉพาะไม่เป็นเครื่องมือของฝ่ายใด เพราะเมื่อยักษ์กับยักษ์มาชนกัน บรรดาหญ้าแพรกก็แหลกลาญเป็นธรรมดา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น