ที่มา: หน้า2 มติชนรายวัน 5 พ.ย. 2555
หมายเหตุ - หลังจากมีความพยายามผลักดันให้ศาลอาญาระหว่างประเทศรับดำเนินคดีบางคดีที่เกิดขึ้นในไทย ล่าสุดมีการพบปะระหว่างตัวแทนของศาลอาญาระหว่างประเทศกับกระทรวงการต่างประเทศของไทย จนเกิดเป็นกระแสข่าวเรื่องการรับหรือไม่รับพิจารณาคดีความรุนแรงในเหตุการณ์การเมืองเมื่อปี 2553
ทั้งนี้ นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ได้เสนอบทความแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว "มติชน" เห็นว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจ จึงนำมาเสนอความเคลื่อนไหวเรื่องการแถลงยอมรับเขตอำนาจ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" (International Criminal Court หรือ ICC) นั้น อาจเป็นยาทาใจให้ผู้สนับสนุน "พรรคเพื่อไทย" บางส่วนลืม "ความผิดหวัง" จากการปรับคณะรัฐมนตรี ที่มาพร้อมกับข่าวการปฏิเสธไม่รับพิจารณาร่างกฎหมายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปชั่วขณะ
แต่เพื่อมิให้ผู้ใดต้องช้ำใจซ้ำซาก อาจมีบางประเด็นที่ควรแก่การขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
@ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" รับคดีสลายการชุมนุมไว้พิจารณาแล้วหรือไม่?
ผู้เขียนย้ำว่า ณ ปัจจุบัน "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" ยังไม่มีอำนาจพิจารณาไต่สวนกรณีเหตุการณ์ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยขั้นตอนการทำงานภายใน "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" นั้น มีการแยกส่วน "ตุลาการ" และ "อัยการ" ออกจากกัน
การดำเนินการในเวลานี้ คือการที่ "อัยการ" ได้กำหนด "หมายเลขแฟ้ม" ของเรื่องร้องเรียน (OTP-297/10) ซึ่งไม่ใช่ "หมายเลขคดี" ตามที่สื่อมวลชนไทยบางรายนำเสนอ และไม่ใช่ "การรับคดีไว้พิจารณา" ดังที่นักการเมืองบางรายได้กล่าวไปแต่อย่างใด
ทั้งนี้ หากประเทศไทยจะได้แถลงยอมรับเขตอำนาจ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" ผลที่จะตามมาในเบื้องต้น คือ การเปิดทางให้ "อัยการ" ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2553 ก่อนจะ "เปิดการไต่สวนคดี" อย่างเป็นทางการ ซึ่งในที่สุด "ศาล" ก็อาจมีเหตุไม่รับพิจารณาพิพากษาคดี ก็เป็นได้
@ ก่อนไป "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" ต้องถาม "ศาลรัฐธรรมนูญ" หรือไม่ ?
ประเด็นการแถลงยอมรับเขตอำนาจ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" นั้น ทำให้เกิดคำถามว่า การแถลงดังกล่าวจะเข้าลักษณะ "หนังสือสัญญา" ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่?
ศาลรัฐธรรมนูญไทยชุดปัจจุบัน รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญไทยในอดีต เคยวางหลักตีความคำว่า "หนังสือสัญญา" ว่าหมายถึง "ความตกลง" ที่มีลักษณะตรงกับคําว่า "treaty" ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ.1969 (คำวินิจฉัยที่ 6-7/2551 และคำวินิจฉัยที่ 11/2542 และ ที่ 33/2543)
ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญไทยได้อาศัยคําว่า "treaty" หรือ "สนธิสัญญา" ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ มาอธิบายความหมายของคำว่า "หนังสือสัญญา" จึงย่อมเป็นการยาก หากศาลจะตีความว่า รัฐสภาไทยต้องให้ความเห็นชอบต่อ "การแถลงฝ่ายเดียว" กล่าวคือ ในเมื่อ "ธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ" (เป็นที่มาของการแถลงยอมรับอำนาจศาล) นั้นเป็น "สนธิสัญญา" โดยชัดอยู่แล้ว ประเทศไทยก็ย่อมไม่อาจประกาศคำแถลงให้กลายเป็น "สนธิสัญญา" ซ้อน "สนธิสัญญา" ได้
ข้อถกเถียงประเด็นนี้สมควรย้อนกลับไปถึงบรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ฉบับปัจจุบัน ไม่แน่ว่าจะมีความคิดด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่รัดกุมและแตกฉานมากน้อยเพียงใด เพราะผู้ร่างเหล่านี้ได้ "ขยาย" ประเภทของหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐสภาให้กินความกว้างและกำกวมมากขึ้น (เช่น การใช้คำว่า "อย่างกว้างขวาง" และ "มีนัยสำคัญ") แต่ก็กลับมีความลักลั่นที่จะไม่กล่าวถึงการกระทำในทางกฎหมายระหว่างประเทศลักษณะอื่นที่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมาย เช่น การแถลงรับอำนาจศาลในกรณีนี้ เป็นต้น (ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้แล้วที่ http://bit.ly/Treaty190)
อย่างไรก็ตาม แม้การตีความ "ตามตัวบท" อาจสรุปได้ว่ากรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะ "หนังสือสัญญา" ตามมาตรา 190 แต่การตีความ "ตามเจตนารมณ์" อาจทำให้คณะรัฐมนตรีต้องยั้งคิดพิจารณาให้ดีว่า การแถลงยอมรับอำนาจดังกล่าว จะมีผลกระทบ "อย่างกว้างขวาง" และ "มีนัยสำคัญ" ต่อกระบวนการยุติธรรมไทย และอาจจำเป็นต้องมีการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่?
หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพ มาตรา 190 บัญญัติว่า หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา แต่หากวันหนึ่งประเทศไทยมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน และรัฐบาลไทยจะแถลงยอมรับอำนาจ "ศาลโลก" โดยทำคำแถลงฝ่ายเดียวให้ "ศาลโลก" วินิจฉัยข้อพิพาทเขตแดนได้ หากสุดท้าย "ศาลโลก" ตัดสินคดีเขตแดนในทางที่เป็นคุณต่อประเทศเพื่อนบ้าน ก็อาจจะกระทบต่ออาณาเขตไทยได้ หากเป็นเช่นนี้ คณะรัฐมนตรีจะทำการแถลงยอมรับอำนาจโดยไม่ปรึกษาหารือกับรัฐสภาเลย เพียงเพราะการแถลงดังกล่าวไม่ใช่ "หนังสือสัญญา" กระนั้นหรือ?
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ" ไทยชุดปัจจุบันได้ขยายอำนาจการตีความของตนให้ไปไกลกว่าเพียง "ตัวบท" รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญพร้อมที่จะอ้างการตีความ "ตามเจตนารมณ์" ที่แม้จะขัดแย้งกับตัวบท แต่ก็ปลุกเสกให้เกิด "ผลทางการเมือง" ตามที่ใจศาลปรารถนาได้ เช่น แม้ตัวบทรัฐธรรมนูญจะให้อำนาจ "รัฐสภา" แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ศาลก็อาศัยการตีความ "ตามเจตนารมณ์" มายับยั้ง "รัฐสภา" ได้ จึงคงไม่น่าแปลกใจ หาก "คณะรัฐมนตรี" จะได้เผชิญกับเหตุการณ์ทำนองเดียวกัน
ทั้งนี้ อย่างน้อยที่สุด คณะรัฐมนตรีอาจพิจารณาว่า กรณีการแถลงยอมรับอำนาจศาลดังกล่าว จะเข้ากรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 หรือไม่ ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 179 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้"
@ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" รับพิจารณาคดีประเภทใดได้บ้าง?
แม้สุดท้ายจะมีการแถลงยอมรับอำนาจให้ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" สามารถใช้เขตอำนาจทั้งทางด้านเวลาและเนื้อหาเพื่อพิจารณาการกระทำความผิดในประเทศไทย แต่สังคมไทยพึงระลึกว่า "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" มีอำนาจพิจารณาเฉพาะความผิดอาญาระหว่างประเทศที่ร้ายแรงบางประเภทเท่านั้น
ณ เวลานี้มีความผิด 3 ฐาน ที่มีผลบังคับ คือ
(1) ความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ลักษณะเบื้องต้นคือต้องมุ่งไปที่กลุ่มเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา เช่น กรณีล้างพันธุ์ชาวยิว แต่หากการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ไม่มีลักษณะเพ่งเล็งไปที่กลุ่มเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ของผู้ชุมนุม ก็ย่อมไม่เข้ากรณีดังกล่าว
(2) ความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม นอกจากกรณีในสงครามระหว่างประเทศ เช่น กรณีการทรมานเชลยศึกต่างชาติ การโจมตีโรงพยาบาลในยามสงคราม ยังอาจเป็นการปะทะกันทางอาวุธในประเทศได้ด้วย แต่ต้องเป็นการรบกันด้วยอาวุธที่ยืดเยื้อต่อเนื่อง มีการจัดตั้งเป็นขบวนการติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล แต่หากการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ไม่เข้าลักษณะดังกล่าว โดยเป็นเพียงความไม่สงบภายในประเทศ (internal disturbance) ก็อาจไม่เข้ากรณีดังกล่าว
(3) ความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ลักษณะเบื้องต้นคือต้องเป็นการโจมตีประชาชนอย่างเป็นระบบและกว้างขวาง (systematic and wide-spread) และเกี่ยวโยงกับนโยบายของรัฐหรือขบวนการ เช่น กรณีบังคับให้สตรีทุกคนถูกทหารข่มขืน หรือบังคับให้ทำหมัน หากการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในเหตุการณ์เฉพาะหน้า ก็อาจไม่เข้ากรณีดังกล่าวเช่นกัน
ฉันใดก็ฉันนั้น หากการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ไม่เข้าลักษณะฐานความผิดทั้ง 3 กรณีที่กล่าวมา การจะอ้างถึงความรุนแรงจากการปราบปรามยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็คงจะเป็นการอ้างที่ทำได้ยากยิ่ง
@ มอง "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" ลืมมองกระบวนการยุติธรรมไทยหรือไม่?
สมมุติว่า แม้สุดท้ายจะมีเหตุให้ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" พิจารณาได้ว่า ศาลมีเขตอำนาจ (jurisdiction) ตามฐานความผิดที่กล่าวมา แต่สุดท้าย "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" ก็อาจอ้างเหตุไม่รับพิจารณาคดี (inadmissibility) ได้เช่นกัน
เหตุไม่รับพิจารณาคดี (inadmissibility) มีหลักสำคัญคือ หลัก Complementarity กล่าวคือ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" เป็นเพียง "ศาลลำดับรอง" ที่ถูกสร้างขึ้นมา "เสริม" การทำงานของศาลหลักในแต่ละประเทศ แต่ใม่ใช่การเข้าไป "ทดแทน" "ศาลภายในประเทศ"
หลักดังกล่าวมีฐานความคิดที่ว่า "ความผิด" ที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะหนักเบา ตั้งแต่ลักขโมย ไปถึงก่อวินาศกรรม ย่อมเป็นเรื่องที่ "ศาลภายในประเทศ" ของรัฐอธิปไตยที่จะดูแลรับผิดชอบ จะลงโทษหนักเบาอย่างไร ก็เป็นไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศ
แต่มี "ความผิด" บางอย่างที่โหดเหี้ยมร้ายแรงมาก ความผิดเหล่านี้ มักกระทำโดยผู้ที่มีอำนาจและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และเมื่อกระทำไปแล้ว "ศาลภายในประเทศ" ก็อาจนิ่งเฉย หรือเอาผิดไม่ได้ จนผู้กระทำผิดที่มีอำนาจดังกล่าว "ลอยนวล"
ช่องว่างในการลอยนวลนี้ คือ ที่มาของแนวคิด "ศาลอาญาระหว่างประเทศ"
ดังนั้น หากกระบวนการยุติธรรมไทยยังทำงานได้ตามปกติ และมีความคืบหน้าตามลำดับขั้น เช่น "คดีพัน คำกอง" แล้วไซร้ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" ก็จะไม่เข้ามาก้าวล่วงพิจารณาคดีซ้ำซ้อนกัน แม้คดีดังกล่าวอาจจะอยู่ในเขตอำนาจของ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" ก็ตาม
แต่หากเมื่อใดที่ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" เห็นว่า คดีที่อยู่ในเขตอำนาจดังกล่าว ถูกละเลยเพิกเฉย จนผู้กระทำผิดลอยนวล "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" ก็อาจรับพิจารณาคดีดังกล่าวได้
ดังนั้น ในยามใดที่ทั้งประชาชน ตลอดจนนักการเมืองทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ต่างมีท่าทีจะหันไปพึ่งพา "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" อาจเป็นยามที่กระบวนการยุติธรรมไทยต้องดูตัวเอง
เพราะหากประเทศชาติใดกระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพและพึ่งพาได้จริง ก็คงไม่มีเหตุใดให้ประเทศนั้นต้องถกเถียงเรียกร้องให้ "ศาลอาญาระหว่างประเทศ" เข้ามามีบทบาทดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น