ผมเป็นคนชอบงานเขียนของนันทนา วีระชน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนันทนาได้รับอิทธิพลจากสตรีนิยมหลัง 14 ตุลามาไม่น้อย ในนวนิยายของนันทนาหลายเรื่องจะเน้นบทบาทความเด่นของตัวละครสตรีที่มีความกล้าต่อสู้และท้าทายสังคม โดยเฉพาะการตอบโต้กับผู้ชายชั่วที่เอาเปรียบผู้หญิง และในบรรดางานเขียนหลายเรื่องของเธอ แรงเงาถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง
เรื่องย่อของ “แรงเงา” เล่าถึง “มุตตา” ซึ่งเป็นข้าราชการหญิงที่เรียบร้อยและอ่อนต่อโลก จึงตกเป็นภรรยาลับของ “เจนภพ” ซึ่งเป็นชายเจ้าชู้และผู้บังคับบัญชาในที่ทำงาน ต่อมา “มุตตา” ถูกภรรยาของเจนภพชื่อ “นพนภา” ตามมาตบตีต่อหน้าคนจำนวนมาก และถูกซ้ำเติมโดยเพื่อนข้าราชการ ทำให้เธออับอายจนต้องหนีกลับบ้านต่างจังหวัด และพบว่าตนเองท้อง ในที่สุดก็ฆ่าตัวตายหนีปัญหา แต่ “มุนินทร์” พี่สาวฝาแฝดที่เป็นคนเข้มแข็งไม่ยอมใคร ไม่สามารถยอมรับเรื่องความตายของน้องสาวได้ จึงปลอมตัวเป็นมุตตากลับมาแก้แค้น และในที่สุดก็สามารถเอาชนะ ทำให้ “นพนภา” และ “เจนภพ” ได้รับกรรมตามที่ตนเองก่อไว้ และครอบครัวของ “นพนภา” ก็ประสบความแตกแยก ส่วน “มุนินทร์” ได้แต่งงานกับ “วีกิจ” หลานของ “เจนภพ” ที่เข้าช่วยเหลือ “มุตตา” ตลอดมา
หลังจากเรื่อง “แรงเงา” เผยแพร่ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ได้มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ 4 ครั้ง และขณะนี้ละครเรื่องนี้ก็ยังออกอากาศอยู่ทางช่อง 3 กลายเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงมาก แม้ว่าผู้สร้างละครครั้งนี้เน้นฉากตบกันระหว่างผู้หญิงมากไปหน่อย แต่ถ้าดูจากเนื้อหาต้องถือว่าเป็นเรื่องที่ให้บทเรียนแก่สังคมพอสมควร
แต่ที่น่าสนใจคือโครงเรื่องของเรื่อง “แรงเงา” เข้ากันได้กับสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ประชาชนไทยก็ไม่ต่างอะไรกับ “มุตตา” คือไม่เคยมีปากเสียง ยอมจำนนต่อชนชั้นปกครอง และปล่อยชะตากรรมของประเทศไว้ในมือชนชั้นนำจำนวนน้อย ไม่ว่าจะใช้สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ประชาธิปไตยเต็มใบ เผด็จการทหาร ประชาธิปไตยครึ่งใบ ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อก็ไม่เคยบ่น จะรัฐประหารหรือเอาใครมาเป็นรัฐบาลก็ยอมรับโดยดุษณีภาพ
แต่ในระยะ 7 ปีที่ผ่านมานี้ขบวนการประชาชนไทยกลายร่างเป็น “มุนินทร์” ลุกขึ้นตอบโต้กับชนชั้นนำอำมาตย์อย่างไม่หวาดหวั่น ไม่ยอมให้ชนชั้นปกครองกำหนดชะตากรรมของประเทศเช่นเดิมอีก จึงสร้างความยากลำบากอย่างมากแก่ชนชั้นนำอำมาตยาธิปไตย
ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในระยะ 7 ปีที่ผ่านมานี้จึงอยู่ที่ว่าประชาชนคนส่วนใหญ่ต้องการการเมืองแบบประชาธิปไตย ให้รัฐบาลที่บริหารประเทศมาจากการเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากของประชาชน แต่กลุ่มชนชั้นจารีตประเพณีต้องการสร้างการเมืองที่พวกเขาควบคุมได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย ขอเพียงให้มีคนดีมาบริหารบ้านเมือง และจะมาด้วยวิธีไหนก็ได้ จากการรัฐประหาร การแต่งตั้ง การกำหนดโดยศาล หรือโดยผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และมีการสร้างวาทกรรมตลอดเวลาว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนชั่ว จึงกลายเป็นว่าการเลือกตั้งเป็นกลไกอำนาจของคนชั่ว คนดีต้องขึ้นสู่อำนาจด้วยวิธีพิเศษ แต่ปัญหาเริ่มต้นตั้งแต่การนิยามคำว่า “คนดี” แล้ว เพราะคนดีในสังคมไทยล้วนแต่เป็นพวกที่ตรวจสอบไม่ได้ ต้องใช้ความเชื่อถือไปรับรองความเป็นคนดีทั้งสิ้น
ทรรศนะในลักษณะที่ยกย่องคนดี ไม่เอาประชาธิปไตยนี้ เห็นได้ชัดในการชุมนุมทางการเมืองที่สนามม้านางเลิ้งเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยองค์กรพิทักษ์สยามและภาคีเครือข่ายที่มี พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ นายทหารนอกราชการ เป็นผู้ประสานงาน โดยใช้ชื่อการชุมนุมว่า “หยุดวิกฤตและหายนะของชาติ” พล.อ.บุญเลิศแถลงว่า รัฐบาลชุดนี้สร้างความเสียหายมากกว่ารัฐบาลชุดใด โดยเฉพาะการปล่อยให้มีการจาบจ้วงหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ การทุจริตมหาศาล และเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
แต่ที่น่าสังเกตคือ พล.อ.บุญเลิศไม่ได้แสดงหลักฐานความล้มเหลวในการบริหารบ้านเมืองที่มีน้ำหนักแต่อย่างใด ส่วนข้อโจมตีรัฐบาลว่าปล่อยให้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็เป็นเพียงการอิงเจ้าเอาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มาใส่ร้ายศัตรูทางการเมืองที่ปราศจากเหตุผล เพราะในระยะที่บริหารประเทศ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ถวายพระเกียรติเสมอมา เพียงแต่ยังไม่ได้ใช้นโยบายล่าแม่มด จับผู้บริสุทธิ์เข้าคุกแบบรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เท่านั้น
ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งนี้มีหลายคนมาเข้าร่วมปราศรัย เช่น น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ, นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์, พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ, ดร.ต่อตระกูล ยมนาค, นายพิเชฐ พัฒนโชติ, ดร.เสรี วงษ์มณฑา และนายประสิทธิ์ ไชยทองพันธ์ เป็นต้น แต่ฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังสงวนท่าที ไม่ได้เข้าร่วมอย่างเป็นทางการ
น.ต.ประสงค์ได้อิงแอบกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการสนับสนุนคนดีให้เข้ามาทำงานแทนคนไม่ดี จึงอยากเสนอให้ประชาชนรวมตัวกันตั้งกรรมการขึ้นมาช่วยกันคิดและปรึกษาหารือเฟ้นหาคนดีเสนอให้กับกลุ่มองค์กรพิทักษ์สยามและสร้างเครือข่าย เพื่อหาคนดีมาทำงานแทนคนไม่ดี และให้ประชาชนทำป้ายไปติดที่หน้าทำเนียบรัฐบาลกับรัฐสภาว่า “ที่นี่เป็นเขตอำนาจของประชาชน นักการเมืองทุรชนห้ามเข้า” ด้วย ซึ่งการอธิบายของ น.ต.ประสงค์ยังคงซ้ำซากในเรื่องการปกครองโดยคนดีที่ไม่ต้องมาจากประชาธิปไตยอยู่นั่นเอง
แนวคิดลักษณะนี้ตอกย้ำโดยคำอธิบายของ พล.อ.บุญเลิศว่า ที่พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งมา 15 ล้านเสียงนั้น “ไม่รู้เปลี่ยนหีบมาหรือเปล่า” และถ้าสามารถไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้สำเร็จก็จะให้มีการตั้งคณะบุคคลขึ้นมาดูแลการบริหารบ้านเมือง ซึ่งอาจจะให้มีการหยุดเล่นสักพัก แช่แข็งประเทศไทย ตัดบทบาทนักการเมืองถึง 5 ปี แล้วค่อยให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ เพราะถ้าปีเดียวแบบ พ.ศ. 2549 เดี๋ยวพวกนักการเมืองก็กลับมาใหม่ แล้วจะไม่ได้ผล
พล.อ.บุญเลิศอ้างว่าการดำเนินการเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิวัติของประชาชน คณะบุคคลที่บริหารประเทศในภาวะพิเศษนี้ต้องทำภารกิจ 4 ประการให้สำเร็จคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มการศึกษา เพิ่มความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณมาลงโทษตามกฎหมาย
ข้อเสนอของ พล.อ.บุญเลิศเป็นการสะท้อนความฝันกลางวันอันไม่เป็นประชาธิปไตย โดยคิดว่าประชาชนส่วนข้างมากจะยอมให้มีคนกลางจากฟากฟ้ามาบริหารประเทศชั่วคราว 5 ปี เพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญตามใจชอบของชนชั้นนำและลงโทษคนไม่มีความผิดเช่น พ.ต.ท.ทักษิณ
เพียงแต่ประชาชนในวันนี้ได้เปลี่ยนจาก “มุตตา”เป็น “มุนินทร์” เสียแล้ว สิ่งที่ชนชั้นนำจะต้องเผชิญคือการไม่ยอมรับและตอบโต้อย่างเต็มที่จากประชาชน และในที่สุดชนชั้นปกครองจารีตก็ต้องพ่ายแพ้ด้วยกาลเวลา และพ่ายแพ้ด้วยแรงเงาของประชาชนนั่นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น