Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"ปิยบุตร"ชำแหละ"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ไร้อำนาจยื่นฟ้อง"กสทช." นักเศรษฐศาสตร์ฝรั่งเศสจี้ไทยเดินหน้า3จี

จาก มิติชนออนไลน์ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555



นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานสัมมนาผ่าทางตัน 3 จี ในหัวข้อ "3 G...อนาคตหลังศาลปกครอง" ว่า ประเด็นเกี่ยวกับคดีประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต หรือ 3 จี ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ร้องต่อศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติให้สัมปทานสิทธิ์และใบอนุญาตดำเนินการบริการ 3 จี  แก่ผู้ประกอบการ 3 ราย คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด ในเครือ เอไอเอส บริษัท ดีแทค เน็ตเวิร์ค จำกัด ในเครือดีแทค และ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือทรู คอร์เปอเรชั่นนั้น
 
ตามกฎหมายปกครองและพระราชบัญญัติ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พ.ศ.2552 กำหนดแนวทางไว้แนวทางเดียวคือให้เปิดประมูล 3 จี ดังนั้นปัญหาจึงเกิดขึ้นเพราะมีคนโต้แย้งทันทีว่ารัฐได้รับค่าสัมปทานน้อยกว่าความจริงบ้าง และ ประกาศหลักเกณฑ์การประมูลไม่เป็นธรรมบ้าง
 
โดยก่อนหน้านี้มีกลุ่มคนที่อ้างเป็นตัวแทนผู้บริโภคไปยื่นฟ้องศาลปกครองกลางรวม 6 คดี (ฉบับ) เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครอง และ/หรือ เพื่อทำให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานต้องหยุดเดินหน้าการลงทุนขั้นต่อไป ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำฟ้อง เนื่องจากผู้ยื่นฟ้องเป็นผู้บริโภคและการให้บริการ 3 จี ยังไม่เกิดขึ้น นอกจากนี้การอ้างเป็นคนไทยเป็นสภาวะที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะคนที่ถือบัตรประชาชนทุกคนก็เป็นคนไทย
 
เป็นที่น่าสังเกตกรณีศาลปกครองกลางเขียนลงไปในคำฟ้องทั้ง 6 ฉบับ ว่าผู้มีสิทธิหรืออำนาจฟ้อง กสทช.ในการกำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆ คือผู้ตรวจการแผ่นดิน ปัญหาอยู่ที่ว่าเวลาไปฟ้องศาล ศาลต้องบอกไม่รับเรื่องจากโจทก์ เพราะศาลไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายที่จะต้องแนะนำต่อท้ายว่าให้ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน

จากนั้นก็ปรากฎว่าคนกลุ่มนี้ไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยทำหนังสือไปถึงเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ก่อน ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาแล้วไปนำเรื่องยื่นต่อไปฟ้องศาลปกครอง ปัญหาคือผู้ตรวจฯ อาศัยอำนาจไปฟ้อง เราต้องมาดูว่าหน่วยงานใดบ้างที่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน

 
เมื่อย้อนกลับไปดูในพระราชบัญญัติตรวจการแผ่นดิน มาตรา 13 (1) ก. บรรดาคนที่จะไปอยู่ภายใต้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้แก่  ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง 3 กลุ่มนี้ ของสังกัดหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และ ราชการส่วนท้องถิ่น ส่วน กสทช.เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ได้เข้ากลุ่มตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวเลย
 
ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจะลงไปตรวจ กสทช.ไม่ได้แล้ว และผู้ตรวจการแผ่นดินก็รู้ถึงเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจ จึงเขียนชัดในคำฟ้องที่ยื่นไปยังศาลปกครองว่า คณะกรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คน ไม่ได้อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของผู้ตรวจการแผ่นดิน 
 
พูดง่าย ๆ คือตัวกฎหมายไม่เปิด แต่ไปอ้างตามศาลปกครองกลางเขียนไว้
 
อีกทั้งยังบอกว่าบอร์ด กสทช.ไม่ได้อยู่ในอำนาจ ดังนั้นจึงพุ่งเป้าไปเล่นงานที่ตัวบุคคลคือ เลขาธิการ กสทช.ซึ่งทำหน้าที่เป็นธุรการสังกัดหน่วยงานรัฐ
 
ผู้ตรวจการแผ่นดินยังได้ขอศาลอีกเรื่องคือ เรื่องประกาศหลักเกณฑ์การประมูล ที่ออกโดยบอร์ด กสทช.ทั้ง 11 คน ในหลักกฎหมายหากจะร้องเรื่องนี้ ตามกฎหมายจะร้องได้ต้องพุ่งไปที่ตัวเลขาธิการ และ รองเลขาฯ กสทช.เท่านั้น
 
เมื่อมาพิจารณาโดยอิงกับกฎหมายของอเมริกาจะแบ่งการพิจารณารับคำร้องออกเป็น 2 ส่วน 
 
ส่วนแรก เป็นส่วนประกอบคำวินิจฉัยหรือธงของคดี ส่วนที่ 2 ส่วนประกอบไม่ได้เกี่ยวกับคำวินิจฉัย ในความเห็นของผมการที่ศาลปกครองกลางไปแนะนำว่าคนที่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนประกาศหลักเกณฑ์การประมูล ส่วนขยายที่ศาลปกครองกลางเขียนต่อท้ายเป็นเพียงส่วนประกอบคำวินิจฉัยเท่านั้น ไม่ได้เป็นเหตุผลหลักหรือแก่นของคำสั่ง จึงไม่ผูกพันกับคนอื่น
 
คำฟ้องของผู้ตรวจการแผ่นดินเองก็ยืนยันชัดเจนว่าบอร์ด กสทช.ไม่ได้อยู่ในอำนาจ จึงส่งไปที่ศาลปกครองไม่ได้แต่ยืมคำแนะนำของศาลปกครองกลางส่งเรื่องฟ้องรอบใหม่
 
โดยความเคารพที่ผมมีต่อศาลนั้น ศาลปกครองไม่ควรจะต้องรับคำฟ้องตั้งแต่แรกแล้ว
 
ขั้นตอนการพิจารณาเรื่องเข้าสู่ศาลล้วนมีลำดับ คือ อยู่ในเขตอำนาจหรือไม่ คนฟ้องมีสิทธิ์ยื่นฟ้องหรือไม่ ระยะเวลาการฟ้องและรูปแบบถูกต้องหรือไม่ เพราะการฟ้องคดีต่างๆ ถ้าหากจบตั้งแต่ตรงนี้ ก็ไม่ต้องเปิดพิจารณาใด ๆ
 
แต่เมื่อเปิดไต่ส่วนไปแล้วประมาณสัปดาห์กว่า ไม่รู้จะออกคำสั่งคุ้มครองหรือไม่ เป็นเรื่องที่กำลังลุ้นกันอยู่ แสดงว่าศาลรับเรื่องนี้เข้าไปแล้ว ในความเห็นของผมคือ เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจ จะส่งได้เฉพาะคำสั่ง กฎระเบียบ ของเจ้าหน้าที่ และกรณีการออกประกาศกฎเกณฑ์การประมูล 3 จี กำหนดโดยบอร์ด กสทช.ที่ไม่ได้เจ้าหน้าที่รัฐหรือสังกัดส่วนราชการต่าง ๆ
 
ถามว่าแล้วศาลปกครองจะตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ไม่ได้เลยหรือ คำตอบของผมคือ "ได้" แต่ต้องดูว่าคนฟ้องเป็นใคร ในเมื่อตามกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินทำได้เฉพาะในกรอบที่ระบุไว้เท่านั้น จะไปฟ้องเรื่องอื่นไม่ได้ เพราะคำฟ้องที่เขียนลงไปยื่นฟ้องก็บ่งบอกชัดเจนว่าไม่มีอำนาจตรวจสอบบอร์ด กสทช.
 
โดยสรุปแล้วผมมีความเห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจไปตรวจสอบประกาศหลักเกณฑ์การประมูล 3 จี และ ศาลปกครองไม่ควรรับคำฟ้องตั้งแต่แรกแล้ว
 
ทางด้านนายเกอร์ราร์ด โปโกเรล นักเศรษฐศาสตร์ด้านโทรคมนาคมจากฝรั่งเศส กล่าวในงานสัมมนาเดียวกัน หัวข้อ "เศรษฐศาสตร์การเมืองในการกำหนดราคาคลื่นความถี่" ว่ากรณีการประมูล 3 จีของประเทศไทย ที่มีข้อถกเถียงกันอยู่ขณะนี้ถึงราคาประมูลที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย จ่ายค่าสัมปทานบริการ 3 จี ควรจะต้องทำให้รัฐซึ่งเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีต้องได้รับเงินสูงกว่า 40,000-45,000 ล้านบาท
 
นักเศรษฐศาสตร์โทรคมนาคมทั่วโลกมีความเห็นคล้ายคลึงกัน คือ ตอนนี้เป็นเวลาเหมาะสมที่ไทยควรจะพัฒนาเทคโนโลยีบริการคลื่นความถี่ 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ต ส่วนราคาประมูลเป็นเพียงปัจจัยเล็ก ๆ เท่านั้น เรื่องการพัฒนาบริการคลื่นความถี่ของประเทศต่างในสหรัฐอเมริกา และ สหภาพยุโรป ส่วนใหญ่จะเน้นวางรูปแบบบริหารจัดการ
โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการเปิดทางให้ผู้ประกอบการเข้ามาแข่งขัน เพื่อลดอำนาจการต่อรองระหว่างรัฐกับผู้ที่ได้สัมปทาน และ เพิ่มทางเลือกให้แก่ภาคธุรกิจ ผู้บริโภคทุกกลุ่ม จะได้ใช้โครงข่ายโทรคมนาคมราคาถูกลงโดยอัตโนมัติ
 
เป้าหมายหลักต้องให้น้ำหนักการตอบโจทก์บริการสาธารณะแก่คนทั้งประเทศ รวมถึง 3 จี ยังเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศที่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องใช้และนำมาใช้พัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจแข่งขันกับนานาประเทศ
 
เพราะหากสนใจเรียกร้องกันแต่เรื่องเพิ่มค่าสัมปทาน ยิ่งสูงมากจะยิ่งกลายเป็นอำนาจที่ผู้ประกอบการจะนำมาต่อรองกับรัฐบาลได้ กรณีการจัดเก็บค่าบริการจากผู้ใช้ เนื่องจากการลงทุนด้วยการจ่ายเงินค่าแรกเข้าสูงมาก
 
ส่วนการจัดการคลื่นความถี่เป็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก เป็นหน้าที่ของ กสทช.ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลให้ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงน้อยที่สุด และสถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้คลื่นความถี่มีความผันผวนสูงมาก ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำให้ประเทศไทยลองพิจารณาวิธีการจัดการคลื่นความถี่ โดยทำบัญชีรายชื่อผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทะเบียน หาส่วนแบ่งตลาดจากเครือข่ายอนาล็อกเดิมแบ่งมาพัฒนาเป็นดิจิตอลเพิ่มขึ้น และ เพิ่มแรงจูงใจหรืออินเซ็นทีฟการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนนำคลื่นอนาล็อกมาแบ่งให้รายอื่นทำเครือข่ายดิจิตอล
 
ทำควบคู่ไปพร้อมกับอีก 3 ช่องทาง นั่นคือ หาวิธีนำคลื่นที่เหลืออยู่มาพัฒนาใหม่ ใส่เทคโนโลยีใหม่เข้าไป และ หากลกลไกการตลาดเข้ามาเสริม เพื่อให้เกิดกุญแจแห่งความสำเร็จ 2 เรื่อง คือ 1.เพิ่มประสิทธิภาพทางเทคโนโลยีประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายและบริการให้แก่ ภาครัฐ เอกชน สาธารณะ 
 
 2.จัดการทางด้านการตลาดได้เต็มที่ เพื่อกระตุ้นการแข่งขันทำให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์สูงสุด

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1353494827&grpid=01&catid&subcatid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น