Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอาทิตย์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2555

อีกกี่ศพคนจนถึงจะพ้นบ่วงมาร


คณิน บุญสุวรรณ
จาก REDPOWER ฉบับ 24 เดือน มีนาคม 55



ถ้าจะพูดถึงสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เราก็ต้องหมายถึง พรรคการเมือง เท่านั้น ไม่มีอย่างอื่น

          แต่ถ้าสถาบันการเมืองที่ว่านั้น หมายถึง องค์กรจัดตั้งใดๆ ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง แล้ว พรรคการเมืองอาจไม่ใช่องค์กรเดียวที่ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการเมือง แต่อาจหมายรวมถึงองค์กรอื่นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กองทัพ และระบบราชการ

          และในกรณีเช่นว่านั้น ถ้าพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมืองในระบบ กองทัพก็เป็นสถาบันการเมืองนอกระบบ เหมือนกับกรณีที่จำแนกเป็นอำนาจในระบบกับอำนาจนอกระบบ นั่นแหละ

          พรรคการเมืองและกองทัพ ในระบบการเมืองของไทย เป็นของคู่กันมาตลอด นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ เป็นต้นมา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสองสถาบันนี้ ไม่ค่อยจะราบรื่น หรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสักเท่าใดนัก จะว่าเป็น คู่กัด หรือ คู่ต่อสู้ กันมาตลอด ก็คงจะได้ เปรียบได้กับงูเห่ากับพังพอน นั่นแหละ

          ทั้งพรรคการเมืองและกองทัพ ในระบบการเมืองของไทย มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ ต้องการอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ต่างกันแต่เพียงวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ดังกล่าว

          กล่าวคือ กองทัพได้อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง มาด้วยวิธีการรัฐประหาร ต่อจากนั้น กองทัพก็จะมีบทบาทหลักในการกำหนดแนวทางและกติกาของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องรัฐธรรมนูญ



          ส่วนพรรคการเมืองนั้น ได้อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง มาด้วยวิธีการเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนที่สุด สิ่งที่มาควบคู่กับการเลือกตั้ง ก็คือการซื้อเสียง ซึ่งกลายเป็นจุดอ่อนหรือแผลของพรรคการเมือง ที่มักจะถูกกองทัพยกมาอ้างทุกครั้ง เมื่อต้องการโค่นล้มพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ไม่เว้นแม้แต่การโจมตีจากพรรคการเมืองด้วยกัน อีกเรื่องหนึ่ง ที่กองทัพมักจะนำมาอ้างทุกครั้ง ที่จะทำการโค่นล้มพรรคการเมืองโดยวิธีการรัฐประหาร ก็คือ การคอรัปชั่น  แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลซึ่งตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร จะไม่มีการคอรัปชั่น อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่มีใครกล้าตรวจสอบ แม้แต่ศาลยังถูกดึงไปเป็นพวก

          เมื่อบวกลบคูณหารกันแล้ว ในช่วงเกือบ ๘๐ ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ตกอยู่ในมือของกองทัพเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพรรคการเมืองกลายเป็นส่วนน้อย อย่างเทียบกันไม่ติด แต่ถึงจะน้อยมากเมื่อเทียบกับกองทัพ แต่อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ที่อยู่ในมือของพรรคการเมือง ได้มีการกระจายแบ่งปันกันอย่างกว้างขวางและทั่วถึง ที่สำคัญ ลงถึงประชาชนระดับล่าง ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

          ส่วนอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ที่อยู่ในมือของกองทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังการปฏิวัติรัฐประหาร จะกระจุกตัวอยู่ในวงของผู้นำในกองทัพ รวมทั้งมือไม้พวกพ้องของคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ชนชั้นสูง ระบบราชการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ่อค้านักธุรกิจ และนายธนาคาร ที่ให้การสนับสนุนการรัฐประหาร



          อย่าว่าแต่อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองเลย ที่ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของกองทัพมากกว่าพรรคการเมือง แม้แต่เรื่องกฎกติกาของบ้านเมือง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นหรือเป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศและแก้ไขปัญหาช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมาย ยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ของรัฐธรรมนูญและระบบกฎหมายไทยที่ใช้บังคับมาตลอด เกือบ ๘๐ ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ถูกกำหนดโดยกองทัพ มีอยู่น้อยมากเพียงอาจไม่ถึงร้อยละ ๒๐ ด้วยซ้ำ ที่พรรคการเมืองมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของประเทศ ทางด้านรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

          มีอยู่ครั้งเดียว ที่พรรคการเมืองได้มีบทบาทนำในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นก็คือ เมื่อครั้งที่รัฐสภาเลือก ส.ส.ร. และ ส.ส.ร. ก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ โดยมีประชาชนและพรรคการเมืองมีส่วนร่วม อย่างมีนัยสำคัญ แต่ถึงกระนั้น บทบาทนำหรือต้นตำรับของรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ก็ยังคงตกอยู่ในมือของนักวิชาการและนักกฎหมาย ที่เคยรับใช้กองทัพหลังการรัฐประหารมาตลอดอยู่เหมือนเดิม

          อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงบทบาทนำในด้านเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ของประเทศแล้ว ต้องยอมรับความจริงว่า เมื่อเทียบกันตัวต่อตัว ระหว่างกองทัพกับพรรคการเมือง แล้ว จะพบว่า กองทัพมีบทบาทและความสำคัญ น้อยกว่าพรรคการเมืองอย่างเทียบกันไม่ติด ซึ่งถ้าพิจารณาในแง่นี้แง่เดียว ประเทศไทยถ้าไม่มีพรรคการเมืองเข้าไปสลับสับเปลี่ยนสอดแทรกเข้าไปมีอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองบ้าง และปล่อยให้กองทัพกุมบังเหียนและกำหนดทิศทางเพียงลำพังแล้ว เศรษฐกิจของประเทศไทย คงไม่น้อยหน้าไปกว่าประเทศพม่าหรือเกาหลีเหนือแน่ๆ

          ที่พูดมาทั้งหมดนั้น อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจประหนึ่งว่า ประเทศชาติบ้านเมืองของเราที่อยู่รอดปลอดภัยและเป็นปึกแผ่นมาได้ ก็เพราะสองสถาบัน คือ กองทัพ กับ พรรคการเมือง เท่านั้น 

          แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ประชาชนต่างหาก ที่เป็นเสาหลักของบ้านเมืองแท้จริง ประชาชนต่างหาก ที่เป็นสถาบันการเมืองอันยั่งยืนมาตลอด ทั้งในยามสงบและในยามสงคราม หรือแม้แต่ในยามที่ประเทศประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจ จนแทบจะดิ่งลงเหว อย่างเมื่อคราวโดนพิษต้มยำกุ้ง เมื่อ ๑๕ ปีที่แล้ว ก็ได้ประชาชนนี่แหละ ที่ประคับประคองและกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศ ให้อยู่ตลอดรอดฝั่งมาได้ ในขณะที่พวกคนรวยซึ่งมีอยู่เพียงหยิบมือเดียว แต่มีหนี้สินรวมกันหลายแสนล้านบาท ต่างพากันล้มบนฟูก ปล่อยให้รัฐและประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้แทนตราบจนถึงทุกวันนี้

          เพราะฉะนั้น ตราบใดที่กองทัพยังไม่ใช่กองทัพของประชาชน ตราบใดที่พรรคการเมืองยังไม่เป็นพรรคการเมืองของประชาชน ตราบนั้นประเทศนี้ ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อประเทศนี้ ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ความยากจนและความไม่เป็นธรรม ในสังคมก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

          ลองนึกทบทวนดูให้ดี ว่า ตั้งแต่เกิดเติบโตและเป็นผู้ใหญ่ จนแก่เฒ่าปูนนี้แล้ว เพราะใคร ไม่ใช่เพราะคนจนซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศดอกหรือ ?



          คนจนทั้งนั้น ที่ปลูกข้าวให้เรากิน คนจนทั้งนั้น ที่ปลูกบ้านให้เราอยู่ คนจนทั้งนั้น ที่ก่อสร้างอาคารสูงระฟ้า ให้พวกเศรษฐีได้ทำธุรกิจ

          คนจนทั้งนั้น ที่ใช้แรงงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมที่นำรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล

          คนจนทั้งนั้น ที่ไปใช้แรงงานในต่างประเทศ ซึ่งทำรายได้เข้าประเทศปีละนับแสนล้านบาท

          คนจนทั้งนั้น ที่ผลิตสินค้าส่งออก ที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล และทำให้ประเทศไทยมีมหาเศรษฐีติดอันดับโลกหลายสิบคน

          คนจนทั้งนั้น ที่ไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งอย่างแข็งขัน

          คนจนทั้งนั้น ที่สละชีพเพื่อประเทศในศึกสงครามหลายสิบหลายร้อยครั้ง ในประวัติศาสตร์ชาติไทย คนจนทั้งนั้น ที่สู้รบสละชีพเสี่ยงชีวิต ร่วมเป็นร่วมตายกับพระนเรศวรมหาราช และพระเจ้าตากสินมหาราช จนสามารถกอบกู้เอกราชของชาติไทย ให้อยู่ยั้งยืนยงและเป็นปึกแผ่นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

          และสุดท้าย คนจนทั้งนั้น ที่เสียสละเอาชีวิตไปสังเวยความใจดำอำมหิตของเผด็จการ เพื่อให้บ้านเมืองและลูกหลานมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕ และเมษา พฤษภามหาโหด ปี ๒๕๕๓

          ดังนั้น เมื่อพูดถึงกองทัพกับพรรคการเมือง ที่ต่อสู้แย่งชิงและตักตวงเอาอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองเอาไว้ในมือของฝ่ายตนมาตลอด แต่ก็ต้องมาจบลงที่คนจน ก็เพราะต้องการที่จะกระตุ้นต่อมสำนึก ของทั้งกองทัพและพรรคการเมือง ว่า ถึงเวลาแล้ว ที่กองทัพและพรรคการเมือง จะหันหน้ามาจับมือกัน ไม่ใช่เพื่อ ฮั้ว กัน แต่เพื่อเสียสละแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง ที่พวกตนสลับสับเปลี่ยนกันเข้ามาครอบครอง และกอบโกยเข้าพกเข้าห่อ ให้กระจายและตกไปอยู่ในอ้อมกอดของคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศบ้าง

          เพราะถ้าหากสองฝ่าย คือ กองทัพกับพรรคการเมือง ยังคงต่อสู้แย่งชิงเอาเป็นเอาตายกัน อย่างที่ผ่านมา และอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยไม่เห็นหัวคนจน และโดยที่ต่างฝ่ายต่างมองข้ามประชาชน แล้วเมื่อถึงเวลาหนึ่ง คนจนจะหมดไปจากประเทศไทย นั่นคือ คนจนตายหมด และเมื่อใดที่คนจนอยู่ไม่ได้ คนจนหมดไปจากประเทศไทยแล้ว ประเทศไทยก็อยู่ไม่ได้

          ถามว่า ถ้าประเทศอยู่ไม่ได้แล้ว ใครจะอยู่ได้ ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น