Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

"ฉันทามติ"ไทย-จีน หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ 9 ประการ

ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์

ถ้อยแถลงร่วมระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ ๑๗ - ๑๙ เมษายน ๒๕๕๕ ตามคำเชิญของนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

ในระหว่างการเยือน นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ฯ ได้พบกับนายหู จิ่นเทา ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และนายอู๋ ปางกั๋ว ประธานสภาประชาชนแห่งชาติจีนตามลำดับ และได้พบหารือกับนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีจีน และนายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน


นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ฯ และนายหวัง ฉีชาน รองนายกรัฐมนตรีจีน ได้เข้าร่วมในการสัมมนาระหว่างอาหารกลางวันที่จัดขึ้นสำหรับนักธุรกิจไทย – จีน ในการพบหาริอข้างต้น ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเชิงลึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคี ประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่มีความสนใจร่วมกัน ด้วยบรรยากาศที่จริงใจ สร้างสรรค์และบังเกิดผล นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอบคุณรัฐบาลและประชาชนสาธารณรัฐประชาชนจีนสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและเอื้อเฟื้อ


ผู้นำจีนมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ที่สนพระทัยและทรงสนับสนุนความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างจีนและไทยมาโดยตลอดเป็นระยะเวลายาวนาน โดยผู้นำจีนประสงค์ให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กราบบังคมทูลถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้ ฝ่ายไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งต่อความรู้สึกอันอบอุ่นนี้จากฝ่ายจีน

สองฝ่ายเห็นพ้องว่าการเยือนจีนครั้งนี้ได้ช่วยส่งเสริมและเพิ่มพูนความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและไทยอย่างมาก ภายหลังการประชุมและหารือ สองฝ่ายบรรลุฉันทามติ ดังต่อไปนี้


๑. สองฝ่ายยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ และส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่าง ๆ ตามที่ปรากฏใน ๑) “ถ้อยแถลงร่วมระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยแผนปฏิบัติการร่วมในศตวรรษที่ ๒๑” ซึ่งลงนามที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ๒) “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์” ลงนามเมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ และเอกสารฉบับที่ ๓ ซึ่งมีความสำคัญเท่าเทียมกัน คือ ๓) “แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน“ (๒๕๕๕ - ๒๕๕๙) ลงนามเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๕ ในระหว่างการเยือนครั้งนี้


๒. สองฝ่ายแสดงความพอใจอย่างลึกซึ้งต่อความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ยาวนานและมีพลวัตร และมีความร่วมมืออย่างกว้างขวาง ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หยั่งลึกมาเป็นเวลายาวนานหลายศตวรรษ สองฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องและอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เพื่อบรรลุความมุ่งมั่นร่วมกันเพื่อความกินดีอยู่ดีและความเจริญรุ่งเรืองขึ้นของประชาชนและประเทศทั้งสอง ตลอดจนสันติภาพ เสถียรภาพและการพัฒนาในภูมิภาค


๓. สองฝ่ายย้ำถึงความเชื่อที่ว่า สันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และการพัฒนามีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ ทั้งบริบทในภูมิภาคและระหว่างประเทศ สองฝ่ายเห็นพ้องว่า สถานการณ์ดังกล่าวเป็นโอกาสและศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในการขยายความร่วมมือระหว่างกัน ดังนั้น สองฝ่ายจึงแสดงความมุ่งมั่นในการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทย - จีน


๔. สองฝ่ายย้ำว่า จะดำเนินการเรื่องการเป็นหุ้นส่วนต่อไปตามแนวทางของหลักการห้าข้อของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และหลักของกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป เพื่อรักษาเจตนารมณ์ของมิตรภาพและไมตรีจิต ฝ่ายไทยยึดถือนโยบายจีนเดียว และถือว่ารัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลตามกฎหมายเพียงรัฐบาลเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งปวง และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่สามารถแบ่งแยกได้และสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบอย่างสันติ


๕. สองฝ่ายเห็นว่า เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันที่มากขึ้นในขณะที่สนองผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชน ทั้งสองประเทศ ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านควรได้รับการส่งเสริม โดยการรื้อฟื้นและส่งเสริมกลไกทวิภาคีที่มีอยู่แล้ว ได้แก่
(๑) คณะกรรมการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน – ไทย ในระดับรองนายกรัฐมนตรี
(๒) การประชุมหารือทางการเมืองระหว่างกระทรวงการต่างประเทศของสองฝ่าย
(๓) การหารือประจำปีด้านการป้องกันประเทศและความมั่นคงระหว่างกระทรวงกลาโหมของสองฝ่าย
(๔) คณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนกลไกระดับมณฑล อาทิ คณะทำงานไทย - ยูนนาน ไทย - กวางตุ้ง และไทย – เซี่ยเหมิน ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนการสถาปนาบ้านพี่เมืองน้องระหว่างเมืองหรือมณฑลเมื่อมีความเหมาะสม


๖. สองฝ่ายย้ำถึงความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง และแลกเปลี่ยนการเยือนในด้านต่าง ๆ ในทุกระดับ ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมทั้งระหว่างพรรคการเมืองของสองประเทศ รวมทั้งความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมืองระหว่างกัน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีให้มีมากขึ้นและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


๗. สองฝ่ายมีความยินดีต่อการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทยระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๔ ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือในด้านการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงและทางรถไฟอื่น ๆ การพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ การวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาดที่มีราคาย่อมเยา พลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก ตลอดจนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน
อย่างแท้จริง


๘. สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้มาตรการที่เหมาะสมและจำเป็นเพื่อบรรลุความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ดังนี้
(๑) ส่งเสริมความร่วมมือในด้านความมั่นคงให้มากขึ้น ทั้งความมั่นคงตามรูปแบบดั้งเดิมและความมั่นคงรูปแบบใหม่ การรับมือต่อการก่อการร้าย การลักลอบค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การหลอกลวงทางโทรคมนาคม และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ และส่งเสริมความร่วมมือการบังคับใช้กฎหมายในแม่น้ำโขง
(๒) อำนวยความสะดวกและส่งเสริมการค้าทวิภาคีให้บรรลุ ๑๐๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ๒๕๕๘ และส่งเสริมการลงทุนระหว่างกันในสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน สองฝ่ายจะส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำธุรกรรมทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และจะแสวงหาวิธีการที่จะลดผลกระทบจากความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคี
(๓) ดำเนินความร่วมมืออย่างแข็งขัน ทั้งในด้านการคมนาคมทางบกและทางน้ำ โดยเฉพาะในแม่น้ำโขงและการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าของการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาการเชื่อมโยงในภูมิภาค รวมทั้งการเชื่อมโยงนอกภูมิภาคอาเซียน ในการนี้ สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะใช้เครือข่ายคมนาคมทางบกในการเชื่อมต่อไทยและจีน อาทิ เครือข่ายคมนาคมที่มีอยู่แล้ว เช่น ถนนคุนหมิง – กรุงเทพฯ (R3A) ถนนมุกดาหาร – หนานหนิง (R9) และถนนนครพนม – หนานหนิง (R12)
(๔) ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพให้มากขึ้น และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระหว่างสองประเทศ กระตุ้นการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนต่อประชาชนให้มากขึ้น เพื่อเสริมสร้างพื้นฐานของความสัมพันธ์สองฝ่ายในอนาคต
(๕) ส่งเสริมภาษาจีน และภาษาไทย และวัฒนธรรมในแต่ละประเทศ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมในแต่ละประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมการทำงานของสถาบันขงจื๊อและห้องเรียนขงจื๊อในประเทศไทย และการส่งเสริมมุมไทยและไทยศึกษาในประเทศจีน สองฝ่ายจะกระชับการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ความร่วมมือระหว่างสถาบัน การศึกษา และความร่วมมือในด้านการสอนภาษาจีนภายใต้กรอบความตกลงความร่วมมือทางการศึกษา และการให้การรับรองประกาศนียบัตรและวุฒิการศึกษา และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างยุวอาสาสมัคร
(๖) กระชับความร่วมมือด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ขยายการค้าทวิภาคีในด้านพืชผลทางการเกษตร และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พลังงานสะอาด อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล ส่งเสริมการจัดตั้งและการพัฒนาห้องปฏิบัติการร่วมด้านสภาพอากาศและระบบนิเวศน์ทางทะเลร่วมกัน
(๗) กระชับการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกันและลดอุทกภัยและภัยพิบัติ และการฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ
(๘) ขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขและกีฬา และเพิ่มพูนความร่วมมือการวิจัยทางการแพทย์การผลิตยา การป้องกันและควบคุมโรคระบาด และการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในด้านสาธารณสุข
(๙) ฝ่ายจีนย้ำถึงการสนับสนุนอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง ต่อความร่วมมือในภูมิภาคที่นำโดยอาเซียน ซึ่งจะส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ประเทศไทยในฐานะที่กำลังจะเป็นประเทศผู้ประสานงานอาเซียน – จีน ให้คำมั่นว่าจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับจีนในการส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์อาเซียน – จีน และในฐานะประธานร่วมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ประเทศไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับจีน เพื่อผลประโยชน์ในภูมิภาค สองฝ่ายจะกระชับการประสานงานและความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และใช้ประโยชน์เชิงลึก ต่อความร่วมมือที่มีอยู่แล้วภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน - จีน และอาเซียน + ๓ เพื่อตระหนักต่อเป้าหมายในระยะยาวในการสร้างประชาคมเอเชียตะวันออก สองฝ่ายย้ำว่า การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) จะคงไว้ซึ่งการเป็นเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ของผู้นำ ที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระดับโลกที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยส่งเสริมฉันทามติ การดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป และคำนึงถึงการยอมรับได้ของทุกฝ่าย
(๑๐) ฝ่ายจีนย้ำการสนับสนุนความคิดริเริ่มของประเทศไทยในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนอาเซียน + ๓ ในด้านการเชื่อมโยงในภูมิภาค และจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามความคิดริเริ่มดังกล่าว
(๑๑) สองฝ่ายยินดีต่อฉันทามติเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ เรื่องแนวปฏิบัติต่อการบังคับใช้ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (DOC) และความร่วมมือที่ดำเนินอยู่ในปฏิญญาฯ ระหว่างจีนและประเทศสมาชิกอาเซียน และสนับสนุนให้ทุกฝ่ายใช้โอกาสครบรอบ ๑๐ ปีของปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้เป็นโอกาสในการปฏิบัติตามปฏิญญาฯ อย่างสมบูรณ์ และดำเนินความร่วมมือเพื่อให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ
(๑๒) ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) และสนับสนุนการดำเนินโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กรอบยุทธศาสตร์ (๒๕๕๕ – ๒๕๖๕) ที่ลงมติในเดือนธันวาคม ๒๕๕๔ เพื่อลดปัญหาความยากจนและพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในภูมิภาค
(๑๓) เพิ่มการประสานงานและความร่วมมือที่สหประชาชาติ องค์การการค้าโลก การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก การประชุมเอเชีย-ยุโรป การประชุมความร่วมมือในเอเชีย และกลไกในภูมิภาคและกลไกระหว่างประเทศให้มากขึ้น



๙. ฝ่ายไทยแสดงความขอบคุณรัฐบาลและประชาชนชาวจีนอย่างลึกซึ้ง ที่ให้ความช่วยเหลือทั้งในรูปเงินและสิ่งของต่อประเทศไทย ในช่วงที่ประสบอุทกภัยครั้งร้ายแรงเมื่อปี ๒๕๕๔

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1334849355&grpid=&catid=01&subcatid=0000

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น