Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

เมื่อ "เกษียร เตชะพีระ" ชันสูตรพลิกศพเรื่อง "ตลกมรณะ" ที่ชื่อ "ผังล้มเจ้า"

ที่มาของข้อมูลมติชนออนไลน์

นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความชื่อ "ชันสูตรพลิกศพ ′ผังล้มเจ้า′" ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว



ถึงแม้กรณี "ผังล้มเจ้า" จะจบลงแบบน่าหัวร่อและชวนให้ส่ายหน้าด้วยความสมเพช (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333186767&grpid=01&catid=01)แต่ผมอยากเตือนให้ระลึกว่านี่เป็น "ตลกมรณะ" (a deadly joke) เพราะตอนที่มันถูกปล่อยออกมานั้น หน้าที่ทางการเมืองของมันคือให้ความชอบธรรมแก่ศอฉ.และรัฐบาลอภิสิทธิ์ - ซึ่งตกอยู่ในสภาพเพลี่ยงพล้ำจากความล้มเหลวไม่เป็นท่าในการสลายการชุมนุมนปช.รอบแรกที่ถนนราชดำเนิน - ในอันที่จะลงมือโฆษณาชวนเชื่อโจมตีให้ร้าย ปราบปรามและฆ่าคนต่อไป ด้วยข้ออ้างว่า "เพื่อปกป้องสถาบันฯ"

ผมจึงอยากชวนคิดจริงจังกับ "ตลกมรณะ" เรื่องนี้สักเล็กน้อย เพื่อเป็นบทเรียนแก่ฝ่ายต่าง ๆ ในการหลีกเลี่ยงการให้ร้ายป้ายสี, การให้ความชอบธรรมกับความรุนแรง, และการใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างมักง่าย ในภายหน้า

ปัญหาพื้นฐานของ "ผังล้มเจ้า" คือมันเป็นเครื่องมือสืบสวนสอบสวนแบบฉบับที่สร้างขึ้นโดยหน่วยงานข่าวกรองซึ่งเรียนรู้และเลียนแบบมาจาก CIA เนื้อแท้ของมันก็คือบัญชีดำ (blacklist) ของผู้ต้องสงสัย ที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ประมวลรวบรวมขึ้นในสถานการณ์สู้รบกับองค์การใต้ดิน/บนดินของคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น และนำมาป้อนให้และ/หรือสอนให้หัดรวบรวมทำขึ้นบ้างแก่เจ้าหน้าที่ของประเทศพันธมิตรในโลกที่สามนั่นเอง ฝ่ายความมั่นคงและหน่วยข่าวกรองไทยซึ่งรับการฝึกฝนอบรมและอิทธิพล รวมทั้งแลกเปลี่ยนข่าวประสานงานกับหน่วยข่าวกรองอเมริกันมาตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเย็น สงครามเวียดนาม ถึงปัจจุบัน จึงรับเอาวิธีการนี้มาใช้ด้วย ไม่ว่าในสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ในอดีต, สงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 หรือสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะผู้ก่อความไม่สงบภาคใต้ในปัจจุบัน จากรายชื่อดังกล่าว ฝ่ายความมั่นคง/ข่าวกรองก็อาศัยเป็นฐานในการสืบสวนสอบสวน หาข่าว เชื่อมโยงความสัมพันธ์เป็นเครือข่าย ติดตาม สืบจับ กระทั่งคุมตัว อุ้มหรือล่าสังหารตามคำสั่งต่อไปแล้วแต่กรณี

ตรรกะพื้นฐานในการสร้างบัญชีดำหรือ "ผังล้มเจ้า" ในกรณีนี้ คือตรรกะแห่งความสงสัย (the logic of doubt) อันเป็นตรรกะที่ชี้นำการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวกรอง/ความมั่นคง เพราะลักษณะใต้ดินปิดเร้นซ่อนงำลึกลับของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ดำเนินงานโดยอาศัยหลักฐานชัดแจ้งที่พิสูจน์ถึงที่สุดมิได้ หากต้องอาศัย "ความสงสัย" กาหัวเล็งเป้าใส่ "ผู้ต้องสงสัย" เป็นหลักแทน แล้วคอยเฝ้าสังเกตสอดส่องดูแล ระแวดระวัง (surveillance) ได้เลย ซึ่งตรงกันข้ามกับตรรกะพื้นฐานในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ชั้นตำรวจ อัยการ จนถึงศาล ซึ่งอยู่บนหลักการของตรรกะแห่งการพิสูจน์ (the logic of proof) ถือว่าบุคคลเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนแม้เขาตกเป็นผู้ต้องหา จนกว่าจะพิสูจน์ด้วยพยานหลักฐานอย่างเปิดเผยและเปิดให้โต้แย้งซักค้านได้ในกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด แล้วเชื่อถืออย่างสิ้นข้อสงสัยที่ชอบด้วยเหตุผล (beyond reasonable doubt) ว่าเขาผิดจริง เมื่อนั้นจึงจะลงโทษเขาได้ ถ้าหากกระบวนการยุติธรรมถือหลักว่าปล่อยคนผิดไปร้อยคน (เพราะยังมีข้อสงสัยที่ชอบด้วยเหตุผลว่าเขาผิดจริงหรือไม่?) ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์แม้เพียงหนึ่งคนแล้ว, งานข่าวกรอง/ความมั่นคงกลับดำเนินงานด้วยหลักตรงข้ามกัน คือต้องติดตามสอดส่องคนที่ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทั้งร้อยคนตราบเท่าที่ยังมีข้อสงสัยแม้แต่น้อยเกี่ยวกับคนเหล่านั้น

ความบกพร่องผิดพลาดพื้นฐานเกิดขึ้นเมื่อนักการเมืองหยิบเอาบัญชีดำ"ผังล้มเจ้า" ซึ่งเป็นเครื่องมือของงานข่าวกรองมาอ้างใช้อย่างเปิดเผยเสมือนหนึ่งเป็น "คำกล่าวหาฟ้องร้อง" หรือกระทั่ง "หลักฐานเอาผิด" ในกระบวนการยุติธรรม การข้ามเส้น ใช้เครื่องมือผิดประเภทดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการเมืองเข้าแทรกแซงงานข่าวกรอง/ความมั่นคง แทนที่จะปล่อยให้งานข่าวกรอง/ความมั่นคงดำเนินงานไปตามดุลพินิจอิสระและความเป็นมืออาชีพของเจ้าหน้าที่ กลับมีนักการเมืองผู้บังคับบัญชา ล้วงหยิบเอาข้อมูลดังกล่าวไปใช้เพื่อต่อสู้และทำลายล้างปรปักษ์ทางการเมืองในลักษณะเป็นคำกล่าวหาหรือหลักฐานอ้างอิงต่อสาธารณะกลายๆการปล่อยให้มีการฉวยใช้งานข่าวกรอง/ความมั่นคงไปในทางการเมือง (politicization of intelligence work) นี้เลวร้ายมาก เพราะเท่ากับบ่อนทำลาย ความเป็นมืออาชีพ คุณภาพงาน คุณธรรมและศักดิ์ศรีของงานข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ด้านข่าวกรองลงไป นำไปสู่ข่าวหลอกตัวเองและลวงประชาชน ซึ่งชักนำให้ตัดสินใจผิดพลาดบนฐานข่าวหลอกลวงนั้น ดังที่เราได้เห็นผลลงเอยเป็นความกลวงเปล่าเหลวเป๋วเอาอะไรเป็นแก่นสารสาระไม่ได้ของ "ผังล้มเจ้า" กันอยู่

การที่รัฐบาลประชาธิปัตย์และศอฉ.บิดเบนใช้ "ผังล้มเจ้า" เพื่ออุ้มรัฐบาลและทำลายปรปักษ์ทางการเมือง, การที่ชื่อนักวิชาการและสื่อสิ่งพิมพ์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐประหารและผู้อยู่เบื้องหลังอย่างรุนแรงแต่เผอิญมีสายใยเชื่อมโยงกับนักการเมืองผู้โอบกอดกับนายกฯอภิสิทธิ์กลับหายไปไม่ปรากฏใน "ผังล้มเจ้า" อย่างน่าสะดุดตาสะดุดใจยิ่ง, การที่มีผู้นำพรรคการเมืองบางพรรคเอา "ผังล้มเจ้า" ไปปรับแต่งขยายความเพิ่มรูปเพิ่มกลุ่มเพิ่มคน แล้วแอบเผยแพร่ต่อเงียบๆ เพื่อหาสมัครพรรคพวกค้ำจุนกลุ่มตนเองและทำลายศัตรูทางการเมือง, การที่มีมือมืดดึงรายงานข่าวกรองที่บ่งชี้ความชอบด้วยกฎหมายของการเคลื่อนไหวของกลุ่มวิชาการออกไปจากการใช้หมุนเวียนในหมู่ผู้รับผิดชอบตัดสินใจของรัฐเพื่อสนองตอบต่อวาระทางการเมืองเฉพาะของตน ฯลฯ เหล่านี้จริง ๆ แล้วเป็นการบ่อนทำลายประสิทธิภาพ ความแม่นยำถูกต้อง สอดคล้องกับความเป็นจริง ของชุมชนงานข่าวกรอง อันเปรียบเสมือนหูตาป้อนข้อมูลสู่การตัดสินใจของรัฐบาล เท่ากับทำให้รัฐบาลตาฝาดหูเฝื่อนและตัดสินใจผิดพลาดฟั่นเฟือนเพราะอยู่บนฐานข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ บกพร่อง และบิดเบือน

อย่างแรกและก่อนอื่นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานข่าวกรองพึงทำได้จากบทเรียนการชันสูตรพลิกศพตลกมรณะเรื่อง "ผังล้มเจ้า" นี้คือต้องถ่ายถอนการเมืองออกไปจากงานข่าวกรอง/ความมั่นคง อย่าปล่อยให้พลังการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยัดเยียดระเบียบวาระและอคติทางการเมืองเฉพาะของตนเข้ามาบิดเบือนการทำงานข่าวกรองหากต้องดำเนินงานประมวลข่าวกรองอย่างรับผิดชอบ มีประสิทธิภาพ ตรงไปตรงมา และเคารพในสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีของพลเมืองทุกฝ่ายทุกคน, งานข่าวกรองต้องเป็นเครื่องมือที่เป็นกลางทางการเมืองของรัฐบาล, และไม่ปล่อยให้เอาเครื่องมือของงานข่าวกรองแบบ "บัญชีดำ" ไปทำร้ายยั่วยุให้เกลียดชังระแวงและฆ่าฟันคนไทยด้วยกันแบบนี้อีก

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333359287&grpid=01&catid=&subcatid=

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น