จาก มติชนออนไลน์
การปรากฏขึ้นของภาพ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. นั่งสนทนาอยู่กับกลุ่มคนไทยในร้านต้มยำแห่งหนึ่งในมาเลเซีย
มิได้เป็นเรื่อง "เหลือเชื่อ"
เพราะกรณีนี้แม้กระทั่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เองก็ยอมรับ
"ผมเดินทางไปพบกลุ่มคนหลายฝ่ายทั้งในประเทศและในมาเลเซีย แต่ไม่ใช่แกนนำของบีอาร์เอ็นอย่างที่เป็นข่าว"
ยิ่งฟังคำกล่าวจาก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการ สมช.
"การที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เคยทำงานสืบสวนมาแล้วจึงรู้ว่ามีญาติหรือครอบครัวใครอยู่ตรงไหน เข้าไปสอบถามครอบครัวเพื่อดูแลและให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งชักชวนให้กลับเข้ามา"
ยิ่งแจ่มชัดในภารกิจ
เป็นภารกิจในนโยบายบริหารและพัฒนา จชต. 2555-2557 ในเรื่องการส่งเสริมกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
แต่คำกล่าวจาก นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณ ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ คำกล่าวจาก นายถาวร เสนเนียม ส.ส.ยะลา พรรคประชาธิปัตย์ ผ่านกระทู้ถามสดในเรื่องข่าวลือ นั่นสิน่าพิจารณา
เป็นข่าวลือถึงภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โอบกอดแกนนำพูโล
เริ่มจาก นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณ ที่ว่า
มีการร่ำลือในเว็บไซต์ทั้งในและต่างประเทศว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปคุยกับกลุ่มขบวนการโดยเจ้าหน้าที่ภาคใต้ไปพาอดีตนักการเมืองพรรคเพื่อไทยไปพบกลุ่มขบวนการที่มาเลเซียเพื่อเจรจา
ลองไปดูในเว็บไซต์กระบวนการพูโลที่นำภาพของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โอบกอดกับแกนนำพูโลใส่เข้าไป ลองไปตรวจดูว่าคืออะไร
ประสานเข้ากับ นายถาวร เสนเนียม ที่ว่า
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ การข่าวที่เชื่อถือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปพบผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 18 คน ที่มาเลเซีย มีการเสนอเงินให้เขาก้อนหนึ่งเพื่อยุติการเคลื่อนไหว ถือเป็นความหวังดีแต่ขาดความเป็นเอกภาพระหว่างฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายการเมือง
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ไปอีกครั้ง คราวนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไปด้วย เขามา 15 คน เจรจากันไปมา ฝ่ายมั่นคงไม่รับทราบ ไม่รู้เป็นเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ออกอาการ
คำกล่าวจาก นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณ และ นายถาวร เสนเนียม ลึกซึ้งระบุทั้งภาพ ระบุทั้งวันที่ ระบุทั้งตัวบุคคล
ประเด็นอยู่ที่ว่าจริงหรือไม่
คําปฏิเสธทั้งจาก นายนพดล ปัทมะ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อาจเบาหวิวเมื่อปะเข้ากับฐานอ้างอิงในเรื่องเว็บไซต์และที่ปรากฏผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ก
แม้ นายนพดล ปัทมะ จะเป็นที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
แม้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จะเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงผ่านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
กระนั้น การตรวจสอบของเว็บไซต์ "ไทยอีนิวส์" ก็น่าสนใจ
เป็นการตรวจสอบไปยังเว็บไซต์ http:// www.puloinfo.net อันรับรู้ว่าเป็นของ องค์การปลดปล่อยปัตตานี หรือ Patani United Liberation Organization หรือ PULO
หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ http://www. puloif.org ซึ่งพยายามแอบอ้างว่าเป็นขององค์การพูโล
ปรากฏว่าไม่มี
เมื่อเว็บไซต์อันเป็นขององค์การพูโล หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ ซึ่งองค์การพูโลประกาศว่าแอบอ้างและบิดเบือนเพื่อให้คนเข้าใจว่าเป็นของพูโล ก็ไม่มี คำถามก็คือ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เอาข้อมูลนี้มาจากไหน
หรือเสมอเป็นเพียงกโลบายในแบบ "ปรีดีฆ่าในหลวง"
คือการส่งคนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ หลังเหตุการณ์ ร.8 สวรรคต
ไม่ว่าความเป็นจริงจาก "กระทู้สด" ของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินไปโดยฐานข้อมูลอะไร
แต่แน่นอนอย่างที่สุด พรรคประชาธิปัตย์มีหน้าที่ในการขยายรายละเอียดเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ฝ่ายของรัฐบาล ฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ต้องมีคำตอบ
เป็นคำตอบเพื่อให้สาธารณะได้ประเมินว่าจะเลือกเชื่ออย่างไรและของฝ่ายใด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น