สส.ดร.สุนัย จุลพงศธร
ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ
ลาวเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมทางภาษาที่เหมือนคล้ายกับไทยจนแยกไม่ออกจนคนไทยรู้สึกว่าการเรียนรู้เกี่ยวกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
(สปป.ลาว) เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น แต่นับจากการที่รัฐบาลลาวได้เปิดประเทศต้อนรับ
ฯพณฯพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และมวลชนคนเสื้อแดงร่วมทำบุญสงกรานต์เมื่อ 11–14 เมษายน ที่ผ่านมานี้
ถือได้ว่าเป็นนโยบายพิเศษที่บ่งบอกถึงแนวคิดใหม่ที่สำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศลาว
– ไทย
ที่มีลักษณะบ่งบอกถึงความเชื่อมั่นของลาวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยว่าจะมีทิศทางในเส้นทางประชาธิปไตยที่ลาวจะให้ความใกล้ชิดกับ
พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โดยไม่ต้องวิตกกังวลอย่างเช่นอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นความเป็นไปใน
สปป.ลาว จึงเป็นเรื่องที่คนไทยต้องให้ความสำคัญที่จะต้องเรียนรู้ในฐานะประเทศที่มีชายแดนติดกันอย่างเสมอภาค
สปป.ลาว
เปิดตัวให้เกียรติทักษิณอย่างมีนัยสำคัญ
แต่เดิมรัฐบาลลาวมีท่าทีวางเฉยต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทยในขณะที่ประชาชนลาวส่วนใหญ่แสดงออกชัดเจนต่อการเชียร์ขบวนการเสื้อแดง
อย่างเข้าใจในเนื้อหาของความขัดแย้งระหว่างเสื้อแดงและเสื้อเหลือง เพราะความขัดแย้งทางการเมืองของไทยมีเนื้อแท้บางด้านคล้ายกับความขัดแย้งในลาว
ในอดีตก่อนที่ประชาชนลาวจะก้าวจากราชอาณาจักรลาวเข้าสู่การเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
โดยรัฐบาลลาวได้ให้เกียรติ์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
คล้ายกับที่ทางกัมพูชาดำเนินการไปก่อนแล้วเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา
คือการเป็นแขกรับเชิญของสภาอุตสาหกรรมของลาวบรรยายพิเศษให้นักธุรกิจลาว
ในวันแรกของการเดินทางไปถึงเวียงจันทร์คือวันที่ 11 เมษายน 2555 เวลา 13.30 น. ณ
โรงแรมดอนจันทร์ ซึ่งเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งห้าดาวกลางลำน้ำโขง และการบายศรีรับขวัญ
พ.ต.ท.ทักษิณก็จัด ณ หอสภาธรรม วัดธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันทร์ อันเป็นวัดหลักที่ใหญ่ที่สุดของ
สปป.ลาว ที่เปิดต้อนรับเฉพาะข้ารัฐการระดับสูงเท่านั้น โดยมีจำนวนพระสงค์มากถึง
229 รูป ในจำนวนนี้เป็นระดับเกจิอาจารย์ของลาว 100 รูป
ภาพรวมพัฒนาการทางเศรษฐกิจของลาวในปีที่ผ่านมา
ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวในปี
2554
ที่ผ่านมาได้บ่งบอกถึงความเป็นเอกภาพในทิศทางการพัฒนาที่พยายามจะก้าวสู่ความเป็นประเทศทันสมัยอย่างไม่สับสนและไม่มีข้อสงสัย
เมื่อเปรียบเทียบกับไทยซึ่งยังขัดแย้งกันอยู่ระหว่างปรัชญาชีวิตความทันสมัยทางการผลิตกับการพอเพียง
จึงสอดคล้องกับแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการจะผลักดันให้ประเทศไทยพัฒนาอย่างรวดเร็วจากประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่เส้นทางการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเด่นชัด
ด้วยนโยบายที่ทันสมัยและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนรากหญ้า
ในช่วงปี 2554 สปป.ลาว
ได้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
ฉบับที่ 7 ที่จะบรรลุสู่การเป็นประเทศที่ทันสมัย ประชาชนกินดีอยู่ดี ได้แก่
การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals-MDGs) ภายในปี 2558 และหลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least
Development Country - LDC) ภายในปี 2563
โดยลาวได้ทำการปฏิรูปโครงสร้างระบบราชการตั้งกระทรวงใหม่ 4 กระทรวง
ปรับปรุงและออกกฎหมายใหม่ที่เอื้อต่อการลงทุนโดยทำการเปิดตลาดหลักทรัพย์และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น
เน้นการพัฒนาการศึกษา
เพื่อจะได้เปลี่ยนทัศนะคติของประชาชนจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก
มาเป็นเศรษฐกิจที่เน้นองค์ความรู้และการตลาด,นอกจากนั้น รัฐบาลลาวยังให้ความสำคัญต่อความมั่นคงและการอนุรักษ์วัฒนธรรมซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์และความภาคภูมิใจของลาว
ดังคำกล่าวว่า “ความมั่นคงมาก่อนความมั่งคั่ง
วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ และติดพันสิ่งแวดล้อม”
การพัฒนาการทางการเมืองที่สำคัญใน
สปป.ลาว
ในรอบปีที่ผ่านมา
สปป.ลาว ได้มีพัฒนาการทางด้านการเมืองที่มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างชัดเจน
รวมถึงการปรับปรุงกระทรวงต่างๆ ดังนี้
(1)
การเมืองใน สปป.ลาวมีเสถียรภาพและมีความมั่นคงโดยมีการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นติดต่อกันหลายสมัยในแต่ละรอบวาระ
5 ปี ของการประชุมสมัชชาพรรคประชาชนปฏิวัติลาวและล่าสุดเป็นการเปลี่ยนผ่านในสมัยที่
9 รวมทั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติชุดที่ 7
ตามที่คาดหมายไว้โดยมีสายผู้บริหารเดิมส่วนใหญ่ได้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงต่ออีกหนึ่งสมัย
ส่งผลให้นโยบายโดยรวมเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องและยังคงเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ
(MDGs) ในปี 2558 และหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ในปี 2563 ซึ่งแนวโน้ม สปป.ลาวจะบรรลุชัยชนะตามนโยบายที่วางไว้นี้
(2)
การปรับเปลี่ยนตำแหน่งระดับรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหลายตำแหน่งโดยเฉพาะกระทรวงแผนการและการลงทุน
กระทรวงการเงินและธนาคารแห่ง สปป.ลาว
สะท้อนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อบรรลุ MDGs
ของลาวมีความคืบหน้าเป็นลำดับ แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมาก
โดยเฉพาะด้านการบริการสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาสุขภาพที่ดีและเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึงดังจะเห็นได้จากช่วงปีที่ผ่านมา
รัฐบาลลาวได้ขอรับเงินช่วยเหลือจากธนาคารโลก 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และจากองค์การสาธารณสุข 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อขยายกิจกรรมและปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชนบทของลาว
โดยเฉพาะแก่เด็กและสตรี นอกจากนี้
ได้มีการปรับโครงสร้างระบบราชการโดยตั้งกระทรวงใหม่ 4 กระทรวง
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร ได้แก่ 1) กระทรวงภายใน
ซึ่งเดิมลาวเคยมีกระทรวงภายในรับผิดชอบด้านความมั่นคงภายในและกิจการตำรวจ
ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงป้องกันความสงบ (Ministry of Public
Security) สำหรับกระทรวงภายในที่ตั้งขึ้นใหม่ในปี 2554
มีภารกิจคล้ายกับสำนักงาน ก.พ. แต่มีภารกิจที่กว้างขึ้น คล้ายกระทรวงมหาดไทย คือ
การบริหารงานบุคคลของรัฐและดูแลทะเบียนราษฎร์ 2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4) กระทรวงไปรษณีย์ โทรคมนาคม และการสื่อสาร
(3)
กองทัพลาวยังคงเป็นองค์กรที่มีความสำคัญต่อการเมืองภายในของ สปป.ลาว
ตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการ
หัวหน้าและรองหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการ ต่างได้รับเลือกเป็นคณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคฯ
ที่มีฐานะเป็นองค์กรอำนาจสูงสุดของรัฐ
(เพราะระบอบปกครองของลาวมีพรรคการเมืองคุมอำนาจเพียงพรรคเดียว คือ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว)
อีกหนึ่งสมัย
(4)
ที่ประชุมสมัชชาพรรคฯครั้งล่าสุด
ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องดำเนินไปควบคู่กับการรักษาสมดุลของสังคมโดยได้กำหนดแนวนโยบาย
“4 บุกทะลุ” อันประกอบด้วย ด้านอุดมการณ์, ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์,
ด้านกฎระเบียบการบริหารงานพัฒนาธุรกิจ และด้านการแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชน
นอกจากนี้ พรรคฯยังตระหนักถึงความจำเป็นต้องพัฒนาระบบการบริหารราชการและขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง
โดยได้แต่งตั้งประธานองค์การตรวจสอบรัฐบาลและหัวหน้าองค์การต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงคนใหม่
เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารราชการและป้องกันการทุจริตด้วย
ในรอบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของลาวยังเติบโตอย่างน่าพอใจ
รวมตลอดถึงกระแสการลงทุนต่างประเทศก็ยังอยู่ในอัตราเร่งที่ดี
ซึ่งไทยควรให้ความสนใจ ดังนี้
(1) เศรษฐกิจลาวในปี 2554
เติบโตอย่างรวดเร็วโดยอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross
Domestic Product - GDP) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8
ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 7 (ปี 2554 – 2558) แต่ต่ำกว่าอัตราการเติบโตในปี 2553 (ร้อยละ 8.6)
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้
ยังมีภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากพายุไหหม่าและนกเต็น (ซึ่งมีผลกระทบต่อไทยด้วย)
ซึ่งได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจลาว ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 40,000 คน
และพื้นที่เกษตรถูกทำลายไปกว่า 580,000 ไร่ (ประมาณร้อยละ 12
ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด)
คาดว่ารัฐบาลลาวจะต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูอีกไม่ต่ำกว่า 170,000 ล้านกีบ
(ประมาณ 680 ล้านบาท)
(2) ผู้ลงทุนใน สปป.ลาว เป็นกระแสคลื่นที่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่น่าเชื่อว่าไทยจะมีอันดับต่ำกว่าที่เคยเป็น
ซึ่งน่าจะมีผลจากความขัดแย้งภายในของไทยในช่วง 6
ปีที่ผ่านมาทำให้ต้องเสียแชมป์ให้แก่เวียดนาม โดยจีนเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 (546
ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เหมือนเดิมและยังจะต้องจับตาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงของจีนที่กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ลาว
โดยเวียดนามอยู่ในอันดับ 2 (272 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แต่ไทยตกเป็นอันดับ 3 (154 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ตามข้อมูลนี้ยังไม่ได้รวมการดำเนินการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ 2 โครงการ ได้แก่
เขื่อนพลังไฟฟ้าไซยะบุลี และโครงการรถไฟความเร็วสูงจากจีน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดคลื่นการพัฒนาขนาดใหญ่สะเทือนถึงไทย
และปริมาณตัวเลขการลงทุนจะสูงเพิ่มขึ้น
(3) ในด้านนโยบายเชิงรุก
สปป.ลาว ยังมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 7
เพื่อที่จะบรรลุ MDGs ในปี 2558 และหลุดพ้นจากการเป็น LDC ภายในปี 2563
ซึ่งคาดว่ารัฐบาลลาวจะต้องใช้งบประมาณกว่า 420 พันล้านบาท
จึงมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่นักลงทุนต่างประเทศ
เพื่อที่จะตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าลาวโดยเร็ว อาทิ การเปิดตลาดหลักทรัพย์เมื่อต้นปี
2554 การแก้ไขกฎหมายด้านเศรษฐกิจหลายฉบับ (อาทิ กฎหมายภาษี กฎหมายศุลกากร
และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา) ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก
(WTO) ด้วย
สปป.ลาว กำลังอยู่ในความสนใจของประชาคมระหว่างประเทศในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ
ขณะที่รัฐบาลลาวก็ประสงค์ที่จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นและขยายความร่วมมือทุกรูปแบบ
เพื่อสนองผลประโยชน์ของ สปป.ลาว และยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศ เช่น การเป็นเจ้าภาพการประชุม
Asia-Europe
Meeting (ASEM) ครั้งที่ 9 ในเดือนพฤศจิกายน
2555 ที่จะถึงนี้ ส่วนเรื่องความมั่นคงและความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเป็นประเด็นที่
สปป.ลาว ยังคงให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นในการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ เช่น
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
และตั้งเป้าที่จะเป็นประเทศอุตสาหกรรมและทันสมัยโดยเร่งด่วน
ด้านความร่วมมือกับกลุ่มประเทศสังคมนิยม
สปป.ลาว ก็ยังได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษโดยกระชับความใกล้ชิดในระดับพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรคพี่น้องระหว่าง
ลาว กัมพูชา และเวียดนาม อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะประเทศเวียดนามได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นประจำ
อาทิ การเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรกภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานประเทศ
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ สปป.ลาว รวมทั้งการเยือน
สปป.ลาว ของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ นายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม นอกจากนั้น
ยังมีแผนดำเนินโครงการความร่วมมือต่างๆร่วมกัน อาทิ
การร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ลาว – เวียดนาม
ใหม่เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน
มิตรภาพไทย
– ลาว ม่วนซื่น
การกล่าวว่า
ลาว – ไทย คือสายญาติเดียวกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ดังนั้น
ในรอบปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ไทย – ลาว “ม่วนซื่นแท้” โดยสามารถแยกพิจารณาเป็นด้านๆได้ดังนี้
ด้านการเมืองและความมั่นคง
ความสัมพันธ์ฯ
ไทย-ลาวอยู่ในระดับดีมากอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนการเยือนอยู่เป็นระยะ
ทั้งในระดับราชวงศ์และผู้นำระดับสูงโดยเฉพาะเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี
ได้เสด็จฯไปทรงเป็นองค์ประธานร่วมในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 3 (นครพนม – คำม่วน) และได้เสด็จฯต่อไปเยือนแขวงคำม่วน สปป.ลาว
ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของฝ่ายลาว รวมทั้งปี 2554 ยังเป็นช่วงปีแห่งการฉลองครบรอบ
60 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์การทูตไทย – ลาว
โดยมีการจัดทำตราไปรษณียากรที่ระลึก งานบุญพระธาตุศรีสองรัก
ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์แห่งความผูกพันไทย – ลาว ซึ่งตั้งอยู่
ณ ที่จังหวัดเลยมายาวนาน และโครงการรถไฟเยาวชนไทย – ลาว
เป็นต้น รวมตลอดถึงการเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 ซึ่งรัฐบาลลาวได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
ด้านเศรษฐกิจและสังคม
ในด้านเศรษฐกิจ
ไทยยังคงเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของลาวในขณะที่ลาวเป็นคู่ค้าอันดับที่ 7
ของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน มูลค่าการค้าไทย – ลาว ปี 2554 อยู่ที่
118,671.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.64 จากปี 2553
และมีความคืบหน้าของการดำเนินความร่วมมือด้านตลาดหลักทรัพย์และการซื้อขายไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์
ที่แขวงไซยะบุลี เป็นต้น
หากจะพิจารณาถึงภัยธรรมชาติน้ำท่วมใหญ่ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างลาว-ไทย
แม้แต่ภัยน้ำท่วมยังเดือดร้อนร่วมกันและพร้อมกัน แต่ก็ได้แสดงให้เห็นท่าทีที่เป็นมิตรที่ทั้งสองฝ่ายมีต่อกันในยามยาก
ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนสารแสดงความเสียใจ
หรือการมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้ประสบภัยโดยรัฐบาลไทยได้มอบเงินบริจาคให้ฝ่ายลาว
2 ครั้ง รวม 5.5 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลลาวได้มอบเงินบริจาคให้ไทยจำนวน 1.5 ล้านบาท
และภาคเอกชนลาวก็ได้มอบสิ่งของบริจาคเพิ่มเติม อาทิ น้ำดื่มให้อย่างต่อเนื่อง
และนอกจากนี้ ไทยยังคงนโยบายเสริมสร้างความมั่นคงและความมั่งคั่งกับ สปป.ลาว
โดยในปี 2554 ได้มอบเงินในโครงการเพื่อนมิตรจำนวน 2 ล้านบาท
เพื่อสนับสนุนการสร้างโรงเรียนมัธยมในเมืองเวียงไซ แขวงหัวพัน
ซึ่งเป็นบ้านเกิดของนายกรัฐมนตรีทองสิงฯและมีการทอดกฐินพระราชทานที่แขวงอัตตะปือ
ซึ่งเป็นบ้านเกิดของประธานประเทศลาว นอกจากนั้น
ได้ดำเนินโครงการเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเยาวชนไทย – ลาว อาทิ โครงการรถไฟเยาวชน เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามในความม่วนซื่นก็มีปัญหาที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรลาวเกิดความไม่พอใจต่อนโยบายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ที่ผ่านมา
คือไทยได้มีนโยบายจำกัดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากลาวในระหว่างเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน
2554 ทำให้ราคาข้าวโพดในลาวตกต่ำเกษตรกรลาวต้องเดือดร้อน ซึ่งภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่นางสาวยิ่งลักษณ์
ขณะนี้ก็ได้คลี่คลายปัญหาแล้ว
แนวโน้มความสัมพันธ์ไทย
– ลาว ปี 2555 ยิ่งกระชับแน่น
จากเหตุการณ์ที่ลาวเปิดประเทศต้อนรับ
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
และแฟนคลับได้ร่วมกันทำบุญและบายศรีรับขวัญในวันสงกรานต์ที่ผ่านมา
ทำให้ความสัมพันธ์ไทย – ลาว
ในขณะนี้ยิ่งกระชับแน่นแม้ในอดีตจะยังมีประเด็นอ่อนไหวที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
เช่น (1)
การแก้ไขปัญหาและเจรจาด้านเขตแดนที่คงค้างที่จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม
(JBC) ไทย – ลาว ครั้งที่ 9 (2)
การจัดตั้งกระบวนการนำเข้าแรงงานลาวให้เป็นระบบ
รวมถึงการสอดส่องดูแลปัญหาแรงงานผิดกฎหมายที่เชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์และการลักลอบขน/ค้ายาเสพติด
(3) การอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดน
เพื่อให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมในอนุภูมิภาคได้อย่างเต็มที่
และ (4) ปัญหาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้นแต่ภายใต้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์และการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจกันก็น่าจะทำให้ประเด็นดังกล่าวไม่น่าวิตกกังวลอะไร
นอกจากนี้
รัฐบาลลาวยังได้แสดงทัศนะที่ดีต่อรัฐบาลชุดใหม่ของไทย
รวมทั้งได้แสดงความพร้อมที่จะผลักดันความร่วมมือด้านต่างๆให้มีความคืบหน้าเป็นลำดับ
โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การซื้อ – ขายพลังงานไฟฟ้า
หรือแม้กระทั่งการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนรวมทั้งอาจจะรื้อฟื้นกลไกความสัมพันธ์ที่เคยดำเนินมา
เช่น การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย – ลาว
และไทยยังมีท่าทีแจ่มชัดต่อการสนับสนุนการขยายตัวของตลาดทุนในลาว
การสนับสนุนในการเป็นเจ้าภาพการประชุม ASEM และการส่งเสริมปีการท่องเที่ยวลาว
นอกจากนั้น การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ 4 (เชียงของ – ห้วยทราย)
ซึ่งกำหนดจะแล้วเสร็จในช่วงกลาง – ปลายปี 2556
ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขยายการเชื่อมโยงลาวกับประเทศในอนุภูมิภาคและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของลาวอย่างมาก
บทสรุป
เมื่อประมวลภาพของทิศทางการพัฒนาของลาวและความสัมพันธ์ไทย – ลาว ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
ในช่วงรอยต่อของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์และนางสาวยิ่งลักษณ์
ก็จะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่องจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยและลาวไม่อาจจะแยกจากกันได้
และยิ่งในยุคของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ที่มีนโยบายแจ่มชัดในการหนุนเนื่องทางเศรษฐกิจในทิศทางเดียวกันและความเป็นมิตรกับประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยได้แสดงออกต่อกัมพูชาในการยุติปัญหาความขัดแย้งในข้อพิพาททางชายแดน
และการร่วมทำบุญงานสงกรานต์ 3 ชาติ ลาว – กัมพูชา – ไทย โดยมีแกนกลางของบุรุษผู้ทรงพลังทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ที่ผ่านมาด้วยแล้วก็ย่อมทำให้ สปป.ลาว
สบายอกสบายใจยิ่งขึ้นและย่อมส่งสัญญาณถึงมิตรประเทศอาเซียนและนานาอารยประเทศมีความเชื่อมั่นต่อความแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของ
ลาว – กัมพูชา – ไทย
มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น