จากข่าวสด 10 เมษายน 2555
หมายเหตุ : ครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ในความทรงจำของใครหลายคน เหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้นอาจลบเลือนไปตามกาลเวลา แต่สำหรับญาติของ เหยื่อ ผู้เสียชีวิต คงยากที่จะทำใจกับการสูญเสียครั้งสำคัญ
บทเรียนจากเหตุการณ์ 10 เมษา สอนอะไรแก่พวกเขา และยังมีอะไรที่ต้องเรียกร้องต่อไป
---------------------
นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม
ภรรยาพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม
หลังจากพ.อ.ร่มเกล้าเสียชีวิตก็ได้หน่วยงานต้นสังกัดคือกองทัพบกเข้ามาช่วยเหลือ ได้เงินตามสิทธิ์ที่พึงจะได้รับตามปกติ ส่วนที่รัฐบาลจะให้เพิ่มทราบว่าคณะของอาจารย์ธงทอง จันทรางศุ ประธานปคอป. กำลังพิจารณาหลักเกณฑ์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีหลายฝ่ายต้องการให้มีความปรองดอง สมานฉันท์ ต้องใช้เวลาและทำด้วยความรอบคอบ ต้องคำนึงถึงคู่กรณีของทุกฝ่าย อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือประชาชน คนไทยทั่วไปก็ต้องถามความรู้สึกเขาด้วย
จะเร่งรีบให้เกิดความปรองดองคงไม่ได้ ต้องใช้เวลา เพราะเวลาจะช่วยรักษาและเยียวยาตัวมันเองด้วย แต่ถ้าเร่งรีบอาจเกิดผลเสียที่รุนแรงมากว่าเดิมก็อาจเป็นได้
และในขณะที่มีการพูดถึงการเยียวยากระบวนการอื่นก็ต้องเดินหน้าควบคู่กันไปด้วยคือ การค้นหาข้อเท็จจริงและกระบวนการยุติธรรม
เรื่องคดีญาติผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่เคยได้รับแจ้งความคืบหน้าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบใดๆ เลย แต่เมื่อต้นปีมีโอกาสพบกับผู้ใหญ่ในรัฐบาล ท่านเลยส่งเอกสารมาให้
ในเอกสารระบุไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้ เมื่อย้อนเวลากลับไปจะเห็นว่าดีเอสไอออกมาแถลงว่าคดีของพ.อ.ร่มเกล้า และนายทหารที่เสียชีวิต ระบุเสียชีวิตจากการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม มีการจับตัวผู้ต้องสงสัยและผู้กระทำความผิดได้และปล่อยตัวไป
ผ่านไป 1 ปี กลับกลายเป็นว่าไม่สามารถระบุตัวผู้กระทำความผิดได้ โดยไม่มีการพูดถึงเนื้อหาที่เคยแถลงเอาไว้ก่อนหน้านี้เลย จึงเกิดความข้องใจ และต้องการความกระจ่าง
เหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 ซึ่งครบ 2 ปี ขอฝากผู้เกี่ยวข้องว่าการค้นหาข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจความเป็นมาของเหตุการณ์ว่ามีความเป็นมาอย่างไร แล้วหาทางป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้นอีก
แต่ถ้าเราข้ามความจริง ข้ามขบวนการค้นหาข้อเท็จจริงแล้วไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง ก็จะทำให้เหตุการณ์ที่ผ่านมาสูญเปล่า ไม่ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรเลย ที่สำคัญคือคนผิดก็ยังอยู่ และสังคมก็มีความเสี่ยงที่จะถูกทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างที่ผ่านมาอีก
นางกรทอง สิริกุลวาณิชย์
ภรรยานายอนันต์ สิริกุลวาณิชย์
สามีถูกยิงบริเวณสี่แยกคอกวัว รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกระทั่งเสียชีวิตวันที่ 14 พ.ค.2553 หลังเขาเสียชีวิตครอบครัวลำบากมากเพราะมีลูกสาว 2 คน คนเล็กยังอยู่ในวัยเรียน
สามีเป็นช่างรับเหมาทำอะลูมิเนียม เป็นเสาหลักของบ้าน ดูแลค่าใช้จ่ายของลูกและค่าเช่าห้องเดือนละ 2,200 บาท ส่วนดิฉันรับจ้างทั่วไปได้เงินวันละ 250 บาท
เมื่อขาดสามี ลำพังเงินจากการรับจ้างรายวันของตัวเองก็ไม่พอ ที่สำคัญเมื่อก่อนเวลาลูกมีปัญหาก็จะปรึกษาพ่อ เพราะสามีจบปริญญา ส่วนดิฉันมีความรู้ไม่มากเมื่อลูกปรึกษาอะไรแล้วตอบไม่ได้ก็รู้สึกเสียใจ
หลังจากสามีเสียชีวิตครอบครัวได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4 แสนบาท, สำนักพระราชวัง 5 หมื่นบาท กระทรวงยุติธรรม 1 แสนบาท และพรรคเพื่อไทย
แต่ไม่ได้ทำให้ครอบครัวสบายขึ้นเพราะกว่าจะได้รับเงินเยียวยาใช้เวลานานหลายเดือน บางหน่วยงานใช้เวลายื่นเรื่องเกือบปี ระหว่างรอก็มีค่าใช้จ่าย
ขณะนี้ยังคงรอการเยียวยาจากรัฐบาลอยู่ ยังไม่รู้ว่าจะได้ก่อนสิ้นเม.ย.นี้ตามที่รัฐบาลบอกไว้หรือไม่ แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่าเงินคือชีวิตคนที่ซื้อไม่ได้ ดิฉันอยากให้สามีกลับมา ลูกอยากให้พ่อกลับมา แต่ก็รู้ว่าไปไม่ได้
ทุกวันนี้ดิฉันยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ยังอยู่บ้านเช่าและยังรับจ้างขายของรายวัน วันไหนร้านปิดก็ขาดรายได้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ขณะที่ลูกสาวคนเล็กกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ต้องเรียนพิเศษ
ดิฉันไม่อยากให้เหตุการณ์แบบวันที่ 10 เม.ย.2553 เกิดขึ้นอีกแล้ว ไม่อยากให้ประชาชนที่ไม่รู้เรื่องทางการเมืองต้องรับเคราะห์ ใครไม่เคยประสบไม่รู้หากครอบครัวขาดพ่อ หรือขาดแม่ ลูกจะไปปรึกษาใครและจะรู้สึกเจ็บปวดอย่างไร
ทุกวันนี้ดิฉันไม่คิดว่าจะมีใครเอาตัวคนสั่งการฆ่า หรือคนผิดมาลงโทษได้ จึงใช้ธรรมะเข้าข่มให้เป็นเรื่องของเวรกรรมที่ใครทำอะไรต้องได้รับผลแบบนั้น
---------------------
นายสำราญ วางาม
พ่อนายสวาท วางาม
วันที่ 10 เม.ย.2553 ผมและลูกชายอีก 2 คน ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เราอยู่กันตรงสี่แยกคอกวัว ตอนที่ลูกชายคนโตคือนายสวาท ถูกยิงผมก็อยู่กับลูก กระสุนถูกหัว ลูกเสียชีวิตคาที่
ผ่านมา 2 ปีแล้ว ชีวิตผมลำบากมากเพราะลูกชายทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ขับรถรับส่งเฟอร์นิเจอร์ เขาเป็นหลักของบ้าน ได้เงินมาทุกครึ่งเดือนก็เอามาให้ผมไว้ซื้อกับข้าวและจ่ายค่าเช่าบ้าน
ส่วนผมทำงานรับจ้างรายวันได้เงินวันละ 300 บาท บางวันมีงาน บางวันก็ไม่มี โดยเฉพาะหลังน้ำท่วมงานแทบไม่มี ค่ากินเล็กๆ น้อยๆ ก็มาจากลูกชายคนเล็กที่ทำงานรับจ้างอยู่ที่ตลาดสามยอด ได้ค่าจ้างวันละ 250 บาท ค่าเช่าบ้านบางเดือนต้องติดเขาไว้ก่อน
หลังลูกชายเสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สำนักพระราชวัง และพรรคเพื่อไทย
แต่เงินที่ได้มาก็ต้องนำไปใช้หนี้ และนำไปเป็นค่าเดินทางในการติดตามคดีของลูก ส่วนหนึ่งต้องนำไปเลี้ยงดูลูกสาวกับหลานอีก 2 คน ค่าใช้จ่ายรวมๆ เยอะมาก
หลังเสียลูกผมลำบากมากเพราะเงินเยียวยาไม่พอกับค่าใช้จ่าย ตอนนี้สิ่งที่อยากได้มากที่สุดก็คือเงินจากรัฐบาลที่บอกว่าจะช่วยเหลือ แต่รอมานานแล้วก็ยังไม่ได้รับ
ผมไม่ได้คิดว่าเงินเป็นเรื่องสำคัญ หากเทียบกับชีวิตลูก 10 ล้านก็ยังน้อยไป แต่เมื่อกลับไปแก้ไขนำชีวิตลูกกลับคืนมาไม่ได้แล้วก็อยากได้รับการเยียวยาให้ดีที่สุด ช่วงปีแรกผมทำใจไม่ได้แต่ระยะหลังก็เริ่มทำใจและคิดว่าทำงานให้ลืมๆ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ยุติธรรมกับประชาชน รัฐบาลที่ประชาชนไม่ได้เลือกกลับมาทำร้ายประชาชน ในชีวิตไม่เคยนึกเคยฝันว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะนำมาซึ่งความรุนแรงขนาดนี้
หากเจ้าหน้าที่จะปราบปรามประชาชนก็ควรแค่ฉีดน้ำ ไม่ใช่ยิงประชาชนแบบที่ผ่านมา ทั้งที่เงินที่นำมาซื้ออาวุธก็เป็นเงินภาษีของประชาชน ดังนั้น การจะทำอะไรต่อจากนี้ขอให้คิดไว้เสมอว่าประชาชนเป็นใหญ่ที่สุด
---------------------
น.ส.สุนันทา ปรีชาเวศ
พี่สาวนายทศชัย เมฆงามฟ้า
น้องชายถูกยิงเสียชีวิตที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา หลังเกิดเหตุการณ์ได้รับการเยียวยาจากกระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ 4 แสนบาท และจากสำนักพระราชวังอีก 5 หมื่นบาท
นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ยังจ่ายเงินค่าขนมแก่ลูกของน้องชายอีกเดือนละ 1,000 บาท แต่ไม่ได้รับมา 6-7 เดือนแล้ว เมื่อไปสอบถามก็บอกว่าสิ้นปีงบประมาณและหายเงียบไป
ยิ่งตอนหลังมีปัญหาเรื่องเงินเยียวยา 7.75 ล้านบาท จึงคิดว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อาจไม่ให้เงินส่วนนี้แล้ว
อย่างไรก็ตาม การเยียวยาทั้งหมดไม่คุ้มกับสิ่งที่ขาดหายไป ธรรมดาเราควรฝากผีฝากไข้กับน้องชาย แต่วันนี้กลายเป็นเราต้องรับภาระดูแลลูกของเขาแทน
น้องชายมีลูก 2 คน อายุ 20 ปี และ 13 ปี ที่แย่คือลูกคนเล็กเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่สูญเสียพ่อ ตอนนี้รักษาที่โรงพยาบาลประสาทซึ่งเราเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
จากเอกสารที่น้องถูกยิง ไม่ได้บอกว่าน้องมีอาวุธอะไรเลย แต่ใบชันสูตรของนิติเวชบอกว่าน้องโดนยิงจนพรุน กระดูกแตกหมด คุณทำอย่างนี้กับประชาชนได้อย่างไร
ส่วนเรื่องคดีคดี ไม่พอใจก็ต้องพอใจ เวลาผ่านไป 2 ปีกว่า เพิ่งมีหนังสือให้ไปขึ้นศาลวันที่ 19 พ.ค.นี้ ดีใจที่อย่างน้อยศาลยังให้ความเป็นธรรม แต่สุดท้ายแล้วก็ยังไม่รู้ว่าจะได้รับความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหน
ตอนนี้สิ่งที่อยากได้มากที่สุดคือขอความเป็นธรรมให้น้อง น้องไม่ใช่พวกบ้าคลั่ง เป็นคนชอบอ่านการ์ตูน เป็นช่างศิลป์ อารมณ์ดี ทำไมต้องมาตายเพราะอาวุธปืน ถึงตอนนี้เรายังรู้สึกอึดอัดอย่างที่สุด
ในส่วนของรัฐบาลเองก็ไม่รู้จะขออะไร เพราะรัฐบาลก็ทะเลาะกันทุกวัน ประชุมสภาทุกครั้งก็ทะเลาะกันตลอด ถ้าขอได้อยากขอความเป็นธรรมให้ทุกคนที่ตาย พวกเขาเหล่านี้ไม่มีอาวุธเลย
2 ปีผ่านไป สภาพจิตใจไม่ได้ดีขึ้น ขอให้เอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ พวกเราอยากได้ความเป็นธรรมและขอให้มาดูแลครอบครัวของเราบ้าง
ขณะที่รัฐบาลควรเรียนรู้ว่าอย่าทำอย่างนี้กับประชาชนอีก ทำแล้วไม่ได้อะไรนอกจากคำสาปแช่ง
---------------------
นางบุญสวย จันทร์หา
ภรรยานายสมศักดิ์ แก้วสาน
สามีขับแท็กซี่อยู่ในกรุงเทพฯ ไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงก่อนจะถูกยิงเสียชีวิตที่แยกคอกวัว วันนี้คดียังไม่คืบหน้า
หลังเกิดเหตุมีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ อาทิ มูลนิธิไทยคมและบ้านราชวิถี ถือว่ายังดีที่เยียวยาให้แต่ก็ไม่คุ้มกันกับ 1 ชีวิตที่สูญเสียไป
ตอนนี้ดิฉันมีภาระต้องเลี้ยงดูลูก 3 คน คนโตเพิ่งจบป.6 คนรองเรียนอยู่ชั้น ป.1 และคนเล็กเพิ่งเข้าอนุบาล แต่เราหาเงินอยู่คนเดียวจึงต้องทำงานหนัก
ทุกวันนี้ก็รับจ้างทั่วไป ได้เงินวันละ 200-300 บาท ไม่เพียงพอเป็นค่าอาหาร ค่าเรียนลูก เพราะเด็กๆ โตขึ้นทุกวัน อยากให้รัฐบาลช่วยจ่ายเงินชดเชยไวๆ เพราะงานรับจ้างหายากขึ้นทุกวัน
ทุกวันนี้ลูกคนเล็กยังมาถามว่าพ่อไปเกิดใหม่หรือยัง แล้วจะกลับมาหาอีกหรือไม่ เราก็ได้แต่พูดปลอบไป
รัฐบาลที่แล้วทำรุนแรงเกินไป ไม่น่าจะทำกันขนาดนี้ หากมีกรณีการชุมนุมเช่นนี้อีก ขอให้ค่อยๆ พูดคุยกัน ไม่ใช่ใช้ความรุนแรง
ผู้ที่ลงมือในเหตุการณ์ 10 เม.ย.2553 อยากให้ออกมารับผิดชอบ และอย่าขัดขวางการเยียวยาของรัฐบาล ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดกับครอบครัวของเขาบ้างจะรู้สึกอย่างไร
---------------------
นายบรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์
พ่อนายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์
ลูกผมถูกยิงด้วยปืนไม่ทราบชนิด 6 นัด กระสุนถูกราวนมด้านซ้าย 2 นัด หน้าอก 4 นัด ถูกกระสุนปลอมที่หน้าอกอีก 1 นัด เสียชีวิตบริเวณแยกคอกวัว
การสูญเสียลูกทำให้ครอบครัวเดือดร้อนเพราะลูกชายผมรับภาระต่างๆ ในบ้านทั้งหมด เมื่อเสียลูกไปภาระทั้งหมดก็ตกอยู่ที่พ่อแม่ ทั้งค่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งผมกับภรรยามีแค่ร้านขายของชำเล็กๆ ทำกินกันไปวันๆ
ก่อนหน้านี้ ได้รับการเยียวจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ 4 แสนบาท และลงทะเบียนรอรับการเยียวยาจากรัฐบาลอยู่
ที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือเยียวยาถือเป็นความถูกต้องที่สุดแล้ว และอยากให้เร่งช่วยเหลือเพราะเป็นเหมือนความหวังของทุกคนไม่ว่าจะสีไหน กลุ่มไหน
เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นความหวังของทุกคนก็จะหลุดลอยไป จึงไม่อยากจะให้ใครออกมาคัดค้าน เพราะครั้งนี้ไม่ได้มี 2 มาตรฐาน สีเหลืองหรือหลากสีก็อยากให้ได้กันทุกคน
อยากบอกพี่น้องประชาชนว่าการร่วมชุมนุมก็แค่พอสมควร เห็นอะไรที่มันเสี่ยงมากก็อย่าเข้าไปใกล้ ถอยออกมา เพราะการช่วยเหลือไม่มีคำว่า 100 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นอะไรขึ้นมาได้เงินเท่าไหร่ก็ไม่คุ้ม ความเสียใจของคนข้างหลังมันใหญ่หลวงมาก
ลึกๆ แล้วก็อยากให้คนผิดออกมารับโทษหรือรับผิด เท่าที่ทราบมีการขออภัยโทษ เชื่อว่าสังคมพร้อมให้อภัย ทุกอย่างจะได้เดินหน้าสู่ความปรองดองจริงๆ เสียที
---------------------
10 เมษายน 2553 เป็นอีกเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เช้าวันที่ 10 เม.ย. เสื้อแดงสั่งระดมมวลชนเพราะมีข่าวรัฐบาลเตรียมสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เพื่อเปิดการจราจรย่านเศรษฐกิจ
ช่วงสาย แกนนำเสื้อแดงที่สะพานผ่านฟ้าฯ นำมวลชนบุกกองทัพภาค 1 ถ.ราชดำเนิน ซึ่งมีการเสริมกำลัง การเปิดฉากปะทะจึงเกิดขึ้นแต่ไม่รุนแรง
ช่วงบ่าย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ และศอฉ.สั่งสลายการชุมนุมด้วยการประกาศ ขอคืนพื้นที่ กำลังสองฝ่ายยื้อกันไปมาแต่ยังไม่มีการปะทะหนัก ทหารสามารถเปิดแนวรุกเพิ่ม เจาะเข้าทางถ.ดินสอ โผล่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เข้าบางลำพูผ่านถ.ตะนาว โผล่ที่สี่แยกคอกวัว หวังผลักดันผู้ชุมนุมให้ถอยร่นไปที่หน้าเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ บีบให้ถอยออกทางถนนหลานหลวง
เจ้าหน้าที่แม้จะรุกคืบได้แต่เสื้อแดงก็ต้านทานอย่างทรหด การปฏิบัติการให้เสร็จสิ้นจึงไม่ง่าย
กระทั่งพลบค่ำ มีเสียงเตือนให้รัฐบาลหยุดการปฏิบัติการเพราะหวั่น มือที่สาม แต่กลับมีคำสั่งให้ทหารเดินหน้า
ท่ามกลางความมืดสถานการณ์เริ่มชุลมุนวุ่นวาย ถ.ตะนาว ถ.ดินสอ และแยกคอกวัว ถ.ราชดำเนิน อึกทึกไปด้วยเสียงปืน ระเบิด และคาวเลือด พร้อมๆ กับการปรากฏกายของ ชายชุดดำ นับชั่วโมงกว่าที่สองฝ่ายจะถอนออกจากพื้นที่
เหตุปะทะทำให้มีผู้บาดเจ็บ 1,400 ราย ผู้เสียชีวิต 27 ศพ ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน รวมถึงนายฮิโรยูกิ มูราโมโต นักข่าวชาวญี่ปุ่น และพ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสธ.พล.ร.2 รอ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น