Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2555

“ไฟใต้” ถึง “สภา” กับเสียงถามหา “ปรองดอง-สันติวิธี”

วิเคราะห์ มติชน 8 เมษายน 2555


ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีสถานการณ์ที่ท้าทายวิธีการหรือวิธีคิดแบบใหม่ๆ จากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และ ผู้เกี่ยวข้องในวงการเมือง 2 เรื่อง

เรื่องหนึ่ง คือเหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่โรงแรมลี การ์เดนส์พลาซ่า หาดใหญ่ และที่ถนนรวมมิตร ในเขตเทศบาลเมืองยะลา

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ได้แก่ การปะทะระหว่างรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์อันเป็นฝ่ายค้าน ว่าด้วย "แนวทางปรองดอง"

เหตุการณ์ที่ 2 จังหวัด เป็นปัญหาความรุนแรงของเหตุการณ์ภาคใต้ ส่วนที่เกิดในรัฐสภา เป็นปัญหาทางการเมือง

และมีความคล้ายคลึงกันตรงที่ เหตุการณ์เดินมาถึงสภาพที่ เป็นเสมือน "ทางตัน" ด้วยกันทั้งสองเหตุการณ์

เหตุการณ์คาร์บอมบ์ที่หาดใหญ่และยะลา ส่งผลเสียหายต่อ ชีวิตผู้คน 15 ราย และบาดเจ็บนับร้อย สภาพอาคารร้านค้า ย่อยยับอย่างน่าสลดใจ เศรษฐกิจท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นอย่างประมาณราคาไม่ได้นั้น

ได้มีการวิเคราะห์สาเหตุไปต่างๆ นานา

แต่ปมประเด็นสำคัญ จากสาระการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.

ไปจนถึงข่าวที่แพร่สะพัดในแวดวงหน่วยงานปกครองภาคใต้

ก็คือ เป็นการสร้างสถานการณ์ เพื่อทำลายการเจรจา ระหว่างตัวแทนรัฐบาล กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนภาคใต้

มีฝ่ายต่างๆ ออกมาให้เบาะแส จนพอสรุปได้ว่า ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แนวทาง แก้ปัญหาไฟใต้ของรัฐบาลได้เปลี่ยนแปลง

จากมาตรการทหารล้วนๆ เน้นการปราบปราม จับกุม กลายเป็นส่งคนเข้าไปหาข่าวสารความต้องการของขบวนการแบ่งแยก

แนวทางของ ศอ.บต.นี้ อาจจะไม่เข้าตาฝ่ายทหาร ในฐานะ ผู้ดูแลพื้นที่ภาคใต้มาตลอด

พล.อ.ประยุทธ์เอง ได้กล่าวเตือนรัฐบาลว่า ขบวนการภาคใต้มีหลายกลุ่ม หากเจรจาผิดกลุ่ม อาจจะยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มที่รัฐบาลไม่ได้เจรจาด้วย

ในเบื้องต้นสรุปได้ว่า ได้เกิดการพูดคุย หารือ ระหว่างตัวแทนรัฐบาลหรือราชการ ฝ่ายหนึ่ง กับขบวนการภาคใต้อีกฝ่ายหนึ่ง

ผลจะออกมาอย่างไร ยังเป็นเรื่องของอนาคตข้างหน้า

แต่ท่ามกลางสภาพของการปราบปราม การใช้มาตรการทางทหาร "แนวทาง" นี้ ต้องถือว่าเป็นแนวทางสันติวิธี เป็นเรื่องใหม่ ซึ่งหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักวิชาการเคยเรียกร้องไว้

เป็นหนทางหนึ่ง ที่อาจจะ "ผ่าทางตัน" นำไปสู่สันติสุขของ ภาคใต้ทั้งหมดได้

แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่ว่า ราชการไทย ฝ่ายการเมืองไทย ยังไม่มีความเป็น "เอกภาพ" ในการยอมรับแนวทางนี้

ยังมีผู้พอใจและไม่พอใจแนวทางนี้

ในขณะที่กระแสข่าวการปรองดองทางการเมือง ระหว่างขั้วการเมือง 2 ขั้ว ก็ร้อนแรงยืดเยื้อ จนเริ่มเกิดกระแสหมดหวังและเบื่อหน่ายในหมู่ประชาชน

พรรคเพื่อไทย ได้ผลักดันให้นำเอา "รายงานผลศึกษาเรื่องการปรองดอง" ที่กรรมาธิการวิสามัญชุดของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้พิจารณา โดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าฯ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภา เมื่อวันที่ 4-5 เม.ย.ที่ผ่านมา

ก่อนที่รายงานนี้จะเข้าสภา ทางสภาสถาบันพระปกเกล้าฯ ซึ่งมีฝ่ายค้านร่วมเป็นกรรมการ ได้พยายามผลักดันมิให้สถาบันอนุญาตให้อ้างอิงผลวิจัยดังกล่าว

เพื่อตัดตอนหรือ "คัตเอาต์" มิให้ผลวิจัยกลายเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างในการขอออกกฎหมายนิรโทษกรรม

เมื่อรายงานของกรรมาธิการเข้าสู่สภา จึงกลายเป็นการอภิปราย ที่ดุเดือดร้อนแรง

ใช้เวลา 2 วัน 2 คืน ก่อนจะลงมติ 307 เสียง เห็นด้วยใน การส่งข้อสังเกตของกรรมาธิการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง องค์ประชุม 312 เสียง โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ งดออกเสียง

ปมเงื่อนสำคัญก็คือ งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าฯ ได้กล่าวถึงการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และยกเลิกการพิจารณาที่มี "คตส." เข้าไปเกี่ยวข้อง

ประเด็นดังกล่าว กลายเป็น "ความเห็นต่าง" ที่ไม่อาจประนีประนอมได้ระหว่าง 2 ฝ่าย เนื่องจากฝ่ายค้านเห็นว่า จะนำไปสู่การนิรโทษกรรม และคืนทรัพย์สินให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

อย่างไรก็ตาม รายงานการศึกษาของกรรมาธิการ จะต้องส่งไปอยู่ในมือของคณะรัฐมนตรีในที่สุด โดยมีสถาบันพระปกเกล้าฯ ยืนคุมเชิง รอค้านมิให้รัฐบาลอ้างอิงผลวิจัย เพื่อนำไปสู่การจัดทำกฎหมายนิรโทษกรรม

กลายเป็นสภาพคาราคาซัง เหมือน "ทางตัน" ที่รอวิธีคิด และเครื่องไม้เครื่องมือที่เหมาะสม

กรณีคาร์บอมบ์ พรรคประชาธิปัตย์ได้ขยายเรื่องราวออกไป โดยอ้างว่า เหตุระเบิดเกิดจากการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปเจรจาถึงขั้นโอบกอดกับแกนนำพูโล มีภาพปรากฏในเว็บไซต์ของขบวนการพูโล

ขณะที่สำนักข่าวหลายแห่งระบุว่า ยังหาภาพดังกล่าวไม่พบ และน่าจะเป็นการกล่างอ้างมากกว่า

เจตนาของผู้กระพือข่าวนี้ ก็เพื่อจะชี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้มีส่วนในเหตุระเบิดและความเสียหายที่ 2 จังหวัดใต้

ขณะที่ กรณีปรองดอง ก็มีการชี้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้กีดขวางหนทางปรองดองอีกเช่นกัน

ล้วนแต่เป็นวิธีที่ขัดขวางหนทางของการนั่งลงพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล

เป็นสภาพที่น่าคิดว่า แท้จริงแล้ว อุปสรรคของการแก้ไขปัญหาทั้งไฟใต้ และการปรองดองทางการเมือง แม้ว่าต่างฝ่ายต่างมีส่วนในความผิดพลาดมาด้วยกัน

แต่มาถึงวันนี้ อุปสรรคของการแก้ไขปัญหาอยู่ที่กลุ่มใด พรรค การเมืองใดกันแน่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น