โดย จักรภพ เพ็ญแข จาก
RED
POWER ฉบับที่ 31 เดือนธันวาคม
2555
ตอน ถอดรหัสคึกฤทธิ์ใน “ไผ่แดง” (ตอนที่ ๑)
คอลัมน์ หนังสือกับประชาธิปไตย
นักอ่านที่มีอายุเกิน
๔๐ ปี น่าจะคุ้นเคยกับงานเขียนที่โด่งดังมากอีกเรื่องหนึ่งของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์
ปราโมช
ซึ่งเป็นงานเขียนที่สะท้อนความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของตัวผู้เขียนและสังคมไทยได้ดียิ่ง
ด้วยเป็นงานผสมผสานระหว่างการเล่าเรื่องของชาวบ้านอย่างมีชีวิตชีวาแบบที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
ถนัดนัก กับการทำภารกิจต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุคที่ต่อมาเรียกกันว่า “สงครามเย็น” ผู้เขียนจะรับงานจากใครมาเขียนหรือจะเขียนเองด้วยอุดมการณ์ฝ่ายขวาของตนก็สุดจะเดา
รู้เพียงว่า งานที่เขียนเป็นตอนๆ ลงในนิตยสาร “ชาวกรุง”
เล่มนี้กลายเป็นงานการเมืองเต็มรูปแบบที่รับใช้ผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งในภาวะเผชิญหน้าในครั้งนั้นอย่างเต็มสูบ
และที่น่าสนใจก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ไม่ค่อยได้พูดถึงงานชิ้นนี้ในเวลาต่อมานัก
ผิดกับ “สี่แผ่นดิน” “หลายชีวิต”
“ห้วงมหรรณพ” และอีกหลายเล่มที่ผู้เขียนมักนำมาคุยถึงด้วยอารมณ์สนุกและภาคภูมิใจอยู่เนืองๆ
ทั้งที่งานชิ้นนี้แพรวพราวไปด้วยศิลปะการประพันธ์อย่างยากที่จะหางานอื่นมาเปรียบได้
แถมยังเน้นอุดมการณ์แบบ “ไทย” ที่
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ พยายามตีตราประทับเอาไว้ให้มั่นคง
ทั้งความยอมรับในวิถีชีวิตแบบไทย รวมทั้งให้ยอมรับในความยากจนและความด้อยพัฒนาแบบสุดขั้ว
การหลงรักในสถาบันกษัตริย์อย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่ต้องตั้งคำถาม
ความเข้มแข็งของชาวบ้านในการต่อต้านลัทธิที่เห็นว่า “แปลกปลอม”
เข้ามา แต่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ก็ไม่นิยมนำหนังสือเล่มนี้มาเอ่ยอ้างถึง
ซึ่งทำให้น่าสงสัยว่างานชิ้นนี้อาจเป็นภารกิจเฉพาะหน้าที่ทำแล้วก็อยากให้ผ่านพ้นไปโดยไม่ต้องมานั่งจดจำกันอีก
แบบที่ทางจิตวิทยาใช้คำว่ามีปมความผิดหรือ guilt complex
“ไผ่แดง” คือหนังสือเล่มที่ว่านี้
ผมอ่าน “ไผ่แดง” ครั้งแรกมาตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมและอ่านอย่างชื่นมื่นสนุกสนานซ้ำแล้วซ้ำอีกมาจนถึงปัจจุบัน
ความรู้สึกที่ไม่ได้เปลี่ยนแปรไปตามเวลาก็คือความชื่นชมในศิลปะของผู้เขียน
ซึ่งสามารถนำความเป็น “ชาวบ้าน” มาเล่าให้เราฟังอย่างสนุกสนาน
แถมยังยิ่งใหญ่เกรียงไกรและกลายเป็นกลไกส่งเสริมระบอบรัฐไทยเพื่อสู้กับศัตรูหมายเลขหนึ่งในครั้งนั้นอย่างมีประสิทธิภาพอีกต่างหาก
การเล่าถึงฉากหลัง การวางบุคลิกตัวละคร การเดินเรื่องอย่างฉับไวราวภาพยนตร์
ล้วนทำด้วยมือครู ไม่น่าแปลกใจที่ผู้เขียนจะได้รับผลสัมฤทธิ์ในทางการเมืองสมตามความตั้งใจของตน
แต่เมื่อผมมาอ่านงานชิ้นนี้ซ้ำ
ซ้ำในห้วงเวลาที่บ้านเมืองเกิดการแบ่งแยกอุดมการณ์และความเชื่อแบบกีฬาสีคือ แดง
เหลือง ชมพู และหลากสีขึ้นแล้ว
มีอะไรบางอย่างที่กระโดดออกจากตัวอักษรที่ร้อยเรียงกันสวยงาม
อันเป็นสิ่งใหม่ที่ผมไม่ได้นึกคิดมาก่อน
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นผลการสังเกตอาการใหม่ๆ เหล่านั้น เหมือน แดน บราวน์
ที่เห็นอะไรหลายอย่างกระโดดออกจากงานศิลปะของ ลีโอนาร์โด ดาวินชี่
แล้วนำมาแต่งนวนิยายเรื่อง The Da Vinci
Code จนทำให้เรามองเห็นประวัติศาสตร์สายธารที่สองที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อนเพราะถูก
“ประวัติศาสตร์สายหลัก” ทับซ้อนจนมิด
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ เริ่มต้นว่า...
“ถ้าหากว่า
จะมีเทวดาตนใดเหาะเหินเดินอากาศจากกรุงเทพฯ
ขึ้นไปทางเหนือของพระมหานครนั้นประมาณแปดสิบหรือเก้าสิบกิโลเมตร
ด้วยระยะทางที่เทวดาเหาะ เทวดาตนนั้นจะมองเห็นคลองเล็กๆ สายหนึ่ง แยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วเลื้อยคลานเข้าไปอย่างลดเลี้ยว
ถ้าหากว่าเทวดาตนนั้นจะเหาะตามคลองนั้นเข้าไป
โดยไม่เบื่อหน่ายต่อภูมิประเทศที่ไม่มีอะไรจะดูเกินไปกว่าไร่นาและควาย ในไม่ช้า
เทวดาตนนั้นจะมาถึงหมู่บ้านเล็กๆ หมู่หนึ่ง มีบ้านคนไม่กี่สิบหลังคาเรือน มีจำนวนคนอยู่ไม่กี่ร้อยคน
กลางหมู่บ้านนั้นมีวัดซึ่งเป็นวัดที่แสดงฐานะทางเศรษฐกิจของหมู่บ้านนั้นเองให้เห็นได้ว่าไม่รุ่งเรืองนัก
หลังคาชาวบ้านนั้นมุงด้วยจากเป็นส่วนมาก
มีหลังคากระเบื้องดินเผาและสังกะสีอยู่ไม่กี่หลัง
ส่วนโบสถ์ของวัดนั้นก็มุงด้วยดินเผาธรรมดา มีศาลาการเปรียญขนาดย่อมมุงสังกะสีอีกหลังหนึ่งและกุฏิพระสองหลัง
มุงจากแกมสังกะสี
หอระฆังที่โซเซน่ากลัวหอหนึ่งและมีศาลาท่าน้ำของวัดปลูกอยู่ริมคลองอีกหลังหนึ่ง...”
อ่านครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อน
ผมเกิดมโนภาพราวกับว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ พาเราไปทัศนาจรชีวิตชาวบ้านไผ่แดงด้วยเครื่องบินขนาดเล็กที่บินต่ำจนมองเห็นสรรพสิ่งต่างๆ
ทำให้นึกนิยมในกลวิธีอันชาญฉลาดของผู้เขียน
แต่มาในบัดนี้กลับทำให้นึกไปเสียอีกแง่หนึ่ง
แท้ที่จริงแล้วผู้เขียนกำลังพาเราซึ่งเป็น “ชนชั้นสูง” หรือ “ชนชั้นกลาง”
ไปสังเกตธุระของ “ชนชั้นล่าง” ในลักษณะที่มองลงมาจากที่สูง สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีในประโยคแรกของ “ไผ่แดง” คือสำนึกของความเป็นเทวดาน้อยๆ ของเราเอง
ทันที่เรา “เหาะ” ไปดูชาวบ้าน
ก็เท่ากับเราอยู่เหนือหัวชาวบ้านขึ้นมาแล้ว
อะไรจากนี้ไปก็ทำให้เผลอคิดไปได้ว่าเป็นเรื่องของสิ่งที่ต่ำกว่าตนทั้งนั้น รวมทั้ง
(ความ) “เบื่อหน่ายต่อภูมิประเทศที่ไม่มีอะไรจะดูเกินไปกว่าไร่นาและควาย...”
พอคิดได้อย่างนี้มโนภาพก็เปลี่ยนไปทันที
ในยุคต่อต้านคอมมิวนิสต์นั้น
รัฐไทยและผู้มีอำนาจไทยได้รับความช่วยเหลือทางทหารจากหัวหน้าค่ายโลกเสรีคือสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มที่
รวมถึงพาหนะทางอากาศทั้งเครื่องบินทหารและพลเรือน เราทั้งหลายที่อ่าน “ไผ่แดง” คงไม่ใช่เทวดาที่เหาะเหินเดินอากาศได้ด้วยตัวเองเสียแล้ว
แต่เรากำลังนั่งเฮลิคอปเตอร์ทหารบินฉวัดเฉวียนไปตามไร่นาสาโทต่างๆ
เหนือหัวชาวบ้านด้วยเสียงโรเตอร์ดังพั่บๆ จนหมูหมากาไก่เบื้องล่างต้องตกอกตกใจ
และมองลงมาเห็นชีวิตเล็กๆ
จนหลงผิดไปได้ว่าชีวิตเหล่านั้นเล็กน้อยและไม่สำคัญเท่ากับตน
แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับว่า เฮลิคอปเตอร์ลำที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
นั่งมากับเราลำนี้ กำลังลดระดับลงจอดที่หมู่บ้านไผ่แดง
และกำลังจะส่งกองกำลังชอนไชเข้าไปในหัวใจและความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านไผ่แดงอย่างที่พวกเขาไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เพื่อจะผูกอุดมการณ์ใหม่ให้กับเขา นั่นคืออุดมการณ์ที่ดูจะเป็นเป็นพระรัตนตรัยใหม่
“ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับเส้นเชือกที่ผูกความคิดและจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ไว้กับเสาต้นหนึ่ง
และยังผูกไว้เช่นนั้นจนปัจจุบัน
ตัวละครแรกที่โผล่ออกมารับคนดูบนเวทีก็คือตัวละครที่คลาสสิคที่สุดตัวหนึ่งในโลกวรรณคดีไทย
และจะเป็นพระเอกตัวจริงของ “ไผ่แดง” ไปจนตัวอักษรสุดท้ายของเล่ม
“...สมภารกร่างเป็นคนอายุราวสามสิบเจ็ดถึงสามสิบแปดปี
อายุพรรษานับได้สิบแปดพรรษาพอดี เพิ่งได้เป็นสมภารเมื่อสองปีที่แล้ว
หลังจากที่สมภารเก่าได้มรณภาพไป
พระกร่างมีรูปร่างกำยำล่ำสันเหมือนกับชายฉกรรจ์อื่นๆ ในละแวกบ้านนั้น
และเมื่อก่อนอายุจะครบบวชก็ได้เคยทำไร่ไถนา
อันเป็นสัมมาอาชีพและได้เคยทำบาปกรรมต่างๆ มาไม่น้อยกว่าคนหนุ่มอื่นๆ
ในละแวกบ้านเดียวกัน แต่เมื่อพระกร่างได้เข้ามาบวชเรียนตามประเพณี
อะไรบางอย่างในวัดได้ทำให้ผ้าเหลืองเกาะตัวอยู่อย่างเหนียวแน่น เปลื้องไม่ออก
พระกร่างก็อยู่ในเพศบรรพชิตเรื่อยๆ มา ได้เรียนนักธรรมจนสอบได้นักธรรมตรี
แต่แล้วก็เรื้อๆ ไป จะสอบนักธรรมโทก็ดูจะติดขัดอยู่ พอดีสมภารองค์เก่ามรณภาพ
พระกร่างก็ได้เป็นสมภาร อาศัยที่วัดไผ่แดงนั้นเล็ก อยู่ห่างไกลและไม่มีใครสนใจ
และเนื่องด้วยพระกร่างเป็นคนเกิดที่ละแวกบ้านไผ่แดง
หายจากบ้านไปนั้นก็เฉพาะเมื่อวันเป็นนาคไปบวชที่วัดปากคลอง
เพราะท่านสมภารที่นั่นเป็นอุปัชฌาย์ และเมื่อตอนไปสอบนักธรรม ชาวบ้านบ้านไผ่แดงก็มิได้มีใครรังเกียจ
เมื่อพระกร่างกลายเป็นสมภารกร่าง คงให้ความเคารพนับถือและเชื่อฟังต่อไป
เช่นเดียวกับที่เคยให้แก่สมภารองค์เก่า...”
สังเกตไหมครับว่า
ในเรื่องการเมืองการปกครองแล้วเมืองไทยเป็นเมืองประหลาด
ผู้นำท้องถิ่นของเรามีมานานแล้วและเรียกขานตำแหน่งเปลี่ยนแปลงกันมาเรื่อยตามยุคตามสมัย
ก่อนจะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้านก็มีพ่อหลวง หัวหน้าคุ้ม และอีกหลายอย่างไปจนถึงพ่อขุน
แต่ภายหลังที่ได้รวมศูนย์อำนาจมาไว้ที่กษัตริย์ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๕
ของกรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ดูเหมือนว่าผู้นำท้องถิ่นจะค่อยๆ ถูกลดบทบาทลงไปจนแทบจะหมดความสำคัญ
จนถึงเล่นรังแกกันอย่าง “ครูบาศรีวิชัย”
ทางเหนือหรือ “กบฏผีบุญ” ทางอีสานก็โดนกันมาแล้วทั้งนั้น
สุดท้ายตัวละครที่เป็นตัวแทนอำนาจท้องถิ่นก็ต้องประสบชะตากรรมเดียวกับสมภารกร่าง
นั่นคือเป็นคนชั่วๆ ดีๆ ได้เข้าสู่อำนาจก็เพราะไม่มีใครมาแข่งขันด้วย
ถึงจะยอมรับกันว่าเป็นผู้นำการเมืองหรือเป็นผู้นำทางความคิดของชาวบ้าน
แต่ก็ถูกตีตราว่าไม่ได้ดีวิเศษไปกว่าชาวบ้านธรรมดาที่ชนชั้นบนเขาเหยียดหยามอยู่
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ “ทางการ” มีความชอบธรรมที่จะกวาดต้อนผู้คนทั้งหมดเหล่านี้ไปอยู่ภายใต้อำนาจที่ใหญ่หลวงของแผ่นดิน
เพราะอำนาจนั้นเขาดีกว่าวิเศษกว่าและมี “ความชอบธรรม”
ในทุกทางมากกว่า อ่านเผินๆ
ก็ดีอยู่หรอกครับที่นิทานชาวบ้านทำให้พระสงฆ์องคเจ้าหรือกำนันผู้ใหญ่บ้านท่านออกมาในแนวเงอะๆ
งะๆ เซ่อๆ ซ่าๆ หากว่าเราอยู่ในระบอบอื่นที่มิใช่ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเขาบอกว่าประชาชนปกครองกันเอง
จึงต้องหาทางออกในทุกปัญหาและแสวงหาปัญญากันเอาเองในวงประชาชน
แต่ถ้าระบอบอื่นเขาจะบอกทีเดียวว่าประชาชนไม่พร้อมหรอก
โง่เง่าเซอะซะถึงขนาดนั้นจะไปปกครองตัวเองอย่างไรไหว
คนอ่านยุคก่อนอาจจะประทับใจว่าสมภารกร่างท่านเป็นคนธรรมดาสามัญไม่น่าหมั่นไส้
แต่มายุคนี้เรารู้ทันขึ้นมาหน่อยว่า
ตัวผู้เขียนเขาวางบุคลิกลักษณะของสมภารกร่างอย่างนั้น
ก็เพื่อให้สมภารกร่างท่านเป็นเพียงหัวหน้าชุมชนเล็กๆ
และต้องขึ้นกับชุมชนที่ใหญ่โตขึ้นไปจนถึงระดับชาติเท่านั้นเอง พูดง่ายๆ ว่า
สมภารกร่างถูกวางตัวให้เหมือนกันชาวบ้านร้านถิ่น เก่งก็ไม่เก่ง ออกจะกลางๆ
เรียนหนังสือก็ค่อนมาทางไม่เก่ง หัวไม่ดี
แถมยังเคยทำบาปทำกรรมมาก่อนตามประสาลูกทุ่งที่อยู่ใกล้ธรรมชาติ
จะเป็นเทวดาในวันหนึ่งคงไม่ได้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ฯ คงกำหนดไว้ในใจว่า
ความภาคภูมิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับมาตามธรรมชาติโดยไม่มีใครต้องมอบให้
หรือความคิดทางการเมืองแบบทะเยอทะยาน
อันเป็นสิทธิที่ชอบธรรมของคนในสังคมประชาธิปไตยนั้น
ออกจะแสลงและเป็นอันตรายกับระบอบที่สถาปนาตนเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอยู่
จึงต้องทำกรอบเอาไว้ด้วยการตีตราว่าไอ้ชาวบ้านเรามันก็เท่านี้
จะไปตั้งตัวใหญ่โตสลักสำคัญอะไรกันนักหนา
ระหว่างนั่งทอดหุ่ยอยู่ที่ศาลาท่าน้ำ
สมภารกร่างก็มองเห็นกำนันเจิมพายเรือมุ่งหน้ามาหา ทันทีที่เห็นภาพกำเนินเจิม
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ก็บรรยายความในใจของสมภารกร่างในทันที
สมภารจะแยกคนอย่างกำนันเจิมว่าเป็นฝ่ายที่เรียกว่า “อาณาจักร” ซึ่งเป็นคนของหลวงหรือของรัฐ
ในขณะที่คนอาศัยวัดอย่างสมภารกร่างถือเป็นฝ่าย “พุทธจักร”
แยกกันเสียอย่างเพื่อ “ทำให้สมภารได้รับความสะดวกในการวินิจฉัยปัญหาต่างๆ
ได้หลายอย่างจนติดเป็นนิสัย...”
ตลอดประวัติศาสตร์โลก
ไม่ว่าจะในศาสนาใดนั้น การแบ่งสังคมเป็นฝ่ายรัฐและฝ่ายศาสนาเกิดขึ้นตลอดมา
ในยุโรปก็มีศาสนจักรและอาณาจักร (Church
and State) ที่ได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันมาตลอดเพื่อชิงอำนาจสูงสุดทางการเมือง
ในศาสนาอิสลามก็แบ่งชัดเจนระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับคนอื่นๆ ที่มิใช่
แม้มีหน้าที่เผยแผ่ศาสนาก็มิใช่ตัวศาสดานั้นเอง
ในสังคมพุทธของไทยก็เป็นอย่างที่สมภารกร่าง ท่านรำพึง
แบ่งออกได้เป็นอาณาจักรและพุทธจักรจริงๆ แต่น่าสังเกตตรงที่ว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
ท่านเริ่มนี้ไว้ใน “ไผ่แดง” แต่ท่านไม่ได้หยุดลงเพียงเท่านี้
การเขียนงานต่างๆ ต่อมาหลายครั้ง
จะเน้นการโจมตีจนถึงขั้นทำลายล้างต่อพระสงฆ์หรือผู้นำศาสนาหลายองค์และหลายคน เช่น “วิวาทะ” กับท่านพุทธทาสภิกขุ เรื่องจิตว่าง
ซึ่งนำมาสู่การเรียกขานสำนักของท่านพุทธทาสคือสวนโมกข์ว่าเป็นเพียง “ไนต์คลับ” เป็นต้น ซึ่งดูจะเป็นงานชั่วชีวิตของท่าน
การสร้างอำนาจที่คานกันเองในหมู่บ้าน ระหว่างอาณาจักรกับพุทธจักร
ซึ่งดูเสมือนว่าเป็นการแบ่งปันอำนาจกันอย่างสงบสันตินั้น
แท้ที่จริงก็เป็นการคานเพื่อให้หาใครที่ใหญ่จริงไม่ได้เท่านั้นเอง
สุดท้ายหมู่บ้านอย่างไผ่แดงก็ต้องขึ้นกับอำนาจตัดสินที่สูงกว่าและใหญ่ยิ่งกว่า
และนำไปสู่การปกครองในระบอบที่อำนาจแผ่ไปรวมเก็บไว้ในที่เดียว
การเตรียมให้คิดยอมรับอำนาจที่เหนือกว่าเป็นภารกิจที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
รับมาปฏิบัติมานานนักหนาแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่รู้ว่าตนเองจะไม่ได้ดีอะไรในฝ่ายคณะราษฎร์
จึงตัดสินใจออกมาข้างฝ่ายตรงข้ามกับคณะราษฎร์เสียเลย
นักเคลื่อนไหวอย่าง
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ จึงมีนัยซ่อนเร้นอยู่เสมอเมื่อพูดถึงประชาธิปไตย
สิ่งที่ท่านไม่ได้บอกชัดๆ คือประชาธิปไตยของประชาชน โดยประชาชน
และเพื่อประชาชนนั้นคนพันธุ์ท่านเขาไม่เอา เพราะมีแต่ประชาชน
คนที่เหนือกว่าประชาชนจะไม่มีที่ยืนเลย
แต่ถ้าบอกว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุขล่ะก็ได้ ท้ายที่สุดคนอย่าง
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ก็ต่อต้านทั้งระบอบคู่แข่งทั้งสองระบอบ
นั่นคือระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และระบอบประชาธิปไตยของประชาชน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหลือรอดอยู่เพียงระบอบเดียวอย่างที่พรรณนามาอย่างมีศิลปะใน
“ไผ่แดง” นี่เอง
กำนันเจิมมาหาสมภารกร่างด้วยเรื่องร้อนใจเกี่ยวกับตัวละครหลักอีกตัวหนึ่งคือนายแกว่น
แก่นกำจร ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมก๊วนมากับสมภารกร่างสมัยยังเป็นเด็กและวัยรุ่น
แกว่นเป็นคนที่ชาวบ้านเคารพยำเกรงและมีลูกน้องเดินตามหลังมากที่สุดในหมู่บ้าน
เรื่องที่กำนันกังวลคือ แกว่นดูท่าว่าจะได้รับความคิดแทรกซึมจากฝ่ายคอมมิวนิสต์
จนเริ่ม “จัดตั้ง” ลูกน้องของตัวตลอดจนชาวบ้านร้านถิ่นเข้าให้แล้ว
ว่าแต่ว่าอะไรคือคอมมิวนิสต์นั้น ดูกำเนินเจิมแกก็ยังงงๆ อยู่
“ท่านรู้จักไอ้ตัวอะไรนั่นไหม?”
“ตัวอะไร? สมภารย้อนถามอย่างไม่เข้าใจ
“ไอ้ตัวนิดๆ หน่อยๆ อะไรนั่นน่ะครับ... เอ!
ติดริมฝีปากอยู่เมื่อกี้นี้เอง... อ้อ! นึกออกแล้ว...
ไอ้ตัวคอมมิวนิสต์ที่หลวงท่านสั่งให้ต่อต้านนั่นปะไร ท่านว่ามันร้ายนักเชียว
พอมันมาถึง ไร่นามันก็ริบหมด วัดวาอารามก็เลิก แล้วก็ โอ๊ย! อะไรอีกตั้งพะเรอเชียว”
แต่จะเข้าใจคอมมิวนิสต์หรือไม่เข้าใจ
สิ่งหนึ่งที่กำเนินเจิมแกเข้าใจอย่างแน่นอน คือคำสั่งของฝ่าย “อาณาจักร” ย่อมใหญ่หลวงศักดิ์สิทธิ์ยิ่งเสียกว่าความรู้สึกของชาวบ้านซึ่งรวมเอาฝ่าย
“พุทธจักร” เข้าไว้ด้วย
“ฉันจะไปห้ามเขาอย่างไรกำนัน
ฉันเป็นพระ ไม่เห็นจะเกี่ยว...”
“ก็ถึงว่าเถอะครับ” กำนันพูดอย่างเห็นใจ
“ผมบอกกับเจ้านายที่อำเภอท่านแล้วเชียว
ว่าท่านเป็นพระเป็นเจ้า จะมาเกี่ยวข้องกันอย่างไร แต่เขากลับบอกว่า
จะต้องใช้ต่อต้านคอมมิวนิสต์กันให้หมด ไม่ว่าพระว่าสงฆ์กันล่ะ
ต้องขอแรงกันทั้งนั้น”
เมื่อกำนันตัวแทนฝ่ายอาณาจักรพายเรือกลับไปแล้ว
ความกังวลใจของสมภารกร่างก็มิได้ลดน้อยลงไป
ท่านจึงทำสิ่งที่ทำทุกครั้งเมื่อเกิดความรู้สึกว่าหาทางออกไม่ได้
นั่นคือเดินเข้าโบสถ์ที่ว่างคนแล้วปิดประตูลั่นดาลอยู่ในนั้นแต่องค์เดียว
เมื่อประตูโบสถ์วัดไผ่แดงปิดลงแล้วนั่นเอง ความสำคัญที่สุดของนวนิยายเรื่องนี้ก็ปรากฏตัวขึ้น
ท่ามกลางความตระหนกตกใจจนแทบคุมสติไม่อยู่ของสมภารกร่าง
สมภารกร่างพบว่าทางออกของเรื่องนี้มิได้อยู่ที่ฝ่ายพุทธจักรหรือฝ่ายอาณาจักรเลย
แต่กลับไปอยู่เสียที่อำนาจบางอย่างที่สูงล้ำขึ้นไปอีกจนมนุษย์ธรรมดามิอาจหยั่งได้
นี่คือฉากที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
พรรณนานำทางมา
“...พอเข้าไปถึงในโบสถ์
สมภารก็ปิดประตูลั่นดาลเพราะอยากอยู่คนเดียว ไม่อยากให้ใครมากวน
ครั้งแล้วก็จุดเทียนหน้าพระหลายดวง และจุดธูปบูชาพระอีกกำมือหนึ่ง
ลงกราบพระแล้วก็นั่งมองพระพุทธรูปที่เป็นประธานในโบสถ์วัดไผ่แดง
สมภารกร่างไม่มีความรู้ในทางโบราณวัตถุ
แต่ก็รู้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปโบราณมาก
พระประธานวัดไผ่แดงเป็นพระสำริด บริสุทธิ์เท่าขนาดคน
สมภารกร่างเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนนั้น
บางนี้ยังไม่มีหมู่บ้านและยังไม่มีวัด มีคนแก่ปลูกเรือนอยู่ริมคลองหลังเดียว วันหนึ่ง
“หลวงพ่อ” พระประธานก็ลอยน้ำมาติดอยู่ริมตลิ่ง คนแก่นั้นไปพบเข้า
ก็ไปตามชาวบ้านจากบางอื่นมาช่วยกันยกขึ้นตั้งไปบนฝั่ง
เป็นที่สักการะของคนที่สัญจรไปมา
จนที่สุดที่ที่หลวงพ่อตั้งอยู่ก็กลายเป็นวัดและบ้านไผ่แดงก็มีคนมาปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่กันเป็นหมู่จนทุกวันนี้...”
ทันทีทันใดนั้นเอง
ผู้เขียนก็วกเข้าสู่หัวใจของเรื่อง “ไผ่แดง” อย่างชนิดที่คนอ่านแทบจะไม่รู้เนื้อรู้ตัว
“...สมภารกร่างนั่งมองหลวงพ่ออยู่นาน
แสงเทียนจับองค์พระให้แลดูงามนัก ใจนั้นนึกว่า
ถ้าปีหน้าข้าวกล้างาดำในบางนี้งอกงามดี ก็จะบอกบุญชาวบ้านปิดทองหลวงพ่อเสียใหม่ให้งดงามขึ้นไปอีก
ขณะที่ใจนึกอยู่นั้น ตาก็มองอยู่ที่หน้าหลวงพ่อ
แล้วสมภารกร่างก็เห็นกับตาว่าหลวงพ่อยิ้มด้วย
สมภรกร่างขนลุกซู่ไปทั้งตัว แต่ก็ข่มใจไว้ด้วยเหตุผล
เพราะแสงเทียนที่เคลื่อนไหวนั้นอาจทำให้ตาฝาดไปก็ได้
แต่จิตใจสมภารยังไม่ทันจะสงบดี หลวงพ่อก็พูดออกมาว่า
“สมภารมีทุกข์ร้อนอะไรหรือ
วันนี้ดูหน้าไม่สบาย?”
“ใจหนึ่งนั้นอยากจะวิ่งหนี แต่อีกใจหนึ่งก็ไม่เชื่อหู
สมภารเหลียวเลิกลักดูในโบสถ์รอบๆ ก็ไม่เห็นว่ามีใครมาแอบแฝงอยู่ได้
เพราะโบสถ์วัดไผ่แดงเป็นโบสถ์เล็ก ไม่มีที่ที่จะแอบแฝง ทันใดนั้นก็มีเสียงพูดมาจากพระประธานอีกว่า”
“อย่าตกใจไปเลย
ฉันอยากคุยกับสมภารมานานแล้ว แต่ยังไม่ถึงเวลาและโอกาส”
“หลวงพ่อ... หลวงพ่อครับ...” สมภารพูดละล่ำละลัก ใจนั้นก็นึกถึงผลของการปาฏิหาริย์ครั้งนี้
ชาวบ้านจะแตกตื่นสักเพียงไร คนจะมานมัสการกันสักเท่าไหน และสภาพวัดไผ่แดงจะต้องเปลี่ยนไปเป็นวัดที่ใหญ่วัดที่สำคัญ
แต่ทันใดนั้น หลวงพ่อก็พูดสอดขึ้นมาว่า
“ฉันพูดกับสมภารแล้ว สมภารอย่าไปบอกกับใครนะ
เขาหาว่าสมภารโกหกฉันไม่รู้ด้วย ต่อหน้าคนอื่นฉันไม่พูดหรอก ไม่เชื่อคอยดูไปซี...”
ในที่สุดตำนานอันลือลั่นพระประธานพูดได้ก็เริ่มขึ้นในบทที่หนึ่งของนวนิยายเรื่อง
“ไผ่แดง” นี่เอง หลวงพ่อพระประธานท่านไม่ได้พูดทักทายสมภารกร่างเพียงเท่านี้
แต่ทั้งเรื่องต่อมาท่านได้กลายเป็นที่ปรึกษาใหญ่ของสมภารกร่างเลยทีเดียว
พูดคุยแนะนำอะไรต่างๆ กันแทบทุกบททุกตอน และเป็นตัวละครที่ใหญ่โตมโหฬารไปจนจบเรื่อง
ผมเองก็เป็นพุทธศาสนิกชนที่ศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมอยู่เป็นนิตย์
การได้อ่านนวนิยายในทำนองพุทธสัญลักษณ์อย่างเรื่องนี้ย่อมจะทำให้เกิดความปีติยินดีอยู่มาก
ใครเล่าจะไม่ดีใจที่พระพุทธรูปในโบสถ์ท่านพูดได้สอนได้ขึ้นมา
ใครเล่าจะเป็นที่ปรึกษาชีวิตได้ดีไปกว่าพระประธานในโบสถ์ที่สงบเงียบสงัดคน
นึกแล้วก็อดไม่ได้ที่จะชื่นชมในจินตนาการอันสมบูรณ์ของผู้เขียนและหวังให้เป็นเรื่องจริงขึ้นมาในใจเราเอง
แต่เมื่อเติบโตขึ้นในแนวคิดทางการเมือง ความรู้สึกนั้นก็เริ่มแปรเปลี่ยนไป
ความสนใจในพระธรรมยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มีแต่จะมากขึ้นตามทุกข์ของชีวิตที่มีมากขึ้นตามครรลองของมนุษย์ปุถุชน
แต่ความสงสัยในสัญลักษณ์ที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ นำมาใช้ในเรื่องนี้มีมากขึ้น
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ ตั้งใจสื่อสารสิ่งใดที่ทำให้พระประธานพูดได้
โดยเฉพาะในเมืองไทยขณะนั้นที่ดูเหมือนจะเคลื่อนใกล้สงครามกลางเมืองระหว่างอำนาจเก่ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ขึ้นทุกขณะ
คิดไปก็รู้สึกขึ้นว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
คงจะไม่ได้สอนธรรมะผ่านปากพระประธานวัดไผ่แดงอย่างที่เราเคยเข้าใจกันแต่แรก
แต่หวังผลการเมืองที่ซ่อนเร้นลึกซึ้งในระดับชาติทีเดียว
โดยเฉพาะเมื่อบทแรกนี้จบลงตรงที่สมภารกร่าง
“หารือ” กับหลวงพ่อพระประธานว่าปัญหาของ แกว่น แก่นกำจร
ที่หลวงเขากล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์นี่จะทำอย่างไรดี
“...(แต่) ผมหนักใจเรื่องทางอาณาจักร
เขาสงสัยว่ามันจะผิดอย่างไรอยู่ ผมจึงอยากรู้ว่าผมจะทำอย่างไรดี
จะเตือนมันตรงไหนดี เพราะความผิดความถูกเดี๋ยวนี้ ดูมันจะเกินศีลห้าธรรมบถสิบออกไปทุกที
ผมเองก็จนปัญญาไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก”
“ฉันไม่มีปัญญาจะบอกสมภารหรอกในข้อนี้” หลวงพ่อว่า “ เพราะฉันเองอยู่มาจนป่านนี้
ก็ไม่เคยเล่นการเมืองและก็ไม่คิดว่าจะเล่นหรือเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย”
คำตอบของพระประธานวัดไผ่แดง
เสมือนการตอกหน้าผากของคนที่สนใจการเมืองไทยและติดตามการเมืองไทยมานานพอควร
สมภารกร่างดีอกดีใจที่หลวงพ่อท่านพูดได้
และถือเอาโอกาสนั้นปรึกษาหลวงพ่อในเรื่องที่หนักอกอยู่
แต่หลวงพ่อท่านก็พูดให้กำลังใจกลับไปกลับมา
คล้ายบทสนทนาระหว่างพระเจ้ามิลินทร์กับพระนาคเสน ที่ฟังแล้วก็เลื่อมใสในปัญญาของผู้พูด
แค่ผู้ฟังแทบจะไม่ได้อะไรกลับไปเลย สมภารกร่างมิได้แสดงความรู้สึกใดๆ
ในคำตอบจากหลวงพ่อ ได้แต่นั่งนิ่งๆ จนเทียนดับไปเอง
โดยหลวงพ่อและสมภารต่างก็มิได้สนทนาปราศรัยอะไรกันอีก
ผู้เขียนลงท้ายว่าเรื่องหลวงพ่อพูดได้กลายเป็นความลับสำคัญที่สมภารกร่างเก็บไว้กับตนเพียงองค์เดียว
มิได้แพร่งพรายให้ใครได้ทราบเลยนับแต่คืนนั้นเป็นต้นมา
เมื่อเราโตขึ้น
เราก็รู้ว่าเมืองไทยเรามีพระประธานที่พูดได้เหมือนกัน จะวัดไหนก็คงไม่ต้องบอก
พระประธานพูดได้ในเมืองไทยของเรานี้ เอาเข้าจริงแล้วก็พูดตามคติของ
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ อย่างไม่หนีกันเลย “หลวงพ่อของเรา” เลือกที่จะพูดในบางเวลา
เลือกที่จะพูดกับคนบางคน
และเลือกเสียด้วยว่าจะให้ใครเข้าใจในสิ่งที่พูดและใครจะต้องรู้สึกงุนงงสับสนจนแทบจะไปกระโดดหน้าผาตาย
เพราะหลวงพ่อพูดได้ของเราท่านพูดให้คนเอาไปตีความตามใจตัวเอง
มองในทางหนึ่งก็เป็นปรัชญาอันลึกซึ้งแหลมคมนัก
แต่มองอีกทางหนึ่งก็ขาดความรับผิดชอบอย่างมากในฐานะของผู้เป็นประธาน
เพราะไม่ต้องร่วมรับผิดชอบอะไรใดๆ คำว่า “กิจของสงฆ์”
นั้นมีหลักการและคำอธิบายที่ชัดเจน
ไม่ใช่คำกล่าวอ้างอย่างมักง่ายเพียงเพื่อตนเองจะได้อยู่เหนือน้ำตลอด
โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครนอกจากตนเอง
พระประธานในโบสถ์วัดไผ่แดงที่แท้
น่าจะเป็นผู้สอนธรรมะและเตือนสติสมภารกร่างและใครๆ
ในยามขาดสติหรือตกเป็นเหยื่อของอกุศลมูลจนโงหัวไม่ขึ้น หาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ฯ
ไม่ได้เขียน “ไผ่แดง” และ “ไผ่แดง” ถูกจารจารึกโดยพุทธทาสภิกขุ
ศรีบูรพา หรือแม้แต่พระพยอม กัลยาโณแห่งวัดสวนแก้ว เชื่อว่าหลวงพ่อไผ่แดงคงจะยกข้อธรรมะหรือพุทธวัจนะที่จับใจมาแนะนำสมภารกร่าง
แทนที่จะแนะนำในทางโลกย์แต่ถ่ายเดียว ธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นมีมากนัก
และหลายข้อก็ตรงกับปัญหาชีวิตของคนทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้อย่างเหมาะเหม็ง
พระหรือโยมที่สอนธรรมะได้เพียงจำกัด
หากมิใช่เจตนาก็ย่อมแสดงถึงปัญหาส่วนองค์หรือส่วนตนที่ยังศึกษาไม่เพียงพอ
หาใช่ความจำกัดของพระศาสนาไม่
......................................................
คอลัมน์ "ร้านทีพีนิวส์แนะนำหนังสือ"
ญี่ปุ่นขึ้นเมือง
ในกระบวนผู้ที่มีความนับถือและผูกพันกับ
ดร.ปรีดี พนมยงค์
จนถึงขนาดอุทิศชีวิตและน้ำพักน้ำแรงในการกู้ชื่อเสียงและจารึกเกียรติประวัติไว้ให้ในผลงานหลายสิบเล่ม
น่าจะไม่มีใครเกิน คุณลุงสุพจน์ ด่านตระกูล ผู้ล่วงลับ
คุณลุงเคยเล่าให้พวกเราฟังว่าท่านแทบจะไม่ได้รู้จัก ดร.ปรีดี เป็นการส่วนตัวเลย
ชั่วชีวิตมีโอกาสได้พบหน้ากับครั้งเดียวที่ฝรั่งเศส
แต่ที่ค้นคว้าและเขียนไว้ทั้งปวงก็เพราะศรัทธาและระลึกถึงบุญคุณของบุคคลผู้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสของชาติโดยแท้จริง
"ญี่ปุ่นขึ้นเมือง" เล่มนี้ เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่คุณลุงสุพจน์ฯ
บันทึกประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ ๒
ในขณะที่ญี่ปุ่นบุกและยึดครองประเทศไทยเอาไว้โดยละเอียด
ใครที่หลับตานึกภาพประวัติช่วงนี้ไม่ออก ควรหามาอ่านและศึกษาเอาไว้ในระบบความคิด
เพื่อความเข้าใจต่อเนื่องไปถึง ดร.ปรีดี พนมยงค์
ผู้เป็นกำลังสำคัญในการวางกุศโลบายรับมือกับกองทัพญี่ปุ่นและเหตุการณ์ภายหลังจากนั้นทั้งหมด
คนแคระ
"อะไรเล่าจะน่าพรั่นพรึงไปกว่าจิตใจที่จ้องลึกลงไปในตัวมันเอง"
ประโยคนี้ก็คงเพียงพอที่นักอ่านผู้ใช้ความคิดจะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านอย่างศึกษาและเพื่อความอิ่มเอมทางอารมณ์
โดยไม่ต้องพ่วงท้ายว่า "นวนิยายรางวัลซีไรต์ประจำปี ๒๕๕๕" ของ วิภาส
ศรีทอง ด้วยซ้ำ ตะวันตกเองมีสำนวนที่ใกล้เคียงกันว่า
"เมื่อเรามองลึกลงไปในบ่อลึกดำมืด
ความดำมืดนั้นก็มองสวนขึ้นมายังเราด้วย"
มนุษย์ออกเดินทางไปไกลถึงดาวอังคารและลงไปลึกถึงท้องพระมหาสมุทรที่ลึกที่สุด
แต่จิตมนุษย์นั้นเองยังคงเป็นความสนเท่ห์อย่างยิ่งยวด
รอให้เราต่างเข้าไปร่วมรับรู้และค้นหาความหมายและจุดประสงค์ของมัน
....................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น