สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
ชื่อบทความเดิม
บำนาญประชาชน: สิทธิของประชาชนเมื่อชราภาพ รัฐต้องจัดบำนาญประชาชนให้ทุกคน
บำนาญประชาชน: สิทธิของประชาชนเมื่อชราภาพ รัฐต้องจัดบำนาญประชาชนให้ทุกคน
การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ปัญหาเศรษฐกิจ ภาวะว่างงาน ตกงาน การไม่ได้รับการประกันรายได้ที่แน่นอนจากรัฐ
ทำให้คนจน คนไม่มีงานทำ คนรับงานไปทำที่บ้าน คนไม่มีนายจ้าง
และอยู่นอกระบบประกันสังคม
คือคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่เป็นเหยื่อของภาวะปัญหาที่รุมเร้า หรือคนเหล่านี้ต้องโทษที่เกิดมาจน
และถูกทำโทษต่อไปอีกว่าหากอยากมีบำนาญชราภาพ ก็ต้องมาจากการออมเงินด้วยตนเอง
โดยรัฐจะร่วมจ่ายสมทบในอัตราจำกัด โดยอ้างตลอดเวลาว่าไม่มีเงินเพียงพอ
ทั้งที่ยังไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการปฏิรูประบบภาษีที่ก้าวหน้าและเป็นธรรม
การดำเนินการจัดสวัสดิการให้ประชาชนเพื่อลดช่องว่างทางรายได้
การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขของคนมีมากกับคนมีน้อยหรือไม่มีเลย
ดังนั้น
การที่กระทรวงการคลัง มุ่งเน้นให้เกิดระบบบำนาญแห่งชาติด้วยการออมจากประชาชน
โดยละเลยไม่พูดถึงการจัดสวัสดิการพื้นฐานยามชราภาพ จึงเป็นการดำเนินนโยบายที่ไม่เป็นธรรมกับคนจน
การสร้างหลักประกันชราภาพขั้นพื้นฐานในจำนวนที่เหมาะสม
จึงเป็นทิศทางที่จำเป็นต่อประชาชน และควรดำเนินการอย่างเป็นระบบมีกฎหมายรองรับ
ไม่ใช่ให้เป็นนโยบายเป็นปีต่อปีของรัฐบาล นั่นคือ
รัฐต้องจัดทำระบบบำนาญชราภาพพื้นฐาน ในรูปแบบระบบบำนาญประชาชน
ในจำนวนที่มากกว่าเบี้ยยังชีพปัจจุบัน ไปพร้อมๆ
กับการดำเนินการกระตุ้นการออมเพื่อชราภาพของประชาชนให้เป็นทางเลือกในการออม
ไม่ใช่ออกกฎหมายให้ทุกคนต้องออม
ยกระดับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญประชาชนที่จ่ายมากกว่า
500 บาทต่อเดือน ประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้ต่ำมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ในปี พ.ศ.2549 คนรวยที่สุด ร้อยละ 20 รายได้สูงกว่าคนจนที่สุด ร้อยละ 20 ที่ 14.7
เท่า[1]
การลดช่องว่างด้วยการกระจายรายได้
ควรดำเนินการในสองด้านคือ การจัดสวัสดิการให้กับประชาชนและการปฏิรูปการจัดเก็บภาษีและการบริหารจัดการการเงินการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ
เพื่อให้รัฐสามารถนำเงินมาจัดระบบสวัสดิการให้กับประชาชนในรูปแบบการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า
(universal coverage) เป็นการจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุทุกคนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม
ไม่ต้องระบุความจน เนื่องจากเป็นไปตามสิทธิของผู้สูงอายุที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
โดยสามารถแก้ปัญหาการคัดเลือกผู้สูงอายุที่ยากจน การเลือกพวกพ้องตนเอง
การคัดเลือกที่ไม่โปร่งใส การขัดแย้งกันในชุมชน
การใช้เบี้ยยังชีพเป็นการหาเสียงให้ตนเองทั้งการเมืองระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง
ดังนั้น
รัฐบาลควรเร่งยกระดับการจ่ายเบี้ยยังชีพ เป็น บำนาญประชาชน เพื่อลดช่องว่าง
เพื่อกระจายรายได้ และคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของความชราภาพ ทุกคนเมื่ออายุเกิน 60
ปีได้รับบำนาญทุกเดือนตลอดชีวิต ในอัตราไม่น้อยกว่าเส้นความยากจน เริ่มที่ 1,500 บาทต่อเดือน
ไม่ใช่บังคับทุกคนตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไปให้ออมเงิน
เพราะรัฐยังไม่ได้แก้ปัญหาการกระจายรายได้
ไม่รับประกันรายได้ของแรงงานนอกประกันสังคม คนจนที่ไม่มีรายได้แน่นอน
แต่จะบังคับให้ทุกคนออม เป็นเรื่องที่เอาเปรียบคนจน คนยากลำบากในสังคม
รัฐจ่ายได้จริงและควรจ่ายมากกว่าเบี้ยยังชีพ
500 บาท ในปัจจุบัน การสร้างเสาหลักพื้นฐานแห่งการให้แบบถ้วนหน้า(universal foundation pillar) [2] ที่มอบบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคนเมื่อมีอายุตามเกณฑ์ที่กำหนด
ส่งผลให้มีความเป็นไปได้สำหรับประเทศไทยที่จะให้หลักประกันที่มั่นคงปลอดภัยแก่ผู้ชราภาพของประเทศได้
จากการคำนวณการจ่ายบำนาญเดือนละ 1,443 บาท [3] (เส้นความยากจน ปี 2550) ตั้งแต่ปี 2552 – 2568 รัฐจะใช้งบประมาณเพียงร้อยละ
1.5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เมื่อเทียบกับประเทศอื่นเช่น
มอริเชียสร้อยละ 1.7 ประเทศนิวซีแลนด์ร้อยละ 3 การคำนวณ GDP เป็นการคาดการณ์บนสมมติฐานที่ว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตของ
GDP ต่อหัวร้อยละ 3.44 ต่อปี
ซึ่งเท่ากับทิศทางในการเติบโตของประเทศระหว่างปี 2541-2551
ในช่วงเวลานี้ประเทศไทยเผชิญกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและมีอัตราการเติบโตติดลบในปี
2540 และ 2541 รัฐคิดเพียงว่าจะจ่ายน้อยที่สุดให้กับประชาชนเมื่อยามชราภาพ
โดยผลักภาระให้ประชาชนออมเอง หากอยากได้บำนาญ
เป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบต่อคนยากจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
การดำริที่จะจัดเก็บภาษีทรัพย์สินตามมูลค่า
ถือว่าเป็นความคิดที่ก้าวหน้าของรัฐบาลที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เป็นนายกรัฐมนตรี ที่จะใช้ระบบภาษีเป็นการช่วยลดช่องว่างของการกระจายรายได้
ภาษีทรัพย์สิน (property tax) หมายถึงการจัดเก็บภาษีบนฐานทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน บ้านและโรงเรือน หุ้น
และหลักทรัพย์ทางการเงินฯลฯ ภาษีนี้จะทำให้เกิดการกระจายรายได้
คนจนไม่ได้รับผลกระทบแต่คนรวยต้องเสียภาษีให้รัฐ
ทั้งนี้ ทรัพย์สินเหล่านี้ได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะของรัฐ
เช่น การดูแลรักษาความสงบสุข การคุ้มครองดูแล การลงทุนสาธารณูปโภค
แต่รัฐบาลนี้จะเริ่มที่ภาษีที่ดิน บ้านและโรงเรือน
และให้เป็นผลประโยชน์ของท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม
รัฐส่วนกลางควรมีการกำหนดให้ท้องถิ่นกันเงินรายได้จากภาษีเหล่านี้ไว้สำหรับการจัดสวัสดิการพื้นฐานคือบำนาญประชาชน
สำหรับผู้สูงอายุในพื้นที่ของตนเอง จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี
พ.ศ.2550 ราว 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวหรืออยู่กับหลานโดยลำพัง ร้อยละ
22 ของผู้สูงอายุยังมีหนี้สินและมีภาระต้องชดใช้หนี้สิน
แหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุมาจากบุตร ร้อยละ 52.3 ดังนั้น การจัดบำนาญประชาชน
ในจำนวนที่เหมาะสมจึงเป็นการช่วยเหลือผู้สูงอายุให้ดำรงชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี
และมีคุณค่าต่อสังคมและลดภาระของครอบครัวในการเลี้ยงดู
ทำให้คนวัยแรงงานที่มีรายได้ พอจะมีเงินเหลือออมเพื่อความชราภาพของตนต่อไป
[2] เป็นเบี้ยบำนาญที่ให้ผู้สูงอายุทุกคนที่มีอายุเกินเกณฑ์ที่กำหนด ธนาคารโลกเรียกระบบที่ให้แบบไม่ต้องจ่ายสมทบนี้ว่าเสาหลักหมายเลขศูนย์ (Zero Pillar)
[3] สำนักพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดภาวะสังคม, สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ มิถุนายน 2551 www.poverty.nesdb.go.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น