จาก หนังสือพิมพ์ เรดพาวเวอร์ ฉบับที่ 32 เดือน
มกราคม 2556 คอลัมภ์ “ประชาชนแดง”
โดย สุวิทย์ เลิศไกรเมธี
การปฏิวัติ
2475 โดยคณะราษฎร เป็นการล้มระบอบเก่าและสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ คือ“ระบอบรัฐธรรมนูญ” สยามมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นครั้งแรก คือ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว
พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทในการจัดวางระบบระเบียบของสัมพันธภาพทางอำนาจในสังคมการเมือง(ต่อไปจะเรียกว่า
ธรรมนูญชั่วคราว) โดยมีหลักการพื้นฐานสำคัญที่สุดคือ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
หรือ “ราษฎร” คือ “รัฏฐาธิปัตย์”
องค์ใหม่ สภาผู้แทนราษฎรเป็นสถาบันการเมืองที่มีอำนาจสูงสุดและใช้อำนาจแทนราษฎร
กษัตริย์ต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เรียกว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ”
กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐที่มีฐานะเป็นเพียงสัญลักษณ์และถูกจำกัดอำนาจให้มีได้เท่าที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
ตามที่คณะราษฎรได้แถลงไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า
“…คณะราษฎรไม่ประสงค์ทำการแย่งชิงราชสมบัติ
ฉะนั้น จึงได้อัญเชิญให้กษัตริย์องค์นี้ดำรงตำแหน่งกษัตริย์ต่อไป
แต่จะต้องอยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้
นอกจากด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร…”
การปฏิวัติ
2475 ไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสัมพันธภาพทางอำนาจภายในรัฐสยามครั้งใหญ่เท่านั้น
แต่ยังเป็นการเปลี่ยนสำนึกทางประวัติศาสตร์เดิมที่เชื่อว่ากษัตริย์คือผู้นำในการกำหนดวิถีประวัติศาสตร์ดังเช่นในอดีต
กลายเป็นราษฎรสามัญชนก็สามารถร่วมกันกำหนดวิถีประวัติศาสตร์ได้ ราษฎรสามัญชนสามารถมีสำนึกความเป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของอำนาจ
รวมทั้งเป็นผู้นำหรือมีส่วนร่วมในการผลักดันความก้าวหน้าให้แก่ประเทศชาติได้
ดังปรากฏในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่า
“ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า
ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง
บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก
พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ...”
ไม่เพียงเท่านั้น
ในสายตาของผู้นำการปฏิวัตินั้นกษัตริย์และเจ้ากลายเป็นพวกกดขี่ ขูดรีด ถ่วงความเจริญก้าวหน้า
ดังที่คณะราษฎรโจมตีกษัตริย์และพวกเจ้าอย่างดุเดือดเลือดพล่านชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อนในประกาศคณะราษฎรฉบับที่
1 ว่า กษัตริย์มีอำนาจอยู่เหนือกฎหมาย
แต่งตั้งญาติวงศ์คนสอพลอไร้ความรู้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ยกพวกเจ้าขึ้นให้สิทธิพิเศษกว่าราษฎร
กดขี่ข่มเหงและไม่ฟังเสียงราษฎร ถือเอาราษฎรเป็นทาส ไพร่ เยี่ยงสัตว์เดียรัจฉาน
ทำนาบนหลังราษฎร ผลาญเงินประเทศ หากำไรจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา ปล่อยข้าราชการทุจริต
ปกครองโดยขาดหลักวิชา ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทำมาหากินฝืดเคือง ราษฎรเดือดร้อนเพราะถูกขูดรีดภาษีแต่เจ้าหักไว้ใช้ส่วนตัวจำนวนมากและใช้จ่ายกินนอนสุขสบาย
หมิ่นประมาทราษฎรว่าโง่จึงยังมีเสียงทางการเมืองไม่ได้ ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรให้ความสำคัญกับ
“ราษฎร” โดยจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของ “ราษฎร” ไว้ “สูงสุด”
ทั้งในธรรมนูญชั่วคราวและในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1(ซึ่งเป็นดั่ง “คำประกาศอิสระภาพ”
ปลดปล่อยราษฎรจากการปกครองของกษัตริย์ และเป็นประกาศเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของการปฏิวัติ
24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) โดยที่เอกสารทั้งสองชิ้นถูกร่างโดยปรีดี พนมยงค์
ปัญญาชนคนสำคัญที่เป็นมันสมองของคณะราษฎร ในบทความชิ้นนี้ต้องการนำเสนอบางแง่มุมว่า
“ราษฎร” ในความคิดของปรีดี พนมยงค์ คืออะไร
“ราษฎร” ของปรีดีในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
คำว่า “ราษฎร”
ในบริบทของคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 หรือในธรรมนูญชั่วคราวก็ตาม
มีความหมายเดียวกับคำว่า “ประชาชน(People)” ดังที่ปรีดี พนมยงค์
ผู้ร่างประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 และธรรมนูญชั่วคราวอธิบายว่า “...People ซึ่งเราแปลว่า “ราษฎร””
เพราะคนที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของสยามนั้นเรียกตัวเองและถูกเรียกว่า
“ราษฎร” ราษฎรในทัศนะของปรีดี พนมยงค์ จึงเป็นผู้ไร้อำนาจ
ผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง หรือคนในบังคับ ซึ่งจะว่าไปแล้วคำว่า
ราษฎรในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็มีความหมายใกล้เคียงกันมากกับคำว่า “พสกนิกร”
ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำดังกล่าวและคำที่เกี่ยวข้องไว้ดังนี้
“พสกนิกร” หมายถึง
คนที่อยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของประเทศนั้นหรือคนต่างด้าวที่มาอาศัยอยู่ก็ตาม
“พสก” หมายถึง ชาวเมือง พลเมือง ผู้อยู่ในอำนาจ
“นิกร” หมายถึง หมู่ พวก
“ไพร่ฟ้า” มีความหมายว่า
ข้าแผ่นดินหรือราษฎร
“ไพร่” หมายถึง ชาวเมือง
พลเมืองสามัญ คนเลว
ขณะที่คณะราษฎรให้ความหมายคำว่า
“ไพร่” และ “ข้า” ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ว่าเป็น “ทาส”
ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นทาสที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น
ตามคำบรรยายในประกาศดังกล่าวทาสเหล่านั้นมีสถานะเป็นเพียงสัตว์เดียรัจฉานที่ต่ำกว่ามนุษย์
โดยสรุปแล้ว “ราษฎร” ของปรีดี พนมยงค์ ก็คือทาสประเภทหนึ่ง มีความหมายเดียวกับคำว่า
“พสกนิกร” ซึ่งก็คือ คนที่อยู่ใต้อำนาจของกษัตริย์นั่นเอง
ดังนั้น การปฏิวัติ 2475 โดยการนำของคณะราษฎรก็คือการพยายามทำให้อำนาจสูงสุดเป็นของผู้ไร้อำนาจซึ่งก็คือราษฎรหรือพสกนิกร
ซึ่งมีตัวมีตนอยู่จริงในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามก่อน 24 มิถุนายน 2475
“ราษฎร”
ของปรีดีในทฤษฎีประชาธิปไตย
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าปรีดี
พนมยงค์ แปลคำว่า “People” ว่าหมายถึง “ราษฎร”
นอกจากนั้นปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นผู้เสนอให้ใช้คำว่า
“คณะราษฎร” ในคราวประชุมก่อตั้งคณะราษฎรที่ปารีส ในปี พ.ศ. 2470
และคณะราษฎรก็ถูกเรียกในเวลาต่อมาในภาษาอังกฤษว่า “People’s Party” เหตุที่เสนอให้ใช้ชื่อว่า
“คณะราษฎร” นั้น ปรีดี พนมยงค์ ให้เหตุผลว่า
...เพราะผู้ก่อการฯ
ทุกคนเป็นราษฎรไทยแท้จริง และสมาชิกคณะราษฎรทั้งหลาย ยอมอุทิศตนและความเหนื่อยยากเพื่อราษฎรให้บรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตย
ดังที่นักประชาธิปไตยส่วนมากย่อมทราบว่าประธานาธิบดีลินคอล์นได้สรุปคำว่า
“ประชาธิปไตย” ไว้อย่างเหมาะสมว่า “รัฐบาลของราษฎร,
โดยราษฎร, เพื่อราษฎร”
(ประธานาธิบดีลินคอล์นใช้คำว่า “...government
of the people, by the people, for the people...” ในภาษาไทยโดยมากแล้วมักแปลสุนทรพจน์ของลินคอล์นว่า
“การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน” )
จะเห็นได้ว่า คำว่า “ราษฎร”
ที่กล่าวถึงข้างต้น ปรีดี พนมยงค์ ใช้คำว่า “ราษฎร”
ในความหมายเดียวกับคำว่า “ประชาชน(People)”
ตามอย่างสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ซึ่งเป็นการให้ความหมายของ “ประชาธิปไตย”
ที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมาช้านานแล้วว่าเป็นคำจำกัดความของประชาธิปไตยที่กระชับแต่กินความลึกซึ้งที่สุด
ซึ่งเป็นความหมายคนละอย่างกับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย
รุสโซอธิบายว่า
การที่แต่ละคนเข้าร่วมประชาคมด้วยการมอบตัวเองและสละทุกสิ่งทุกอย่างให้กับประชาคม
ทุกคนก็จะได้รับทุกสิ่งทุกอย่างเทียบเท่ากับสิ่งที่สูญเสียไป
รวมทั้งได้พลังที่เข้มแข็งกว่าเดิมในการปกป้องสิ่งที่แต่ละคนมีอยู่ ซึ่งมีความหมายว่า ทุกคนต่างมีส่วนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโดยไม่มีใครที่จะถูกแบ่งแยกหรือถูกกีดกันออกไปจากการมีส่วนร่วมในประชาคมนั้นได้หรือทุกคนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของประชาคม
รุสโซเรียกประชาคมดังกล่าวว่า “ประชาชน” (ในความหมายแบบองค์รวม)
หรือเรียกว่า “รัฏฐาธิปัตย์” เมื่อแสดงออกว่าเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด รุสโซยังยกตัวอย่างอีกว่า
ถ้าในรัฐหนึ่งมีคนหนึ่งหมื่นคน องค์รัฏฐาธิปัตย์ก็คือคนหนึ่งหมื่นคนรวมกันเสมือนเป็นบุคคลคนเดียว(ความหมายแบบองค์รวม)
คนแต่ละคนก็จะมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยหนึ่งในหนึ่งหมื่นส่วน
เมื่อกลับมาพิจารณาประกาศคณะราษฎรฉบับที่
1 ความตอนหนึ่งว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า
ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง
บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศเป็นอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก
พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ...” และธรรมนูญชั่วคราว
27 มิถุนายน 2475 มาตรา 1 “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”
จะได้ว่า
คำว่า “ราษฎรทั้งหลาย”
เป็นพหูพจน์ ไม่ใช่ราษฎรคนใดคนหนึ่ง
เป็นการมองราษฎรเป็นปัจเจกบุคคลแต่ละคนซึ่งเป็นใครก็ได้
ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นใครคนใดคนหนึ่ง
การที่ราษฎรจะเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดได้ก็ต้องรวมเอาราษฎรทุกคนเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวเสมือนเป็นบุคคลคนเดียว(เกิดเป็นประชาชนในความหมายแบบองค์รวม)
ราษฎรหรือประชาชนในความหมายแบบองค์รวมนี้จึงจะมีฐานะเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดหรือรัฎฐาธิปัตย์
แต่ถ้ามองแยกเป็นคนๆ แต่ละคนก็จะเป็นเจ้าของอำนาจหนึ่งในส่วนของทั้งหมด(ดังที่รุสโซยกตัวอย่างคนหนึ่งหมื่นคน)
ทำนองเดียวกัน ราษฎรของประเทศสยามแต่ละคนก็จะมีส่วนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน
เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดร่วมกันในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพราะราษฎรแต่ละคนล้วนแล้วแต่เสียสละตนเองมารวมตัวกันเป็นประเทศสยาม
เสียสละชีวิตปกป้องประชาคมสยามที่พวกเขาเป็นเจ้าของในยามมีภัยจากข้าศึกศัตรู ซึ่งจะได้ว่า
ราษฎรสยามแต่ละคนมารวมกันทั้งหมด=ประชาชนสยาม(ความหมายแบบองค์รวม)=รัฏฐาธิปัตย์
กล่าวโดยสรุป
ราษฎรในทัศนะของปรีดี พนมยงค์ นั้นมีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ความหมายแง่ลบ
คือมีฐานะเป็นแค่ผู้ไร้อำนาจที่ถูกกดขี่ขูดรีดหรือเป็นแค่ “พสกนิกร”
ที่อยู่ใต้อำนาจกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น ส่วนความหมายแง่บวก คือ
ราษฎรเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด มีฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ผู้เป็นองค์ประธานสูงสุดตามอย่างทฤษฎีประชาธิปไตย
ราษฎรของปรีดีในแง่นี้จึงไม่มีที่ว่างให้กับความหมายอื่นใดนอกจากความหมายเดียวกับคำว่า
“ประชาชน(People)”
อย่างไรก็ตาม
ธรรมนูญชั่วคราว 27 มิถุนายน 2475 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกและฉบับเดียวที่ยึดถือหลักการอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ
หลังจากนั้นมาทุกฉบับล้วนแล้วแต่ละทิ้งหลักการอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนไปแล้วทั้งสิ้น
แม้บางฉบับจะเขียนไว้คล้ายกับรัฐธรรมนูญฉบับแรกแต่ความหมายที่แท้จริงหาใช่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนไม่
การต่อสู้ช่วงชิงความเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดจึงยังคงตกค้างมาถึงปัจจุบัน
รายการอ้างอิง
ปรีดี พนมยงค์,
คณะราษฎรกับการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน, 2534.
ปรีดี
พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบอบประชาธิปไตย, 2534.
อรรถจักร์
สัตยานุรักษ์, การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทย ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 - พ.ศ. 2475,
2538
Andrew
Heywood, Politics, 3rd ed., 2007.
Helena
Catt, Democracy in practice, 1999.
JEAN-JACQUES
ROUSSEAU, Discourse on Political Economy AND The Social Contract, 1994.
Lyman
Tower Sargent, Contemporary Political Ideologies : A Comparative Analysis, 2009.
เยี่ยม.....
ตอบลบ