ผ่านไปเรียบร้อยสำหรับการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) โดยวันแรกมีผู้สมัครทั้งสิ้น 18 คน ได้หมายเลขไปหาเสียงเพื่อให้คนกรุงเทพฯลงคะแนนให้ตามสไตล์ของแต่ละคนแต่ละพรรคคือ นายวิละ อุดม หมายเลข 1 นายวรัญชัย โชคชนะ หมายเลข 2 ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ หมายเลข 3 นายโสภณ พรโชคชัย หมายเลข 4 นายสมิตร สมิทธินันท์ หมายเลข 5 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง หมายเลข 6 นายณัฏฐ์ดนัย ภูเบศอรรถวิชญ์ หมายเลข 7 นายสุเมธ ตันธนาศิริกุล หมายเลข 8 พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ หมายเลข 9
นายโฆสิต สุวินิจจิต หมายเลข 10 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หมายเลข 11 น.ส.จงจิตร์ หิรัญ ลาภ หมายเลข 12 นายวศิณ ภิรมย์ หมายเลข 13 นายประทีป วัชรโชคเกษม หมายเลข 14 นายจำรัส อินทุมาร หมายเลข 15 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หมายเลข 16 นายสุหฤท สยามวาลา หมายเลข 17 และนางนันท์นภัส โกไศยกานนท์ หมายเลข 18
ล่าสุดผลสำรวจของโพลต่างๆเกี่ยวกับความเห็นจากนักวิชาการและวงการเมืองมองว่า พล.ต.อ. พงศพัศเป็นรอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หากใช้สถิติการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยทั้งในนามของพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนไม่เคยชนะพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เลย ทั้งคะแนนยังทิ้งห่างกันพอสมควร
“คุณปลื้ม” ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้ที่เคยสมัครอิสระในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2552 และได้คะแนนถึง 334,846 คะแนน เป็นอันดับ 3 วิเคราะห์ตัวเลขคะแนนว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จะชนะด้วยคะแนน 900,000 กว่าคะแนน จากฐานเสียงของ พรรคประชาธิปัตย์ที่ค่อนข้างมั่นคง ส่วน พล.ต.อ. พงศพัศจะได้ประมาณ 800,000 กว่าคะแนน
คนกรุงเทพฯชอบนอนหลับทับสิทธิ
ที่น่าสนใจหรือจะเรียกว่าเป็นความอัปยศของ คนกรุงเทพฯมาโดยตลอดคือ การนอนหลับทับสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 9 ครั้ง มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเกิน 50% เพียง 4 ครั้งหลังเท่านั้น แต่ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุดก็มีเพียง 62.5%
โดยการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกวันที่ 10 สิงหาคม 2518 ซึ่งนายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ได้ 99,247 คะแนน และนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ จากพรรคพลังใหม่ได้ 91,678 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียง 13.86%
ครั้งที่ 2 วันที่ 14 พฤษภาคม 2528 พล.ต.จำ ลอง ศรีเมือง ในนามกลุ่มรวมพลังได้ 480,232 คะแนน นายชนะ รุ่งแสง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 241,002 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 34.65%
ครั้งที่ 3 วันที่ 7 มกราคม 2533 พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พรรคพลังธรรมได้ 703,671 คะแนน นายเดโช สวนานนท์ พรรคประชาธิปัตย์ได้ 283,895 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35.85%
ครั้งที่ 4 วันที่ 19 เมษายน 2535 ร.อ. กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา พรรคพลังธรรมได้ 363,668 คะแนน นายพิจิตต รัตตกุล พรรคประ ชาธิปัตย์ได้ 305,704 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 23.02%
ครั้งที่ 5 วันที่ 3 มิถุนายน 2539 นายพิจิตต รัตตกุล ลงอิสระได้ 768,994 คะแนน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง พรรคพลังธรรมได้ 514,401 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 43.53%
ครั้งที่ 6 วันที่ 23 กรกฎาคม 2543 นายสมัคร สุนทรเวช พรรคประชากรไทยได้ 1,016,096 คะแนน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคไทยรักไทยได้ 521,184 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 58.87%
ครั้งที่ 7 วันที่ 29 สิงหาคม 2547 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 911,441 คะแนน นางปวีณา หงสกุล ลงอิสระได้ 619,039 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด 62.5%
ครั้งที่ 8 วันที่ 5 ตุลาคม 2551 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน พรรคประชาธิปัตย์ได้ 991,018 คะแนน นายประภัสร์ จงสงวน พรรคพลังประชาชนได้ 543,488 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 54.18%
ครั้งที่ 9 วันที่ 11 มกราคม 2552 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร พรรคประชาธิปัตย์ได้ 934,602 คะแนน นายยุรนันท์ ภมรมนตรี พรรคเพื่อไทยได้ 611,699 คะแนน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 51.10%
ที่น่าสังเกตคือ สถิติผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2 ครั้งหลัง มีจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิลดลงเรื่อยๆ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงประกาศว่าจะรณรงค์ให้มีผู้มาใช้สิทธิให้มากที่สุดถึง 95% เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้คนกรุงเทพฯสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นการชิงชัยระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้ยังมีผู้สมัครอิสระที่มีชื่อเสียง เช่น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์และนายโฆสิต จึงมั่นใจว่าจะมีคนมาใช้สิทธิจำนวนมาก โดย กกต. จะอำนวยความสะดวกให้กับคนชราและคนพิการ รวมถึงการลดความผิดพลาดของหน่วยเลือกตั้งเพื่อให้มีการร้องเรียนน้อยที่สุดด้วย
หากพิจารณาจากสถานการณ์ก็เชื่อว่าจะมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าทุกครั้ง แต่คงไม่มากถึง 95% ปัญหาอยู่ที่คนกรุงเทพฯจะตื่นตัวพร้อมใจกันออกมาตัดสินอนาคตของตัวเองหรือไม่
“พงศพัศ” ต้องทำงานหนัก
จากข้อมูลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 9 ครั้งที่ผ่านมา พล.ต.อ.พงศพัศและพรรคเพื่อไทยต้องทำ งานอย่างหนักหากหวังจะชนะการเลือกตั้ง นโยบาย การหาเสียงจึงต้องชัดเจนเพื่อให้คนกรุงเทพฯเชื่อ ว่าทำได้จริง โดยเฉพาะปัญหาเร่งด่วนที่โพลสำ รวจระบุว่า ปัญหาที่คนกรุงเทพฯต้องการให้แก้ไขคือ ปัญหาค่าครองชีพ ปัญหาการจราจรที่เกือบเป็น อัมพาตที่ยังไม่เคยมีผู้ว่าฯ กทม. คนไหนแก้ปัญหานี้สำเร็จมาก่อน และปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเกิดขึ้นทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯที่เต็มไปด้วยปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม
หากมองตามหน้าเสื่อถึงปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องการ พล.ต.อ.พงศพัศก็ถือว่าได้เปรียบ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ แม้จะไม่เคยทำงานการเมืองและมีผลงานเลย แต่เป็นตำรวจมานานกว่า 30 ปี มีผลงาน ปราบปรามยาเสพติดและอาชญากรรมมาอย่างโชก โชน และพรรคเพื่อไทยก็ทุ่มงบประมาณแก้ปัญหา การจราจรทั้งระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมโครงข่ายทุกภูมิภาค
ขณะที่ผลงาน 4 ปีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กลับไม่มีอะไรที่โดดเด่น แล้วยังอาจรวมถึงยุคที่นายอภิรักษ์เป็นผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ปี 2547 คือ 8 ปีที่ผู้ว่าฯ กทม. มาจากพรรคประชาธิปัตย์นั้น คนกรุงเทพฯสามารถตอบได้ว่ามีผลงานอะไรที่ทำให้คนกรุงเทพฯมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และกรุงเทพฯมีการเปลี่ยนแปลงอะไร
อย่างที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ปราศรัยว่า พรรคเพื่อไทยเข้ามาบริหารประ เทศเจอวิกฤตน้ำท่วม แต่ก็ฝ่าฟันมาได้ สามารถทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นและประสบความสำเร็จ แต่ 8 ปีกับการบริหารงานกรุงเทพฯของผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ถามว่ากรุงเทพฯมีการเปลี่ยน แปลงอะไรบ้าง รถดับเพลิงใช้งบประมาณถึง 6,000 ล้านบาทก็มีปัญหา โครงการแก้ปัญหาจราจร โดยตระกูลอัจฉริยะทั้งหลายอัจฉริยะจริงหรือไม่ มหาอุทกภัยที่ผ่านมาก็มีปัญหาการประสานงานกับรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ การจัดการบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ที่ปรับปรุงสนามหลวง แต่คลองหลอดวันนี้เหมือนสลัมขนาดอยู่กลางเมือง ทั้งยังหน้าแตกกับการสร้างสนามฟุตซอลที่ทำให้ชื่อเสียงของประเทศไทยเสียหาย หากอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเสนอตัวจัดโอลิมปิกคงถูกตอกกลับว่าแค่สนามฟุตซอลแห่งเดียวยังสร้างไม่เสร็จแล้วจะไปจัดโอลิมปิกได้อย่างไร
สถิติ...มีไว้ทำลาย
แต่เมื่อยังไม่ถึงวันเลือกตั้ง 3 มีนาคม ก็ถือว่าผู้สมัครทุกคนยังมีโอกาสจะชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัครอิสระอย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นายโฆสิต หรือนายสุหฤท แม้จะเป็นม้านอกสายตา แต่ทุกคนก็หวังจะชนะการเลือกตั้งทั้ง สิ้น แม้แต่นายวรัญชัยที่ลงสมัครเป็นครั้งที่ 8 และได้คะแนนมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มองตัวเองว่าไม่ใช่แค่เติมสีสันให้กับการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ด้านหนึ่งก็สะท้อนถึงความรู้สึกของคนกรุงเทพฯจำนวนไม่น้อยว่า คนกรุงเทพฯเบื่อผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคนที่ผ่านมา เพราะไม่ได้ทำให้กรุงเทพฯเกิดการเปลี่ยน แปลงอย่างที่หาเสียงเลย
โดยเฉพาะบรรยากาศการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและแบ่งสีเลือกข้าง หากพรรคประชาธิปัตย์ยังพยายามเอาความขัดแย้งทางการเมืองมาใช้หาเสียงและโจมตีพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง ไอ้โม่งชุดดำ หรือสร้างกระแส “ปิศาจทักษิณ” เพื่อให้คนกรุง เทพฯเกลียดพรรคเพื่อไทยและไม่เลือก พล.ต.อ. พงศพัศนั้น อาจเป็นบูเมอแรงที่กลับมาทำลายพรรคประชาธิปัตย์เองเหมือนการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา เพราะวันนี้คนกรุงเทพฯและคนส่วนใหญ่อยากเห็นบ้านเมืองมีความปรองดองและความสงบสุข อยากให้คนไทยและประเทศไทยมี “รอยยิ้ม” และเป็น “สยามเมืองยิ้ม” เหมือนเดิม
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ จากผลสำ รวจจำนวนประชากรวันที่ 5 กันยายน 2555 มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,346,425 คน จากจำนวนประ ชากร 5,670,539 คน โดย กกต. เตรียมหน่วยเลือกตั้งไว้ทั้งสิ้น 6,548 หน่วย
ส่วนผลสำรวจความต้องการผู้ว่าฯ กทม. ของ คนกรุงเทพฯ ระบุว่า 1.ซื่อสัตย์สุจริต 2.แก้ไขปัญหา รวดเร็ว 3.กล้าคิดกล้าทำ 4.วิสัยทัศน์กว้างไกล 5. มีผลงานให้เห็นชัดเจน และ 6.ใกล้ชิดประชาชน
จากข้อมูลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้เปรียบค่อนข้างมาก แต่การเลือก ตั้งไม่ได้ตัดสินที่สถิติหรือฐานเสียงที่จัดตั้งจากหัวคะแนนเท่านั้น เหมือนการแข่งขันกีฬาที่ว่า “สถิติ... มีไว้ทำลาย” อยู่ที่ใครเก่งกว่าคนนั้นก็ชนะ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงอยู่ที่คนกรุงเทพฯจะตัดสินใจและเชื่อว่าผู้สมัครคนใดที่พูดจริง ทำจริง และทำได้ เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯดีขึ้น ทำให้กรุงเทพฯเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นมหานครของอาเซียน หรือศูนย์กลางการลงทุนและศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก
กรุงเทพฯเมืองเทวดา?
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากรุงเทพฯเหมือนประเทศไทยฉบับย่อ เพราะเป็นศูนย์กลางทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ละปีกรุงเทพฯมีงบประมาณและมีผลประโยชน์มหาศาล อย่างงบประมาณรายจ่ายปี 2555 สูงถึง 55,000 ล้านบาท ส่วนปี 2556 ตั้งงบประมาณรายจ่ายกว่า 60,527 ล้านบาท แต่งบประมาณมหาศาลก็ไม่สามารถแก้ปัญหากรุงเทพฯที่หมักหมมได้ แม้ที่ผ่านมามีผู้ว่าฯ กทม. มาแล้วถึง 7 คน และทุกคนก็ประกาศว่าจะทำให้กรุงเทพฯเปลี่ยนแปลง และทำให้คุณภาพชีวิตคนกรุงเทพฯดีขึ้น
กรุงเทพฯจึงเป็นมหานครที่มีผู้คนอาศัยอยู่จำนวนมากทั้งที่มาจากต่างจังหวัดและคนต่างชาติ จนกล่าวได้ว่าส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางที่มีการศึกษา มีอิทธิพลในทางความคิดและการเมืองมาตลอด เกิดเป็นทฤษฎี “สองนคราประชาธิป ไตย” กล่าวคือ คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล แต่คนกรุงเทพฯล้มรัฐบาล ทำให้คนยากจนและรากหญ้า มีส่วนร่วมทางการเมืองน้อยมาก แม้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งยังถูกมองว่าเป็นการซื้อสิทธิขายเสียง ทำให้กรุงเทพฯเหมือนเมืองของคนชั้นกลางและชนชั้นอีลิตที่เป็นสังคมของบรรดาไฮโซไฮซ้อ ไม่ใช่เมืองของคนยากไร้หรือรากหญ้า
เห็นได้จาก พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและใกล้ชิดชนชั้นสูงของสังคมไทย ที่ได้โพสต์ข้อความเรียกร้องให้คนกรุงเทพฯสนับสนุน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยกล่าวอ้างว่าเพื่อไม่ให้ “ปิศาจทักษิณ” และพรรคเพื่อไทย ถลุงงบประมาณของ กทม. ทั้งยังเปรียบว่า “กรุง เทพมหานครเป็นปราการสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในสงครามชิงเมืองไทย ถ้าเสียกรุงเทพฯให้แก่ข้า ศึกศัตรูก็เกือบจะเท่ากับเสียเมืองไทยทั้งประเทศ”
กรุงเทพฯเมืองมนุษย์!
วันนี้คนกรุงเทพฯจึงต้องออกมาแสดงพลังเพื่อให้เห็นว่ากรุงเทพฯเป็นของคนทุกชนชั้น ไม่ใช่เอากรุงเทพฯจมปลักในวังวนการเมืองที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและแย่งชิงผลประโยชน์เพื่อชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง
คนกรุงเทพฯจึงต้องออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อตัดสินอนาคตหรือชะตากรรมของตัวเอง ไม่ใช่ให้คนหยิบมือหนึ่งมาชี้นำ ทั้งยังจะเป็นก้าวแรกของ “ประชามติ” ที่จะนำร่องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจให้กับประชาชน และเป็นการวางรากฐานประชาธิปไตยที่แท้จริง
อย่างที่นายชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์มหา วิทยาลัยเที่ยงคืน ตั้งคำถามว่า ประเทศไทยถึงเวลา เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วหรือยัง เพราะอารย ประเทศทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี ใต้ อังกฤษ ต่างก็มีรูปแบบการปกครองที่กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการปกครองตนเอง และมีความเป็นอิสระมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับนโย บายของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยลอกเลียน แบบการปกครองของฝรั่งเศสมาอย่างยาวนานแต่แทบ จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นฝรั่งเศสที่เปลี่ยนแปลง
ขณะที่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยยังเสมือนบุรุษไปรษณีย์ที่ไม่มีอำนาจและงบประมาณเป็นของตนเอง การตัดสินใจต่างๆยังรวมศูนย์อำนาจอยู่ในส่วนกลาง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางการเมืองและการปกครองที่ล่าช้าและไม่เป็นธรรม แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังไม่ไว้วางใจประชาชน
กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางของคนทั้งประเทศที่จะ ก้าวไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่เสมอภาคและเป็นธรรม ที่มาจากประชาชนและเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้จึงมีความหมายมากกว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะ กรุงเทพฯไม่ใช่เมืองของเทวดา แต่เป็นเมืองของมนุษย์ธรรมดาทุกชั้นชน
บ้านเมืองวุ่นวายเพราะแทนที่จะปล่อยให้มนุษย์ธรรมดาทั่วประเทศเลือกรัฐบาลที่พวกเขาต้องการ แต่กลับมีเทวดาเมืองหลวงคอยจ้องล้มรัฐบาลที่ตนเองไม่ชอบ
คนกรุงเทพฯอยากเห็นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
คนกรุงเทพฯต้องออกมาเลือกตั้งให้มืดฟ้ามัวดิน
ถึงเวลาเปลี่ยนกรุงเทพฯด้วยคะแนนเสียงของ “มนุษย์ธรรมดา”... โดยอย่าปล่อย “เทวดา” หน้าไหนมีเสียงดังมากไปกว่าคนกรุงเทพฯ
หากกรุงเทพฯคือประเทศไทย บัดนี้ถึงเวลาเปลี่ยนประเทศไทยด้วยการร่วมใจล้มทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ปลุก “มนุษย์” ฮึดสู้ “เทวดา” เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัดทั้งแผ่นดิน!!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น