จาก หนังสือพิมพ์ เรดพาวเวอร์ ฉบับที่ 32 เดือน
มกราคม 2556 กองบรรณาธิการ
สถานการณ์การเมืองไทยรอบปี 2555
ยังไม่อาจก้าวข้ามชายไทยที่ใช้ชื่อทักษิณ ชินวัตร ได้
ด้วยความทรงจำในนโยบายและผลงานที่ทำได้ดั่งวาจาสัตย์ที่ยังก้องดังในโสตประสาทของคนเสื้อแดงและชาวรากหญ้า
และยิ่งตอกย้ำด้วยผลงานแห่งนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ น้องสาวทักษิณไม่ว่า
จำนำข้าว 15,000, ค่าแรง 300, รถคันแรก, บ้านหลังแรก
ประกอบกับพรรคประชาธิปัตย์ปักหลักไม่ยอมก้าวข้ามและระดมยิงทักษิณเช่นที่เคยทำมาตลอด
10 ปี และเสริมด้วยม็อบแช่แข็ง เสธ.อ้าย โดยเฉพาะล่าสุดการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์
แต่เน้นหนักทักษิณ ด้วยแล้วยิ่งส่งผลให้ความเห็นอกเห็นใจในตัวทักษิณตกผลึกเป็นความเชื่อมั่นในความถูกต้องของทักษิณและหมดความเชื่อมั่นในลมปากคุณธรรมของคนหัวหงอก
ณ บ้านสี่เสา หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตัวจริงและหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยา
2549 ตัวจริงผู้อยู่เบื้องหลังม็อบพันธมิตรฯ และม็อบแช่แข็ง เสธ.อ้าย และเมื่อการเมืองไทยก้าวผ่านวันถวายพระพรชัยมงคลที่ยิ่งใหญ่ด้วยมวลชนมืดฟ้ามัวดิน
5 ธันวาคม การเมืองไทยปี 2556 จึงเป็นช่วงเวลายกเครื่องใหม่อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
1.เสถียรภาพรัฐบาลในภาวะไร้เสถียรภาพ
นับแต่การพ่ายแพ้ของม็อบแช่แข็งที่นำโดยพลเอกบุญเลิศ
แก้วประสิทธิ์ หรือ เสธ.อ้าย
ทำให้นักวิเคราะห์ทั้งไทยและเทศเชื่อมั่นในความมีเสถียรภาพของรัฐบาลยิ่งลักษณ์มากขึ้น
ว่ากันตามเนื้อผ้าแล้วก็มีเหตุผล เพราะเสถียรภาพของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์
ชินวัตร ในวันนี้เป็นผลมาจากความไร้เสถียรภาพตั้งแต่เริ่มต้นตั้งไข่ จากวันที่พลเอกประยุทธ์
จันทร์โอชา ยังไม่ให้เข้าพบกลายเป็นต้องขอเข้าพบในวันนี้,
จากเลื่อนเวลาการรับพระบรมราชโองการออกไป 3 วัน กลายเป็นปีเดียวได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ
สายสะพาย 4 เส้น,
จากการใช้ทุกสถานการณ์เพื่อการรัฐประหารแม้แต่สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่กลายเป็นคำประกาศของ
ผบ.ทบ.ว่า “ถ้าอยากจะทำรัฐประหารก็ให้ไปทำกันเอง”
และน้ำท่วมก็แก้ปัญหาป้องกันได้
และจากปองร้ายเตรียมแช่แข็งล้มรัฐบาลกลายเป็นแช่แข็งตัวผู้หมายปองร้ายเอง จึงถือได้ว่าความมีเสถียรภาพของรัฐบาลในวันนี้เป็นผลมาจากการไร้เสถียรภาพตั้งแต่วันแรกตั้งรัฐบาลและถือได้ว่ารัฐบาลได้เสริมความเข้มแข็งของรัฐบาลจากไม้ไผ่สู่เส้นลวด
แต่ยังไม่ถึงขั้นเสริมด้วยเหล็กเส้น
2.ยุทธวิธี
“หลีกเลี่ยงปะทะ ชนะด้วยผลงาน”
เป็นที่รู้กันดีว่าจุดอ่อนของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคที่อำมาตย์ฟูมฟักมายาวนานนั้นคือ
ไร้ฝีมือการบริหารและไม่เอื้ออาธรต่อคนรากหญ้า แต่มีจุดแข็งประการเดียวคือ “คารมเป็นต่อ” โดยเฉพาะนายกฯ สาวสวยสดซิงทางการเมืองย่อมพลาดท่าได้ง่ายในเกมส์ต่อล้อต่อเถียงในสภา
ดังนั้นแนวทางการบริหารงานของรัฐบาลซึ่งถือได้ว่าเป็นยุทธวิธีที่ถือปฏิบัติมาตลอด
1 ปี คือ “หลีกเลี่ยงปะทะ ชนะด้วยผลงาน” ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นภาพของนายกฯ ยิ่งลักษณ์
ทำงานอยู่นอกสภาทั้งในประเทศและต่างประเทศถึงขนาดภาพข่าวเช้าประชุมอยู่วอชิงตัน
แต่ข่าวค่ำดันมีภาพอยู่ท้องนา เสมือนหนึ่งมีคาถาย่นระยะทางและการเร่งสร้างผลงานด้วยการทุ่มงบประมาณตามนโยบายให้แก่ชาวนา
(นโยบายจำนำข้าว), กรรมกร (ค่าแรง 300 บาท), ป.ตรี เงินเดือน 15,000 บาท),
คนชั้นกลาง (รถคันแรก,บ้านหลังแรก)
แม้จะล่าช้ากว่ากำหนดบ้างอันเป็นผลจากวิกฤติน้ำท่วมใหญ่แต่ทุกอย่างก็เป็นไปตามนโยบาย
เราจึงเห็นภาพการเคลื่อนไหวงานนอกสภามากกว่าภาพยิ่งลักษณ์ที่กำลังยืนซดกับอภิสิทธิ์ในสภาเพื่อสร้างความสะใจให้กับคอการเมืองประเภท
“ซาดิสต์” แม้ล่าสุดประชาธิปัตย์พยายามสร้างเกมส์ปิดล้อมนายกฯ
ยิ่งลักษณ์ด้วยการเสนอญัตติรวมศูนย์รุมกินโต๊ะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ในสภาด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
แต่ “เธอ” ก็ยังยึดแนวทาง “หลีกเลี่ยงการปะทะ” ด้วยการตอบพองาม
แล้วมอบหมายให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบตอบต่อ ก็ได้ก่อให้เกิดการหัวเสียแทบจะ “เสียหัว” ของพลพรรคประชาธิปัตย์ที่ดิ้นรนทุรนทุรายที่พลาดท่าการขย้ำ “เธอ” ในสภาไปได้ ทั้งภาพลักษณ์ที่ปรากฏต่อสาธารณชนและคะแนนไว้วางใจสูงสุด
308 เสียง
3.งานต่างประเทศไปโลดจากผู้ช่วยกิตติมศักดิ์
งานด้านต่างประเทศเป็นอีกภาพหนึ่งที่ประชาชนเปรียบเทียบเห็นได้ชัดระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์กับอภิสิทธิ์
จากภาพสงครามชายแดนไทย – เขมร
และการสูญเสียเกียรติยศจากภาพที่ประเทศอินโดนีเซียเพื่อนบ้านห่างไกลกลับต้องกลายมาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้แก่ไทยกับเขมรที่เป็นเพื่อนบ้านอยู่ใกล้,
ถูกเปลี่ยนแปลง กลายเป็นมีแต่ภาพความรักใคร่กลมเกลียวระหว่างประชาชนของทั้ง 2
ประเทศถึงขนาดทำบุญสงกรานต์ร่วมกัน และเรียกคืนเกียรติยศกลับมาด้วยภาพแห่งความเป็นมิตรและความยิ้มแย้มในการประชุมร่วมของผู้นำอาเซียนในวาระต่างๆ
โดยไม่มีข่าวกระทบกระทั่งจากคำสัมภาษณ์ของคนระดับผู้นำต่อไปอีกเลย
โดยเฉพาะการบริหารจัดการของกระทรวงการต่างประเทศที่ทำให้เกิดภาพของนายกฯยิ่งลักษณ์ยืนคู่กับผู้นำโลกและผู้นำประเทศชั้นนำทางอุตสาหกรรมอย่างชนิดไม่ขาดสายไม่ว่าจะเป็นภาพคู่กับประธานาธิบดี
โอบามา, นายกฯ เวิน เจียเป่า จากจีน และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธแห่งสหราชอาณาจักร
รวมถึงนายกฯ เยอรมันนี, ประธานาธิบดีเกาหลี, ผู้นำสหภาพยุโรป เป็นต้น
ภาพโดดเด่นเหล่านี้จะเป็นการสรุปง่ายเกินไปว่าเป็นฝีมือของข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศและฝีมือรัฐมนตรี
ปึ้ง สุรพงษ์ เพราะหากเปรียบมวยระหว่างสุรพงษ์ กับ กษิต ภิรมย์
แล้วต้องยอมรับฝีมือคนละชั้นกับอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศคนก่อนที่เป็นมืออาชีพในฐานะนักการทูตแท้ๆ
แต่กลับไม่สามารถสร้างเนื้องานและภาพของมาร์คนักเรียนนอกกับผู้นำต่างประเทศได้เช่นนายกฯยิ่งลักษณ์
ทั้งๆ ที่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศก็ชุดเดิมยังไม่มีใครล้มหายตายจากจนหมดจากกระทรวงแต่อย่างใด
ข้อสรุปที่มีเหตุผลที่สุดคือ
นโยบายที่ใช้โลกล้อมไทยและฝีมือการประสานงานระดับเซียนผู้เปี่ยมบารมีอย่างชายผู้ใช้ชื่อทักษิณ
ชินวัตร ในฐานะผู้ช่วยกิตติมศักดิ์ที่นั่งเครื่องบินส่วนตัวโดยไม่เบิกค่าใช้จ่าย
และยิ่งเห็นการปรับ ค.ร.ม. ครั้งล่าสุดที่ยกฐานะของรัฐมนตรีต่างประเทศ (เสี่ยปึ้ง)
ขึ้นเป็นรองนายกฯด้วยแล้วก็รู้ทันทีว่างานต่างประเทศของนายกฯยิ่งลักษณ์ในปี 2556
จะยิ่งเพิ่มความสำคัญและเพิ่มความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
และผลโดยตรงที่เกิดขึ้นคือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจากการลงทุนและเพิ่มความเชื่อมั่นของนานาชาติต่อไทยและจะเกิดผลพลอยได้ที่มีค่ายิ่งคือ
ภาวการณ์กระอักเลือดของอำมาตย์ผู้นิยมการแช่แข็งประเทศไทยที่มีอาการอยู่เดิมแล้วจึงเกิดอาการหนักขึ้นด้วยเกิดอาการเส้นเลือดตีบตันในปี
2556 เพราะถูกโลกปิดล้อมจนเดินบนหนทางการรัฐประหารชิงอำนาจเพื่อเป้าหมายสูงสุดยากเต็มที
ภาพดังกล่าวประดุจดังเส้นเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจตีบตัน จึงต้องเร่งขับเคลื่อนม็อบซึ่งเปรียบเสมือนทำบอลลูนขยายเส้นเลือดหัวใจอย่างม็อบ
เสธ.อ้าย มากขึ้นในปีหน้าอย่างเร่งวันเร่งคืน
4.ม็อบแช่แข็งเร่งภาวะตาสว่าง
เหตุการณ์ม็อบแช่แข็งประเทศไทยของ
เสธ.อ้าย
ไม่เป็นที่สงสัยแล้วว่าใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเตรียมการก่อจลาจลล้มรัฐบาลปู – ยิ่งลักษณ์ โดยประสาน 3 พลัง คือพลังมวลชนอภิปรายนอกสภา 1,
พลังประชาธิปัตย์อภิปรายในสภา 1 และพลังศาลกับองค์กรอิสระวินิจฉัยถอดถอนอันเป็นพลังเหนือสภา
1 และหากเกิดจลาจลขึ้นในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากจัดการโดยโครงสร้างในสภาไม่ได้ทหารจะยกกำลังออกมาช่วยจัดการให้,
โดยการขับเคลื่อนม็อบครั้งนี้ได้เปิดเผยธาตุแท้ความเป็นเผด็จการอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ปกปิดอำพรางทั้งการกระทำ
– แนวคิด – ตัวบุคคล
โดยเฉพาะนายทหารอาวุโสผู้ใกล้ชิดป๋าหงอกแห่งบ้านสี่เสาไม่ว่าจะเป็นพลเรือเอกพะจุณณ์
ตามประทีป, พลเอกปฐมพงษ์ เกษรศุกร์, พลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือนาวาอากาศตรีประสงค์
สุ่นสิริ เป็นต้น ดังนั้นการประกาศยอมแพ้ของ เสธ.อ้าย
อย่างเร่งด่วนผิดคาดจึงนำมาซึ่งความพอใจ สะใจ ของประชาชนและเป็นการเติมเชื้อ “ตาสว่าง” ขยายกว้างขึ้นเพื่อให้มวลชนตอกย้ำความชัดเจนว่า
เสธ.อ้าย เป็นกลุ่มเดียวกับคณะรัฐประหาร 19 กันยา 2549
และอยู่ในขบวนของผู้ก่อความไม่สงบมาตลอด 6 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้ป้ายโฆษณาจอมปลอมของ
“ผู้มีคุณธรรม” ทางการเมือง
ภาพผู้ร้ายทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงอยู่กับแก๊งส์
4 เสาชัดเจน และการโฆษณาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ คือผู้ร้ายของคนแก๊งส์นี้จึงกลายเป็นพวงมาลัยชมเชย
พ.ต.ท.ทักษิณ, จึงเป็นการเพิ่มภาวะตาสว่างอย่างกว้างขวางทั่วด้าน
5.ปชป.อภิปรายนอกประเด็น ปปช.จับเข้าประเด็น
การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์ในสภาหลังจาก
เสธ.อ้าย พ่ายแพ้อย่างผิดคาดเลยกลายเป็นน็อตเกลียวหวานขันไม่แน่น เพราะประชาธิปัตย์มุ่งประเด็นถล่มนายกฯยิ่งลักษณ์จุดเดียว
จึงทิ้งประเด็นหลัก ข้าวของแพงทั้งแผ่นดินและทุจริตจำนำข้าวของรัฐมนตรีพาณิชย์ “ ไฮไลท์จากทุจริตข้าวจึงกลายเป็นทุจริตคำร้องของฝ่ายค้านที่ถอดถอนนายกฯ” เปิดช่องให้ฝ่ายรัฐบาลโจมตีกลับเรื่องการอภิปรายว่าผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา
158 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่า การกล่าวหานายกฯ หรือรัฐมนตรี ต้องยื่นคำร้องถอดถอนต่อ
ปปช.ไว้ก่อนแต่
ปชป.ไม่ยื่นอภิปรายทั้งรัฐมนตรีพาณิชย์และทั้งไม่ยื่นคำร้องถอดถอนเรื่องทุจริตข้าว
แต่การอภิปรายในสภากลับเน้นแต่ทุจริตเรื่องข้าว, หลังเสร็จอภิปราย 3 วัน
คะแนนนายกฯ จึงพุ่งปรี๊ด 308 เสียง และตามมาด้วย ส.ส.รัฐบาลยื่นถอดถอน ส.ส.ประชาธิปัตย์ผู้อภิปรายผิดรัฐธรรมนูญ
ฟังดูเหตุการณ์อภิปรายนอกประเด็นของ
ปชป.เหมือนไม่มีอะไร แต่หากเข้าใจโครงสร้างอำนาจเผด็จการ
คมช.ที่ฝากอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญในฐานะโครงสร้าง “อำนาจเหนือสภา” อันได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการภิวัฒน์ และองค์กรอิสระ
แล้วผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายระวังให้ดีว่า 3 เดือนแรกของปี 2556
จะเกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลด้วยอำนาจเผด็จการแฝงในโครงสร้างอำนาจเหนือสภา
ดังเช่นที่เคยแสดงผลงานมาแล้วจากการล้มรัฐบาลสมัคร – รัฐบาลสมชาย
และขณะเดียวกันก็ปกป้องพรรคประชาธิปัตย์สุดชีวิตที่ตัดสินไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์
6.เดินหน้าแก้
รัฐธรรมนูญวาระ 3
ดูเหมือนพรรคร่วมรัฐบาลจะรู้ชะตาชีวิตแทนที่จะอยู่รอดูความตาย
จึงตัดสินใจเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไปดีกว่า 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญจึงร่วมกันนั่งแถลง
“เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ” ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะเกิดคลื่นลม
พร้อมกันนั้นก็มีขบวนเสื้อแดงแรลลี่ของรายการรามสูร (ไวพจน์ – พายัพ) เอเชียอัพเดท เงาภาพ นปช.สนับสนุนในวันเดียวกัน เป็นประเด็นที่ต้องจับตาและมีเดิมพัน
เพราะเกิดการพลิกผันอย่างรวดเร็วจากเดิมตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)
ก่อนแล้วลงประชามติกลายเป็นลงประชามติก่อนตั้ง สสร.
การเดินหน้าประชามติอย่างเร่งด่วนเป็นภาวะกล้าได้กล้าเสียอย่างยิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์เลือก ดังนั้น การเมือง 3 เดือนแรกของปี 2556 จึงต้องจับตาแบบไม่กระพริบ
7. 5 ธันวา จงรักภักดีสิ้นสงสัยแต่ให้ระวัง
ภาพคลื่นมนุษย์เสื้อเหลืองที่เฝ้าแห่แหนร่วมกันถวายความจงรักภักดีมากเป็นประวัติการณ์
จนเป็นภาพประวัติศาสตร์มีเฉพาะใน 2 รัฐบาลและ 2 นายกฯ นามสกุลชินวัตร
เท่านั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ – เนวิน ที่อวดอ้างความจงรักภักดีสูงสุดก็ไม่มีภาพประวัติศาสตร์คลื่นมนุษย์เสื้อเหลืองถวายพระพรเช่นนี้,หลายคนคงมองว่าภาพประวัติศาสตร์แห่งความจงรักภักดีจะคุ้มครองรัฐบาลไม่ให้อำนาจนอกระบบเข้ามากล้ำกลาย
แต่ Red
Power ขอเตือนไว้ด้วยรักและหวังดีให้ดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาในรัฐบาล
พ.ต.ท.ทักษิณ ที่หลังจัดงานถวายพระพรยิ่งใหญ่แล้วก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยา 49 ดังนั้น
แม้รัฐบาลจะมีภาวะสิ้นสงสัยในเรื่องความจงรักภักดีก็มิได้หมายความว่าจะไม่มีการรัฐประหาร
ซึ่งอดีตก็พิสูจน์มาแล้ว เช่น รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นต้น
เพียงแต่วันนี้ปัจจัยอื่นๆ เช่น มีการตื่นตัวของมวลชนเข้ามาถ่วงดุลเท่านั้นที่ทำให้ทุกอย่างเกิดการแปรเปลี่ยนแต่จะเป็นปัจจัยชี้ขาดหรือไม่ต้องเฝ้าดูต่อไป
8.
อภิสิทธิ์ – สุเทพ ผู้ต้องหาพารุนแรง
เพียงเริ่มต้นดำเนินคดีกับอภิสิทธิ์–สุเทพ ในข้อหาสั่งฆ่าประชาชน ประชาธิปัตย์ก็ออกลายเตรียมป่วนล้มกระดานด้วยบิดเบือนว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์กลั่นแกล้งเพื่อจะแลกเปลี่ยนกับการนิรโทษกรรมทักษิณ
ทั้งๆ ที่โทษของทักษิณเปรียบไม่ได้กับโทษของอภิสิทธิ์–สุเทพ และจากทิศทางการเมืองของ ปชป.ที่ผ่านมาก็เห็นชัดว่าให้ความสำคัญกับ“จุดตาย”ของรัฐบาล
2 จุด คือ “แก้รัฐธรรมนูญ” กับ “ปรองดอง” ถึงขนาดก่อจลาจล“ห่าลากเก้าอี้”ในสภาและนอกสภามาแล้ว เพราะเป็น“2
จุดตาย”ที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตัวจริงแม้จะ “ใกล้ตาย”ก็ยอมไม่ได้
เพราะหากยอม, ทั้งหัวหน้าพรรคตัวจริงและพรรคประชาธิปัตย์ก็จะ“ตาย”ทางการเมืองจริงๆ ดังนั้น
การผูกมัดประเด็นระหว่างการถูกดำเนินคดีสั่งฆ่าประชาชนของอภิสิทธิ์–สุเทพ กับ
นิรโทษกรรมทักษิณเข้าด้วยกันและผสมโรงด้วยต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญต่อต้านประชามติจะกลายเป็นประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์แบกขึ้นบ่าออกโฆษณาปลุกระดมบิดเบือนบนเวที
“ผ่าความจริงรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ซึ่งกลายเป็น
“ผ่าหมากรัฐบาลยิ่งลักษณ์” อย่างแน่นอน
9.
สรุป...จับตา 56 ยกเครื่องไทยใหม่
ภาวะอ่อนเปลี๊ยเพลียแรงของโครงสร้างเสาค้ำสังคมไทย
แสดงออกที่อาการภาวะวิปริตทางหลักเกณฑ์ของบ้านเมือง, ความไร้เหตุผลทางสังคมที่เรื่องถูกกลายเป็นผิด
และเรื่องผิดกลายเป็นถูก, ภาวะ 2 มาตรฐานของกระบวนยุติธรรมได้บ่งบอกถึงความจริงทางธรรมชาติแล้วว่าเป็นภาวะที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคมไทยชนิดที่เรียกว่า
“ยกเครื่องใหม่” อย่างแน่นอน และน่าจะไม่พ้น 12
เดือนของปี 2556
แล้วสังคมไทยจะกลับสู่ภาวะปกติแม้พรรคประชาธิปัตย์และพลังปฏิกิริยานอกสภาจะขัดขวางถึงขั้นมุ่งหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกระบบเช่นที่เคยเป็นมาเพื่อทำลาย
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และขัดขวางไม่ให้กลับประเทศ Red Power ขอทำนายปิดท้ายว่า
ยากที่จะสำเร็จและทักษิณจะกลับไทยอย่างสง่างามท่ามกลางฟ้าใหม่แห่งความปิติของคนไทยในปี
2556
........................................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น