Sunai Fan Club

Sunai Fan Club
สุนัยแฟนคลับ

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

รัก“กรุงเทพฯ”..ต้องเปลี่ยน!!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 ฉบับ 395 วันที่ 19-25 มกราคม 2556 หน้า 18 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน



ปี่กลองการเมืองดังกระหึ่มอย่างเป็นทางการ เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำกรุงเทพมหานคร (กทม.) กำหนดวันรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหา นคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ระหว่างวันที่ 21-25 มกราคม และเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม

แม้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้จะเป็นศึกช้างชนช้างที่แพ้ไม่ได้ระหว่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ จากพรรคเพื่อไทย ก็ตาม แต่ผู้สมัครคนอื่นๆก็ไม่ใช่ขี้ริ้วขี้เหร่ไม่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งขณะนี้ประกาศตัวรวมแล้ว 7 คน รวมทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์และ พล.ต.อ.พงศพัศ

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เจ้าของฉายา “วีรบุรุษนาแก” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ประกาศเปิดตัวเป็นคนแรกในฐานะผู้สมัครอิสระ ใช้สโลแกนหาเสียงว่า “เกิด เรียน โต ทำงาน อยู่ รู้ปัญหา” และชูสโลแกนประจำตัวว่า “มือปราบตงฉิน ก้าวใหม่เพื่อรับใช้ประชาชน” ซึ่ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ได้หาเสียงเลือกตั้งแบบเคาะประตูบ้านมานานนับเดือน และใช้ระบบเครือข่าย “คนรักเสรี” ช่วยหาเสียงแบบใยแมงมุม

นายสุหฤท สยามวาลา ดีเจชื่อดัง ที่มีชื่อเสียงในวงการเพลงอิเล็กทรอนิกส์ของไทย และผู้บริหารธุรกิจเครื่องเขียนดีเอชเอ สยามวาลา ใช้เฟซบุ๊คและสื่อออนไลน์ต่างๆเข้าถึงคนกรุงเทพฯ โดยระบุว่า “ไม่มีนโยบายหาเสียง มีแต่สิ่งที่อยากทำให้คนกรุงเทพฯ” และเชื่อว่าคนอายุ 40 ปีขึ้นไปจะลงคะแนนเสียงให้กับนายสุหฤท เพราะต้องการเห็นกรุงเทพฯเปลี่ยนแปลง

นายโฆสิต สุวินิจจิต อดีตเจ้าพ่อสื่อเครือมีเดีย ออฟ มีเดียส์ ที่คร่ำหวอดในวงการสื่อมายาวนาน เป็นอดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีจากทุกขั้วและ ทุกค่าย โดยใช้สโลแกน “กรุงเทพฯ 24 ชั่วโมง” เพราะเห็นว่าสังคมและวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯเป็นสังคมแบบ 24 ชั่วโมง เป็นมหานครของโลก และยังถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียน จึงต้อง พร้อมรับใช้คนกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนต่างชาติหรือนักธุรกิจได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ผู้สมัครที่เป็นขาประจำที่สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งทุกครั้งคือ นายวรัญชัย โชคชนะ ลงสมัครในนาม “กรุงเทพก้าวหน้า” ภายใต้คำขวัญ “กรุงเทพฯ เมืองหลวงอาเซียน” โดยมีนโยบายติดตามเร่งรัดระบบขนส่งมวลชนทั้งใต้ดินและบนดินให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด กรุงเทพฯต้องสะอาด สะดวก สบาย สวยงาม สดชื่น และไม่มีมลภาวะเป็นพิษ สมเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับโลก ซึ่งนายวรัญชัยลงสมัครมาแล้ว 6 ครั้ง โดยครั้งที่ผ่านมาได้รับคะแนนถึง 13,000 คะแนน

ขาประจำอีกคนคือ ร.อ.เมตตา เต็มชำนาญ เจ้าของฉายา “ตู่ ติงลี่” ลงสมัครอิสระ เคยลงสมัครแล้ว 2 ครั้ง โดยเจ้าตัวมั่นใจว่าครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด โดยจะชูนโยบายหลักหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คือ แยกกรุงเทพฯเป็น “จังหวัดธนบุรี” เพราะเชื่อว่าคนฝั่งธนฯรอคอยมานานแล้ว ขณะเดียวกันจะจัดสรรพื้นที่ต่างๆในกรุงเทพฯให้เป็นที่นาปลูกข้าวจนเหลืองอร่าม ดูแลคนรากหญ้า และสร้างแฟลตให้คนริมคลอง

“สุขุมพันธุ์” เปลี่ยนไป

แน่นอนว่าผลสำรวจและความเห็นจากนักวิชาการ หรือแม้แต่พรรคเพื่อไทยเอง รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ในช่วงแรกนี้ พล.ต.อ.พงศพัศเป็นรอง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในฐานะ “แชมป์เก่า” ที่คนกรุงเทพฯรู้จัก และมีผลงานตามสื่อต่างๆตลอด 4 ปี ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศไม่เคยผ่านการเมืองมาเลย แต่ พล.ต.อ.พงศพัศมีจุดเด่นคือ ความสดใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับบุคลิกที่ยิ้มแย้มและทำงานเข้าถึงประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในฐานะอดีตโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)

เมื่อเทียบกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กลับไม่ได้มีผลงานอะไรที่โดดเด่นในช่วง 4 ปีที่เป็นผู้ว่าฯ และยังเกิดปัญหาเรื่องการประสานงานทั้งกับรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงภาพลักษณ์ที่เคยมี “รอยยิ้ม” เป็นจุดเด่นก็หายไป พร้อมกับบุคลิกที่เปลี่ยนไป คือเข้าถึงยาก และไม่เป็นมิตรกับสื่อ โดยเฉพาะช่วงเกิดอุทกภัยและการวางแผนป้องกันหลังเกิดอุทกภัย

ที่สำคัญในวันที่ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กับคณะผู้บริหาร กทม. อีก 9 คน ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวหาในข้อหาร่วมกันประกอบกิจการรถรางโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามประ กาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 จากกรณีที่ต่อสัญญาขยายระยะเวลาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสออกไปอีก 13 ปี จากระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่ 17 ปี รวม 30 ปี ถือเป็น “แผลใหญ่” ที่จะถูกฝ่ายตรงข้ามนำมาโจมตีแล้ว ยังมีเรื่องอุโมงค์ยักษ์ 7 แห่งของ กทม. ที่ไม่มีประสิทธิ ภาพ และงบลอกท่อระบายน้ำที่ส่อว่ามีการทุจริต

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดดัมมีที่มีความไม่ชอบมาพากล และผลงานฉาวระดับโลกคือ การสร้างสนามกีฬาบางกอกฟุตซอลอารีน่าที่หนองจอก มีการโยนความรับผิดชอบไปมาระหว่างกรุงเทพมหานครกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แต่สุดท้ายสนามไม่ได้ใช้แข่งฟุตซอลโลก ซึ่งไม่ใช่ความอับอายเฉพาะคนกรุงเทพฯเท่านั้น แต่หมายถึงคนไทยทั้งชาติ

ปชป. ไม่มีตัวเลือก

จึงไม่แปลกถ้าผลสำรวจความทรงจำของคนกรุงเทพฯกับผลงาน 4 ปีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ไม่มีอะไรที่น่าประทับใจ นอกจากความทุกข์จากวิกฤตมหาอุทกภัยปี 2554 ที่คนกรุง เทพฯชายขอบต้องจมน้ำ ซึ่ง กทม. แทบจะแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ทั้งยังมีปัญหาการประสานงานกับรัฐบาลเพื่อไทยอีก

ขณะที่ภายในพรรคประชาธิปัตย์ก็เกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างหนักในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดยเชื่อว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์อยู่ในช่วงขาลง และมีโอกาสแพ้สูงมาก ซึ่งการพ่ายแพ้ครั้งนี้เท่ากับพรรคประชาธิปัตย์แทบไม่เหลือพื้นที่ทางการเมืองเลย นอกจากภาคใต้ เพราะที่ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษพรรคประชาธิปัตย์แพ้ทั้งพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทยอย่างยับเยินในการเลือกตั้งระดับชาติ

ตัว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์รู้ดีถึงกระแสต่อต้านภายในพรรคประชาธิปัตย์ จึงประกาศจะลงสมัครรับเลือกตั้งล่วงหน้า หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งลงสมัครก็จะลงในนามอิสระ พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่มีทางเลือก และเพื่อลดกระแส ความแตกแยกภายในพรรคด้วย แม้จะมีการเสนอ ชื่อนายกรณ์ จาติกวณิช นายประกอบ จิรกิติ และนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ก็ตาม เพราะหาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ลงสมัครอิสระจริง พรรคประชาธิปัตย์ส่งใครก็มีโอกาสแพ้สูงเช่นกัน เพราะต้องแย่งคะแนนกันเอง แม้จะมีฐานเสียง ส.ก. และ ส.ข. ที่เหนียวแน่น แต่ปัจจัยชี้ขาดคือคนกรุงเทพฯ

พรรคประชาธิปัตย์จึงต้องลืมความขัดแย้งชั่วคราวเพื่อรักษาฐานเสียงในกรุงเทพฯไว้ให้ได้ โดยให้นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใช้คำขวัญว่า “รักกรุงเทพฯ ร่วมสร้างกรุงเทพฯ” ทำให้กรุงเทพฯเป็นมหา นครสำหรับทุกคน โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ประเดิมหาเสียงย่านเยาวราชที่เป็นฐานเสียงเดิมเป็นแห่งแรก โดยจะทำให้เยาวราชเป็น “ไชน่าทาวน์โลก” และขายฝันจะแก้ปัญหาการจราจรให้คนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น โดยภายใน 4 ปีจะลดราคาค่าโดยสารให้เหลือ 0 บาท

รักงาน-ทำจริง-ลุยจริง

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงการตัดสินใจส่ง พล.ต.อ.พงศพัศลงสมัครว่า เพราะเป็นคนรักงาน ลุยจริงทุกพื้นที่ และมีบุคลิกเป็นมิตรกับทุกคน เหมือนนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าเป็นคนคิดบวก คิดดีต่อทุกคน มีจิตใจอยากช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ประชาชน หรืออาจใช้คำขวัญง่ายๆในตัว พล.ต.อ. พงศพัศว่า “รักงาน ทำจริง และทุกสิ่งทำเพื่อคน กทม.” ซึ่งตรงกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่า พล.ต.อ.พงศพัศอยู่ในสายตาประชาชน และเป็นบุคคลที่ประชาชนไว้วางใจ จึงน่าจะเป็นอนาคตที่ทำให้กรุงเทพฯเกิดการเปลี่ยนแปลงได้

“ถ้าผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่นักประสานสิบทิศ ไม่สามารถเชื่อมตรงกับรัฐบาลได้ดีก็จะทำงานได้ยากลำบาก ดังนั้น วันนี้ในส่วนพรรคเพื่อไทยเรามองเห็น กทม. จะก่อประโยชน์สูงสุดได้ต้องร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง”

นายภูมิธรรมยังชี้ถึงจุดแข็งของ พล.ต.อ. พงศพัศว่า เป็นคนใหม่ ยังไม่เคยเป็นผู้ว่าฯ กทม. เมื่อดูการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่าง 2 พรรคไม่ต่างกันมาก ถ้าดูคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใน กทม. ปี 2554 คะแนนของพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ต่างกันไม่กี่คะแนน เพื่อไทยได้ 1,196,249 คะแนน ประชาธิปัตย์ได้ 1,259,309 คะแนน คะแนนต่างกันไม่ถึง 100,000 คะแนน หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ห่างกันเพียง 2% คือเพื่อไทยได้ 39% ประชาธิปัตย์ได้ 41% ถ้าไปดูคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ส.ส. ใน กทม. ประชาธิปัตย์ได้ 23 คน เพื่อไทยได้ 10 คน แต่คะแนนไม่ต่างกันมาก โดยเพื่อไทยได้ 1,245,707 คะแนน ประชาธิปัตย์ได้ 1,355,399 คะแนน

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปี 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ 943,602 คะแนน นายยุรนันท์ ภมรมนตรี จากเพื่อไทย ได้ 611,669 คะแนน ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ผู้สมัครอิสระได้ 334,846 คะแนน คะแนนส่วนต่างของเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ห่างกัน 300,000 กว่าคะแนน แต่ถ้าเอาคะแนนไปรวมกับ ม.ล.ณัฏฐกรณ์จะมี 946,509 คะแนน ภาพโดยรวมคะแนนระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจึงมีฐานคะแนนสูสีกัน คนกรุงเทพฯจึงต้องตอบโจทย์ว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของกรุงเทพฯหรือไม่

รักกรุงเทพฯต้องเปลี่ยน!

พล.ต.อ.พงศพัศได้เปิดใจครั้งแรกว่า เพราะ อยู่ในวงการตำรวจมากว่า 35 ปี จึงไม่ใช่นักการเมือง ถ้าเทียบพรรษาก็ต้องนับจากศูนย์ แต่มีความตั้งใจทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาที่หมักหมมมานาน ปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป หรือการขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งตลอดชีวิตการทำงานมีประสบการณ์ ที่ทำให้รู้ถึงความทุกข์ยากของประชาชน ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนกรุงเทพฯมามาก จึงเห็นปัญ หาต่างๆมากมาย เมื่อพรรคเพื่อไทยให้โอกาส จึงยินดีรับด้วยความเต็มใจ

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวถึงนโยบายหลักในการหาเสียงคือ “วางยุทธศาสตร์กรุงเทพฯ สร้างอนาคตกรุงเทพฯ ร่วมกับรัฐบาลอย่างไร้รอยต่อ” เพราะผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาต่างๆให้กับคนกรุงเทพฯมีความสุข และให้กรุงเทพฯพัฒนาขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนให้ได้

พล.ต.อ.พงศพัศยังให้คำมั่นสัญญาว่า คนกรุงเทพฯไม่ต้องกังวลใจ เพราะจะขออาสาเติมความ สุขเเละสร้างรอยยิ้มให้กับคนกรุงเทพฯให้ได้

จึงเห็นความแตกต่างระหว่าง พล.ต.อ.พงศพัศกับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ชัดเจน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ชูการหาเสียงให้เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์เพื่อให้สานงานต่อโดยไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นจุดเด่น แต่กลับลืมไปว่า 4 ปีที่ผ่านมานั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์มีผลงานอะไรบ้างที่เข้าตาคนกรุงเทพฯ
ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศไม่เคยเล่นการเมือง หรือทำงาน กทม. เลย จึงไม่มีบาดแผล ไม่มีความล้มเหลว แต่มีผลงาน 35 ปีในเครื่องแบบมากมาย พล.ต.อ.พงศพัศจึงเหมือนความใหม่สดที่อัดแน่นด้วยผลงานให้คนกรุงเทพฯเลือกว่าจะให้ดูแลกรุงเทพฯ และคนกรุงเทพฯหรือไม่

เพราะกรุงเทพฯไม่ใช่เรื่องของสีเสื้อ จึงไม่ใช่การเมืองของเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือเสื้อฟ้า ที่จะใช้วาทกรรมโกหกตอแหลเผาบ้านเผาเมืองมาโจมตี เพราะแม้แต่ศาลยังยกฟ้อง และจนวันนี้ก็ไม่รู้ว่าใครคือ “ไอ้โม่ง” ที่เผาบ้านเผาเมือง ซึ่งอาจเป็นเสื้อสีอะไรก็ได้

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้จึงมีความสำคัญกับคนกรุงเทพฯอย่างมาก เพราะกรุงเทพฯ บอบช้ำและย่ำอยู่กับปัญหาเดิมๆ ที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่สามารถแก้ได้เลย คนกรุงเทพฯจึงต้องตัดสินอนาคตของตนเองว่าอยากเห็นกรุงเทพฯเปลี่ยน แปลงหรือไม่ ไม่ใช่เป็นแค่ศูนย ์กลางอาเซียน ศูนย์กลางการท่องเที่ยว แต่ต้องเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้กลับมามีรอยยิ้มที่เต็มไปด้วยความสุข เป็นมหานครที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

ถ้ารักประชาธิปัตย์ก็ไม่ต้องเปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม.

แต่ถ้าคนกรุงเทพฯรักกรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยน!

ถ้าคนกรุงเทพฯรักประชาธิปัตย์ ก็ต้องเลือกสุขุมพันธุ์

แต่ถ้าคนกรุงเทพฯรักกรุงเทพฯ นับเป็นโอกาสดีที่จะเปลี่ยนผู้ว่าฯ กทม.

รักประชาธิปัตย์..ไม่เปลี่ยน!

รักกรุงเทพฯ ..ต้องเปลี่ยน!!

ขึ้นอยู่กับว่า.. “คนกรุงเทพฯจะรักประชาธิปัตย์ หรือรักกรุงเทพฯมากกว่ากัน?”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น